วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พรรณไม้ชายน้ำ...รุ่ย หรือถั่วขาว

พรรณไม้ชายน้ำ...รุ่ย หรือถั่วขาว



ต้นรุ่ยหรือถั่่วขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์: Bruguiera cylindrica  BI.

ชื่อพื้นเมือง: ถั่วขาว

ชื่ออื่น : ถั่วแดง, ประสักขาว (จันทบุรี); โปรง, โปรย (มลายู – ใต้); ปรุ๋ย (มลายู – สตูล); รุ่ย(เพชรบุรี)
 วงศ์ RHIZOPHORACEAE






ต้นรุ่ยเป็น ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก – ขนาดกลาง สูง 5 - 10 เมตร พูพอนน้อยแต่บริเวณโคนต้นขยายออก สำหรับช่วยพยุงลำต้น เรือนยอดแน่นทึบรูปปิรามิด




ลำต้น ตั้งตรง มีเนื้อไม้ ลำต้นกลม เปลือก เรียบถึงหยาบเล็กน้อย มีตุ่มขาวขนาดเล็กตลอดลำต้น สีเทา หรือ สีน้ำตาล กิ่งอ่อนสีเขียว มีรากพิิเศษ๋ออกตามลำต้นเป็นรากหายใจรูปคล้ายเข่าเหมือนคลักหรือพังกาหัวสุมหรือประสัก โผล่เหนือผืวดิน






ใบ

ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับทิศทาง แผ่นใบรูปรี ฐานใบรูปลิ่ม ปลายใบแหลมขอบใบม้วนลง เส้นกลางใบสีเขียว เส้นใบเว้าลงมองเห็นได้ชัดเจน เส้นใบ 7 คู่ ผิวใบด้านบน สีเขียวเข้มท้องใบสีจางกว่า เกลี้ยงทั้งสองด้าน







ดอก

ออกเป็นช่อ กระจุกที่ง่ามใบ ช่อละ 3 ดอก ก้านช่อดอก สีเขียวอ่อน มีก้านดอกย่อย วงกลีบเลี้ยงรูประฆัง โคนกลีบติดกันเป็นหลอด ผิวเรียบสีเขียว ปลายแยกเป็น 8 แฉก กลีบเลี้ยงยาวเท่าหลอด ปลายกลีบโค้งกลับ กลีบดอก 8 กลีบ สีขาวรูปขอบขนาน ปลายแยกเป็น 2 แฉก ขอบกลีบมีขนสีขาว ปลายกลีบมีขนแข็งสีน้ำตาล 2 - 3 เส้น

เกสรเพศผู้มีจำนวน สองเท่าของกลีบ ติดอยู่บนขอบของ กลีบเลี้ยง ก้านเกสร สั้นมาก เกสรเพศเมียรังไข่ใต้วงกลีบ ภายในมี 2 - 5 ห้องติดกัน มีเม็ดไข่ห้องละ 2 เม็ด ยอดเกสรมีสภาพคงทน




ขอขอบคุณภาพจาก http://thailand-an-field.blogspot.com



ผล

เป็นผลแบบงอกตั้งแต่ติดอยู่บนต้น ผลสีเขียว กลีบเลี้ยงหุ้มผลรูปดาว กลีบโค้งกลับงอขึ้นไม่หุ้มผล ลำต้นใต้ใบเลี้ยงหรือ”ฝัก” รูปทรงกระบอกเรียวโค้ง ผลอ่อนสีเขียว และเป็นสีน้ำตาลอมเม่วงและเมื่อฝักแก่เต็มที่มีร่องตามความยาวของฝัก

ลักษณะเด่น หนึ่งช่อดอกมีเพียง 3 ดอกเท่านั้น และผลมีกลีบเลี้ยงงอขึ้น

ออกดอกและผลเกือบตลอดทั้งปี






ขึ้นในพื้นที่ดินเลนตื้น เหนียวและแข็ง ตามริมชายฝั่ง หรือพื้นที่ที่ถูกเปิดโล่ง หรือเขตน้ำกร่อยที่มีดินเลนค่อนข้างแข็ง ไม่เหมาะกับพันธุ์ไม้ป่าชายเลน




ต้นรุ่ยนี้ ขึ้นในพื้นที่ดินเลนตื้น เหนียวและแข็ง ตามริมชายฝั่ง หรือพื้นที่ที่ถูกเปิดโล่ง หรือเขตน้ำกร่อยที่มีดินเลนค่อนข้างแข็ง ไม่เหมาะกับพันธุ์ไม้ป่าชายเลน

ประโยชน์ ฝักรับประทานได้ ลำต้นใช้ทำฟืน ทำเสาเข็ม เผาถ่าน เครื่องมือจับปลา ทำหลักเลี้ยงหอยแมลงภู่

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://tanhakit.blogspot.com




ฝักของต้นรุ่ยนี้สามารถนำไปเชื่อมกับน้ำตาลทราย (แก้ไข)
1.เลือกเก็บฝักของต้นรุ่ยที่แก่เต็มที่ นำมาล้างน้ำให้สะอาด

