วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2555

[บทความ] อุทัยวรรณ... อัญมณีศรีแห่งเมือง

อุทัยวรรณ... อัญมณีศรีแห่งเมือง


อุทัยวรรณ... อัญมณีศรีแห่งเมือง

คำว่าดูแลคูณยายปิ๋วและแม่จ๋า ที่เป็นโรคหลงลืมอย่างดีนั้น นอกจากการดูแลอาหารอย่างพิถีพิถันทุกมื้อลงมือด้วยตนเอง จัดเสื้อผ้าให้ด้วยตัวเองแล้ว พี่ทัย จะคอยเอาใจใส่ดูแลใกล้ชิด จะชวนพูดคุยหาเรื่องที่สนุกสนานมาคุย ให้คนฟังอารมณ์ดี หัวเราะถูกใจ ร้องเพลงแบบโบราณให้ฟัง เมื่อป่วยก็ยิ่งพิถีพิถันขึ้นไปอีก เผ้าดูอาการใกล้ชิด เช่นป่วยเป็นเบาหวาน พี่ทัยจะระมัดระวังด้านโภชนาการจนไม่ปรากฏว่ามีอาการกำเริบหรืออยู่ขั้นอันตรายเลย การเสียชีวิตมาจากโรคอื่นที่ควบคุมไม่ได้ เช่นเส้นโลหิตในสมองตีบ เป็นต้น

เมื่อสิ้นบุญคุณพ่อสามีและคุณยายปิ๋ว น้อง ๆ ก็เป็นผู้ใหญ่กันแล้ว พี่ทัยจึงเริ่มทำงาน หลาย ๆ อย่างได้ เช่นทำขนมขาย เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำสวนเพาะเห็ด



ขนมที่พี่ทัยทำขายเช่น ซาลาเปา ขนมไข่ พายเรือไปขายที่วัดบางกรูดและบ้านริมน้ำ ซึ่งล้วนเป็นญาติตลอดติดต่อกันหลายคุ้งหลายแหลม ( แต่พี่ทัยไม่ต้องไปไกลหลายคุ้งหลายแหลมเพราะขายดีมาก) บางครั้งพาลูกชายคนโตไปด้วย ญาติบางคนช่วยซื้อเพื่อให้พี่ทัยได้กลับบ้านเร็ว ๆ บางบ้าน โต้เถียงกันเสียงดังว่า "ทำไมต้องไปช่วยซื้อขนมเค้า เค้ารวยกว่าเราเสียอีก" พลอยโพยมเกิดไม่ทันช่วงพี่ทัยขายขนม แต่อ่านมาจากหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพซึ่ง ลูกชายคนโตของพี่ทัยเขียนไว้

พี่เขาเล่าว่า บางวันพี่ทัยต้องทำขนมมาก พี่เขาพายเรือเอาซาลาเปาเต็มหม้อใหญ่ไปขายที่ฝั่งวัดบางกรูด ไปขายแทนพี่ทัย มีครั้งหนึ่งเจอเพื่อนและคุยเสียเพลิน ไม่มีใครซื้อซาลาเปาเลย จึงกลับบ้าน พี่ทัยแปลกใจว่าทำไมไม่มีใครซื้อเลย ถามจนได้ถึงบางอ้อว่า พี่เขาไม่ได้บอกใคร ๆ ว่ามาขายซาลาเปา พี่ทัยให้พี่เขากลับไปขายใหม่ และบอกคนอื่น ๆว่า มาขายซาลาเปา พี่เขาโดนคนซื้อต่อว่า ว่า มีขนมมาขายก็ไม่บอก และขายได้หมด พี่ทัยสอนพี่ชายคนนี้ว่า "คนเรามีอะไรต้องพูดจากันให้เข้าใจ ไม่พูดกันแล้วจะรู้เรื่องกันได้อย่างไร " พี่ทัยก็ไม่ได้ดุว่าพี่เขาเลยมีแต่คำสอน
เป็นตัวอย่างคุณแม่ที่ดี พลอยโพยมคิดว่า เป็นคุณแม่คนอื่นลูกชายคนนี้ต้องถูกดุแน่นอนว่าไปเสียเวลาคุยกับเพื่อนลืมงานการที่รับมอบหมายมา คำสอนของพี่ทัย สื่อถึงจิตใจของพี่ทัยได้เป็นอย่างดี



