วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555

[บทความ] หมู่บ้านอู่ตะเภา..เฝ้าสืบเสาะ

หมู่บ้านอู่ตะเภา..เฝ้าสืบเสาะ


ขอบฟ้าสีทองผ่องอำไพในอรุณ คุ้นตาอยู่ที่หมู่บ้านอู่ตะเภา

คำว่าบางกรูดในปัจจุบัน จึง มี 2 ความหมาย
บ้านบางกรูดหมายถึงหมู่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลท่าพลับคือบริเวณวัดบางกรูดและพื้นที่รายรอบ
ตำบลบางกรูด หมายถึงตำบลที่อยู่คนละฝั่งกับตำบลท่าพลับ

ตำบลบางกรูดปัจจุบัน มีเพียง3 หมู่บ้าน
หมู่ที่ 1 หมู่บ้านอู่ตะเภา ไม่มีที่จะสอบถามได้ว่าชื่อหมู่บ้านนี้ได้แต่ใดมา พลอยโพยมตามหาความเป็นมาเสียเหนื่อยอ่อนทั้งกายทั้งใจ แถมไม่มีมีใครใส่ใจ สนใจ พลอยโพยมจึงขอตั้งข้อสันนิษฐานไว้โดยใช้หลักสถิติที่เรียนมา คือใช้การตั้งสมมุติฐานด้วยความน่าจะเป็นที่ค่อนสูง มีค่า variance ( ความแปรปรวน, ความแปรผัน ) ต่ำ คิดแล้วก็ไม่เก็บไว้กับตัว เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกหรือผิด ก็ให้ผู้สนใจไปค้นคว้าต่ออย่างมีนัยว่า เคยมีคนเข้าใจว่า (คือพลอยโพยมเองเข้าใจว่า ..ทำนองนั้น) ดีกว่าไม่มีอะไรเลยในกอหญ้าของหมู่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านอู่ตะเภาตำบลบางกรูด


อรุณรุ่งเรืองรองท้องน้ำหมู่บ้านอู่ตะเภา

คำว่าอู่ตะเภา มีสถานที่ที่เกี่ยวข้องหลายแห่งเท่าที่พบดังนี้
หมู่ที่1หมู่บ้านอู่ตะเภา ตำบลบางกรูด อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา เป็นสนามบินตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง และ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

เมืองอู่ตะเภา บ้านอู่ตะเภา ตำบลอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เป็นเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอู่ตะเภา

คลองอู่ตะเภา อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองหาดใหญ่ ยาวประมาณ 15 กิโลเมตร เคยเป็นเส้นทางสัญจรสำคัญระหว่างเมืองสงขลาและเมืองไทรบุรี (รัฐเกดะห์ของประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน)

เคยมีสถานีรถไฟชุมทางอู่ตะเภา (ด้านเหนือของสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาแต่ปัจจุบันทั้งตัวอาคารสถานีและป้ายสถานีอู่ตะเภาได้ถูกรื้อถอนออกไปหมดแล้ว) เนื่องจากพื้นที่บริเวณสถานีอู่ตะเภาเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมเป็นประจำ ทางการรถไฟจึงได้ย้ายสถานีมาอยู่ที่สถานีชุมทางหาดใหญ่ปัจจุบัน

มีที่ทำการกองทุนหมู่บ้านอู่ตะเภาตำบลท่าบอน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
เฉพาะที่จังหวัดสงขลามีการใช้ชื่ออู่ตะเภาถึงสองอำเภอ


ตะวันฉายพรายรัศมีที่หมู่บ้านอู่ตะเภา

ส่วนใหญ่ เป็นสถานที่สัญจรเป็นสถานที่มีคนแวะเวียนมาแบบผ่านมา แล้วก็ผ่านไป
คำว่า อู่ ก็มี ที่ใช้ กับยานพาหนะ คือ เรือ รถ (รถไฟ -รถไฟ ก็เป็นรถ ) แม้สมัยใหม่ จะมีรถไฟฟ้าลอยฟ้า และรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ก็คือรถอยู่ดีนั่นเอง

อู่แปลว่า เปล , ที่เดิมเช่นมดลูกเข้าอู่ ,แหล่งที่เกิดเช่นอู่ข้าว อู่น้ำ ,ที่ต่อหรือที่ซ่อมรถหรือเรือ ,ที่ที่ไขน้ำเข้าออกได้สำหรับเก็บเรือหรือซุง


สนธยาเวลาเย็นที่เป็นอยู่ของหมู่บ้านอู่ตะเภา
(อดีตสวนบ้านหน้าวัดบางกรูด)

