วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

[บทความ] "อุทัยวรรณ " กุลสตรีศรีบางกรูด

"อุทัยวรรณ " กุลสตรีศรีบางกรูด


"ดอกไม้งามของตำบลบางกรูด"


เปรียบเย็นเหมือนวารี

เปรียบเย็น..เหมือนวารี ..ดุจสตรี "อุทัยวรรณ"
เมื่อเขียนบทความถึงคุณแม่ ดร. สิริ กรินชัย แล้ว ใจพลอยโพยมก็ระลึกนึกถึง พี่อุทัยวรรณ สรรพ์พิบูลย์ เจ้าของกระยาสารทและขนมหวานต้องใจ จนอดไม่ได้ที่ขอนำเรื่องราวของพี่อุทัยวรรณ ซึ่งคนทั้งบางกรูดเรียกว่า พี่ทัย กันทั้งบางมาเล่าสู่



ขอเท้าความประเพณีการแต่งงานส่วนใหญ่ชองชาวบางกรูดแม้จะนับเนื่องไปแล้วล้วนมีต้นตระกูลเป็นชาวจีนตลอดสองฝั่งน้ำ แล้วก็กลายเป็นชาวไทยปนจีนก่อนจะกลายเป็นชาวไทยเต็มตัว มีขนบธรรมเนียมหนึ่งซึ่งไม่ใช่ขนบธรรมเนียมจีนแน่นอน คือการวิวาห์ ชาวบางกรูดส่วนใหญ่มีการวิวาห์แบบวิวาหะมงคลของชาวอินเดียฝ่ายใต้ คือทำพิธีแต่งงานแล้วฝ่ายชายไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง เรียกง่าย ๆ ว่าแต่งลูกเขยเข้าบ้าน คุณพ่อพี่อุทัยวรรณ ก็แต่งเข้าบ้านฝ่ายผู้หญิงคือคุณแม่พี่อุทัยวรรณ พี่ประมุขสามีพี่อุทัยวรรณก็แต่งเข้าบ้านพี่อุทัยวรรณ แม้แต่พ่อของพลอยโพยม และตัวของพลอยโพยมเองก็ใช้ธรรมเนียมนี้

พี่อุทัยวรรณ (วัฒนสินธุ์) เกิดหลังแม่ละม่อมของพลอยโพยมเพียง 8 ปี แต่มีศักดิ์เป็นหลานของแม่ละม่อม (พี่อุทัยวรรณ มีคุณแม่นามสกุล เหล่าสินชัย ) พลอยโพยมจึงต้องเรียก พี่อุทัยวรรณ ส่วนแม่ละม่อมเรียกพี่ทัยว่า แม่ทัย


พี่อุทัยวรรณเป็นแบบฉบับ กุลสตรี ศรีบางกรูดอย่างแท้จริง
แบบฉบับที่หนึ่ง คือความกตัญญูเป็นเลิศ

คูณยายที่เป็นน้องสาวคุณยายจริงได้ขอคุณแม่พี่อุทัยวรรณมาเป็นบุตรบุญธรรมหลังหย่านม เพราะท่านเป็นโสดในขณะที่ท่านเองอายุไม่ถึง 20 ปีด้วยซ้ำไป ต่อมาท่านจัดการแต่งงานบุตรสาวโดยแต่งลูกเขยเข้าบ้าน จนมีพี่อุทัยวรรณเป็นหลานหญิงคนโต และรักพี่ทัยมาก ๆ ถึงขั้นเมื่อพี่ทัยเข้าไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ คุณยายปิ๋วของพี่ทัยเกิดอาการคิดถึงหลานสาวมากถึงกับเจ็บไข้กินไม่ได้นอนไม่หลับ พี่ทัยก็เลยต้องกลับมาเรียนที่ฉะเชิงเทรา เป็นเรื่องที่รู้ดีในหมู่ญาติ ว่าพี่ทัยรักคุณยายปิ๋วมากจริง ๆ