และนี่เป็นตัวอย่างที่ดีของลูกหลานคนรวยที่ไม่อับอายกับการทำขนมและพายเรือขาย เพราะพี่ทัยต้องการใช้ความรู้และพรสวรรค์ของตนเอง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับความรู้ความสามารถที่มีของตนเอง ให้มียิ่งขึ้นไปอีก และไม่เลี้ยงลูกให้เป็นคุณหนูอยู่กับบ้าน ด้วยฐานะอย่างพี่ทัย อยู่กับบ้านก็สุขสบายมีบริวารใช้สอยหลายคน เฉพาะการเก็บค่าเช่านาของคุณยายปิ๋ว ของคุณพ่อ คุณแม่ ก็มากมาย มียุ้งข้าวใหญ่เบ้อเริ่ม คุณพ่อพี่ทัยเป็นลูกชายคนโตเจ้าของโรงสีมีที่นามากมาย แต่พี่ทัยก็ทำขนมขายไม่นานก็เลิก พลอยโพยมจึงไม่ทราบเรื่องพี่ทัยขายขนม



พี่ทัยได้ต้องใจเป็นลูกหลงระหว่างคุณแม่ป่วย อีกสิบปีต่อมาก็สิ้นบุญแม่จ๋า เมื่อพี่ทัยอายุ 50 ปี ส่วนคุณพ่อนั้นแข็งแรงท่านเดินเท้าเช้าเย็น ผ่านสวนหลายสวนไปทำบัญชีให้โรงสีข้าวของตระกูลที่บ้านหัวแหลมทุกวันนับจากแต่งงานมาอยู่บ้านแม่จ๋าของพี่ทัย จนอายุเกือบ 60 ปี จึงเลิกไปโรงสี นอกจากไปดูแลบัญชีของโรงสีแล้วก็คือไปเยี่ยมเยือนพูดคุยกับบิดาของท่าน การเดินเป็นการออกกำลังกายไปในตัว เดินในที่ร่มและทางเดินสะดวก ท่านแต่งตัวหล่อสวมหมวกสักหลาด ถือไม้เท้าสวยงาม พี่ทัยไม่ต้องดูแลคุณพ่อใกล้ชิด ถือได้ว่าพอมีเวลา พี่ทัยจึงได้เริ่มทำขนมขายเป็นล่ำเป็นสัน อันมีชื่อขนมว่า "ขนมต้องใจ" เป็นชื่อของบุตรสาวคนเล็ก ที่มีอายุห่างกับพี่คนที่สามถึงสิบปี ( เรียกได้ว่า ต้องใจเป็นลูกหลง)ในปี พ.ศ.2518 โดยเริ่มจากกระยาสารทก่อนมีญาติสนิทรับไปขายให้ พี่ทัยได้ปรับปรุงสูตรจากตำรับเดิมของบรรพบุรุษให้ทันสมัยถูกใจผู้บริโภค เพิ่มขนมเครื่องไข่ ต่าง ๆ ขนมชั้น วุ้นกะทิรูปกระต่าย ขนมหัวผักกาด กะละแม ขนมเทียนหน้าเทศกาล



ได้รับการรับรองจาก " เชลล์ชวนชิม " ในปี พ.ศ. 2523 โดย พี่ทัยได้พบ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ บนเครื่องบินตอนไปเที่ยวฮ่องกง มีคนแนะนำให้รู้จักกัน ม.ร.ว.ถนัดศรี บอกว่าได้รับประทานขนมต้องใจหลายอย่างหลายครั้งเพราะมีคนซื้อมาฝาก อร่อยทุกอย่าง ขอให้พี่ทัยไปรับเกียรติบัตรและป้ายเชลล์ชวนชิมได้เลย เพราะต้องการให้มานานแล้ว แต่ติดต่อเจ้าของขนมไม่ได้

ขนมต้องใจนี้เป็นความตั้งใจของพี่ทัยที่ยึดมั่นมาตลอดคือ ความเป็นเลิศทางคุณภาพที่สม่ำเสมอให้เป็น "ของดีแปดริ้ว " ตลอดไป พี่ทัยมุ่งมั่นด้านคุณภาพเป็นสำคัญแม้จะมีผู้ชักชวนให้ทำขนมที่มีคุณภาพต่ำลงมาเพื่อให้ราคาลดต่ำลงได้เพื่อให้ขายได้กำไรมากขึ้น แต่พี่ทัยไม่ทำเช่นนั้น

