วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๙๓ ศากยะ และ โกลิยะ แย่งน้ำทำนา


ศากยะ และ โกลิยะ แย่งน้ำทำนา



หลังจากถวายพระเพลิงพระศพพระพุทธบิดาแล้ว รุ่งขึ้นเสด็จไปห้ามเหล่าศากยะและเหล่าโกลิยะ ซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่สองฝั่งแม่น้ำโรหิณี เกิดวิวาทในเรื่องแย่งกันทดน้ำเข้านา ทะเลาะและทุบตีกัน ลุกลามเกี่ยวโยงขั้นถึงชาติตระกูล ตั้งกำลังสู้กันเช่นกันกับการทำสงคราม

พระพุทธองค์ทรงทราบว่า ถ้าเสด็จไปความวิวาทจักสงบลง ทังสองฝ่ายเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว จักถวายพระราชกุมารให้บรรพชา สมาคมใหญ่จักมีเพราะเหตุแห่งความสามัคคี




ขอขอบคุณภาพจากwww.gotoknow.org

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึง รับสั่งถามว่า
"พวกเธอเกิดวิวาทกันด้วยเหตุใด"

กษัตริย์ทั้งสองฝ่ายกราบทูลสาเหตุแห่งการววิวาท



ขอขอบคุณภาพจากpirun.ku.ac.th


 พระบรมศาสดาตรัสว่า
" ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย ไฉนพวกท่านจึงจะยังกษัตริย์ซึ่งประมาณค่ามิได้ให้พินาศ ด้วยสาเหตุแห่งน้ำซึ่งมีค่าเพียงเล็กน้อยเล่า "

แล้วตรัสผันทนชาดก ( การผูกเวรของหมีและไม้ตะคร้อ) ทุททุภายชาดก (กระต่ายตื่นตูม) และลฏกิกชาดก (นางนกไส้) เพื่อระงับการวิวาทกัน

นอกจากนี้ยังตรัส รุกขธรรมชาดก (ชาดกว่าด้วยต้นไม้โดดเดี่ยวย่อมแพ้ลม ) และวัฎฎกชาดก (นกคุ่มโพธิสัตว์) ให้เกิดความสามัคคีพร้อมเพรียงกันว่า

 "หมู่ญาติยิ่งมีมากยิ่งดี จงดูต้นไม้ที่เกิดในป่า แม้จะใหญ่โตเป็นเจ้าป่า ถ้าตั้งอยู่โดดเดี่ยว ย่อมถูกแรงลมโค่นลงมาได้" เป็นต้น

ในที่สุดตรัส อัตตทัณฑสูตรว่า

 " เราได้เห็นหมู่สัตว์กำลังดิ้นรนอยู่ด้วยตัณหาแลทิฎฐิ เหมือนปลาในแอ่งน้ำน้อย ภัยได้เข้ามาถึงแล้ว เพราะได้เห็นคนทั้งหลายผู้พิโรธกันและกัน ท่านจงทำกิเลศในอดีตให้เหือดแห้ง กิเลศในอนาคตอย่าได้มี ปัจจุบันพึงเป็นผู้มีสติตั้งมั่นศึกษาไตรสิกขาเพื่อกำจัดธุลีทั้งหลาย ท่านจักเป็นผู้สงบเที่ยวไป"

กษัตริย์ทั้งสองฝ่ายฟังพระธรรมเทศนาแล้ว ต่างพากันทิ้งอาวุธ นมัสการพระพุทธองค์ กล่าวกันว่า

 " ถ้าหากพระบรมศาสดาไม่เสด็จมา พวกเราก็จักฆ่าฟันซึ่งกันและกัน จนเลือดไหลนองเป็นแม่น้ำ พวกเราได้ชีวิตเพราะอาศัยพระองค์โดยแท้ "

เมื่อได้ทราบว่าในอดีตเคยเป็นพระญาติกัน จึงถวายราชกุมาร ๕๐๐ คือกุมารฝ่ายเจ้าศากยะ ๒๕๐ และกุมารฝ่ายเจ้าโกลิยะ ๒๕๐ ให้อุปสมบทในพระศาสนา พระพุทธองค์ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา



ขอขอบคุณภาพจากwww.weekendhobby.com

จำเดิมแต่วันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุเหล่านั้นเป็นปัจฉาสมณะ เสด็จเที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครทั้งสอง บางคราวเสด็จไปเมืองกบิลพัสดุ์ บางคราวเสด็จไปเมืองเทวทหะ

ภิกษุเหล่านั้นมิได้บวชด้วยความศรัทธา จึงคิดอยากจะสึก ซ้ำเจ้าหญิงเหล่านั้นยังกล่าวถ้อยคำและส่งสาสน์ไปชักชวน ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายในสมณเพศมากขึ้น พระพุทธองค์ทรงทราบความกระสันของเหล่าภิกษุ จึงพาภิกษุราชกุมารไปยังสระดุเหว่าด้วยอานุภาพของพระพุทธองค์

ภิกษุเหล่านั้นได้เห็นสถานที่และวัตถุที่น่ารื่นรมย์ ความกำหนัดยินดีในพระชายาก็เสื่อมหายไป พระบรมศาสดาจึงตรัส กุณาลชาดก ชี้ให้เป็นโทษของมาตุคามตามถ้อยคำของนกดุเหว่า ชื่อ กุณาละ ภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุโสดาปัตติผลพร้อมด้วยฤทธิื์ที่สำเร็จแล้วด้วยมรรค

ต่อจากนั้นทรงพาภิกษุทั้งหลายไปยังป่าหิมวันต์ ตรัสกัมมัฏฐานเพื่อให้บรรลุมรรคที่เหลือ แล้วทรงแสดงอริยสัจ ๔  ภิกษุ ๕๐๐ รูป เหล่านั้นเจริญวิปัสสนาตั้งอยู่ในอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมปทา ๔


พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ป่าหิมวันต์ กับภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้นชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วจึงเสด็จกลับมาประทับยังนิโครธาราม

 ภิกษุเหล่านั้นในเวลาไป ไปด้วยอานุภาพของพระพุทธองค์ แต่ในเวลากลับ กลับมาด้วยอานุภาพของตนเอง


ขอขอบคุณภาพจากboard.postjung.com

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)



หมายเหตุ
ปัจฉาสมณะ แปลว่า สมณะผู้อยู่ข้างหลังผู้ตามหลังไป
ปัจฉาสมณะ หมายถึงพระผู้ติดตาม พระผู้น้อยที่คอยรับใช้พระผู้ใหญ่เมื่อไปในที่ต่างๆ หรือพระลูกศิษย์ มีหน้าที่คอยดูแล คอยรับใช้ คอยระวังภัยและความปลอดภัยให้ มิใช่หมายถึงพระที่เดินตามหลังเฉยๆ
.....ปัจฉาสมณะ มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล แม้พระพุทธเจ้าเองก็ทรงมีปัจฉาสมณะคอยติดตามอยู่ตลอดเวลา
.....ปัจฉาสมณะของพระพุทธเจ้ามีหลายรูปแต่เป็นอยู่ได้ไม่ค่อยนาน ผู้ทำหน้าที่เป็นปัจฉาสมณะของพระพุทธเจ้า ได้ดีที่สุดและนานที่สุดก็คือพระอานนท์

ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.kalyanamitra.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น