วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทะองค์ ๙๐ พระอุบาลีเถระ




ขอขอบคุณภาหจากhttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm

พระอุบาลีเถระ
เอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย

พระอุบาลี เกิดในตระกูลช่างกัลบกในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อเจริญเติบโต ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นช่างกัลบก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ช่างภูษามาลา มีหน้าที่ตัดแต่งพระเกศาประจำราชสกุลศากยะ ซึ่งได้ถวายการรับใช้เจ้าชายภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายภัคคุ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายอานนท์ เป็นต้น ช่างกัลบกท่านนี้ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงรักภักดี เสมอต้นเสมอปลายต่อเจ้าชายทุก ๆ พระองค์ จนเป็นที่ไว้วางพระหฤทัย



ในครั้งนั้น เจ้าชายศากยะ ๕ พระองค์ คือ พระเจ้าภัททิยะ เจ้าชายอนุรุทธะ เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายภัคคุ และ เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายฝ่ายโกลิยะ ๑ พระองค์ คือ เจ้าชายเทวทัต พร้อมด้วยอำมาตย์ช่างกัลบกอีก ๑ คน ชื่อ อุบาลี รวมเป็น ๗

เสด็จออกเดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยอัมพวัน เมืองมััลละ ในระหว่างทางศักยราชทั้ง ๖ ได้เปลื้องเครื่องประดับอันมีค่าส่งมอบให้อุบาลีช่างกัลบกที่ติดตามไปด้วย พร้อมทั้งตรัสสั่งว่า

“ท่านจงนำเครื่องประดับเหล่านี้ไปจำหน่ายขายเลี้ยงชีพเถิด”

อุบาลี รับเครื่องประดับเหล่านั้นแล้วแยกทางกลับสู่พระนครกบิลพัสดุ์ พลางคิดขึ้นมาว่า

“ธรรมดาเจ้าศากยะทั้งหลายนั้นดุร้ายนักถ้าเห็นเรานำเครื่องประดับกลับไปก็จะพากันเข้าใจว่า เราทำอันตรายพระราชกุมารแล้วนำเครื่องประดับมาก็จะลงอาญาเราจนถึงชีวิต อนึ่งเล่า เจ้าชาย ศากยกุมารเหล่านี้ ยังละเสียซึ่งสมบัติอันมีค่าออกบวชโดยมิมีเยื่อใย ตัวเรามีอะไรนักหนาจึงจะ มารับเอาสิ่งของที่เขาทิ้งดุจก้อนเขฬะนำไปดำรงชีพได้”

เมื่อคิดดังนั้นแล้ว จึงแก้ห่อนำเครื่องประดับทั้งหลายเหล่านั้นแขวนไว้กับต้นไม้แล้วกล่าวว่า
“ผู้ใดปรารถนาก็จงถือเอาตามความประสงค์เถิด เราอนุญาตให้แล้ว”




จากนั้นก็ออกเดินทางติดตามศักยราชทั้ง ๖ พระองค์ ไปทันที่อนุปิยอัมพวัน
กราบทูลแจ้งความประสงค์ขอบวชด้วย ในสมัยที่พระพุทธองค์ เสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่นครกบิลพัสดุ์ แล้วเสด็จไปประทับที่อนุปิยอัมพวัน ซึ่งเป็นแว่นแคว้นของมัลลกษัตริย์ เจ้าชายศากยะทั้ง ๕ พระองค์ ที่กล่าวนามข้างต้น ได้ตัดสินพระทัยออกบวชเป็นพุทธสาวก และอุบาลีช่างกัลบกก็ขอบวชด้วย จึงรวมเป็น ๗ พระองค์ด้วยกัน

พระอุบาลี เมื่อบวชแล้วได้ศึกษาพระกรรมฐานจากพระผู้มีพระภาคเจ้า หลังจากนั้นท่านมีความประสงค์จะไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าเพื่อหาความสงบตามลำพัง แต่เมื่อกราบทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระองค์ไม่ทรงอนุญาต ได้มีรับสั่งแก่พระเถระว่า

“อุบาลี ถ้าเธอไปอยู่ในป่าบำเพ็ญสมณธรรม ก็จะสำเร็จเพียงวิปัสสนาธุระ แต่ถ้าเธออยู่ในสำนักของตถาคต ก็จะสำเร็จธุระทั้งสอง คือ ทั้งวิปัสสนาธุระ และคันถธุระ คือ การเรียนคัมภีร์ต่างๆ”