ชื่อเสียงของขนมต้องใจเป็นที่ยอมรับ จึงมีผู้อยากเห็นวิธีการทำบ้าง พี่ทัยก็มีภาระเพิ่มในการสาธิตการทำขนมให้กับผู้ที่สนใจในงานต่าง ๆ ทั้งของจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดใกล้เคียงอยู่เสมอ และรับสอนให้นักเรียนในวิชาคหกรรมศาสตร์ของโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ ที่บ้านพี่ทัยเอง พี่ทัยสอนให้โดยไม่ปิดบังวิชาหรือเคล็ดลับทั้งหลายรวมทั้งมีการสาธิตที่สถานีโทรทัศน์

และยังเคยสาธิตถวายทอดพระเนตรในฐานะของดีเมืองแปดริ้ว และยังได้ทูลเกล้าถวาย ฯ ขนมต้องใจในทุกโอกาสที่ทุกพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมายังเมืองฉะเชิงเทรา รวมทั้งการแสดงสินค้าในโอกาสต่าง ๆ ที่กรุงเทพ ฯ รวมทั้งงานกาชาดที่สวนอัมพร และที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ตลอดจนจัดขนมถวายเข้าพระราชวังในพระราชพิธีต่าง ๆ ด้วย ออกร้านในงานสัปดาห์นิยมไทยหลายปี ออกรายการ "บ้านทุ่งพัฒนา" มาถ่ายทำขนมที่บ้านคลองศาลเจ้า ของช่อง เจ็ดสี ร่วมแสดงละครและให้สถานที่ ถ่ายทำละครประกอบการศึกษาของ มสธ. เป็นเวลาหลายวัน



เมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ พี่ทัยอดหลับอดนอนสิบวันทำขนมตามสั่ง แต่พี่ทัยทำได้น่าอัศจรรย์หยอดทองหยอดมากมายขนาดเม็ดสม่ำเสมอกันทุกคราวแม้เกือบหลับตาหยอด ความที่เป็นที่รักของคนทั่วไป นอกจากลูกมือประจำของพี่ทัยแล้วยังมีครูอาจารย์ของโรงเรียนวัดผาณิตาราม หลาย ๆ ท่าน และที่มิใช่ครูมาช่วยพี่ทัยจัดขนมบรรจุกล่อง อดหลับอดนอนกับพี่ทัยตลอดเทศกาล โดยไม่รับค่าตอบแทน ใด ๆ
เป็นประจักษ์พยานว่าพี่ทัยเป็นที่รักใคร่ของผู้คน พี่ทัยเป็นฝ่ายให้ กับคนอื่น ๆ มาตลอด เมื่อมีโอกาสผู้คนก็อยากทำตามแบบอย่างที่พี่ทัยได้ทำไว้นั่นเอง

พี่ทัยเป็นผู้รับผิดชอบในกิจกรรมด้านโรงครัวและของหวานที่ใช้จัดเลี้ยงผู้มาทำบุญ และในเทศกาลต่าง ๆ ตลอดจนงานประจำปีของวัดผาณิตารามติดต่อกันเป็นเวลานานเพื่อทะนุบำรุงวัดที่บรรพบุรุษ (วัฒนสินธุ์) ได้สร้างไว้ จนร่างกายไม่อำนวย แต่ก็ยังกำชับให้ลูกหลานดำเนินการต่อจากพี่ทัย ซึ่งต้องใจได้เป็นผู้ดำเนินการต่อมาจนทุกวันนี้




พี่ทัยเป็นลูกโยคีของคุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย เมื่อสมัยที่คุณแม่สิริเดินทางมาสอนการปฏิบัติธรรมที่วัดผาณิตารามปีละ 2 ครั้ง พี่ทัยไม่ค่อยมีโอกาสปฏิบัตินัก เพราะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลอาหารและน้ำปานะให้คุณแม่และคณะรวมทั้งลูกโยคี พี่ทัยต้องเดินทางไปปฏิบัติที่บ้านคุณแม่ที่โคราชหรือบ้านของลูกโยคีอื่น ๆ จนร่างกายไม่อำนวย นอกจากนี้ยังไปที่วัดอัมพวันในวาระต่าง ๆ หลายครั้ง เป็นศิษย์ พระธรรมสิงหบุราจารย์ (สมณศักดิ์ปัจจุบัน) หรือหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม

การทำอาหารมังสวิรัติในสมัยเมื่อสามสิบปีก่อนไม่มีตำรา พี่ทัยได้ดัดแปลงอาหารด้วยพรสวรรค์ที่มีอยู่ ทุกมื้อของตลอดเวลาเจ็ดวัน พี่ทัยทำอาหารไม่ซ้ำกันเลย คิดดัดแปลงโดยมิได้ลอกเลียนแบบมาจากใครหรือจากตำราเล่มใดเลย และอาหารมังสวิรัติในยุคนั้นยังไม่แพร่หลาย พี่ทัยรับผิดชอบมาหลายปีจนสุขภาพไม่อำนวย

ภายหลังเมื่อสิ้นพี่ทัยไปแล้ว พลอยโพยมเคยไปปฏิบัติธรรมหลักสูตรคุณแม่ ดร.สิริ ที่ยุวพุทธสมาคม ฯ เผอิญพบลูกสาวของพี่ทัยซึ่งเป็นทั้งญาติและเพื่อนนักเรียนรุ่นเดียวกันเข้าปฏิบัติด้วย ตอนไปกราบคุณแม่ดร.สิริ ที่ห้องพัก นันทวันกราบและเรียนว่า หนูเป็นลูกแม่อุทัยวรรณ ที่วัดผาณิตาราม คุณแม่ดร.สิริบอกว่า ระลึกถึงคุณอุทัยวรรณเสมอ ทำอาหารอร่อยมากช่างคิดประดิษฐ์ทำจริง ๆ



นับแต่ปี พ.ศ.2526 ที่ยุวพุทธิกสมาคมจังหวัดชลบุรี ได้รับมอบหมายให้จัดงานนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมและมรดกไทยในเทศกาลสงกรานต์และงานเหล่ากาชาดประจำปี มีการสาธิตทำขนมหวาน และอาหารพื้นเมืองให้ประชาชนได้ชมเป็นการศึกษาและอนุรักษ์ขนมหวานอาหารพื้นเมืองแบบไทย ๆ

อดีตนายกยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี ได้ยินกิตติศัพท์ความสามารถในการทำขนมหวาน ต้องใจ ของพี่ทัย โดยเฉพาะกระยาสารทอันเลื่องลือชื่อ ได้รับรางวัลการประกวดครั้งแล้วครั้งเล่า
จึงได้เดินทางมาบ้านพี่ทัยพร้อมกรรมการของสมาคม พี่ทัยก็ไปสาธิตให้ในเวลากลางคืนที่ศาลาประชาคมจังหวัดชลบุรี โดยสาธิต การกวนกะละแม กวนขนมหัวผักกาด โรยฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด สังขยา สังขยาฟักทอง ขนมชั้น ฯลฯ ประชาชนมาชมกันเนืองแน่น เพราะเป็นปีแรก ทำเสร็จจำหน่ายหมดก่อนงานเลิก และพี่ทัยไปสาธิตให้ชาวชลบุรีรวม 9 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2534 นอกจากนี้พี่ทัยยังบริจาคทรัพย์ช่วยเหลือสมาคมในโอกาสต่าง ๆ ตลอดมา

ขนมใด ในแหล่งหล้า ว่าอร่อย
รสยังด้อย " ร้านต้องใจ " จำให้มั่น
กลิ่นหอมดี สีสวยสด รสหวานมัน
จงช่วยกัน ซื้อหา ท้าลองชิม
โดยอธึก สวัสดิมงคล อดีตนายกยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี

คุณอธึกจะบอกกล่าวเล่าสู่คณะะกรรมการรุ่นหลัง ๆ ถึงเรื่องราว พี่ทัยและขนมต้องใจเสมอมาจนท่านเสียชีวิต