พี่ทัยกลับมาเรียนที่โรงเรียนดัดดรุณีจบมัธยมปีที่ 3 จะเรียนต่ออีก แต่คุณยายปิ๋วไม่ให้ไป พี่ทัยเรียนเก่งสอบได้ที่ 1 เสมอ เล่นบาสเกตบอลเก่ง แต่เมื่อจะไปแข่งขัน คุณยายปิ๋วหวงห่วงหลานสาวก็ไม่ยอมให้ไป ด้วยคุณยายปิ๋วเป็นคนโบราณ คิดว่ามีทรัพย์สมบัติที่ดินให้หลานมากพอแล้ว ไม่ต้องเรียนมาก ๆ ก็ได้ พี่ทัยอยากเรียนแต่ก็รักคุณยาย จึงไม่ได้เรียนต่อ อีกนานหลายปีจึงกลับไปเรียนวิชาตัดเย็บเสื้อผ้าที่โรงเรียนวีปิง โรงเรียนดังในสมัยนั้นและโรงเรียนการเรือนที่โรงเรียนภาณุทัต ที่กรุงเทพฯ แล้วกลับมาดูแลครอบครัวคุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ น้อง ๆ

ภายหลังต่อมาคุณยายปิ๋วชราลง เป็นโรคหลงลืม พี่ทัยก็ดูแลคุณยายปิ๋วเป็นอย่างดี ที่ไม่มีบ้านใดเสมอเหมือน เรื่องมีคนชราในบ้านหลงลืมมีมากมายที่บางกรูด แต่ไม่มีใครมีบุญเท่าคุณยายปิ๋วท่านนี้ หลังสิ้นบุญคุณยายปิ์ว แม่จ๋า ของพี่ทัยก็เกิดอาการเดียวกัน พี่ทัยได้ให้การดูแลคนชราหลงลืมอย่างดีเยี่ยมถึงสองท่าน



แบบฉบับที่สอง คือความโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปัน แก่หมู่ญาติและคนทั่วไป

บ้านพี่ทัยอยู่ในคลองศาลเจ้า ผู้คนในคลองศาลเจ้าทุกบ้านมีทั้งลูกนาและคนอื่น ๆ มีอีกหลายบ้าน นับไปแล้วทุกบ้านในคลองศาลเจ้าล้วนมาอาศัยบารมีบ้านพี่ทัยกันทั้งคลอง ทั้งมาขออาศัยเรือเพื่อไปซื้อของที่วัดบางกรูดหากมีน้ำให้พายเรือออกจากคลองได้ และมาทำงานในสวนพี่ทัย ทำงานบนเรือนของพี่ทัย

พี่ทัยเป็นผู้มีฝีมือในการทำอาหารคาวหวาน งานที่วัดบางกรูด วัดผาณิตาราม และงานตามบ้านเรือนต่าง ๆ ที่บางกรูด ล้วน มีพี่ทัยเป็นแม่งานทั้งเป็นช่างของหวานเป็นแม่ครัวของคาว เบ็ดเสร็จในตัว ใครมาเชิญพี่ทัยซึ่งพี่ทัยไม่เคยปฏิเสธใครเลย ไปทำให้ทุกงานที่มาออกปากเชิญ
เป็นคุณสมบัติที่โดดเด่่นของพี่ทัยในความเป็นแม่งานของทุก ๆ งานมิใช่แค่ทูอินวัน พี่ทัยสามารถดูแลกำกับการได้ทุกเรื่อง มิใช่แค่เพียงอาหารคาวหวานเท่านั้น
และมีผู้คนมากมายที่สนใจอยากเรียนรู้ พี่ทัยก็จะสอนให้อย่างเต็มอกเต็มใจ ไม่มีการหวงวิชาสอนให้แม้แต่เคล็ดลับ



