วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

[บทความ] บ้านบางชายสอ ต่อติดชิดบ้านท่าถัว

บ้านบางชายสอ ต่อติดชิดบ้านท่าถัว


งามไม่จืดจางบางชายสอ

บ้านบางชายสอ
คือหมู่ที่สองของตำบลบางกรูดในปัจจุบัน เป็นหมู่บ้านที่อยู่ลึกเข้ามาจากริมแม่น้ำของทางด้านหมู่บ้านอู่ตะเภาหากแต่เพราะความคดเคี้ยวเลี้ยวลดของลำนำบางปะกงทำให้อีกด้านหนึ่งของบ้านบางชายสออยู่ริมฝั่งบางปะกงเช่นกันหลังจากลำน้ำเลี้ยวโค้งลงมาทางปากแม่น้ำ และเป็นที่ตั้งของวัดผาณิตาราม (ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเรียก สั้น ๆ ว่า วัดผา) สถานีอนามัย มีโรงเรียนวัดผาณิตารามซึ่งมีทั้งชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น

ต่อมาผู้อุปการะโรงเรียนได้ซื้อที่ดินและย้ายโรงเรียนชั้นมัธยมอยู่ลึกเข้าไปจากวัดทำให้โรงเรียนมัธยมแยกออกจากวัดผาณิตาราม และได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนผาณิตวิทยาตั้งอยู่หมู่ที่ 1 คืออยู่ในหมู่บ้านอู่ตะเภา


บางปะกงคงอยู่คู่บางชายสอ

ในปี พศ. 2527 คุณแม่สิริ กรินชัย ได้ให้ความเมตตาชาวฉะเชิงเทรา ท่านได้มาสอนการปฎิบัติอยู่หลายปี จนในที่สุดวัดผาณิตารามได้สร้างศาลาปฎิบัติธรรม และนับเป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา แห่งที่ 5 ชื่อว่าศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติวัดผาณิตาราม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งนับเป็นสถานที่ปฎิบัติธรรมที่มีชื่อเสียงมีผู้คนนิยมมาปฏิบัติกันมากเดินทางไกลมาจากสถานที่ต่าง ๆ

เมื่อการจัดตั้ง อ.บ.ต.ขึ้น อ.บ.ต.บางกรูด ตั้งอยู่ในบริเวณของวัดผาณิตาราม


พายเรือลำน้อยลอยหน้าวัด

นอกจากบริเวณวัดผาณิตารามและโรงเรียนวัดผาณิตารามแล้วพื้นที่ส่วนใหญ่เดิมเป็นทุ่งนาและพื้นที่เป็นสวนบ้างเล็กน้อยซึ่งต่อมาได้กลายเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ และเมื่อสิ้นยุคเฟื่องฟูของการเลี้ยงกุ้งกุลาดำ บางแห่งก็ยังคงเลี้ยงกุ้งพันธุ์อื่นสืบต่อมา เช่น กุ้งขาวแวนนาไม


กุลาเก่าเจ้าเลือนไป แวนนาไมใหม่เข้ามา

เมื่อกุ้งขาวแวนนาไม เข้ามาแพร่หลายในไทย ทำให้กุ้งกุลาดำหายหน้าหายตาไปจากบ่อเพาะพันธุ์กุ้งและบ่อดินสำหรับเป็นที่เลี้ยงของชาวเมืองฉะเชิงเทรา จากคำบอกเล่าที่เล่าสู่กันต่อ ๆ คือ เป็นกุ้งที่เลี้ยงง่ายและจับขายได้เร็วกว่ากุ้งกุลาดำ แม้แต่พ่อค้าที่มารับซื้อกุ้งกุลาดำที่บ่อเลี้ยง ก็จะชักชวนผู้เลี้ยงว่า ลองเปลี่ยนมาเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมดูสิ บางบ่อก็ปรับเลี้ยงปลา แต่ไม่มีการหวนคืนของท้องทุ่งนาปลูกข้าวอีกมาจนทุกวันนี้ แม้ในที่ดินบางแปลงจะไม่ได้เลี้ยงทั้งกุ้งขาวหรือเลี้ยงปลา เจ้าของก็ปล่อยพื้นที่ให้รกเรื้อไปด้วยหญ้านานาพันธุ์ และรกร้างด้วยพืชผลหรือพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ

ยังไม่สามารถหาสมมุติฐานใด ๆ เกี่ยวกับที่มาของชื่อบ้านบางชายสอ


เมฆสวยใสในนภาคราสายัณห์
(ทุ่งนาเดิมของบ้านบางชายสอ)
หมู่ที่สามบ้านท่าถั่ว

หมู่บ้านท่าถั่ว ถือเป็นบริเวณแรก ๆ ที่ชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในเมืองฉะเชิงเทรา เป็นชุมชนอยู่คนละฝั่งกับโรงสีล่าง จะใช้กับว่าเยื้องกัน ก็ไกลจนมองไม่เห็นกัน เพราะมีต้องเลี้ยวโค้งแม่น้ำ และชุมชนบ้านท่าถั่วที่เป็นแหล่งใหญ่อยู่ในคลอง แต่อยู่ฝั่งเดียวกับวัดผาณิตาราม สาเหตุที่เรียกว่า ท่าถั่ว มิใช่เป็นท่าสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายพืชผลที่เรียกกันว่าถั่ว แต่ท่าถั่วนี้เคยเป็นบ่อนการพนันเล่นถั่วมาก่อนเป็นบ่อนใหญ่มาก มีคนเล่าให้พลอยโพยมฟังว่า การเล่นพนันถั่วในระหว่างการเล่นเขาใช้คำว่า ขึ้นถั่ว ลงถั่ว
พลอยโพยมไม่เคยเห็นการเล่นถั่ว และในวัยเด็กต่อให้อยากรู้อยากเห็นเพียงใดก็คงไม่มีโอกาสเข้าไปรู้เห็นได้

จำได้ว่าที่วัดบางกรูดมีการเล่นไฮโลกัน พอเราเมียงมองเข้าไปใกล้ ๆ เพราะเห็นมีคนล้อมวงและส่งเสียงดังกันเป็นระลอก ๆ หากเข้าไปใกล้ ๆ ถ้าทุกคนกำลังเพลิดเพลินก็มองดูห่าง ๆ ได้ แต่ ถ้ามีผู้ใหญ่เห็นเขาก็ไม่ถึงกับขับไล่ไสส่ง แต่ก็ส่งสายตาบอกอยู่ในทีว่า "นี่หนูมาเกะกะอะไรแถวนี้ นี่ไม่ใช่ที่ของหนูนะ" แต่ก็น้อยครั้งเพราะทุกคนในวงคร่ำเคร่งบ้าง ครึกครื้นบ้าง มีทั้งหน้าชื่นตาบาน มีทั้งหน้าชื่นอกตรมเดินระทมระทวยหมดแรงออกมาจากวงบ้าง

แต่วงเล่นถั่วขนาดเปิดเป็นบ่อนนั้น พลอยโพยมลองหลับตาวาดภาพเอา คนที่เดินหมดอาลัยตายอยากเพราะหมดเงินเล่น เล่นเสียหมดตัว คงมีอาการหนักหนาสาหัสกว่า คงเป็นแบบระโหยโรยแรงเดินคอพับคออ่อนออกมาไม่แค่เดินระทมระทวยแน่เลย โอ้หนอการการพนัน มันมีผีร้ายจริง ๆ เข้าสิงที่ใครบ้านไหนก็ยากจะขุดรากถอนโคนผีร้ายตัวนี้ออกไปได้


เมฆลอยคล้อยเคลื่อนเลือนแสงแห่งทิวา
(ทุ่งนาเดิมของบ้านบางชายสอ)

