วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

[บทความ] เล่าขาน....ตำนานกล้วย

เล่าขาน....ตำนานกล้วย



กล้วยกับขนบธรรมเนียมประเพณี ของหลายประเทศ

มีภาพยนตร์ เรื่องศกุนตลา เมื่อท้าวทุษยันต์ทำพิธีวิวาหะกับนางศกุนตลา ในพิธีมณฑลมีการตบแต่งด้วยต้นกล้วยที่มีเครือ และสองข้างทางที่ท้าวทุษยันต์จะต้องเสด็จมา ใช้ต้นกล้วยแต่งทั้งสองข้างทางถือกันว่า กล้วยที่ครบทั้งต้นทั้งเครือทั้งใบ เป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์



ถือกันว่าต้นกล้วยตัดเอามาทั้งต้นทั้งเครือทั้งใบประดับทางเข้าบ้าน เป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์
ในคัมภีร์พรตราช กล่าวว่าสตรีบูชาต้นกล้วยในวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 12 จะทำให้สามีอายุยืน หญิงอินเดียโบราณกลัวการเป็นหม้าย เพราะถ้าสามีตายตนเองต้องเข้าพิธีสตีเผาตัวตายตามนั่นเอง
ในงานแต่งงานของอินเดียต้องมีต้นกล้วยตั้งในพิธี สี่ต้น เจ้าบ่าวต้องยืนพนมมืออยู่ตรงกลาง
การประดับต้นกล้วยของในมณฑลพิธีของไทยน่าจะได้แบบอย่างมาจากพราหมณ์ การสรงน้ำพระของชาวตะวันออกเฉียงเหนือ มีการปลูกกล้วยตามทางที่พระภิกษุจะได้รับการสรงน้ำต้องเดินผ่านด้วย



ในพิธีแต่งงานแบบไทย ที่มีขบวนขันหมากจากฝ่ายเจ้าบ่าว ถ้าหาต้นกล้วยอย่างท้าวทุษยันต์ไม่ได้จะมี ต้นกล้วย ต้นอ้อย และ มีกล้วยเป็นหวี ๆ ใส่ถาดในริ้วขบวนขันหมาก กล้วยและอ้อยเมื่อไปถึงบ้านเจ้าสาว หลังเสร็จพิธีแล้วต้องนำไปปลูกเพื่อเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อไปของชีวิตคู่



ต้นกล้วยเป็นต้นไม้เก่าแก่ชนิดหนึ่ง มีหลายชาติที่มีความเชื่อเกี่ยวกับกล้วยเข้าไปอยู่พิธีต่าง ๆ เช่น

ที่ภาคอีสานของไทย ก่อนจะขึ้นอยู่เรือนที่ปลูกใหม่ จะเอาใบตองมาวางไว้ที่บันไดเอาก้อนหินทับใบตองไว้ ผู้ที่มาอวยพรต้องล้างเท้าที่หินก้อนนี้ที่มีใบตองรองอยู่

ที่พม่าถือว่าตองกล้วยเป็นของสูงใช้ได้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าไม่มีเครื่องเงินเครื่องทองเป็นราชูปโภค จะใช้กระทงใบตองแทนเครื่องสุพรรณภาชน์ พม่าถือว่า เจ้าเท่านั้นจึงควรเสวยพระกระยาหารด้วยใบตองได้ ถ้าเป็นไพร่กินด้วยใบตองอัปรีย์จะกินหัว แต่ไทยเราใช้ใบตองได้ทุกชนชั้น ใส่ถวายพระสงฆ์ก็ได้ คนบาหลีใช้ใบตองทำกระทงใส่อาหารรับรองแขก ในงานเลี้ยงของชาวอินเดียในพิธีแต่งงาน ก็ใช้ใบตอง

คนไทยถือว่า กล้วยต้องออกปลีที่ยอด ถ้าบังเอิญออกตรงกลางต้น โบราณถือว่าอุบาทว์ เพราะผิดธรรมชาติ ในตำราอธิไทยโพธิบาทว์ กล่าวว่า “ หนึ่งกล้วยออกเครือแครงครา กลางลำมายาอุบาทว์อุบัติให้เห็น” อย่างนี้จัดอยู่ในอุบาทว์พระเพลิงต้องเซ่นสรวงบูชา



