วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

[บทความ] ลีลาปลาตีน...เลนถิ่นปลาเขือ

ลีลาปลาตีน...เลนถิ่นปลาเขือ

นอกจากปูหลากหลายพันธุ์แล้วที่บางกรูดมีปลา 2 ชนิด ที่เกิดมาแล้วใช้ชีวิตอยู่กับเลนชายฝั่งคลุกเคล้าโคลนเลนเป็นอาจินต์ คือปลาตีนและปลาเขือ


ปลาตีนของคนทั่วไปแต่ที่บางกรูดเราเรียกปลาตีนนี้ว่าปลาเที้ยว

เนื่องจากสองริมฝั่งแม่่น้ำบางปะกงที่ตำบลบางกรูดและตำบลท่าพลับล้วนเป็นที่อยู่อาศัยของคนจีนที่อพยพเข้ามาอยู่อย่างน้อยก็สองร้อยห้าสิบปี ( ตามอายุวัดบางกรูด) คำว่าปลาเที้ยวก็คงเรียกกันต่อ ๆ มาจากบรรพบุรุษจีน เหมือน เรือเท้าวเป๊ะ ,เรือสำเป๊ะ ( คือเรือผีหลอก) ส่วนที่ตัวเมืองของอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เรียกเรือเช้าเป๊ะ ก็มี
โดยเฉพาะภาพปลาตีนตัวนี้ เป็นปลาตีนที่ไต่คลานเริงร่าเล่นโคลนอยู่ที่ เรือนลำพูรีสอร์ท ดังนั้น ปลาตัวนี้แน่นอนเลยทีเดียวว่าคือปลาเที้ยวของชาวบางกรูด 100 เปอร์เซนต์
ส่วนภาพอื่น ๆ ถ่ายภาพมาจากสถานที่อื่น


ปลาตีน

(อังกฤษ: Mudskipper, Amphibious fish)
คือ ปลาที่อยู่ในวงศ์ย่อย Oxudercinae
ในวงศ์ใหญ่ Gobiidae (วงศ์ปลาบู่) มีทั้งหมด 9 สกุล ประมาณ 38 ชนิด

ชื่อเรียกต่าง ๆ กันออกไป เช่น จุมพรวด, ตุมพรวด, กำพุด, กระจัง หรือ ไอ้จัง เป็นต้น

กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปตามชายทะเลโคลนและป่าชายเลนในเขตร้อนตั้งแต่เขตมหาสมุทรแอตแลนติก ชายฝั่งแอฟริกาจนถึงเอเชียแปซิฟิก มีควมยาวลำตัวแตกต่างออกไปตั้งแต่เพียงไม่กี่เซนติเมตร ในชนิด Zappa confluentus จนถึงเกือบหนึ่งฟุต ในชนิด Periophthalmodon schlosseri

ลักษณะพิเศษและพฤติกรรม

ปลาตีน เป็นปลากระดูกแข็งขนาดลำตัวยาว 5-30 ซ.ม.หัวมีขนาดโต มีตาหนึ่งคู่ตั้งอยู่ส่วนบนสุดของหัวโปนออกมาเห็นได้ชัด ดวงตาอยู่ค่อนข้างชิดกันสามารถกลอกไปมาได้ จึงใช้มองเห็นได้ดีทั้งบนบกและในน้ำเมื่อพ้นน้ำ ใช้ตรวจสภาพรอบ ๆ ระวังภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีหนังตาล่างใช้ป้องกันดวงตาจากเศษโคลนทรายได้