ธรรมดาผู้มีฝีมือจะหวงสูตรของตัวเอง ที่บ้านพลอยโพยมนั้นแม่ละม่อมเป็นคนทำอาหารคาวหวานแต่เป็นอาหารพื้น ๆ เข่น แกงกะทิ แม่ละม่อมก็แกงเผ็ดแบบธรรมดา ถ้าทำขนมก็ทำแบบง่าย ๆ เน้นปริมาณเพราะเด็กในบ้านมีหลายคน ตัวอย่างเช่นการทำสังขยาก็เป็นสังขยาที่กินกับข้าวเหนียว แต่พี่ทัยเคยทำแกงเขียวหวานมาให้ เคยให้สังขยามะพร้าวอ่อนบ้าง ฟักทองบ้าง เป็นผล ๆ (ไม่รวมขนมจากเครื่องไข่ ไส้กรอก หมูแนม ( มิใช่ปลาแนม) ขนมชั้น ขนมหัวผักกาด ซ่าหริิ่ม หรืออื่น ๆ ตามวาระโอกาส ความอร่อยนั้นเลิศล้ำทุกครั้ง ทุกอย่าง ) พลอยโพยมก็สนใจอยากลองทำ บอกให้แม่ละม่อมทำบ้าง แม่ละม่อมก็บอกว่ายุ่งยาก ก็เอยากรู้ว่ามันยุ่งยากยังไงจึงไปถามวิธีทำสังขยาแบบที่อยากกิน พี่ทัย ก็บอกวิธีทำให้มาบอกไปถึงเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ อธิบายละเอียดลออ ลองมาทำแล้วก็ยุ่งยาก ทำแล้วจะเผื่อทุกคนในบ้านก็คนเยอะเช่นถ้าทำสังขยามะพร้าว ก็ต้องทำหลาย ๆ ผล ต้องนึ่งหลายเที่ยว ไป ๆ มา ๆ ก็กินข้าวเหนียวสังขยาแม่ละม่อมดีกว่า ไม่ต้องทำเองด้วย กินฝีมือแม่ละม่อมนั้น นึ่งสังขยาหนึ่งกะละมัง นึ่งหนเดียวกินได้ทั่วบ้าน แถมกินได้ 2-3 วัน ส่วนแกงเขียวหวาน แม่ละม่อมก็ไม่ทำเพราะแม่ละม่อมชอบแกงสีแดง เป็นเสียแบบนี้ว่าจะถูกจะแพง ปรุงน้ำพริกแกงง่ายหรือยากแม่ละม่อมขอเลือกสีแดงไว้ก่อน แม่ละม่อมบอกว่า แกงสีเขียวอมเหลืองของแกงเขียวหวานสีไม่สดสวย

อีกคราวหนึ่งพลอยโพยมไปถามวิธีทำหมี่กรอบเลิศรสของพี่ทัย พี่ทัยก็อธิบายให้อย่างละเอียดลอออีกตามเคย แต่คราวนี้พลอยโพยมไม่ได้ทดลองทำ
เมื่อไปถามสูตรอะไรมาพอเจอกันใหม่ พี่ทัยก็จะถามว่า ไปลองทำแล้วเป็นอย่างไรขาดตกบกพร่องตรงไหนพี่ทัยตั้งใจฟังแล้วก็จะบอกแก้ไขให้

สมัยเด็ก ๆ พลอยโพยมและพี่ ๆ น้อง ๆ ต้องเดินไปเรียนที่โรงเรียนวัดผาณิตาราม ถ้าเดินเส้นทางผ่านสวน ต้องข้ามคลองศาลเจ้าผ่านบ้านพี่ทัย พี่ทัยจะมีขันน้ำวางใกล้ ๆ ถังน้ำฝน พวกเราเหนื่อยและร้อนก็แวะกินน้ำฝนบ้านพี่ทัย ทั้งที่ข้ามคลองหน้าบ้านก็เข้าสวนของเราแล้ว แต่มันเหมือนว่าหมดแรงจะเดินแล้วตรงบ้านพี่ทัยก็เลยต้องกินน้ำบ้านพี่ทัยก่อนเข้าสวนตัวเอง



แบบฉบับที่สาม ความเป็นกุลสตรี
พี่ทัยเป็นแบบฉบับของคนมีเมตตา กรุณา กิริยามารยาทนุ่มนวลอ่อนหวาน พูดเสียงค่อย ๆ ช้า ๆ เนิบ ๆ พูดจาไพเราะ ไม่เคยเห็นพี่ทัยพูดห้วน ๆ พูดว่าใคร คุณครูสอิ้งเคยเขียนกาพย์ยานี ๑๑ ให้พลอยโพยมว่า