นิทานเรื่องเล่าของกล้วย

มีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้จัดเทศกาลงานประจำปี จู่ ๆ เด็ก ๆ ในหมู่บ้านได้พากันล้มลงและสลบไป พวกชาวบ้านพากันตกใจขอให้หัวหน้าหมู่บ้านหาทางแก้ไข หัวหน้าหมู่บ้านได้บนบานขอให้เทวดาช่วย แล้วหัวหน้าได้หลับและฝันไปว่า เทวดาได้มาต่อว่า ว่า เทวดาได้มาที่หมู่บ้านนี้หลายครั้งแล้ว แต่ไม่เคยได้รับเครื่องเซ่นสังเวยอะไรเลย เป็นผลให้เด็กสลบกันไปหมด หัวหน้าหมู่บ้านจึงถามว่าจะให้ตนทำอย่างไร เทวดาบอกว่าจะกินเนื้อแพะบนใบตอง แล้วเด็ก ๆ จะฟื้น หัวหน้า ฯ มีแพะแต่ไม่รู้จักใบตอง ไม่รู้จักต้นกล้วย จึงออกตามหาต้นกล้วย



ระหว่างทางได้พบ ทักกุรานี มาตา เจ้าแม่ได้บอกว่า จะหาต้นกล้วยได้ต้องนำลูกสาวของหัวหน้า ฯ มาบูชายัญ หัวหน้า ฯ นิ่งอึ้งตกใจ เจ้าแม่บอกว่าหากทำตามเจ้าแม่ ลูกสาวของหัวหน้า ฯ จะได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่จากเสนาบดี และในวังของพระราชา ตลอดจนวิหารต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า หัวหน้า ฯ กลับมาบ้านและบอกลูกสาวของตน ในเวลานั้นลูกสาวหัวหน้า ฯ มีบุตรอยู่คนหนึ่งแล้ว นางยินดีไปเข้าพิธีบูชายัญที่วิหารเจ้าแม่ทักกุรานี มาตา เมื่อเลือดของลูกสาวหัวหน้า ฯ หยดลงบนพื้นดินได้กลายเป็นต้นกล้วย หัวหน้า ฯ จึงเอาใบของต้นกล้วยไปรองเนื้อแพะเซ่นไหว้ถวายเทวดา พวก เด็ก ๆ ในหมู่บ้านจึงฟื้นจากสลบ



เพราะเหตุที่ลูกสาวของหน้า ฯ มีบุตร ก่อนตาย ต้นกล้วยที่เกิดจากนางจึงตายหลังจากตกเครือ และความเชื่อของชาวฮินดูนับถือต้นกล้วยมีการบูชาต้นกล้วย ใช้ปูตามทางเข้าบ้านในพิธีแต่งงาน และยังใช้ในพิธีต่าง ๆ ทั้ง ตามบ้าน ในวังและเทวะสถานทั่วไป



และ ธรรมดาต้นไม้ทั่วไปเมื่อมีผลก็ใช้ผลของไม้นั้นในการแพร่พันธุ์ แต่ต้นกล้วยใช้เมล็ด (กล้วยบางชนิดมีเมล็ดในผลกล้วย) เพาะแพร่พันธุ์ไม่ได้ ต้องใช้หน่อในการแพร่พันธุ์ ก็มีนิทานเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งด้วย



ในหนังสือ โครงการตำราโรงเรียนรุ่งอรุณ เรื่องกล้วย ได้เล่าถึงที่มาของกล้วยในเมืองไทย

มีคำถามว่า กล้วยมาจากไหน ก่อนที่คนไทย จะได้คุ้นลิ้น
มีคำตอบว่า
ไม่แน่ใจนัก แต่เคยได้ยิน ว่าพันธุ์ใช้กิน มาจากอินเดีย
พวกแขกอาหรับ เดินทางค้าขาย ต่างนำกล้วยไป ใช้แลกเงินเบี้ย
ทั้งในยุโรป จรดเอเชีย
เดินทางจนเพลีย เลยหนอเพื่อนเรา


(ถ้าอย่างนั้น กล้วยน้ำว้า ที่เอามาฝานเป็นชิ้นๆ ชุบกับแป้ง แล้วเอาไปทอดกับน้ำมัน แล้วเราเรียกกันว่า กล้วยแขก คงเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง กล้วยแขกทอดกระทะแรกที่คนไทยรู้จักและได้ลิ้มชิมรส น่าจะเป็นผลิตภัณฑ์โภชนาการของพวกแขก ที่แบกกล้วยเข้ามาค้าขายในประเทศไทย ในสมัยครั้งบุราณนานมาหรือไม่ก็คนไทย คิดสรรหาดัดแปลงเอากล้วยของแขกมาชุบแป้งทอด นี่เป็นข้อสันนิษฐานของพลอยโพยมเอง)




ส.พลายน้อย เล่าว่า คำว่า Banana ของฝรั่ง ที่แปลว่ากล้วยนั้น มาจากภาษาอาหรับว่า Banan ซึ่งแปลว่านิ้วมือ กล้วยที่รวมกันเป็นหวีมองมองดูคล้ายนิ้วมือมาก

มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกล้วย ทั้งนิทาน และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง

ที่มาของข้อมูล หนังสือโครงการตำราโรงเรียนรุ่งอรุณ และหนังสือพฤกษนิยายของ ส.พลายน้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น