วันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๙๑ อุบาลี คฤหบดีแห่งนาลันทา


อุบาลี คฤหบดีแห่งนาลันทา





เพื่อไม่สับสนกับนาม อุบาลี ที่มีความสำคัญในพุทธศาสนา นามอุบาลีนอกจากเป็นนามของท่านอุบาลีแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งต่อมาคือ พระอุบาลีเถระ หรือพระอุบาลีเป็นพระภิกษุสาวกเอตทัคคะ ผู้ทรงวินัยของพระพุทธองค์  นับเนื่องในพระอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์  ที่สำคัญในพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล แล้ว


นามอุบาลียังเป็นนามของท่านอุบาลีคฤหบดีที่เมืองนาลันทา


มหาวิทยาลัยนาลันทา ขอขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย

เมืองนาลันทา
สมัยพุทธกาล “นาลันทา” เป็นเมืองที่มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ผู้คนหนาแน่น เลื่อมใสในพระพุทธองค์ (เกวัฎฎสูตร ทีฆนิกาย) อยู่ทางทิศเหนือของเมืองราชคฤห์ประมาณ ๑ โยชน์ (๑๖ กิโลเมตร)
พระบรมศาสนาเสด็จมาประทับหลายครั้ง ณ ปาวาริกัมพวัน ของท่านทุสสปาวาริกเศรษฐี เป็นสถานที่เกิดและนิพพานของท่านพระสารีบุตร

เมื่อพระสารีบุตรนิพพานที่นี่ ชาวเมืองถือเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ จึงพากันปรับแต่งห้องเกิดและนิพพานของท่านให้เป็นเจติยสถาน เพื่อการสักการบูชา ต่อมาศิษย์ของท่านพระสารีบุตรสร้างกุฏิและวิหารรอบเจดีย์ ใช้เป็นที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช



มหาวิทยาลัยนาลันทา ขอขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย

การแสดงธรรมของพระพุทธองค์ที่เมืองนาลันทา มีครั้งที่โปรดอุบาลีอุบาสก ทำให้ศาสนาของมหาวีระศาสดาผู้เปลือยกายแทบดับสูญ และเป็นที่โจษขานกันไม่เว้นแต่ละวัน นับว่าเป็นพระสูตรที่น่ากล่าวถึงอย่างยิ่ง ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)



มหาวิทยาลัยนาลันทาขอขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย

ความว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่ามะม่วงของเศรษฐีขายผ้า ใกล้เมืองนาลันทา ปาวาริกัมพวัน
 สมัยนั้น
นิครนถ์นาฏบุตรอาศัยอยู่ ณ เมืองนาลันทาพร้อมด้วยบริษัทนิครนถ์เป็นอันมาก

ครั้งนั้นแล.
นิครนถ์ชื่อว่าทีฆตปัสสี เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ยังที่ประทับ เมื่อตรัสให้เชิญนั่ง จึงถือเอาอาสนะที่ต่ำกว่า นั่ง ณ ที่สมควรฃ้างหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามคำสอนที่นิครนถ์นาฏบุตร ได้บัญญัติการทำกรรม อันเป็นบาปไว้กี่อย่าง

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ทูลว่า นิครนถ์นาฏบุตรไม่เคยบัญญัติว่า กรรม โดยแต่บัญญัติ "ทัณฑ์ " มีอยู่ ๓ อย่าง คือ
๑.ทัณฑ์ทางกาย ๒.ทัณฑ์ทางวาจา ๓.ทัณฑ์ทางใจ เป็นสิ่งที่แยกออกจากกัน ทัณฑ์ทางกายมีมาก

ทีฆตปัสสีนิครนถ์กราบทูลถามกลับว่า พระองค์ก็ตรัสถึงกรรมมีอยู่ ๓ อย่าง คือ กรรมทางกาย กรรมทางวาจา กรรมทางใจ แต่พระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่า กรรมทางใจมีโทษมากกว่า