2.นำฝักรุ่ยมาปลอกเปลือกเอาผิวออกให้หมด (คนไม่คุ้นเคยจะค่อนข้างยาก)

3.นำฝักรุ่ยไปต้ม ให้สุกและรินน้ำออกให้หมด แล้วนำไปต้มใหม่ รินน้ำออกหมดอีก ทำเช่นนี้ 3 ครั้ง เพื่อให้รสเฝื่อน และฝาดหมดไป

4.นำไปเชื่อมโดยใช้ไฟอ่อน เพื่อให้น้ำเชื่อมเข้าไป ในฝักรุ่ย หรือคนที่ไม่ชอบหวานจัด ก็เคี่ยวน้ำเชื่อมก่อน จึงนำรุ่ยลงไปในเคี่ยวในน้ำเชื่อม

5.นำไปรับประทาน
หรือนำไปทำแกงบวดก็ได้ เมื่อหลายปีมาแล้ว คุณบรรจง และคุณนิด เจ้าของ บรรจงฟาร์มเคยพาครอบครัวของพลอยโพยม ไปรับประทานอาหารที่บ้านชายแม่น้ำของคุณลุงคุณป้าคู่หนึ่ง แถว ๆ วัดต้นหมันของอำเภอบ้านโพธิ์ หนักไปทางอาหารจากสัตว์น้ำและผัก คุณนิดเลยชี้ชวนว่า คุณป้าเชื่อมฝักรุ่ยได้อร่อยมาก หลังอาหารคาว พลอยโพยมก็เลยได้กินฝักรุ่ยเชื่อม ราดกะทิ แสนอร่อย แล้วก็ออกไปดูต้นรุ่ยซึ่งเติบโตอยู่บนฝั่ง ต้นใหญ่อยู่ข้าง ๆ บ้าน คุณลุง คุณป้านั่นเอง และยังเก็บฝักรุ่ยแก่ที่หล่นโคนต้นเอากลับมาบ้าน และเอาฝักไปจิ้มดินในกระถางที่ชุ่มชื้นมีน้ำ จนงอกเป็นต้นอ่อน ยังไม่ทันจะได้ย้ายที่ไปปลูก ก็ลืมไปรดน้ำในกระถางอยู่ระยะหนึ่ง จนต้นรุ่ยเหี่ยวตายไปเสียก่อน
ต่อมา ก็ได้ข่าวว่าต้นรุ่ยบ้านคุณลุงคุณป้า ตายไปแล้ว และพลอยโพยมก็ไม่ได้เข้าไปกินอาหารอีกเลย ( ทั้งที่รสช่าติอร่อยทุกอย่าง) เพราะทางเข้าไปค่่อนข้างลึกและนับว่าไกลกับบ้านของพลอยโพยมสักหน่อย มิหนำซ้ำพลอยโพยมก็เริ่มรู้จักเรือนลำพูรีสอร์ท และคุณจ้อ นั่งจ้อ คนบางกรูดด้วยกัน




คุณบรรจงและคุณนิด ก็ปลูกต้นรุ่ยไว้หลายต้น และมีฝักให้คุณนิดนำมาเชื่อมเองได้ แถมยังฝากมาให้มีนกรคนอาวุโสที่บ้าน สองสามครั้ง
จนคุณมีนกรเกรงใจขอเอาฝักที่ปอกเปลือก (ขูดเปลือก) และต้มแล้วเพียงแต่ ยังไม่เชื่อมมาให้พลอยโพยมเชื่อมเอง แต่สำหรับ พี่ชายน้องชายในบ้าน พากันติงว่า อร่อยดีแต่่เนื้อค่อนข้างแข็ง ซึ่งจากภาพถ่ายก็คงพอทำให้คำนวณความแข็งของเนื้อฝักรุ่ยได้ ว่าไม่นิ่มแบบหัวมัน ( ก็เราเรียกฝัก ไม่ได้เรียกหัวรุ่ยสักหน่อยและก็เป็นฝักจริง ๆ เนื้อก็ไม่เหมือนหัวมันหรือรากอย่างอื่น เช่นรากสามสิบที่เอามาเชื่อมได้เช่นกัน หรือเอามาแช่อิ่ม )




ต้นรุ่ยนี้ไม่พบเห็นบ่อยนักตามแนวชายฝั่งแม่น้ำบางปะกง เป็นพรรณไม้ที่พอเอ่ยชื่อให้ชาวบางกรูดได้พอรู้จักว่า เป็นพรรณไม้ชายน้ำชนิดหนึ่ง นาน ๆจะพบเห็นสักต้น บ้านใครอยากปลูก ก็ต้องไปหาฝักมาปลูกเอง เหมือนต้นโกงกาง และจะต้องปลูกในพื้นที่ชายฝั่งที่ค่่อนข้างเป็นดินแข็ง  สำหรับที่บรรจงฟาร์ม ของคุณบรรจงและคุณนิด จะปลูกรุ่ยและโกงกางตามแนวชายบ่อเก็บน้ำ(สำหรับการเลี้ยงสัตว์น้ำของฟาร์ม)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น