" เปรียบเดือนก็เหมือนเพ็ญ
เปรียบเย็นเหมือนวารี
เปรียบหอมเหมือนมาลี
ชื่อราตรีขขายจร ....."
เคยภาคภูมิใจกับความรู้สึกที่คุณครูเคยมีต่อตัวของพลอยโพยม

แต่พอนึกถึงพี่ทัยทีไรพลอยโพยมรู้สึกว่า ประโยคเหล่านี้หมายถึง พี่ทัย เหมาะสมและสมบูรณ์ลงตัวที่สุด พลอยโพยมไม่ได้เศษเสี้ยวที่จะมีคุณสมบัติอย่างที่คุณครูสอิ้งเขียนให้ ใจความสี่บรรทัดข้างต้นคือคุณสมบัติของพี่ทัย



พี่ทัยเป็นลูกคนที่สองของครอบครัว มีพี่ชาย 1 ท่าน แต่เสียชีวิตตอนเด็ก พี่ทัยก็กลายเป็นลูกสาวคนโต ดูแลน้อง ๆ อีก 6 คน เป็นที่กล่าวขวัญ ว่า พี่ทัยดูแลน้อง ๆ เหมือน แม่ดูแลลูก อย่างนั้นเลยทีเดียว เป็นอันว่า พี่ทัย ดูแลคุณยายปิ๋ว ดูแลคุณพ่อ คุณแม่ ดูแลน้อง ๆ ปกครองบ้านเรือนดูแลบริวาร เป็นอย่างดีเป็นที่รู้กัน จนเมื่อพี่ทัยแต่งงานก็ดูแล พี่ประมุข ดูแล ลูก ๆ นับเป็นยอดหญิงประจำตำบลบางกรูด

พี่ประมุขมิใช่คนบางกรูดแต่เป็นชาวบ้านใหม่อำเภอเมือง ได้ยินกิตติศัพท์ความงามพร้อมของพี่ทัยจากญาติ ๆ ว่า
" งามละม่อมพร้อมสิ้นทั้งอินทรีย์ นางในบางนี้ไม่มีเทียมทัน "
ประมาณนั้น จะเรียกว่ามาแอบดูตัวก็นับว่าใช่ พี่ประมุขมางานบวชนาค งานบวชนาคสมัยก่อนจัดที่บ้าน มีการทำขวัญนาค เวียนเทียนแว่นฟ้ากันสนุกสนานงานหนึ่งวันหนึ่งคืนก่อนมีขบวนแห่ไปบวชเป็นพระที่วัดในวันรุ่งขึ้น พี่ประมุขถูกตาต้องใจกับกิริยามารยาท เรียบร้อย มีรสนิยมดี ทันสมัย และสวยงามแช่มช้อย (แอบดูพี่ทัยอยู่ฝ่ายเดียว) รู้สึกประทับใจในทันทีประเภท
" นางนี้แน่แล้วที่ใฝ่ฝัน รูปโฉมโนมพรรณหาผิดไม่ "



เมื่อส่ง "เฒ่าแก่ " (ผู้ใหญ่ที่เป็นประธานในการสู่ขอและการหมั้น, เถ้าแก่ ก็ใช้ ) ก็ยิ่งประทับใจในความเป็นแม่บ้านแม่เรือน วันนั้นพี่ทัยกำลังทำขนมตาลในบ้านพอดี ติดใจในรสมืออีกต่างหาก แถมยังเป็นขนมที่ชอบด้วย

แน่นอนว่าคุณยายปิ๋วไม่ให้พี่ทัยไปอยู่บ้านสามี พี่ทัยก็เพิ่มภาระ ดูแลคุณพ่อ คุณแม่สามี ด้วยการนั่งเรือยนต์ ค.ศ.จ ลำสวยงามของตัวเอง ขึ้นล่องไปดูแลคุณแม่สามีที่ป่วยที่บ้านในคลองบ้านใหม่ในเมืองจนสิ้นบุญ เหลือแต่คุณพ่อพี่ประมุข เพื่อไม่ให้พี่ทัยนั่งเรือขึ้นล่องเหนื่อยยากเพราะพี่ทัยกำลังมีลูกเล็ก ๆ จึงขอให้คุณพ่อพี่ประมุขมาอยู่ด้วยกันที่บ้านคลองศาลเจ้า
พี่ประมุขเขียนบันทึกถึงพี่ทัยไว้ว่า "ดอกไม้งามของตำบลบางกรูด"