 จากนั้น
ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ก็เล่าความนั้นให้นิครนถ์นาฏบุตรฟัง ผู้นั่งอยู่กับบริษัทที่เป็นคฤหัสถ์ชาวพาลุกคาม มี อุบาลีคฤหบดีเป็นประมุข ฟังทุกประการ
นิครนถ์นาฏบุตรมีความประสงค์จะไปยกวาทะในเรื่องนี้กับพระพุทธองค์
แต่ทีฆตปัสสีนิครนถ์ค้านว่า สมณะโคดมรู้มายากลับใจคนได้ ย่อมกลับใจสาวกเดียรถีย์ได้ แต่นิครนถ์นาฏบุตร ไม่เชื่อ กลับพูดขึ้นว่า มีแต่สมณโคดมนั่นแหละที่จะเป็นสาวกของอุบาลีคฤหบดี ถกเถียงกันอยู่เช่นนั้นถึง ๓ ครั้ง
นิครนถ์นาฏบุตรจึงให้อุบาลีคฤหบดี ไปยกวาทะกับพระพุทธองค์



เมื่ออุบาลีคฤหบดีถวายบังคมและกราบทูลถามถ้อยคำที่ทรงสนทนากับทีฆตปัสสีนิครนถ์ พระพุทธองค์ทรงเล่าความนั้นทั้งหมดให้อุบาลีคฤหบดีฟัง
แต่อุบาลีคฤหบดีก็ยังยืนยันว่า กรรมทางกายนั้นมีโทษมากกว่า

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า นิครนถ์ถ้าผู้มีความสำรวมระวังดีแล้ว แต่เดินไปเดินมา ทำให้สัตว์ตัวเล็ก ๆ ถึงแก่ความตายจะบัญญัติผลของผู้นั้นว่าอย่างไร

อุบาลีคฤหบดี กราบทูลว่าไม่บัญญัติการกระทำเช่นนั้นไม่มีเจตนา จึงไม่มีโทษมาก แต่ถ้ามีเจตนาก็มีโทษมาก
พระพุทธองค์ก็ตรัสถามต่อไปว่า เจตนาจัดเข้าขั้นอะไรทั้ง ๓ อย่าง
อุบาลีคฤหบดี กราบทูลว่า จัดเข้าในมโนทัณฑ์
เมื่อรู้อย่างนี้อุบาลีคฤหบดีก็ยังเชื่อว่าโทษทางกายยังมีโทษมาก

พระพุทธองค์ตรัสถามอุบาลีคฤหบดีว่า
ในเมืองนาลันทาซึ่งมีคนมากมายขนาดนี้ ถ้าหากว่ามีคนหนึ่งถือดาบมาฆ่าให้ตายหมด โดยใช้เวลาครู่เดียวจะทำได้หรือไม่
อุบาลีคฤหบดีทูลตอบว่า ไม่ได้ ถึงคน ๑๐-๕๐ คน ก็ไม่อาจทำได้

พระพุทธองค์ทรงตรัสถามต่อว่า
ถ้าสมณพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ มีความเชี่ยวชาญทางจิตตั้งจิตเพื่อทำลายเมืองนาลันทาให้เป็นเถ้าถ่านด้วยใจคิดประทุษร้าย ครั้งเดียวได้หรือไม่
อุบาลีคฤหบดี กราบทูลว่า ได้




ดังนั้นแล้วพระพุทธองค์จึงตรัสเตือนอีกว่า
เดิมชี้ว่าทัณฑื์ทางกายมีมากกว่า แต่กลับยอมรับว่าผู้มีอำนาจจิต ทำลายเมืองได้ทันที แต่ผู้ใช้กำลังกายทำไม่ได้ เช่นนั้น
ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ท่านได้ฟังมาแล้วหรือ?

อุบาลีคฤหบดีกราบทูลว่า
อย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไปข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว.

พระพุทธองค์ตรัสว่า
ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ท่านได้ฟังมาว่าอย่างไร เกิดเป็นป่าไปเพราะเหตุอะไร?

อุบาลีคฤหบดีกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไปนั้น เพราะใจประทุษร้าย อันพวกเทวดาทำเพื่อฤาษี.

เมื่อจบสิ้นข้อสงสัยต่างๆ อุบาลีคฤหบดีก็แสดงตนเป็นอุบาสกเข้าถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต




พระพุทธองค์ตรัสว่า
ดูกรคฤหบดี ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวกนิครนถ์มานานแล้ว ท่านพึงสำคัญบิณฑบาตอันท่านพึงให้แก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึง

อุบาลีคฤหบดี กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสกะข้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ว่า
ดูกรคฤหบดี ตระกูลของท่านเป็นดุจบ่อน้ำของพวกนิครนถ์มานานแล้ว ท่านพึงสำคัญบิณฑบาต อันท่านพึงให้แก่นิครนถ์เหล่านั้นผู้เข้าไปถึงนี้ ข้าพระพุทธเจ้ายิ่งชื่นชมยินดีต่อพระผู้มีพระภาคมากขึ้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำนี้มาว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ว่า
ควรให้ทานแก่เราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่คนเหล่าอื่น ควรให้ทานแก่สาวกทั้งหลายของเราเท่านั้น ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของผู้อื่น ทานที่บุคคลให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่บุคคลให้แก่สาวกของผู้อื่นไม่มีผลมาก แต่ความจริง พระผู้มีพระภาคยังทรงชักชวนข้าพระพุทธเจ้าในการให้ทานแม้ในพวกนิครนถ์

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็แต่ว่าข้าพระพุทธเจ้าจักทราบกาลอันควรในการให้ทานนี้ ข้าพระพุทธเจ้านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ เป็นครั้งที่ ๓ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระพุทธเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

อุบาลีคฤหบดีก็แสดงตนเป็นอุบาสกเข้าถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต ถึง ๓ ครั้ง



พระพุทธองค์ทรงตรัสแสดงธรรมอันได้แก่

อนุบุพพิกถาแก่อุบาลีคฤหบดีคือ ทรงประกาศทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษแห่งกามอันต่ำทราม เศร้าหมอง อานิสงส์ในเนกขัมมะ

เมื่อใด
พระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบอุบาลีคฤหบดีว่ามีจิตควร มีจิตอ่อน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตสูง มีจิตผ่องใส
เมื่อนั้น
จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนา ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เปรียบเหมือนผ้าขาวสะอาดปราศจากดำ ควรได้รับน้ำย้อมด้วยดี ฉันใด ธรรมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแก่อุบาลีคฤหบดีที่อาสนะนั้นเองว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความ ดับไปเป็นธรรมดา ฉันนั้นเหมือนกัน.

ลำดับนั้น อุบาลีคฤหบดี
มีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันบรรลุแล้ว มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงมั่นแล้ว ข้ามวิจิกิจฉาแล้ว ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา

ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลลาไป ณ บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้ามีกิจมาก มีธุระที่จะต้องทำมาก.

พระพุทธองค์ตรัสว่า
ดูกรคฤหบดี ท่านจงรู้กาลอันสมควร ณ บัดนี้เถิด.



สรุปว่าพระพุทธองค์ตรัสแสดงธรรมอันได้แก่ อนุบุพพิกถา และอริยสัจจ์ ๔ ส่งผลให้อุบาลีคฤหบดีได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุโสดาปัตติผล

เมื่ออุบาลีคฤหบดีกลับมาถึงบ้าน ได้สั่งนายประตูห้ามนิครนถ์ชายหญิงเข้าบ้าน ไม่ห้าม ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา และให้แจ้งว่า อุบาลีคฤหบดีเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว

ทีฆตปัสสีนิครนถ์ทราบเรื่อง จึงไปเล่าความให้นิครนถ์นาฏบุตรฟัง นิครนถ์นาฏบุตรไม่เชื่อ แม้จะเล่าย้ำถึง ๓ ครั้ง นิครนถ์นาฏบุตรก็ยืนยันไม่เชื่อทั้ง ๓ ครั้ง แต่ในที่สุดก็กล่าวว่าตนจะไปดูเอง

