วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

[บทความ ] วันวาน...อำเภอบ้านโพธิ์

วันวาน...อำเภอบ้านโพธิ์



การตั้งชุมชนของคนในสมัยโบราณมักเลือกทำเลอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เมื่ออพยพมาตั้งบ้านเรือนหลาย ๆ ครัวเรือนมากขึ้น ก็เกิดเป็นหมู่บ้าน แล้วจึงสร้างวัด หรือศาสนสถานเอาไว้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การคำนวณอายุชุมชนที่เป็นที่ตั้งของอำเภอบ้านโพธิ์ประมาณการโดยอาศัยอายุของวัด



อำเภอบ้านโพธิ์ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านสนามจันทร์ มีหลักฐานว่าสร้างวัดสนามจันทร์ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2400 บ้านสนามจันทร์มีอายุ 154 ปี

บ้านสนามจันทร์ในครั้งโบราณมีลักษณะเป็นป่าทึบ มีสัตว์ดุร้ายอาศัยอยู่จำนวนมากโดยเฉพาะเสือ มักออกไปลักเป็ด ไก่ กินเป็นอาหาร บางครั้งก็กัดคนก่อความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอันมาก ทางราชการได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปปราบเสือ เป็นพระยา 3 ท่าน ซึ่งท่านได้ออกมาตั้งจั่นดักเสือที่หนองน้ำ ราษฎรเรียกว่า หนองสามพระยา โดยใช้จั่นดักเสือหลายจั่น ชาวบ้านจึงเรียกชื่อบริเวณนี้ว่าเป็นบริเวณ “สนามจั่น” บางคนก็พูดว่า ทำจั่นไว้ “สามจั่น” ไป ๆ มา ๆ นานเข้าบริเวณนี้ก็เรียกเป็น สนามจั่น และกลายเป็นบ้านสนามจันทร์

ส่วนหนองสามพระยาได้ตื้นเขินเป็นพื้นนา ปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลบ้านโพธิ์

ต่อมาทางราชการได้กำหนดการปกครองหัวเมือง แบ่งมณฑลออกเป็นเมือง อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน บริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า “สนามจั่น” หรือสามจั่น และเพี้ยนเป็น “สนามจันทร์” จึงเป็นตำบลสนามจันทร์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา



ในปี พ.ศ. 2446 มีรายงานการตรวจราชการมณฑลปราจีน ของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมรุพงศ์สิริพัฒน์ กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เรื่องการยุบอำเภอหัวไทร ไปรวมกับอำเภอบางคล้า และจัดตั้งเป็นอำเภอ ความว่า
“ถ้าดูตามลำน้ำที่ว่าการอำเภอหัวไทรกับอำเภอบางคล้าห่างกันทางราว 1 ชั่วโมง เห็นด้วยเกล้าฯว่าควรจะยกเลิกอำเภอหัวไทรเสีย คงย้ายไปตั้งตำบลสนามจันทร์ ที่จะเรียกนามอำเภอสนามจันทร์ ใต้เมืองฉะเชิงเทรา”

และอีกข้อความหนึ่งในความว่า อำเภอเมืองฉะเชิงเทรามีหมู่บ้านมาก ควรแบ่งท้องที่ตั้งเป็นอำเภอขึ้นอีกหนึ่งอำเภอ ที่ว่าการอำเภอถ้าไปตั้งในคลองประเวศบุรีรมย์ก็ไม่อยู่กึ่งกลางท้องที่ จึงเลือกที่ใต้วัดสนามจันทร์เป็นที่ตั้งอำเภอ ความกราบบังคมทูลดังนี้
“ราษฎรที่อยู่ทางลำน้ำไปมาลำบากเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าควรตั้งที่ลำน้ำเมืองฉะเชิงเทรา เหนือปากคลองสนามจันทร์ เพราะเป็นท้องที่ มีบ้านเรือนราษฎรตั้งอยู่โดยรอบ แลเป็นทำเลโจรผู้ร้ายปล้นสะดมชุกชุม ส่วนนามอำเภอเรียกว่า อำเภอสนามจันทร์ เกล้าฯ ได้เลือกที่ใต้วัดสนามจันทร์ เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอแลจะยกโรงตำรวจภูธร ที่อำเภอหัวไทรมาตั้งอยู่ที่อำเภอสนามจันทร์ด้วย”