ปลาตีนไม่ได้มีตีนสำหรับเดินหรือคืบคลาน แต่สามารถเคลื่อนที่บนบกได้โดยใช้ครีบอกอกซึ่งพัฒนาเป็นกล้ามเนื้อยื่นยาวและแข็งแรงช่วย สามารถคืบคลานกระโดดไปมาบนพื้นเลนหรือกระโดเลียดไปตามผิวหน้าน้ำได้ไกล โดยการบิดงอโคนหางแล้วดีดออกเหมือนสปริงทำให้เคลื่อนไหวไปข้างหน้าโดยการไถลบนผิวเลน ปลาตีนสามารถกระโดด หรือพุ่งตัวคล้ายกระโดด ได้ไกล ตั้งแต่ 30 เซนติเมตร ถึง 90 เซนติเมตร การพุ่งตัวด้วยความเร็วแทนการว่ายน้ำยนี้ทำให้ปลาตีนสามารถหลบหลีกจากศัตรูที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

นอกจากนี้ยังคลานขึ้นต้นไม้ ยึดเกาะกับต้นโกงกาง หรือแสมได้อีกด้วย

ปลาตีนสามารถใช้ชีวิตอยู่บนบกได้เป็นเวลานานเนื่องจากปลาตีนมีอวัยวะพิเศษอยู่ข้างกระพุ้งแก้มที่ปิดเหงือกอยู่ที่สามารถเก็บน้ำ ไว้ในถุงคล้ายฟองน้ำ ทำให้เหงือกเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลาเพื่อแลกเปลี่ยนก๊าซในการหายใจเหมือนปลา

ปลาตีนเพศผู้มีขนาดลำตัวแบนเล็กน้อย มีเกล็ดปกคลุมทั่วลำตัวมีสีเทาแถบสีน้ำตาลพาด บริเวณหัวและตามตัวมีจุดวาวสีเขียวมรกต ปลายครีบหลังสีขาว สีน้ำตาล สีน้ำเงิน วาวเหมือนมุก

ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย เพศเมียสีลำตัวค่อนข้างเหลือง

ปลาตีนมีฟันเขี้ยวซี่เล็กๆขบซ้อนเหลื่อมกันทั้งริมขากรรไกรบนและล่าง ตำแหน่งของปากอยู่ปลายสุดของหัวขนานกับพื้นเหมาะกับการกินอาหารในขณะคืบคลานไปพร้อมกัน
อาหารที่กินเป็นลูกกุ้ง ลูกปู ตัวอ่อน ของสัตว์น้ำขนาดเล็ก สาหร่าย และซากพืชและสัตว์บนผิวเลน




ปลาตีนชอบขุดรูอยู่ตามป่าชายเลนและปากแม่น้ำ ใช้รูเป็นที่หลบซ่อนตัว หากินในเวลาน้ำลดทำให้ดูแลผิวเผินเหมือนสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมากกว่าปลา โดยจะคืบคลานหากินอินทรีย์วัตถุและสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ บนผิวดิน พื้นเลนอย่างคอยระวังภัยเสมอ

ปกติปลาตีนจะอาศัยอยู่รวมกันหลายตัวไม่มีออกนอกเขตของตัวเอง เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ปลาตีนตัวผู้จะมีสีเข้มขึ้นและมีอาณาเขตของการสืบพันธุ์ โดยจะมีการสร้างหลุมซึ่งจะใช้ปากขุดโคลนมากองบนปากหลุมเรียกว่า หลุมปลาตีน และมีพฤติกรรมหวงเขตแดนเมื่อมีปลาตีนตัวอื่นรุกล้ำ โดยจะแสดงการกางครีบหลังขู่ และเคลื่อนที่เข้าหาผู้รุกล้ำทันที ปลาตีนตัวผู้และตัวเมียจะผสมพันธุ์ในหลุมที่ตัวผู้ขุดไว้

ปลาตีนอาศัยในป่าชายเลนในประเทศไทยมีกระจายเป็นตอน ๆ ริมฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดชลบุรี, จังหวัดตราด เรื่อยลงไปถึงจังหวัดปัตตานี นอกจากอ่าวไทยแล้วถิ่นการกระจายของปลาตีนยังอยู่บริเวณอ่าวเบงกอล ชายฝั่งทะเลอันดามัน พบตั้งแต่จังหวัดระนองลงไปสุด ชายแดนไทยที่จังหวัดสตูล คาบสมุทรมลายู และเกาะบอร์เนียว