นิครนถ์นาฏบุตรพร้อมด้วยบริษัทนิครนถ์ไปถึงบ้านอุบาลีคฤหบดี นายประตูก็ห้ามเข้า อ้างว่าอุบาลีคฤหบดีคฤหบดีเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว

นิครนถ์นาฏบุตร จึงใช้ให้นายประตูไปบอกว่า ตนมายืนอยู่ที่ภายนอกซุ้มประตู
เมื่อนายประตูไปบอก อุบาลีคฤหบดีก็สั่งให้ปูอาสนะที่ศาลาใกล้ประตูด้านกลาง แล้วอุบาลีคฤหบดี ก็มา ณ ที่นั้น เลือกนั่งอาสนะที่ดีเลิศ พร้อมทั้งสั่งนายประตูให้ไปบอกนิครนถ์นาฏบุตรว่า ถ้าปราถนาก็ให้เข้ามาได้ นิครนถ์นาฏบุตร พร้อมด้วยบริษัทก็เข้าไป

ในสมัยก่อน
พอเห็นนิครนถ์นาฏบุตรมาแต่ไกล อุบาลีคฤหบดีก็จะลุกขึ้นต้อนรับ เอาผ้าห่มเช็ดอาสนะที่ดีเลิศ เชิญให้นั่ง
แต่บัดนี้
อุบาลีคฤหบดีกลับนั่งบนอาสนะที่ดีเลิศเสียเอง แล้วกล่าวว่า ท่านผู้เจริญอาสนะมีอยู่ถ้าท่านปราถนาก็จงนั่ง
นิครนถ์นาฏบุตร จึงกล่าวว่า
ท่านเป็นบ้า เป็นคนเขลาไปแล้วหรือ และได้พูดเปรียบเปรยหยาบคายอีกพร้อมทั้งกล่าวว่า ท่านถูกพระสมณโคดมกลับใจด้วยมายาสำหรับกลับใจเสียแล้วหรือ




อุบาลีคฤหบดีกลับตอบว่า
มายากลับใจนี้เป็นของดี แม้ใคร ๆ จะกลับใจเพราะมายานี้ ก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขสิ้นกาลนาน

ครั้นแล้วอุบาลีคฤหบดีได้เปรียบเทียบให้ฟังว่า

คำสอนของนิครนถ์ อดทนต่อความยินดีของคนโง่ ไม่อดทนต่อความยินดีของบัณฑิต ไม่อดทนต่อการซักไซร้ขัดสี เปรียบเสมือนลูกลิงทนต่อการย้อมสีได้ แต่จะเอามาทุบตี เอามาขีดสีเหมือนผ้าใหม่ที่จะย้อมสี ย่อมทนไม่ได้

นิครนถ์นาฏบุตร เตือนว่า
บริษัทพร้อมทั้งพระราชาก็ทราบกันอยู่ว่า อุบาลีคฤหบดีเป็นสาวกของนิครนถ์นาฏบุตร แล้วพวกเราจะทรงจำว่า ท่านเป็นสาวกของใครกัน

อุบาลีคฤหบดี จึงทำผ้าห่มเฉวียงบ่า ประคองอัญชลีไปในทิศทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ประกาศตนเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยคำสรรเสริญพระคุณอย่างยืดยาว



ท่านผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟังพระคุณของพระผู้มีพระภาคที่ข้าพเจ้าเป็นสาวก

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นนักปราชญ์ ปราศจากโมหะ ทรงทำลายกิเลสเครื่องตรึงใจได้ ทรงชำนะมาร ไม่มีทุกข์ มีจิตเสมอด้วยดี มีมารยาทอันเจริญ มีพระปัญญาดี ทรงข้ามกิเลสอันปราศจากความเสมอได้ ปราศจากมลทิน