เมื่อสิ้นบุญคุณพ่อผู้มีพระคุณคนสุดท้ายของพี่ทัย พี่ทัยซึ่งสุขภาพไม่ค่อยดีนักมาก่อนหน้าแล้ว ก็เริ่มมีสุขภาพทรุดโทรมลงไปอีก เพราะมีกิจกรรมสังคมมากมาย แทบไม่มีเวลาพักผ่อนและมีโรคประจำตัวด้วย และเมื่อสิ้นพี่ประมุขไม่ถึงปี พี่ทัยซึ่งหมดภาระดูแลผู้มีพระคุณ และคู่ชีวิต แม้จะยังมีน้อง ๆ และลูก ๆ หลาน แต่ทุกคนล้วนมีครอบครัวของตัวเองแล้ว พี่ทัยก็หมดห่วง พี่ทัยที่เกิดมาผูกพันเหมือนเกิดมาเพื่อ คุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ และเนื้อคู่ ก็เหมือนสิ้นภาระบนโลกนี้ ได้เวลาพักผ่อนและเดินทางสู่โลกใหม่ที่สงบสุขอิ่มเอิบด้วยผลบุญที่พี่ทัยได้สร้างไว้มากมายตลอดชีวิต คุณแม่ดร.สิริ เคยบอกลูกหลานพี่ทัยไว้ว่าพี่ทัยอยู่ในที่สบาย




นับได้ยี่สิบปีที่รู้จัก มาสมัครเกี่ยวดองเป็นน้องเขย
รับเมตตาการุญจนคุ้นเคย ทุกครั้งเอ่ยเอื้อนคำแจ่มน้ำใจ

เชี่ยวว่าชื่อลือฉาวเรื่องคาวหวาน เชิงชำนาญชิมดูก็รู้ได้
เคยกินกับกินแกงจากแหล่งใด รสก็ไม่อาจเปรียบขึ้นเทียบทาน

มาเป็นน้องพี่เรียกน้าช่างน่ารัก ยิ้มเมื่อทักแย้มเสียงสำเนียงหวาน
มาสิ้นสั่งสิ้นเสียงสำเนียงนาน ร้าวและรานอาลัยพี่ทัยนัก

โดย วาณิช จรุงกิจอนันต์

และในวันนี้คุณวาณิช นักเขียนชื่อดังที่มาเป็นน้องเขยคนสุดท้องคุณพ่อของพี่ทัย ท่านก็ได้ไปขับขาน กานท์กลอน บทใหม่ให้พี่ทัยฟังด้วยตัวเองแล้ว ณ แดนสงบ

ระยะหลังเมื่อต้องใจ บุตรสาวคนสุดท้องเรียนจบได้ดูแลกิจการขนมต้องใจให้พี่ทัย แต่หลังจากแต่งงานและตั้งครรภ์ หมอขอให้ต้องใจดูแลตนเองเพราะอยู่ในภาวะแท้งง่าย ต้องใจหยุดทำขนมจนคลอด เมื่อพี่ทัยต้องเข้าโรงพยาบาล และการเลี้ยงดูเด็กอ่อน ต้องใจจึงหยุดทำขนมต่อ ต่อมาเมื่อสิ้นพี่ทัยและมีบุตรคนที่สอง การเลี้ยงดูบุตรสองคนโดยเฉพาะคนที่สองซึ่งต้องทำกายภาพบำบัดทุกวัน ทำให้ต้องใจเลิกทำขนมต้องใจเป็นการถาวรมาจนทุกวันนี้ แต่ยังคงรับภาระแม่งานงานบุญประจำปีวัดผาณิตารามในเทศกาล กลางเดือนสาม วันขึ้น 14-15 ค่ำ ของทุกปี สืบต่อจากพี่ทัย ผู้สนใจอยากลิ้มลองขนมต้องใจสูตรพี่ทัย ฝีมือต้องใจตัวจริงเชิญมาร่วมงานบุญอุดหนุนซื้อขนมไปชิมได้