ท่านปฏิบัติตามพระพุทธดำรัสที่ตรัสแนะนำ ได้ศึกษาพระพุทธพจน์ไปพร้อมกับเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็บรรลุพระอรหัตผลในพรรษานั้น หลังจากนั้นท่านก็เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา




พระอุบาลีมีบทบาทสำคัญมากในการพระพุทธศาสนา ทั้งในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ และหลังจากที่พระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว คือ

 ๑) เป็นผู้สอนพระวินัยแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยเหตุที่ท่านได้รับการยกย่องจากพระพุทธองึ์ว่าเป็นผู้มีความชำนาญในพระวินัย ภิกษุทั้งหลายจึงเรียนพระวินัยในสำนักของท่าน นอกจากนั้นภิกษุที่ทรงจำวินัยปิฎกในสมัยต่อๆ มาก็ล้วนแต่เป็นศิษย์ผู้เรียนวินัยตามสายพระอุบาลีทั้งสิ้น

 ๒) ได้รับความไว้วางใจจากพระพุทธองค์เป็นพิเศษถ้ามีอธิกรณ์ หรือคดี เรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับวินัยเกิดขึ้น พระพุทธองค์ก็ทรงมอบให้พระอุบาลีรับภาระดำเนินการวินิจฉัยให้เป็นไปโดยถูกต้อง

 ๓) ผลงานที่สำคัญที่สุดซึ่งมีผลมาจนถึงปัจจุบัน คือ การทำสังคายนาครั้งที่ ๑ หลังจากที่พระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วได้   ๓ เดือน พระมหากัสสปะชักชวนเหล่าพระสงฆ์กระทำการปฐมสังคายนา คือ ราบรวม เรียบเรียงพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนตลอด   ๔๕ พรรษา สอบทานและจัดหมวดหมู่วางลงเป็นแบบแผน ซึ่งในการสังคายนาครั้งนั้น ประกอบด้วยพระอรหันต์  ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม 




พระอุบาลีเป็นพระเถระสำคัญรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา เป็นมหาสาวกและเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธองค์ เพราะความที่ท่านอยู่ใกล้ชิดพระบรมศาสดาโดยตรง ท่านจึงมีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ พระอุบาลีเถระสนใจพระวินัย หรือระเบียบข้อบังคับของพระสงฆ์เป็นพิเศษ ท่านได้ศึกษาจากพระพุทธองค์จนมีความรู้แตกฉาน จนกระทั่งได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุอื่นในทางทรงจำพระวินัย ทุก ๆ การวินิจฉัยของท่านเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของพุทธบริษัท

ครั้งหนึ่ง พระอุบาลีเถระได้ตัดสินความเรื่องหนึ่ง พอยกเป็นตัวอย่าง ดังนี้

ภิกษุณีสาวรูปหนึ่งอยู่ในปกครองของพระเทวทัต ตั้งครรภ์ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว เรื่องรู้ถึงพระเทวทัต พระเทวทัตสั่งให้สึกทันที โดยมิได้ไต่สวนอะไรเลย หาว่านางภิกษุณีต้องปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุณีแล้ว ภิกษุณีกราบเรียนท่านว่า นางมิได้กระทำเรื่องเลวร้ายดังกล่าวหา นางเป็นผู้บริสุทธิ์

พระเทวทัตกล่าวว่า “บริสุทธิ์อะไรกัน ก็ประจักษ์พยานเห็นชัดๆ อยู่อย่างนี้ ยังมีหน้ามายืนยันว่าตนบริสุทธิ์อยู่หรือ”

แม้ว่านางจะวิงวอนอย่างไร พระเทวทัตก็ไม่สนใจ สั่งให้สึกอย่างเดียว

ภิกษุณีจึงอุทธรณ์ต่อพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงทราบก่อนแล้วว่าอะไรเป็นอะไร แต่เพื่อให้เป็นที่กระจ่างแจ้งและยอมรับโดยทั่วไป จึงทรงแต่งตั้งให้พระอุบาลีเถระเป็นผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ความ