สำหรับปลาตีนชนิดที่พบได้ในประเทศไทย ได้แก่ Periophthalmus barbarus, Periophthalmodon schlosseri และ Boleophthalmus boddarti
ปลาตีนมักถูกจับมาขายเป็นปลาสวยงามอยู่เสมอ ๆ โดยมักหลอกขายว่าเป็นปลาน้ำจืดหรือปลาจากต่างประเทศ โดยผู้ค้ามักตั้งชื่อให้แปลกออกไป เช่น คุณเท้า, เกราะเพชร หรือ โฟร์อายส์ เป็นต้น

ปลาตีนถูกกล่าถึงสั้น ๆ ในนิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่ ความว่า

"ตลิ่งพังฝั่งชลาล้วนปลาตีน
ตะกายปีนเลนเล่นออกเป็นแปลงแปลง "


ปลาตีน

ปลาตีนนั้น แบ่งเป็น ๒ สายพันธุ์ ตามขนาดคือ ขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก
ขนาดใหญ่ เรียกว่า ปลากระจัง
ขนาดเล็ก เรียกว่า ปลาจุมพรวด


ปลาตีน

ในช่วงที่น้ำแห้งปลาตีนซึ่งมักอาศัยแถบแนวต้นใบพายซึ่งจะเป็นพื้นดินเหลว (แต่ยังไม่เหลวเป็นเลน) ก็จะออกมาหากิน จะพบเห็นปลาตีนนี้เพ่นพ่านไปทั่วพื้นเลน ชูหัวส่งนัยย์ตาที่โป่งนูุนกลิ้งกลอกไปมาสำรวจสรรพสิ่งรอบ ๆ ตัว
ถ้านั่งมองก็จะเพลิดเพลินไปกับลีลาของปลาตีน ยามเคลื่อนที่ด้วยการไถลตัวที่พื้นเลน และบริเวณที่เป็นชายน้ำจะเห็นปลาตีนนี้ กระโดดเลียดไปกับผิวหน้าน้ำ ครั้งละหลาย ๆ ตัว เหมือนลูกศรคันเล็ก ๆ พุ่งฉิวเฉียดน้ำ พลิ้ววาบ ตรงนั้นฉิว ตรงนี้ฉิว คนที่ไม่รู้จักก็จะแปลกใจที่เห็นอะไรสักอย่างพุ่งปราดอยู่ที่ผิวน้ำ

นักวิชาการมองว่าปลาตีนมีประโยชน์ คือ เป็นตัวควบคุมระบบนิเวศในป่าชายเลน ไม่ให้จำนวนปูก้ามดาบเพิ่มจำนวนมากเกินไป



ปลาเขือ

ปลาบู่เขือคางยื่น (อังกฤษ: Bearded worm goby)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Taenioides cirratus ในวงศ์ปลาบู่ (Gobiidae)
มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น "เขือ", "เขือหน้าผี", "เขือยักษ์" หรือ "เขือลื่น" เป็นต้น

เป็นปลาน้ำเค็มชนิดหนึ่งที่สามารถปรับตัวให้อยู่ในน้ำกร่อยได้ มีรูปร่างยาวคล้ายงู หัวเหมือนปลาบู่ทั่วไป แต่หน้าหัก คางยื่นออกมาเล็กน้อย ปากกว้าง มีฟันเป็นซี่แหลมขนาดเล็กในปาก ใต้ปากล่างมีติ่งเนื้อยื่นออกมาโดยรอบ ตามีขนาดเล็กมาก ครีบอกมีขนาดใหญ่ ครีบหลัง ครีบก้นไม่ต่อเนื่องกับครีบก้น ลำตัวลื่นมาก มีเกล็ดขนาดเล็กละเอียด พื้นสีลำตัวเป็นสีชมพูหรือเหลืองเหลือบทองในบางตัว ยาวเต็มที่ประมาณ 30 นิ้ว

