วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

ไตรจีวร





ไตรจีวร
ไตรจีวร หรือ ผ้าไตร เป็นชื่อเรียกผ้านุ่งผ้าห่มที่พระสงฆ์ใช้สอย หมายถึงผ้า ๓ ผืน ซึ่งมีทั้งผ้านุ่งและผ้าห่ม อันได้แก่สังฆาฏิ (ผ้าพาดบ่า) อุตราสงฆ์ (ผ้าจีวรสำหรับห่ม) และอันตรวาสก (สบงสำหรับนุ่ง) แต่นิยมเรียกรวมกันว่า ไตรจีวร

โดยไตรจีวรเป็นปัจจัยหรือบริขารของพระสงฆ์อย่างหนึ่งในจำนวน ๘ อย่าง


นอกจากนี้ยังมีอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกไตรจีวรทั้งนิกายเถรวาทและมหายานคือคำว่า กาสาวะ หรือ กาษายะ (บาลี: kasāva กาสาว; สันสกฤต: काषाय kāṣāya กาษาย; จีน: 袈裟; พินอิน: jiāshā; ญี่ปุ่น: 袈裟 kesa ?; เกาหลี: 가사, ฮันจา: 袈裟, MC: gasa; เวียดนาม: cà-sa) ซึ่งหมายเอาตามชื่อสีที่ใช้ย้อมทำจีวรเป็นหลัก โดยผ้ากาสาวะ หมายถึงผ้าย้อมน้ำฝาด ซึ่งก็คือผ้าไตรจีวรทั้งสามผืนนั่นเอง




หลังจากพระอานนท์ถวายจีวรที่ตัดแต่งแล้ว ให้ทอดพระเนตร พระพุทธองค์ทรงพอพระทัย และอนุญาตให้ใช้ ผ้า ๓ ผืน คือ สังฆาฏิชั้นเดียว จีวร และสบง






ต่อมาทรงอนุญาต ไตรจีวร คือ ผ้าสังฆาฏิสองชั้น จีวร และสบง ทั้งนี้เพื่อให้พระสงฆ์ ใช้ป้องกันความหนาวเย็น และรับสั่งว่า ภิกษุไม่พึงมีจีวรมากกว่านี้ (รูปใดมีมากกว่านี้ เป็นอาบัติ)





อติเรกจีวร คือ จีวรที่มีเกินกว่าผ้าที่อธิษฐานเป็นไตรจีวร ตามพระวินัย ภิกษุสามารถเก็บไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน และสามารถทำเป็น วิกัปอติเรกจีวร คือ ทำให้เป็นสองเจ้าของ เพื่อจะได้ไม่ต้องอาบัติ เพราะเก็บไว้เกินกำหนด





ความเป็นมาของเรื่องอติเรกจีวรนี้ เนื่องจากมีผู้ถวายจีวรแก่พระอานนท์ แล้วท่านประสงค์จะเก็บไว้ ถวายพระสารีบุตร ซึ่งขณะนั้นอยู่ต่างเมือง ประมาณ ๑๐ วัน จึงจะเดินทางมาถึง พระอานนท์ได้เข้าไป ทูลถามพระพุทธองค์ว่า จะปฏิบัติอย่างไร กับอติเรกจีวรดี จึงทรงมีพุทธบัญญัติ ให้เก็บรักษาอติเรกจีวร ไว้ได้ไม่เกิน ๑๐ วัน





ผ้าที่ใช้ทอจีวร
สมัยต่อมา มีจีวรหลายประเภทเกิดขึ้น ภิกษุทั้งหลายไม่แน่ใจว่า จีวรชนิดใดที่ทรงอนุญาต จึงกราบทูลเรื่องนั้นต่อพระศาสดา พระพุทธองค์ทรงอนุญาตจีวร ๖ ชนิด คือ

๑.จีวรทำด้วยเปลือกไม้
๒.ทำด้วยฝ้าย
๓.ทำด้วยไหม
๔.ทำด้วยขนสัตว์
๕ ทำด้วยป่าน
๖.ทำด้วยของเจือกัน





สีจีวร
ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ บันทึกว่า แต่เดิมนั้นพระภิกษุย้อมสีจีวรต่างกันไป พระโคตมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำย้อม ๖ อย่าง คือ

น้ำย้อมเกิดแต่รากหรือเหง้า ๑
น้ำย้อมเกิดแต่ต้นไม้ ๑
น้ำย้อมเกิดแต่เปลือกไม้ ๑
 น้ำย้อมเกิดแต่ใบไม้ ๑
 น้ำย้อมเกิดแต่ดอกไม้ ๑
 น้ำย้อมเกิดแต่ผลไม้ ๑ "




ส่วนสีที่ทรงห้ามมี ๗ สี คือ

สีเขียวครามเหมือนดอกผักตบชวา,
สีเหลืองเหมือนดอกกรรณิการ์,
สีแดงเหมือนชบา,
สีหงสบาท (สีแดงกับเหลืองปนกัน),
สีดำเหมือนลูกประคำดีควาย,
สีแดงเข้มเหมือนหลังตะขาบ
และสีแดงกลายแดงผสมคล้ายใบไม้แก่ใกล้ร่วงเหมือนสีดอกบัว

บางแห่งระบุว่า สีต้องห้าม คือ สีดำ สีคราม สีเหลือง สีแดง สีบานเย็น สีแสด และสีชมพู




กาษายะของพุทธศาสนายุคแรก

การครองจีวร หรือ กาษายะในช่วงพุทธศาสนายุคแรก หรือในยุคที่พุทธศาสนายังรุ่งเรืองในอินเดีย (Indian Buddhism) มีความแตกต่างหลากหลายไปตามคณะนิกายต่าง ๆ ความแตกต่างนี้ไม่เพียงสื่อถึงสำนักนิกายในสังกัดเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงความแตกต่างในพระวินัยอีกด้วย



ระหว่างปี ค.ศ. ๑๔๘ ๑๗๐ อันซื่อเกา (安世高) พระภิกษุชาวปาร์เตีย (Parthia) จาริกมาถึงแผ่นดินจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่าน ได้แปลปกรณ์วิเศษเกี่ยวกับการครองผ้า และสีสันจีวรของ ๕ นิกายหลักของพุทธศาสนาในอินเดีย

ปกรณ์วิเศษที่ว่านี้มีชื่อว่า "มหาภิกษุเสขิยะวัตร ๓,๐๐๐ ประการ" (大比丘三千威儀)

อีกปกรณ์ที่พรรณนาถึงการครองผ้าและสีจีวรในลักษณะเดียวกันคือคัมภีร์ศาริปุตรปริปฤจฉา ข้อแตกต่างระหว่าง ๒ คัมภีร์ก็คือ สีจีวรของนิกายสรวาสติวาทกับนิกายธรรมคุปตกะสลับกัน


ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://th.wikipedia.org/wiki/ไตรจีวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น