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค
ผู้ไม่มีความสงสัย มีพระทัยดี ทรงคายโลกามิสได้แล้ว ทรงบันเทิง ทรงมีสมณธรรมอันทำสำเร็จแล้ว ทรงเกิดเป็นมนุษย์ มีพระสรีระเป็นที่สุด เป็นพระไม่มีผู้เปรียบได้ ปราศจากธุลี

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค
ผู้ไม่มีความสงสัย ทรงเฉียบแหลม ทรงแนะนำสัตว์ เป็นสารถีอันประเสริฐ ไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่า มีธรรมอันงามหมดความเคลือบแคลง ทรงทำแสงสว่าง ทรงตัดมานะเสียได้ ทรงมีพระวิริยะ

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค
ผู้องอาจ ไม่มีใครประมาณได้ มีพระคุณลึกซึ้ง บรรลุถึงญาณ ทรงทำความเกษม ทรงมีพระญาณ ทรงตั้งอยู่ในธรรม ทรงสำรวมพระองค์ดี ทรงล่วงกิเลสเป็นเครื่องข้อง ผู้พ้นแล้ว

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค
ผู้ประเสริฐ ทรงมีเสนาสนะอันสงัด มีสังโยชน์สิ้นแล้ว ผู้พ้นแล้ว ทรงมีพระปัญญาเครื่องคิดอ่าน ทรงมีพระญาณเครื่องรู้ ผู้ลดธงคือมานะเสียได้ ปราศจากราคะ ผู้ฝึกแล้ว ผู้ไม่มีธรรมเครื่องหน่วง

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นพระฤาษีที่ ๗ ผู้ไม่ลวงโลก ทรงไตรวิชชา เป็นสัตว์ประเสริฐ ทรงล้างกิเลสแล้ว ทรงฉลาด ประสมอักษรให้เป็นบทคาถา ทรงระงับแล้ว มีพระญาณอันรู้แล้ว ทรงให้ธรรมทานก่อนทั้งหมด ทรงสามารถ

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นพระอริยะ มีพระองค์อบรมแล้ว ทรงบรรลุคุณที่ควรบรรลุ ทรงแสดงอรรถให้พิสดาร ทรงมีสติ ทรงเห็นแจ้ง ไม่ทรงยุบลง ไม่ทรงฟูขึ้น ไม่ทรงหวั่นไหว ทรงบรรลุความเป็นผู้ชำนาญ

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค
ผู้เสด็จไปดี ทรงมีฌาน ไม่ทรงปล่อยจิตไปตาม ทรงบริสุทธิ์ ไม่ทรงสะดุ้ง ปราศจากความกลัว สงัดทั่ว ทรงบรรลุธรรมอันเลิศ ทรงข้ามได้เอง ทรงยังสัตว์อื่นให้ข้ามได้

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค
ผู้สงบแล้ว มีพระปัญญากว้างใหญ่เสมอด้วยแผ่นดิน มีพระปัญญาใหญ่หลวง ปราศจากโลภ ทรงดำเนินปฏิปทาเหมือนพระพุทธเจ้าในปางก่อนเสด็จไปดีแล้ว ไม่มีบุคคลเปรียบ ไม่มีผู้เสมอเหมือน ทรงแกล้วกล้า ผู้ละเอียดสุขุม

ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค
ผู้ตัดตัณหาได้ขาด ทรงตื่นอยู่ ปราศจากควัน ผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่ฉาบทาได้ ผู้ควรรับการบูชา ทรงได้พระนามว่ายักขะ ๑- เป็นอุดมบุคคล มีพระคุณไม่มีใครชั่งได้ เป็นผู้ใหญ่ ทรงถึงยศอย่างยอดเยี่ยม.