สรุปได้ว่าการตั้งอำเภอสนามจันทร์นั้นได้แยกพื้นที่จากอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2447 ใช้ชื่อว่า อำเภอสนามจันทร์ ตามชื่อหมู่บ้าน และตำบลที่ตั้งอำเภอ ที่ว่าการอำเภอสนามจันทร์หลังแรก เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว หลังคามุงด้วยจาก นายอำเภอคนแรก คือ ขุนประจำจันทเขตต์ (ชวน)



ระหว่าง พ.ศ.2447 – พ.ศ. 2449 มีการปรับแก้ไขเขตของหมู่บ้าน และตำบลตาม พ.ร.บ. ลักษณะการปกครองท้องที่ รศ. 116 (พ.ศ. 2440) แนวทางการกำหนด เขตตำบล ดังนี้ “หลายหมู่บ้านรวมกันราว 10 หมู่บ้าน ให้จัดเป็น 1ตำบล ให้ผู้ว่าราชการเมืองปักหมายเขตตำบลนั้นให้ทราบได้โดยชัดเจนว่าเพียงใด ถ้าที่หมายเขตรไม่มีลำห้วย หนอง คลอง บึง บาง หรือ สิ่งใด เป็นสำคัญได้ ก็ให้ผู้ว่าราชการเมืองจัดให้มีหลักปักหมายเขตรอันจะถาวรอยู่ไปได้ยืนนาน”

เป็นการกำหนดเขตตำบลโดยใช้ ลำห้วย หนอง คลอง บึง บาง เป็นแนวเขต ตำบลสนามจันทร์เมื่อก่อนนี้เข้าใจว่ามีพื้นที่อยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ จึงถูกแบ่งเขตออกจากกัน โดยมีแม่น้ำบางปะกงเป็นเส้นแบ่งเขต พื้นที่ทางฝั่งขวายังคงใช้ชื่อตำบลสนามจันทร์เหมือนเดิม ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีเนื้อที่มากกว่า ส่วนทางฝั่งซ้ายซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอตั้งชื่อใหม่ว่า ตำบลบ้านโพธิ์ มีหลักฐาน คือ โฉนดที่ดินที่ออกให้ราษฎรเมื่อ รศ. 125 (พ.ศ. 2449) เปลี่ยนชื่อเป็นตำบลบ้านโพธิ์แล้ว

เหตุที่ตั้งชื่อว่า บ้านโพธิ์ เนื่องจากท้องถิ่นนี้มีต้นโพธิ์ขึ้นอยู่ทั่วไป เมื่อก่อนวัดสนามจันทร์ก็มีต้นโพธิ์ใหญ่หลายต้น ชาวบ้านมีความเคารพเพราะเป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ จึงเอาผ้าเหลืองห่มต้นโพธิ์ ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์



พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 และทรงสถาปนาพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เป็นค่ายหลวงสำหรับประชุมและซ้อมรบ แบบเสือป่า เพื่อเป็นกำลังร่วมป้องกันประเทศ และเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมอยู่เนือง ๆ



ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าชื่ออำเภอไปพ้องกับชื่อพระราชวังสนามจันทร์ จึงเปลี่ยนชื่ออำเภอสนามจันทร์เป็นอำเภอเขาดิน สมัยขุนเหี้ยมใจหาญ (พงษ์ บุรุษชาติ) เป็นนายอำเภอ