อาศัยอยู่ในป่าชายเลนหรือป่าจากปากแม่น้ำ โดยขุดรูอยู่ในดินโคลน ออกหากินในเวลากลางคืน และอาศัยอยู่ในที่ ๆ ไม่ต้องใช้แสงสว่าง ตาจึงปรับสภาพให้มีขนาดเล็ก กินอาหารได้หลากหลาย ตั้งแต่ สัตว์น้ำขนาดเล็กรวมถึงซากพืช ซากสัตว์
พบกระจายอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลแอฟริกาตะวันออก, เอเชียใต้, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จรดโอเชียเนียและเอเชียตะวันออก
ไม่จัดเป็นปลาเศรษฐกิจ แต่สามารถนำมาบริโภคได้ โดยไม่มีพิษหรืออันตรายใด ๆ



การออกหาจับปลาเขือเป็นลีลาที่ไม่เหมือนวิธีใด ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ ช่วยทั้งสิ้น ไม่ต้องมีการวางแผนล่อหลอกให้ปลาเขือ งวยงง ด้วยสองมือเปล่ากับประสบการณ์ที่สั่งสมไว้ ความว่องไวของคนจับ เพียงพาตัวเองลงไปในพื้นเลนที่น้ำแห้งขอด สังเกตดูรูบนพื้นเลนเหลว ว่าน่าจะเป็นรูปลาเขือหรือไม่ ประสบการณ์เท่านั้นที่จะเป็นคำตอบ (พลอยโพยมนึกสยดสยอง แทนพวกเด็กผู้ชายนักล่าปลาเขือจริง ๆ ว่า แยกรูปลาเชือ กับรูงูได้จริง ๆ หรือ แต่เขายืนยันกันว่า ต้องดูออกอยู่แล้วมือชั้นเซียนอย่างนี้) ต้องนุ่งกางเกงขาสั้นหรือผ้าขะม้าถกรั้งไม่ต้องสวมเสื้อเพื่อสะดวกในการลงไปลุยเลน ไม่อย่างนั้นเลนก็จะติดเสื้อผ้า อีรุงตุงนังทำให้เคลื่อนตัวได้ไม่ว่องไว เกะกะเก้งก้าง เวลาทำการนี้ต้องทะมัดทะแมง จากนั้นก็ดึงใบจากของต้นจากจัดการเอาใบออก เหลือแกนกลางของใบจากไว้ เพื่อสำหรับร้อยเหงือกออกมาทางปากของปลาเชือที่จับได้ โดยจะร้อยเป็นพวง





เอามือหนึ่งล้วงลงไปในรูที่แน่ใจ่ว่าเป็นรูปลาเขือ น้ำที่ขังค้างในรูเมื่อมีมือคนลงไปแทนที่จะพุ่งทะลักออกที่รูอีกรูหนึ่งใกล้ ๆ กัน ถ้ามีน้ำทะลักออกมาจากอีกรูหนึ่ง แสดงว่า ถูกต้องแล้วครับ นี่เป็นรูปลาเขือจริง ๆ เอามือจ้วงลงไปในรูที่มีน้ำล้นแล้วควานมือสองมือให้เข้ามาหากันจะพบตัวปลาเขือตัวน้อย แล้วก็จับให้มั่นดึงตัวปลาเขือขึ้นมาจากรู เอาก้านจากร้อยเหงือกออกมาทางปากปลาไว้ ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ตามรู ต่างๆ ถ้าน้ำไม่ล้นผุดขึ้นที่อีกรู แสดงว่าไม่มีตัวปลาเขือ ก็ต้องจ้วงมือล้วงรูไปเรื่อย ๆ ให้เจอรูที่มีน้ำล้นผุดออกมาคนละรูกัน ดังนั้นลีลานี้น่าประทับใจที่มีมือซ้ายจ้วงรูหนึ่งมือขวาจ้วงลงไปอีกรูที่ใกล้ ๆ กัน สลับมือและแขนซ้ายขวาไปเรื่อย ๆ บางครั้งก็ไม่เจอตัวปลาเขือก็มี ไม่ใช่ว่าจะได้ทุกครั้งที่จ้วงแขนซ้ายขวา หรือขวาซ้ายลงไปในรู