คำว่าตะเภา มี 5 ความหมาย
ตะเภา 1 ชื่อเรือเดินทะเลชนิดหนึ่งแบบจีนใช้แล่นด้วยใบ สะเภาหรือสำเภา ก็เรียก , เรียกลมชนิดหนึ่งพัดมาจากทิศใต้ไปในทางทิศเหนือในกลางฤดูร้อนว่าลมตะเภา
ตะเภาเดียวกัน -พวกเดียวกัน , อย่างเดียวกัน

ตะเภา 2 ชื่อไก่ชนิดหนึ่ง ตัวอ้วนใหญ่ สีน้ำตาลมักมีขนที่หน้าแข้ง หางสั้น
ตะเภา 3 ชื่อหนูชนิดหนึ่ง ขนปุยหางสั้น มีหลายสี ขาว น้ำตาล ดำ มีถิ่นกำเนิดจากประเทศเปรู มักใช้ในการทดลองทางการแพทย์
ตะเภา 4. เรียกอ้อยพันธุ์ที่ลำโต ปล้องสั้น สีขาวเปราะ ว่าอ้อยตะเภา อ้อยสำลีก็เรียก ,เป็นชื่อหมากพันธุ์เตี้ย
ตะเภา 5 ชื่อขันน้ำชนิดหนึ่ง


เรือบรรทุกข้าว

บ้านอู่ตะเภาของบางกรูดมีความเป็นไปได้ สองความหมายที่เกี่ยวข้องคือ เกี่ยวข้องกับเรือสำเภา เมื่อนึกสภาพบ้านเรือนที่อยู่ริมน้ำบางปะกงหน้าวัดบางกรูด แต่ละบ้านจะมีคลองอ้อมจากริมแม่น้ำไปทางหลังบ้านของแต่ละบ้านทั้งที่เป็นคลองสาธารณะ มีทั้งคลองที่ขุดกันเอง เพราะแต่ละบ้านจะมีเรือกันหลายลำหลายขนาด และที่แน่นอนคือเป็นเรือที่จะต้องใช้บรรทุกข้าวเปลือกจากการออกไปเก็บค่าเช่าที่นามาเก็บใส่ยุ้งข้าวเพื่อรอราคาข้าวเปลือกมีราคาที่พอใจจึงจะขายข้าวให้พ่อค้าที่มารับซื้อ คลองที่อ้อมไปยังสถานที่เก็บเรือนี้บางบ้านก็จะเอาเรือขึ้นบกวางบนคานเรือ


เรือบรรทุกข้าว

สำหรับบ้านยายขาจะมีใต้ถุนบ้านของคุณยายเล็กซึ่งเป็นบ้านยกพื้นสูงอยู่ติดคลองส่วนตัว เมื่อน้ำขึ้นสามารถนำเรือเข้าไปจอดที่ใต้ถุนบ้านตามช่องของเสาตอม่อ บ้านคุณยายเล็กกว้างมากเป็นเรือนสามหลังหลังกลางกว้างที่สุด มีเรือนขนาดเล็กขนาบสองข้าง เรือก็จะนำไปผูกโซ่กับรอดของเรือนหลังกลางซึ่งจอดได้หลายลำ เมื่อจะนำเรือออกไปตวงข้าวค่าเช่าก็นำเรือออกจากคลอง หากเป็นช่วงน้ำแห้งคลองน้ำจะท่วมไม่ถึงใต้ถุนบ้าน คราวนี้ก็เป็นความลำบากต้องเกณฑ์เด็ก ๆ มุดใต้ถุนบ้านคุณยายเล็ก แล้วเข็นเรือออกจากใต้ถุนบ้านเราก็จะต้องลุยดินแฉะ ๆ เข็นเรือลงมาลงคลอง ใต้ถุนบ้านนี้ไม่ได้สูงมากขนาดจะยืนตรงได้ สำหรับคนโต ๆ จะต้องก้มหลังลงมุดเข้าไปเข็น บางทีตัวคนเข็นเรือก็พาลลงไปแช่ในคลองตามการไหลของเรือ ดังนั้นถ้าจะขี้โกงก็ต้องอยู่ด้านห้วเรือก็จะปลอดภัยไม่ลงไปในคลองตามเรือ ถ้าเรือลำใหญ่หน่อยก็ต้องใช้คนเข็นหลายคน
แต่ก็ยังมีเรือลำใหญ่อีกสองลำที่จะวางไว้บนคานเรือข้างยุ้งข้าว