พี่ทัยมีฝีมือทั้งคาวหวาน ขนมหวานเครื่องไข่ทุกชนิดโดยเฉพาะขนมชั้นนั้น เมื่อสามสิบปีก่อนไม่มีขนมชั้นเจ้าไหนทำชั้นขนมมากชั้น แต่ละชั้นทั้งบางเฉียบนุ่มนวลอร่อยจรรโลงลิ้นเสมอเหมือนของพี่ทัย เมื่อนำขนมไปจัดงานตามโรงแรม แขกเหรื่อที่มาต้องอุทานว่า อร่อยมาก เห็นขนมหัวผักกาดก็แปลกใจ ว่า นี่ขนมอะไรกันแปลก ๆ แต่อร่อยจริง ๆ เม็ดขนุนที่นุ่มนวลถั่วละเอียดมาก (เพราะพี่ทัย ตำถั่วเขียวแล้วยีบนตะแกรงอีกที ในสมัยนั้นไม่มีเครื่องปั่นหรืออุปกรณ์ทุ่นแรงทั้งหลาย ) ชุบไข่หุ้มเนียนสวยไม่มีขอบไข่เทอะทะจับหนา ฝีมือที่เยี่ยมยอดมาจากจิตใจที่ละเอียดอ่อนของผู้ทำคือพี่ทัย พี่ทัยใส่หัวใจของตนเองลงไปในขนมทุกอย่าง ทั้งอร่อยสวยงามประณีตวิจิตรบรรจง ทองหยอดที่หยอดสวยเสมอทุกลูกรสชาตินุ่มนวลชวนให้กินซ้ำ ซ่าหริ่มก็เย้ายวนยั่วใจให้เกินยับยั้งยื่นมือไปตัก เส้นซ่าหริ่มนุ่มนวลเล็กละเอียด น้ำเชื่อมกะทิหอมกรุ่นหวานกำลังดีไม่หวานเกินไป ฝอยทองที่ม้วนเป็นคำงามล้ำราวเส้นไหมถักทอเรียงเรียบเป็นรังไหมใยอำพัน ที่สำคัญขนาดของรังไหมสวยเสมอผ่องผุดเรืองรอง ทองหยิบเหมือนกลีบดอกไม้จนเสียดายที่จะหยิบมากิน ไส้กรอกหมูแนมก็เยี่ยมยอด หมี่กรอบที่ปัจจุบันติดป้ายว่าหมี่กรอบชาววังทั้งหลายก็ต้องถอยหลังให้หมี่กรอบพี่ทัยขึ้นแซงหน้าทุกเจ้าเลยทีเดียว กระยาสารทที่พลอยโพยมและเด็ก ๆ ในบ้านเฝ้ารอให้พี่ทัยเอามาให้ ( แต่นันทวันลูกพี่ทัย ก็รอกระยาสารท ยายขาของพลอยโพยมเช่นกัน)
จาระไนสักเท่าไรก็ไม่สมของจริงของฝีมือพี่ทัย

นอกจากนี้ยังห่อหมกที่พี่ทัยทำได้อร่อยอีกเช่นกัน และเคยสอนนักเรียนโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ ซึ่งเข้าไปประกวดระดับประเทศ ได้รับรางวัลชนะเลิศมาแล้ว



ส่วนต้องใจนั้นก็เรียนด้านการเรือน ในระหว่างเรียนบางช่วงที่อาจารย์ให้ฝึกหัดทำขนมหลายอย่างที่อาจารย์ผู้สอนต้องนิ่งอึ้ง เมื่อเห็นการลงมือปฎิบัติของต้องใจ แถมประหลาดใจกับผลงานที่สำเร็จออกมา เมื่อทราบว่า ต้องใจ มีคุณแม่ที่เชี่ยวชาญ บางครั้งก็ต้องขอข้อมูลการปฎิบัติบางอย่างจากต้องใจ

บางช่วงก็ได้เรียนกับอาจารย์ที่เคยเป็นเพื่อนกับพี่ทัยมาก่อน กลับกลายเป็นภาคปฏิบัติให้ต้องใจสอนและอธิบายเพื่อน ๆ ร่วมชั้นก็มี

พี่ทัยนั้นเลือกคัดวัตถุดิบอย่างพิถีพิถันและเชี่ยวชาญมาก น้ำตาลทรายนั้นจะใช้เพียง 2 ยี่ห้อเท่านั้น ส่วนแป้งไทย ๆ เช่นแป้งมัน แป้งเท้ายายม่อม พี่ทัยตรวจดู ก็รู้ที่มาของแป้ง ว่า ทำมาจากหัวมัน หัวเท้ายายม่อมลักษณะไหน เช่น แป้งมันคราวนี้ คนทำไปมัวหลงเพลินไปเที่ยวเสียที่ไหน ปล่อยให้หัวมันแก่ไปตั้งสิบกว่าวันควรจะเก็บมาให้เร็วกว่านี้
แป้งคราวนี้ คนทำใจร้อนเก็บหัวมันมาทำแป้งเร็วไป ควรต้องรออีกสักครึ่งเดือนถึงจะทำแป้งได้ดี