ที่บ้านท่าถั่วนี้ มีตลาดอยู่ริมคลองเป็นแนวยาวอยู่ฝั่งซ้ายมือเมื่อหันหน้าสู่ปากคลองคือแม่น้ำบางปะกง เรียกกันว่าตลาดประตูน้ำท่าถั่ว อยู่ปากคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งเป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2421 จากปากคลองพระโขนง กรุงเทพมหานคร ฯ มาออกที่แม่น้ำบางปะกงที่บ้านปากคลองท่าถั่ว วัตถุประสงค์ที่ขุดคลองนี้เพื่อขยายพื้นที่ทำนาเข้าไปในบริเวณที่รกร้างว่างเปล่า เป็นเส้นทางคมนาคม และมีประตูระบายน้ำตั้งอยู่ที่ปากคลองท่าถั่ว


เมฆางามยามสายัณห์อันใกล้ค่ำ
(ทุ่งนาเดิมของบ้านบางชายสอ)

แต่เดิมมีผู้คนอาศัยในบริเวณนี้ไม่มากนัก แต่หลังจากที่มีการขุดคลอง ประชาชนก็พากันมาจับจองที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า ทำมาหากินกันอยู่ตามแนวลำคลอง และมีการค้าขายเกิดขึ้น มีเรือพ่อค้าแม่ค้านำสินค้ามาขายกันเป็นจำนวนมาก เป็นศูนย์รวมของการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าของชาวบ้านในย่าน บางพระ บางกรูด ประเวศบุรีรมย์ (คลองสวน) ลาดขวาง เป็นตลาดเช้า
ต่อมาตลาดได้ขยายขึ้นไปอยู่บนบกริมคลองท่าถั่ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนมาเปิดร้านค้ากันเป็นจำนวนมาก ลักษณะตลาดเป็นอาคารห้องแถวชั้นเดียวติดต่อกันเป็นแถวยาวเป็นเรือนไม้ มีร้านขายเครื่องใช้ที่จำเป็นของผู้คนที่ต้องใช้ประจำวันทั้งอุปโภคและบริโภค ทั้งของสดและของแห้ง ร้านตัดเสื้อผ้า ร้านตัดผม ร้านขายอาหาร ( ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว) โรงฝิ่นเป็นต้น และแน่นอนว่า มีบ่อนพนันอันครึกครื้นไปด้วยผู้คนที่อยู่ในบ่อน เป็นความคึกคักมากหน้าหลายตาของชาวประชาที่หวังเข้ามาแสวงหาโชคจากการพนัน อันเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน ว่า หมู่บ้านท่าถั่ว


ทุ่งนาด้านนอกของบ้านท่าถั่ว
(เส้นทางสู่ถนนใหญ๋)

นอกจากนี้ตลาดประตูน้ำท่าถั่วนี้ยังเป็นตลาดซื้อขายสินค้าที่มาจากเมืองบางกอก เมืองปราจีนบุรี เมืองนครนายก ซึ่งจะต้องผ่านตลาดประตูน้ำท่าถั่วนี้


ทุ่งนาที่บ้านท่าถั่ว

คนเก่าแก่เล่ากันว่า ตลาดนี้มีเรือจอดอยู่มาก ตั้งแต่ถนนข้ามคลองประเวศบุรีรมย์ ( ทางหลวง 314 ในปัจจุบัน) ถึงประตูน้ำท่าถั่ว มีทั้งเรือแจว เรือกระแชง เรือลากจูง เรือที่ใช้บรรทุกสินค้า จะมีสินค้า คือข้าว มะพร้าว พืชผลต่าง ๆ และในบริเวณปากคลอง ยังมีโรงสีข้าว 2 โรง คือโรงสีข้าวผลประสิทธิ์ และโรงสีข้าวปากคลองของตระกูลจารุสมบัติ ดังนั้นก็จะมีเรือไป ๆ มา ๆ รับส่งข้าวเปลือกเข้าสู่โรงสี และนำข้าวสารที่สีแล้วส่งขายไปยังกรุงเทพมหานคร


