วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2557

สู่แดนพระพุทธองค์ ๑๑๘ พระอานนท์ ๑๓




ถ้ำสัตบรรณคูหา สถานที่ทำปฐมสังคายนา (เป็นถ้ำขนาดใหญ่ในอดีต เพดานถ้ำยุบลงมาในช่วงหลัง)
ขอขอบคุณภาพจากhttp://th.wikipedia.org/wiki/สังคายนาในศาสนาพุทธ

ผู้ริเริ่มการมีการสังคายนาคือพระมหากัสสปเถระ
มูลเหตุมาจาก
๑. พระสุภัททะ (ผู้บวชเมื่อแก่) กล่าวจาบจ้วงพระวินัย
๒. พระพุทธองค์ทรงตรัสก่อนปรินิพพานว่า พระธรรมและวินัยจักเป็นศาสดาแทนพระองค์
๓. พระมหากัสสปเถระระลึกถึงคุณของพระพุทธองค์

สถานที่จัดการสังคายนาคือที่ถ้ำสัตบรรณคูหา เขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ

สาเหตุที่เลือกเมืองราชคฤห์ เพราะเป็นเมืองใหญ่ ชัยภูมิเหมาะสม, การคมนาคม และปัจจัยสี่สะดวก, พระเจ้าอชาตศัตรูสนับสนุน, เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา

ประธานฝ่ายสงฆ์คือพระมหากัสสปเถระ

องค์วิสัชนาพระธรรมคือพระอานนท์

องค์วิสัชนาพระวินัย:คือพระอุบาลี

องค์อุปถัมภ์คือพระเจ้าอชาตศัตรู

ระยะเวลาการดำเนินการ ๗ เดือน

พระอรหันต์ร่วมการสังคายนาจำนวน ๕๐๐ รูป



ขอขอบคุณภาพจากwww.asstudio.info
พระอานนท์ผู้อ่อนน้อมถ่อมตน

ก่อนการสังคายนาพระธรรมวินัยจะเริ่ม พระมหากัสสปเถระตั้งตั้งปัญหากับพระอานนท์หลายประการ

๑. ไม่ทูลถามเรื่องสิกขาบทเล็กน้อยที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่าให้เพิกถอนได้
๒. ใช้เท้าเหยียบจีวรพระพุทธองค์ตอนเย็บ
๓. ปล่อยให้สตรีเข้าถวายอภิวาทสรีระพระพุทธองค์ก่อน ทำให้น้ำตาเปื้อนสรีระพระพุทธเจ้า
๔. ขวนขวายให้สตรีบวชในพุทธศาสนา
๕. ไม่อารธนาให้พระพุทธองค์อยู่ต่อ


พระอานนท์น้อมรับอาบัติและให้เหตุผล:
๑. มิได้ทูลถามเรื่องสิกขาบทเล็กน้อยเพราะกำลังเศร้าใจที่พระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขาร
๒. มิได้มีเจตนาลบหลู่ แต่เนื่องจากไม่มีผู้ช่วยจับจีวรตอนเย็บ ทำให้ต้องใช้เท้าเหยียบปลายจีวรไว้
๓. เห็นว่ามิควรให้สตรีอยู่ในยามวิกาล จึงปล่อยให้เข้าถวายอภิวาทสรีระพระพุทธองค์
๔. เนื่องจากเห็นว่า พระนางมหาปชาบดีเป็นผู้ทรงดูแลพระพุทธองค์มาแต่เยาว์วัย จึงขวนขวายให้ได้บวช
๕. ขณะนั้นถูกมารดลใจ จึงมิได้อาราธนาให้พระพุทธองค์อยู่ต่อ

การแสดงอาบัติของพระอานนท์นั้นเป็นกุศโลบายของพระมหากัสสปเถระที่ต้องการจะวาง ระเบียบวิธีการปกครองคณะสงฆ์ให้ที่ประชุมเห็นว่า อำนาจของสงฆ์นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด คำพิพากษาวินิจฉัยของสงฆ์ถือเป็นคำเด็ดขาด แม้จะเห็นว่าตนไม่ผิด แต่เมื่อสงฆ์เห็นว่าผิด ผู้นั้นก็ต้องยอม เป็นตัวอย่างที่ภิกษุสงฆ์รุ่นหลังจะได้ยอมทำตาม

นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมเกียรติคุณของพระอานนท์เถระ ให้เป็นตัวอย่างของผู้ว่าง่าย เคารพยำเกรงผู้ใหญ่ เป็นปฏิปทาที่ใครๆ พากันอ้างถึงด้วยความนิยมชมชอบในการต่อมา


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.buddhabucha.net/1st-sangiti/
http://th.wikipedia.org/wiki/พระอานนท์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น