บ้านอื่น ๆ ที่มีเรือ และคลองอ้อมไปหลังบ้านอาจเป็นลักษณะอย่างอื่น บางบ้านที่มีเรือยนต์ก็ต้องจอดเรือยนต์ของตนไว้ในคลอง
เรือที่ใช้บรรทุกข้าวนี้จะมีเรือเครื่องจูงนำ แล้วเรือข้าวจะผูกเชือกใหญ่โยงกันเป็นทอด สามลำ สี่ลำ หรือห้าลำ ก็แล้วแต่จำนวนค่าเช่าที่จะไปเก็บว่ากี่ถัง หากจำนวนถังเป็นเศษจะเรียกรวมว่าข้าว 465 ถัง จะไม่นิยมเรียกว่าข้าว 4 เกวียน 65 ถัง
แม้จะไม่ใช่อู่ต่อเรือ ก็นับว่าทุกบ้านมีอู่เก็บเรือ
แต่ไม่ใช่อู่สำหรับเรือสำเภา เพราะเรือสำเภาเป็นเรือขนาดใหญ่ และเรือสำเภาเป็นเรือของจีนที่เข้ามาเพื่อค้าขาย ไม่มีความจำเป็นที่เรือสำเภาจะต้องเข้ามาจอดตามอู่ต่าง ๆ ถ้าจะจอดต้องจอดตามท่าน้ำ
อู่เรือพวกนี้จึงมิใช่อู่เรือสำเภา



แม้จะมีผู้ใหญ่รุ่นก่อน ๆ เขียนบอกกล่าวว่า คนเก่าแก่เล่ากันมาว่าตามคลองใหญ่เช่น คลองวัดบางกรูด คลองหนองบัวและคลองศาลเจ้า บางทีมีเรือสำเภามาจอดหลบลมพายุบ้าง แต่ก็มิใช่เป็นเหตุการณ์ปกติของชนชาวบางกรูด ที่จะพบเห็นเป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวัน คำว่าบางที น่าจะเป็นการนาน ๆ หลายปีมีครั้ง
หากไปดูคลองที่กล่าวถึงในปัจจุบัน คงไม่มีใครเชื่อว่าคลองเหล่านั้นเรือสำเภาจะแวะหลบลมพายุได้ แต่สำหรับพลอยโพยมที่เคยอยู่ในชุมชนนี้ ค่อนข้างเชื่อ เพราะแค่สามสี่สิบปีคลองต่าง ๆ แคบลงและตื้นเขินอย่างน่าตกใจ เพราะไม่มีการขุดลอกคลอง ไม่มีเรือเข้ามาสัญจรในคลอง ต้นจากแสมแลลำพูรุกล้ำกินพื้นที่ลงในในคลองทั้งสองฝั่งคลอง


เรือสำเภา

และไม่เคยได้ยินใคร ๆ ในท้องถิ่นเรียกเรือสำเภาว่าเรือตะเภา ซึ่งฟังสำเนียงแล้วคำว่าตะเภาเป็นเสียงสำเนียงไทย เมื่อราวร้อยกว่าปีหรือสองร้อยปีก่อนย่านบางกรูดริมน้ำล้วนเป็นคนจีน คงไม่มีคนจีนเรียกเรือสำเภาว่าเรือตะเภาการเรียกเรือสำเภาก็น่าจะเรียกตรง ๆ ว่าเรือสำเภา


เรือสำเภา

แต่จากประวัติเมืองฉะเชิงเทราในรัชกาลที่สาม เมืองฉะเชิงเทราถูกส่งเสริมให้เป็นเมืองปลูกอ้อย และที่ตำบลท่าพลับก็มีโรงหีบอ้อย
ด้วย นอกจากชาวบางกรูดจะปลูกอ้อยเองแล้วก็ยังจะมีอ้อยจากที่อื่น ๆ ส่งมาหีบน้ำตาลที่ตำบลท่าพลับ ท่าเรือในย่านนี้จึงน่าจะมีอ้อยลำเลียงมาเป็นประจำ และอ้อยตะเภาก็เป็นอ้อยพื้นเมืองแม้จะเป็นประเภทอ้อยเคี้ยวจำพวกเดียวกับอ้อยน้ำผึ้ง อ้อยขาไก่ คนจีนที่ทำสวนน่าจะคุ้นเคยกับอ้อยมาจากเมืองจีน เมื่อมาอยู่เมืองไทยเริ่มต้นการทำสวนก็น่าจะทำสวนอ้อยกันเป็นส่วนใหญ่ และคงไม่มีคนจีนที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามานำอ้อยติดตัวจากเมืองจีน ดังนั้นก็น่าจะปลูกอ้อยพันธุ์พื้นเมืองที่มีในไทยกันก่อน