นึก ๆ ดู พี่ทัย มีอาชีพ 2 อย่าง คือ อาชีพช่วยงาน และอภิบาลญาติผู้ใหญ่ พี่ทัยต้องดูแล ญาติผู้ใหญ่ ถึง 5 คน น้อง 6 คน (มีเสียชีวิตตอนเด็กๆ บ้าง) สามี 1 คน ลูก ๆ ในขณะนั้น3 คน ( ภายหลังมี ต้องใจอีก 1 คน) พลอยโพยมขอท้าเลย ว่า แบบอย่างนี้จะมีใครทำได้ ทำได้อย่างดีด้วย ที่พี่ทัยทำได้เพราะมีคนให้ใช้สอยหลาย ๆ คน พี่ทัย กำกับสั่งการในบางเรื่อง บางเรื่องลงมือทำเอง แม้จะเป็นคุณหนูใหญ่ของบ้าน แต่ภาระนี้ หนักอึ้งจริง ๆ วันละ 24 ชั่วโมง กับอาชีพ 2 อย่างนี้ แทบไม่เพียงพอ



แบบฉบับที่สี่สติปัญญาเฉลียวฉลาดนำความรู้ที่เรียนมาเพิ่มภูมิปัญญาของตนเอง
พี่ทัยมีชื่อเสียงที่ได้จากการนำวิชาอนุกาชาดสมัยเรียนหนังสือมาใช้ คือการปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำ ที่งมขึ้นมาจากน้ำ คนบางกรูดที่มีลูกหลานบ้านไหนตกน้ำต้องวิ่งมาตามพี่ทัยกันทุกบ้าน (ยกเว้นตัวพลอยโพยม เพราะพี่ทัยผ่านมาพอดีขณะที่ทุกคนในบ้านทำใจว่าพลอยโพยมตายแน่ ๆ เพราะแก้ไขมาหลายชั่วโมงแล้วแต่ไม่ฟื้น)

พี่ทัยจะพิจารณาว่าเด็กหายใจเอาน้ำหรือโคลนเข้าไปในปอดหรือยังโดยใช้มือกดที่ชายโครงเด็กดู หากเด็กหายใจเข้าไปแต่น้ำยังพอมีทางช่วยได้ ถ้ากดชายโครงแล้วมีแต่โคลนทะลักออกมามากก็จะหมดหวัง การช่วยเหลือโดยการจับเด็กนอนหงายแล้วช่วยผายปอดแล้วเอาเด็กนอนคว่ำพาดบนกระทะใบบัวที่คว่ำปากกระทะลงลงใช้ไฟรุมกระทะให้ร้อนพออุ่น ๆ ช่วยนวดตัวให้น้ำไหลออกมา สลับกับการผายปอดไปด้วยหากจมน้ำไม่นานเด็กจะมีโอกาสฟื้น

พลอยโพยมตกน้ำไปประมาณหกชั่วโมงสำลักน้ำเต็มท้องจนลอยน้ำขึ้นมาแล้วไม่ต้องลงไปงม ก็ฟื้นขึ้นมาเขียนเล่าเรื่องจิปาถะได้จนทุกวันนี้เพราะพี่ทัยให้ความช่วยเหลือคนหนึ่งด้วยเหมือนกัน นอกจากอังไฟให้รับไออุ่นโดยคว่ำหน้าพาดตัวกับกระสอบที่ปูรองกันกระทะที่คว่ำบนเตาไฟ เมื่อพลอยโพยมที่ตัวเริ่มเขียวแล้วถอนหายใจเฮือกใหญ่ออกมา น้ำก็ไหลพรูออกมาทางปาก รอจนน้ำหยุดไหล ก็ยกพลอยโพยมขึ้นมาเอาตัวคว่ำพาดบนบ่าของคนแข็งแรง แล้ววิ่งเหยาะ ๆ รอบสวน กระแทกน้ำในท้องไหลออกมาทางปาก ใคร ๆ บอกว่า พรั่งพรูมากมาย