รูของปลาเขือใต้เลนจะเป็นโพรงเชื่อมต่อกันแบบใยแมงมุม กิจกรรมนี้โคลนเลนกระเด็นเปรอะเปื้อนหน้าตาเนื้อตัวคนลงไปหาจับปลาเขือนี้ พอโคลนแห้งโคลนก็จะตกเป็นสะเก็ด เด็กผู้ชายก็ต้องลุยไปที่ชายน้ำจุ่มตัวในแม่น้ำล้างโคลนออกเสียทีหนึ่ง ส่วนพวงปลาทิ้งไว่้บนเลนก่อนก็ได้ ปลาเขือหนีไปไหนไม่ได้แล้ว

พลอยโพยมไม่เคยลิ้มรสปลาเขือหรอกว่ารสชาติเป็นอย่างไร และไม่เคยลงไปจับปลาเขือแบบนี้ เป็นเรื่องของเด็กผู้ชาย



ต้นใบพาย

ต้นใบพายนี้เป็นไม้น้ำโบราณคู่กับนิเวศน้ำกร่อย ตามชายฝั่งเวลาน้ำขึ้นจะมองไม่เห้นต้นใบพายเพราะน้ำท่วมมิดต้น เมื่อน้ำลงจึงจะได้พบเห็น ต้นใบพายนี้จะขึ้นเป็นแนวยาวเขียวขจี มีปลาตีนและสัตว์น้ำอื่น ๆ อาศัยในบริเวณใกล้ ๆ ต้นใบพายนี้จะช่วยอำพรางศัตรูหมู่อมิตรที่คิดจะมาจับสัตว์เล็ก ๆที่ชายฝั่งเลนนี้ไปเป็นอาหาร


ต้นใบพาย
ปัจจุบันระบบนิเวศน้ำกร่อยที่ยาวนานขึ้นรวมทั้งระดับความเค็มของน้ำในแม่น้ำบางปะกงที่มีความเค็มมากขึ้น ทำให้ต้นใบพายชนิดนี้สูญพันธุ์ไปแล้วจากอำเภอบางปะกงไปจนถึงอำเภอบางคล้า พลอยโพยมเคยซื้อได้ที่สวนจตุจักรในวันพุธ ในร้านขายไม้น้ำร่วมกับลำพู ลำแพน คล้าน้ำ สันตะวา และอื่น ๆ แต่ต่อมาก็ไม่มีมาขาย
มีต้นใบพายเล็กจิ๋ว สำหรับจัดในตู้ปลา แต่ก็เป็นคนละพันธุ์กัน
เวลานี้เวลาน้ำแห้งฝั่งจึงไม่มีแนวเขียวขจีของต้นใบพายนี้ประดับประดา ปลาตีนคงสงสัยว่าญาติสนิทมิตรต้นไม้นี้หายไปไหนกันหมด

ที่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย
www.tropicalforest.or.th/p44.htm
www.coconuthead.org/content
www.school.net.th/library/

หมายเหตุ เรื่องปลาตีนและปลาเชือเคยลงบทความไว้แล้ว อาจมีข้อมูลไม่ตรงกัน โดยเฉพาะศัพท์ของชื่อสามัญชื่อวงศ์ภาษาอังกฤษ แม้แต่กรมประมงเองก็มีการปรับปรุงในเรื่องนี้อยู่ พลอยโพยมก็เลยใช้ข้อมูลของวิกิพีเดียเที่มีการแก้ไขปรับปรุงอยู่เสมอ

2 ความคิดเห็น:

  1. ปลาเขือทอด กินกับข้าวต้มหรือข้าวสวยร้อนๆอร่อยๆครับ

    ตอบลบ
  2. ใช้ดินอะไรปลูกว่านใบพายหรอครับ หากเป็นไปได้รบกวนตอบกลับใน Mail: urzaorage.es@gmail.com จักเป็นพระคุณมากครับบ

    ตอบลบ