อ้อยสิงคโปร์

เมืองฉะเชิงเทราจะต้องปลูกอ้อยกันมากมาก่อนการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อป้อนโรงหีบทำน้ำตาล ตามการค้นคว้าเรื่องที่เกี่ยวกับเมืองฉะเชิงเทรากล่าวถึงอ้อยว่า ในสมัยนั้นอ้อยปลูกกันมากที่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และนครปฐม
ที่เมืองฉะเชิงเทรามีโรงหีบน้ำตาลในรัชกาลที่สามมากกว่า 30 โรง มีการตั้งโรงหีบอ้อยของหลวง ถึง 4 โรง ที่นครไชยศรี 2 โรง ฉะเชิงเทรา 1 โรง พนัสนิคม 1โรง ( ซึ่งพนัสนิคม เป็นเมืองที่ใกล้อำเภอบ้านโพธิ์ของฉะเชิงเทรามาก ต่อมาเมืองพนัสนิคมถูกนำไปรวมกับเมืองบางปลาสร้อยและอื่น ๆ เป็นจังหวัด ชลบุรี )


อ้อยที่นิยมปลูกในปัจจุบัน

เมื่อมีการทำน้ำตาลจากอ้อย อ้อยพันธุ์สำหรับทำน้ำตาลจึงนำมาจากจีนเข้ามาสู่่ไทย

ดังนั้นไร่อ้อย สวนอ้อย คงตั้งลำท้าลมหนาวใบเขียวเรียวยาวราวผืนพรม รับลมเหมันต์กันทั้งบาง ฉ่ำน้ำค้างพร่างพรมยามราตรี คืนที่มีแสงจันทร์ส่องผ่องอำไพ ผืนพรมอ่้อยคงงามไม่น้อยเลยทีดียว

สมัยเด็ก ๆ พลอยโพยมพบว่าที่บางกรูดก็ยังมีการปลูกอ้อยกันบริโภคในครัวเรือน แม้แต่บ้านชาวนา ก็จะมีมุมของบริเวณบ้าน ปลูกอ้อยไว้หนึ่งกอเป็นอย่างน้อย คนที่ปลูกเป็นร่องสวน ก็ตัดส่งไปขายตามที่มีคนมารับซื้อ หรือบางคนก็ส่งไปที่ร้านค้าที่วัดบางกรูดเป็นมัดทั้งลำ


อ้อยขาไก่

และเด็ก ๆ ที่ขี้เกียจแปรงฟัน ก็จะเคี้ยวอ้อยเป็นการทำความสะอาดฟันกัน บางคนก็ ใช้ปอกเปลือกจากลำตัดเป็นท่อน ๆ เดินกัด แทะ เตี้ยว อ้อย คนที่สุนทรีหน่อยก็ใช้มีดควั่นอ้อยเป็นข้อ ๆ หยิบกินสบาย ๆ บางคน ก็ใช้ปากและฟันตัวเองปอกเปลือกโดยไม่ต้องใช้มีดปอกให้เสียเวลา อย่างเวลาเดินกลับจากโรงเรียนสมัยเดินไปเรียนที่โรงเรียนวัดผาณิตาราม ผ่านบ้านป้าเชื่อมแม่ลุงช้อยลูกนาของยายขา ป้าเชื่อมจะไปหักอ้อยขาไก่ที่ป้าเชื่อมปลูกไว้แจกพวกเราป่อย ๆ พอฟันเป็นท่อน ๆ ให้แล้ว เราก็เดินกินอ้อยกัดแทะฉีกเอาเปลือกออก กินอ้อยมาตลอดทางจนหมดท่อนอ้อยที่ได้มา (อ้อยขาไก่ลำเล็กใช้หักเอาก็ได้ หักโดยเอาลำอ้อยวางที่หัวเข่าสองมือจับปลายลำอ้อย ออกแรงที่หัวเข่าก็จะหักอ้อยขาไก่ได้)

คนรุ่นโบราณไม่ได้แปรงฟันกัน พวกผู้ใหญ่ใช้การกินหมาก เด็ก ๆ กินอ้อยบ้าง เคี้ยวใบฝรั่งบ้างหรืออาจมีใบไม้อื่น ๆ ถ้าอ่านตามหนังสือนิยายบางทีก็บอกว่าใช้กิ่งข่อยทุบแล้วเอามาถูฟัน แต่รุ่นพลอยโพยมนั้น เด็ก ๆ แปรงฟันกันแล้วด้วยแปรงและยาสีฟัน

และในงานมหรสพตามวัดจะมีพวกแม่ค้าควั่นอ้อยมาขายในงานมากพอ ๆ กับ ถ้่วลิสงต้มทั้งเปลือก แม่ค้าบางคนก็ขายทั้งสองอย่าง

พลอยโพยมขอสันนิษฐานว่า หมู่บ้านอู่ตะเภาของบางกรูด ได้นามมาตาม "อ้อยตะเภา" มากกว่าสืบความนามว่ามาจากเรือสำเภา
ส่วนหมากพันธุ์เตี้ยไม่เคยเห็นปลูกกันตามสวนมีแต่หมากต้นสูง ๆ กันทุกสวน

ภาพจากเรือนลำพูรีสอร์ต
ภาพเรือสำเภาจากอินเทอร์เนท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น