ปล่องโรงสีที่ตระหง่านขานเล่าความรุ่งเรือง

ผู้คนจึงมุ่งหน้ามาสู่ตลาดประตูน้ำท่าถั่ว เพื่อซื้อขายสินค้ากันคึกคักโดยเฉพาะเมื่อตลาดโรงสีล่างเริ่มค่อย ๆทรุดโทรมลง จากการทิ้งร้างเลิกทำโรงสีของโรงสีล่าง ตลาดข้าวเข้ามาอยู่ที่ปากคลองท่าถั่วนี้ ส่วนด้านนอกคลองที่ริมฝั่งน้ำเยื้องกับโรงสีล่าง ก็มีโรงเลื่อยและโรงสีข้าวของตระกูลวัฒนสินธุ์ ซึ่งต่อมาเลิกกิจการ ทายาทรื้อ โรงสีข้าว โรงเลื่อย ถวายไม้ให้วัดผาณิตารามทั้งหมด ซึ่งนับเป็นวัดที่มีศาลาการเปรียญหลังใหม่ ที่โปร่งโล่งสบาย มีไม้กระดานปูพื้นแผ่นใหญ่และเสาไม้สูง ที่ ยากจะมีวัดใดในรุ่นเดียวกัน (รุ่นการสร้างวัด) จะมีได้ แม้แต่วัดบางกรูดเองก็เป็นพื้นไม้กระดานแผ่นเล็กกว่า

ที่หมู่สามบ้านท่าถั่วนี้ มีวัดอักหนึ่งวัดคือวัดมงคลโสภิต หรือวัดต้นสน
และหมู่บ้านท่าถั่วนี้จะอยู่ด้านที่จะออกสู่ถนนหลวงเส้นใหญ่ที่เป็นเส้นทางสัญจรเข้าออกจังหวัดฉะเชิงเทราจากกรุงเทพฯ เส้นบางนาตราด หรือจากชลบุรี หรือสมุทรปราการเส้นถนนเก่า

เพิ่มเติม (เมษายน 2556)
อาจารย์ประโยชน์ เกษมวงศ์จิตร ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับพลอยโพยมถึงที่มาของชื่อหมู่บ้านบางชายสอว่า
อาจารย์ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า บ้านเรื่อนที่อยู่ในหมู่บ้านบางชายสอนั้น เป็นหมู่บ้านของตระกูลคหบดีสองสามตระกูลซึ่งเกี่ยวดองเป็ยญาติกันมีสมาชิกของตระกูลค่อนข้างมากทั้งหญิงและชาย และยังเป็นกลุ่มชนที่มีฝีมือในการทำกับข้าวและขนมหวานโดยเฉพาะขนมเครื่องไข่ทั้งหลาย มีการถ่ายทอดฝึกหัดการทำอาหารคาวหวานกันตามงานต่าง ๆ ตามบ้านของบรรดาญาติมิตรในกลุ่มตระกูลญาติ บรรดาสาวรุ่นก็ไปฝึกหัดกันกับญาติผู้ใหญ่ที่เป็นผู้หญิง บรรดาชายหนุ่มที่ถูกตาต้องใจสาว ๆ ในกลุ่มตระกูลเหล่านี้ นอกจากจะน่ำลายสออยากฝากตัวให้สาวเจ้าได้เหลี่ยวแลมองและรับพิจารณาไว้เป็นคู่ครองแล้ว ยังต้องนำลายสอเพราะอยากลิ้มรสผลงานอาหารหวานคาวที่มาหัดทำซ้ำอีกด้วย ต่อมาเพราะการเรียกชื่ออยาวเกินไปก็เลยถูกตัดคำเรียกหาให้สั้นลงเป็น"บางชายสอ" จาก บางชายน้ำลายสอ
ก็เป็นข้อมูลที่น่าเป็นไปได้สำหรับชื่อหมู่บ้านบางชายสอ


และพลอยโพยมได้ยินมาว่า
หมู่บ้านบ้านท่าถัวนั้น เดิมที่ชื่อหมู่บ้านท่าถั่วนั้นอยู่ในตำบลคลองประเวศต่อมาภายหลังกูกรวมอยู่ในตำบลบางกรูด ในขณะที่หมู่บ้านของตำบลบางกรูดเองถูกยุบไปบ้างถูกนำไปรวมเป็นหมู่บ้านในตำบลอื่นบ้างเช่นตำบลบางพระ ตำบลท่าพลับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น