หากเลือกแป้งที่มีอายุเป็นหัวมัน ไม่ถูกใจพี่ทัยจริง ๆ จำเป็นต้องซื้อมาใช้ พี่ทัยจะต้องมาแก้ไขเพื่อให้คงสภาพขนมที่ดีมีคุณภาพ ในขณะประกอบขนม พี่ทัยจะไม่ปล่อยเลยตามเลยเด็ดขาด อย่างที่ในบทความครั้งที่แล้วที่บอกว่า พี่ทัยมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดในการแก้ไขสถานะการณ์ต่าง ๆ

ดังนั้นการที่จะเรียนรู้ให้แจ่มแจ้งไปถึงฝีมือทำอาหารคาวหวานของพี่ทัยได้ มิใช่เรื่องง่าย แม้พี่ทัยจะสอนจะบอกทุกสิ่งทุกอย่างแต่สิ่งที่เรียนรู้กันไม่ได้ คือพรสวรรค์ของพี่ทัย การจะซึมซับความสามารถของพี่ทัยต้องคลุกคลีใกล้ชิดเก็บเกี่ยวประสบการณ์และต้องมีพรสวรรค์ในตัวเองด้วยที่จะสืบสานองค์ความรู้จากพี่ทัยได้ครบถ้วน

ช่างน่าเสียดายที่ต้องใจเองซึบซับไว้ได้มาก ขนาดพี่ทัยปล่อยวางให้ต้องใจลงมือแทนตัวได้แล้ว แต่ต้องใจ ก็สืบสานฝีมือไม่ได้เต็มที่เพราะมีภาระกิจมากมายจนต้องสืบสานได้แค่ทำปีละครั้ง และปล่อยให้ขนมต้องใจเป็นเพียงเรื่องเล่าขานตำนานหนึ่งของ วันวานของบางกรูด

น่าเสียดายที่ขนมต้องใจในวันนี้เหลือเพียงปีละครั้งในงานประจำปีกลางเดือนสามที่วัดผาณิตารามเสียแล้ว........

พระคุณเจ้าพระพรหมคุณาภรณ์( จิรปุญโญ ด.เจียม กุลละวณิชย์) หลวงปู่เจียม เจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร และเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทราสมัยยังมีชีวิตอยู่ เวลาพบพี่ทัยท่านจะเอ็นดูพี่ทัยมากและจะเรียกพี่ทัยว่า ต้องใจ จนติดปาก คนไม่รู้จักพี่ทัยมักเข้าใจว่า พี่ทัย ชื่อ ต้องใจ



พี่อุทัยวรรณควรค่าแก่การเป็นอัญมณีศรีเมืองฉะเชิงเทราดังนี้
1. เป็นลูกเสือชาวบ้าน
2. สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา
3. เป็นประธานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดผาณิตาราม
4 . เป็นกรรมการการศึกษาโรงเรียนวัดผาณิตาราม
5. เป็นวิทยากรพิเศษของกรมพัฒนาชุมชน สอนชาวบ้านทำอาหารคาวหวาน เพื่อประกอบอาชีพ โครงการพระราชดำริเขาหินซ้อน
6. รับสอนและให้สถานที่ ประกอบอาหารคาวหวาน นักเรียนหมวด คหกรรมศิลป์ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ ระดับมัธยมปลาย
7. รับเชิญเป็นวิทยากร สาธิตอาหารคาวหวานในงานชุมนุมอาหารรัตนโกสินทร์ที่โรงเรียนดัดดรุณี
8. เป็นสมาชิกยุวพุทธิกสมาคมชลบุรีในพระบรมราชูปถัมภ์
9. เป็นแม่งานจัดงานประจำปีวัดผาณิตาราม นำเงินทะนุบำรุงวัดทุกปี
10.บริจาคเงินก่อตั้ง มูลนิธิ ประมุข อุทัยวรรณ สรรพพิบูลย์ ช่วยเหลือนักเรียนยากจนที่เรียนดีจังหวัดฉะเชิงเทรา
ฯลฯ

รางวัลชีวิต
ได้รับยกย่องเป็นแม่ดีเด่นของจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นคนแรกในปี พ.ศ.2522
รับพระราชทานเข็มกาชาดสมนาคุณ 2 ชั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น