เมื่อถูกถามว่ารวบรวมคำสรรเสริญพระคุณไว้แต่เมื่อไร
อุบาลีคฤหบดี ก็ตอบว่า

ดูกรท่านผู้เจริญ เปรียบเหมือนช่างดอกไม้ หรือลูกมือช่างดอกไม้คนขยัน พึงร้อยกรองดอกไม้ต่าง ๆ กองใหญ่ ให้เป็นพวงมาลาอันวิจิตรได้ ฉันใด พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นก็ฉันนั้น ทรงมีพระคุณควรพรรณนาเป็นอเนก ทรงมีพระคุณควรพรรณนาตั้งหลายร้อย ก็ใครจักไม่ทำการพรรณนาพระคุณของพระองค์ผู้ควรพรรณนาพระคุณได้เล่า.

ครั้นเมื่อนิครนถ์นาฏบุตรทนดูสักการะของพระผู้มีพระภาคไม่ได้ โลหิตอันอุ่นได้พลุ่งออกจากปากในที่นั้นเอง ดังนี้แล.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=13&A=1044&Z=1477


บุคคลสำคัญของเมืองนาลันทาในพระพุทธศาสนา มีดังนี้
๑. พระสารีบุตร
๒. พระโมคคัลลานะ
๓. ปาวาริกเศรษฐี
๔. อุบาลีคฤหบดี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.gotoknow.org/posts/449619






นาลันทาเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ห่างจากเมืองราชคฤห์ใหม่ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ห่างจากเมืองปัตนะ รัฐพิหาร ประมาณ ๙๐ กิโลเมตร ถึงแม้จะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แต่ภายหลังการขุดค้นพบซากมหาวิทยาลัยนาลันทาแล้ว ทางรัฐบาลรัฐพิหารได้ประกาศยกฐานะหมู่บ้านนาลันทา เป็นอำเภอนาลันทา (ที่ว่าการอำเภออยู่ที่พิหารชารีฟ ตั้งอยู่ห่างจากนาลันทา ๑๒ กิโลเมตร)




คำว่า นาลันทา วิเคราะห์เชิงนิรุกติศาสตร์ได้ ๕ นัย ดังนี้

๑.โบราณาจารย์บอกว่านาลันทา เลือนมาจากประโยคว่า น อลม ทา แปลว่า ฉันจะไม่ให้ มีตำนานเสริมว่าสมัยหนึ่งพระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานบารมี เป็นที่รู้จักกันดี จนไม่มีใครได้ยินคำว่า ฉันจะไม่ให้

๒ นาลันทา มาจากคำ ๒ คำ คือ นาลัน แปลว่า ดอกบัว และ ทา แปลว่า ให้ หมายถึง ให้ดอกบัว มีตำนานเสริมว่าบริเวณนี้มีดอกบัวมาก แม้ปัจจุบันก็ยังมี ดอกบัวมากอยู่ จึงเป็นเหมือนสถานที่ให้ดอกบัว

๓. นาลันทา เป็นชื่อพญานาคซึ่งอาศัยอยู่ในสระบัวใหญ่ ณ บริเวณมหาวิทยาลัยนาลันทาปัจจุบัน ตรงกับคตินิยมของชาวอินเดียในปัจจุบันที่บูชางู มีพิธีเรียกว่านาคปัญจมี มีเมืองชื่อ นาคปุระ ๘

๔ นาลันทา ประกอบด้วยคำ ๓ คำ คือ น, อลัง, และ ทา แปลตามตัวอักษรว่า ให้ไม่พอ แต่ความหมายก็คือ ให้ไม่รู้จักพอ

๕ สมณะอี้จิงบันทึกไว้ว่า นาลันทา แผลงมาจากคำว่า นาคนันทะ ซึ่งอาจตั้งชื่อตามชื่อพญานาคที่ยึดครองที่นั้นและต่อมา พญานาคนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่า นาคแห่งนาลันทา หรือ นาลันทานาค ท่านธรรมสวามีชาวทิเบตซึ่งเดินทางมาเยี่ยมที่นี้เมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๗ บันทึกไว้ว่า คำว่า นาลันทา หมายถึง เจ้าแห่งมนุษย์ (Lord of men)

ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น