เขาดินอยู่ชายแดนติดต่อกับอำเภอบางปะกง เป็นเนินหินแกรนิต สูงประมาณ 15 เมตร เป็นที่ตั้งของวัดเขาดิน ภายในวัดมีมณฑปร้างเก่าแก่มาก เข้าใจว่าเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท เหตุที่เอาเขาดินมาตั้งเป็นชื่ออำเภอแทนสนามจันทร์ คงเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เคยเสด็จประพาสวัดเขาดิน เมื่อ พ.ศ. 2402 ซึ่งถือเป็นความปีติและเป็นสิริมงคล จึงเอาชื่อเขาดินมาเป็นชื่ออำเภอ

ต่อมาปรากฏว่าเขาดินอยู่ในเขตอำเภอบางปะกง จึงเปลี่ยนชื่ออำเภออีกครั้งหนึ่ง จากเขาดินมาเป็นอำเภอบ้านโพธิ์ ตามชื่อของตำบล เมื่อ พ.ศ. 2460 สมัยขุนเจนประจำกิจ (ชื้น) เป็นนายอำเภอ



ตั้งแต่ตั้งอำเภอมา มีนายอำเภอปกครอง โจรผู้ร้ายที่ว่าชุมชุมก็หมดไป ชาวอำเภอบ้านโพธิ์ มีความเป็นอยู่ที่สงบสุข เรียบง่าย

อำเภอบ้านโพธิ์เป็นเพียงอำเภอเล็ก ๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ก็มีประวัติศาสตร์ของที่มาที่ไปของ หลาย ๆ ชุมชน กระจัดกระจายกันที่น่าสนใจ
นอกจากตำบลบางกรูด ตำบลท่าพลับ ตำบลสนามจันทร์ ตำบลบ้านโพธิ์แล้ว ยังมีตำบลเกาะไร่ที่พลอยโพยมขอกล่าวถึง




ตำบลเกาะไร่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ล้อมรอบด้วยคลอง ได้แก่ คลองแขวงกลั่น จระเข้น้อย แพรกนกเอี้ยง บางเรือน ประเวศบุรีรมย์ หลอดหวังปิ้ง และหลอดตาเกด พื้นที่เป็นที่ราบ น้ำท่าบริบูรณ์ ประชาชนมีอาชีพทำนาเป็นหลัก จึงมองดูเหมือนเกาะกลางน้ำ ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า “เกาะไร่”
เมื่อนานวันเข้า พื้นน้ำที่ล้อมรอบเกาะไร่ตื้นเขินกลายเป็นพื้นดิน ต่อมามีผู้ลอกขุดดินบริเวณที่เคยเป็นน้ำล้อมรอบเกาะ ได้พบเสากระโดงเรือใหญ่ พร้อมกับท้ายบาหลีของเรือสำเภาใหญ่ พบหีบเหล็กใส่สินค้า และข้าวของอันมีค่าอีกมากในบริเวณชั้นดินที่ถูกทับถม พบเปลือกหอยปรากฏอยู่ทั่วไป

ซึ่งถ้าพิจารณาสถานที่ตั้งของตำบลเกาะไร่แล้ว ก็ต้องแปลกใจกับสิ่งที่ขุดพบซึ่งแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ในอดีต



ส่วนตำบลบ้านโพธิ์นั้น เป็นชื่อของตำบลในหลาย ๆ จังหวัดด้วยเช่น จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดตรัง จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดหนองคาย เนื่องจากการเรียกชื่อชุมชนนั้นชาวบ้านมีหลักการเรียกชื่อคล้าย ๆ กัน เช่น ลักษณะเด่นของภูมิประเทศ พืชพันธุ์ไม้ในท้องถิ่น ตำนานเรื่องเล่าของท้องถิ่น เป็นต้น

ที่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย
หนังสือจังหวัดฉะเชิงเทรา
ภาพ เป็นภาพแม่น้ำบางปะกงหน้าที่ทำการอำเภอบ้านโพธิ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น