เนื่องจากเป็นเรื่องของสตรี พระอุบาลีเถระเองก็ไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ท่านจึงขอแรงนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐีให้ช่วยเหลือ นางวิสาขาได้ตรวจร่างกายของนางภิกษุณี ซักถามถึงวันที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย วันที่ประจำเดือนหมดครั้งสุดท้าย ตลอดถึงตรวจตราดูความเปลี่ยนแปลงของร่างกายทุกอย่าง แล้วลงความเห็นว่า นางภิกษุณีได้ตั้งครรภ์ก่อนบวช โดยที่ตนเองไม่ทราบ จึงรายงานให้พระอุบาลีเถระทราบ

พระเถระได้ใช้ความเห็นเหล่ากรรมการคฤหัสถ์นั้นเป็นหลักฐานของการพิจารณาตัดสินอธิกรณ์ ได้วินิจฉัยว่าภิกษุณีบริสุทธิ์ มิได้ต้องปาราชิกดังถูกกล่าวหา พระพุทธองค์ทรงทราบการวินิจฉัยของพระอุบาลีเถระแล้ว ทรงประทานสาธุการว่าวินิจฉัยได้ถูกต้องแล้ว ภิกษุณีจึงไม่ต้องลาสิกขาตามคำสั่งของพระเทวทัต

พระอรรถกถาเขียนไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงสดับเรื่องที่ท่านพระอุบาลีเถระวินิจฉัยนั้นแล้ว พระตถาคตเจ้าตรัสว่า
 “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อุบาลีกล่าวไว้ชอบแล้ว, อุบาลีกล่าวแก้ปัญหานี้ ดุจทำรอยเท้าไว้ในที่ไม่มีรอยเท้า ดุจแสดงรอยเท้าไว้ในอากาศ ฉะนั้น”

จึงทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของภิกษุสาวกผู้ทรงวินัย




ปฐมสังคายนาวิสัชนาพระวินัย ผลงานที่ท่านได้เป็นกำลังสำคัญในการทำให้พระพุทธศาสนายืนยาวสืบทอดมาถึงปัจจุบันนี้ ก็คือ หลังจากที่พระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปเถระ ได้คัดเลือกพระอรหันตสาวก จำนวน  ๕๐๐ รูป ร่วมกันทำปฐมสังคายนา

โดยมติของที่ประชุมสงฆ์ได้มอบให้พระอุบาลีเถระรับหน้าที่วิสัชนาพระวินัย โดยรวบรวมพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ในที่ต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ นำมาจัดรวบรวมเป็นหมวดหมู่จนเป็น พระวินัยปิฎก ที่เป็นหลักฐานให้ศึกษากันในปัจจุบันนี้ มีส่วนสำคัญในการทำปฐมสังคายนา 

ในการสังคายนาครั้งนั้น มีพระมหากัสสปะเถระเป็นประธาน มีหน้าที่ซักถามเกี่ยวกับพระธรรมวินัย โดย พระอุบาลี เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับข้อบัญญัติพระวินัย และ
พระอานนท์ เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับพระสูตร และพระอภิธรรม 

เหล่าพระเถระจึงเริ่มปรึกษาและสมมติตนเป็นผู้ปุจฉาวิสัชนา โดยพระมหากัสสปเถระได้ปรึกษาภิกษุทั้งหลายว่าควรจะสังคายนา พระธรรมหรือพระวินัยก่อน ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า สมควรสังคายนาพระวินัยก่อนด้วยเหตุว่า พระวินัยได้ชื่อว่าเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยยังตั้งอยู่ พระพุทธศาสนาจัดว่ายังดำรงอยู่ พระมหากัสสปะจึงถามถึงผู้ที่สมควรจะเป็นธุระชี้แจงในเรื่องพระวินัย ภิกษุทั้งหลายเห็นสมควรให้ท่านพระอุบาลีเป็นผู้ชี้แจง ด้วยเหตุผลว่า

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั่น ทรงอาศัยวินัยปริยัติ จึงตั้งท่านพระอุบาลีไว้ในเอตทัคคะผู้เลิศกว่าสาวกผู้ทรงวินัย ครั้งเมื่อการปฐมสังคยนาครั้งแรกนั้น ท่านพระมหากัสสปะเถระ ได้กล่าวว่า

 “ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้วไซร้ ข้าพเจ้าพึงถามพระวินัยกะพระอุบาลี ”

ฝ่ายพระอุบาลีก็กล่าวให้สงฆ์ทราบว่า
“ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้วไซร้ ข้าพเจ้าผู้ท่านพระมหากัสสปะถามแล้ว จะพึงวิสัชนาพระวินัย.” 