ภูมิปัญญาและการอาศัยวิชาอนุกาชาดของพี่ทัย ช่วยชีวิตเด็กตกน้ำที่บางกรูด หลาย ๆ คน เฉพาะที่บ้านพลอยโพยมก็สองคน บุญคุณของพี่ทัยนั้นล้นเหลือจริง ๆ พลอยโพยมระลึกถึงพระคุณของพี่ทัยเสมอมา

เรื่องความเฉลียวฉลาดของพี่ทัยนอกจากเคยเป็นเด็กเรียนเก่งสอบได้ที่ 1 แล้ว พี่ทัยมีความสามารถปรับและประยุกต์สิ่ง ต่าง ๆ ได้ดีเยี่ยม พี่ทัยจึงเป็นนักสังคมสงเคราะห์ในท้องถิ่น ช่วยให้คำแนะนำช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ผู้ไปขอคำแนะนำ เสมอ ๆ


ไส้กรอก ปลาแนม
ปัจจุบันยังไม่เคยกินของใครได้รสชาติใกล้เคียงกับ ไส้กรอกหมูแนมของพี่ทัยเลย

ศรี .... หมายถึงมิ่ง สิริมงคล ความรุ่งเรือง ความสว่างสุกใส ความงาม ความเจริญ
หมายถึง ผู้หญิง หมายถึงพระลักษมี(มเหสีพระนารายณ์) ผู้เป็นเจ้าแห่งความงาม ความเจริญ

ศรี... ที่หมายถึงผู้หญิง หรือ พระลักษมีนั้น บางที เราจะเรียกว่า พระศรี เป็นเทวี แห่งความงาม เทวีแห่งโชคลาภ เป็นหนึ่งในจำนวน สิ่งวิเศษสิบสี่อย่างที่ผุดขึ้นมาจากทะเล ในคราที่ทวยเทพและอสูร ร่วมกันกวนน้ำอมฤต ครั้งที่พระนารายณ์อวตารปางที่สอง
พระศรี เป็นยอดแห่งความงาม เป็นความงามที่ไม่จืดจาง เพราะประกอบด้วยความงามอย่างเค็มคม ด้วยเหตุที่มีกำเนิดจากทะเล ลาวัณ คือความเค็มนั้น เป็นคุณสมบัติของพระศรี ไม่รู้จืดจาง

พระศรี ใช่แต่จะรูปงามอย่างเดียวก็หาไม่ หากประกอบไปด้วยความเมตตา กรุณาเป็นนิจ แลเป็นเสน่ห์ เป็นเครื่องส่งเสริมให้พระศรี ดำรงอยู่ในความเคารพบูชาของปวงชนทั่วไปไม่รู้วาย ความงามที่เลอเลิศของพระศรีนั้นคืองามทั้งรูป และงามทั้งน้ำใจ
พระศรี เป็นผู้นำความเจริญมาสู่เหย้าเรือน
พระศรี เป็นผู้ถนอมโลกไว้ด้วยความเมตตา พระศรีมีความงามบริสุทธิ์ดุจเหมือนดอกบัว บุคคลที่หวังความงามอันเป็นเสน่ห์จับใจคนทั้งหลายพึงเป็นอย่างพระศรีคืองามรูป งามใจ และนำความเจริญมาสู่หมู่คณะเป็นเนืองนิตย์

ในเมื่อพระศรีเป็นสิ่งวิเศษที่อุบัติขึ้นมาจากน้ำอมฤต จึงมิใช่จะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ง่าย ๆ ที่บางกรูดโชคดีได้พานพบพระศรีอย่าง พี่อุทัยวรรณ
พี่อุทัยวรรณยังอยู่ในความทรงจำของคนอีกมากมายที่บางกรูด แม้จะสิ้นบุญไปเมื่อ ปี พ.ศ. 2541
พี่อุทัยวรรณกุลสตรีศรีบางกรูด

พระศรี โดย ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา
( มีอีกบทความตามมา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น