ท่านพระอุบาลี ลุกขึ้นจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ไหว้ภิกษุเถระทั้งหลาย แล้วนั่งบนธรรมาสน์ พระมหากัสสปนั่งบนเถระอาสนะ
แล้วถามพระวินัยกับท่านพระอุบาลีว่า

พระมหากัสสปะ : ท่านอุบาลี ! ปฐมปาราชิก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติ ณ ที่ไหน ?
พระอุบาลี : ที่เมืองเวสาลี ขอรับ.
พระมหากัสสปะ : ทรงปรารภใคร
พระอุบาลี : ทรงปรารภพระสุทินกลันทบุตร.
พระมหากัสสปะ : ทรงปรารภในเพราะเรื่องอะไร
พระอุบาลี : ในเพราะเรื่องเมถุนธรรม

ต่อจากนั้น ท่านพระมหากัสสปะ ถามท่านพระอุบาลีถึง วัตถุ, นิทาน, บุคคล, บัญญัติ, อนุบัญญัติ, อาบัติ และอนาบัติ แห่งปฐมปาราชิก,. แห่งทุติยปาราชิก,.แห่งตติยปาราชิก, และแห่งจตุตถปาราชิก จนครบถ้วน
พระอุบาลีเถระนั้น เมื่อพระมหากัสสปะถามแล้ว ท่านก็ได้วิสัชนาตอบโดยละเอียดทุกข้อ ทุกประการ นับเป็นที่อัศจรรย์ของชุมนุมสงฆ์ยิ่งเกินประมาณ





ส่วนของพระวินัยปิฎกนี้ ในเบื้องต้นเมื่อครั้งพระตถาคตเจ้ายังไม่ปรินิพพาน ท่านพระอุบาลีเถระ จดจำไว้ต่อหน้าพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า

และเมื่อพระตถาคตเจ้าปรินิพพานแล้ว ก็ยังมีพระภิกษุหลายพันรูป ทรงจำไว้ต่อจากท่านพระอุบาลีเถระนั้น
พระวินัยจำสืบต่อมาตามลำดับในสำนักพระอุบาลีเถระ ตั้งแต่ครั้งปฐมสังคายนามาจนถึงจนถึงตติยสังคายนาครั้งที่  ๓  ซึ่งสำนักพระอุบาลีเถระนั้นมีลำดับพระเถราจารย์ดังต่อไปนี้ 

พระอุบาลีเถระ เล่าเรียนมาจาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระทาสกเถระ เล่าเรียนมาในสำนักของพระอุบาลีเถระผู้เป็นอุปัชฌายะของตน
พระโสณกเถระ เล่าเรียนมาในสำนักของพระทาสกเถระ ผู้เป็นอุปัชฌายะของตน
พระสิคควเถระ เล่าเรียนมาในสำนักของพระโสณกเถระ ผู้เป็นอุปัชฌายะของตน
พระโมคคลีบุตรติสสเถระ เล่าเรียนมาในสำนักของพระสิคควเถระผู้เป็นอุปัชฌายะของตน. 


และพระพระโมคคลีบุตรติสสเถระ พระเถระรูปนี้นี่เอง ที่เป็นผู้กระทำตติยสังคายนา หรือการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่  ๓  ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ณ อโศการาม กรุงปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย ใน พ.ศ.   ๒๓๕



ด้วยความที่ท่านพระอุบาลีเถระ เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านพระวินัยนี้ จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดา ในตำแหน่งเอตทัคคะเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทางผู้ทรงพระวินัย


ท่านพระอุบาลีเถระดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลา แล้วก็เข้าสู่ฝั่งพระนิพพาน

พระอุบาลีเถระ หรือ พระอุบาลี เป็นพระภิกษุสาวกเอตทัคคะของพระพุทธเจ้า นับเนื่องในพระอสีติมหาสาวก  ๘๐  องค์สำคัญในพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.baanjomyut.com/library/praubali.html

วิกิพีเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น