วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พรรณไม้ชายน้ำ ..แสม

แสม ( สะแหม)
 (แก้ไขเพิ่มเติมภาพ)




พลอยโพยมเคยเขียนบทความแสม และพังกาหัวสุม อยู่ในบทความเรื่อง แนบสนิทใกล้ชิดจาก เมื่อ วันที่ 20 มีนาคม 2554 ซึ่งภาพที่มีอยู่ในขณะนั้น สู้ภาพคราวนี้ไม่ได้และมีรายละเอียดทางพฤกษศาสตร์ พอสมควร ท่านที่สนใจย้อนกลับไปอ่านได้

แสมมี 3 ชนิด คือแสมขาว แสมดำ และแสมทะเล

แสมเป็นต้นไม้ที่สามารถเจริญงอกงามได้ดีทั้ง ในน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม.




ต้นแสม เป็นไม้เบิกนำ ขึ้นได้ดีในพื้นที่ดินเลนอ่อนที่ระบายน้ำดี ส่วนมากจะอยู่ในป่าเลนด้านนอกสุด ปะปนกับจาก และลำพู ดังนั้นทั้งกิ่งแสมและกิ่งลำพูมักทอดกิ่งย้อยระย้าตามริมชายน้ำ ทอดร่มเงาให้ผู้ที่เมื่อยล้าจากการพายเรือ ได้แวะพัก เด็ก ๆ ที่เล่นน้ำก็ได้สนุกกับกิ่งก้านสาขาของแสม และลำพู




ต้นแสมเป็นไม้ที่ช่วยให้มีการตกตะกอน ทำให้เกิดแผ่นดินงอก ดังนั้นเมื่อผ่านกาลเวลาอันเนิ่นนาน แสมก็กลายเป็นไม้ที่ขึ้นมาอยู่บนชายฝั่งได้เช่นกัน และจะเป็นแสมที่ต้นใหญ่มากเพราะชายฝั่งตื้นเขินและงอกแผ่นดินออกไปในแม่น้ำ




ประโยชน์ของต้นแสมต่อระบบนิเวศ

นอกจากรากแสมช่วยสร้างแผ่นดินงอกเกิดขึ้นใหม่ และถือเป็นดินอินทรีย์ รวมทั้งความหนาแน่นของรากแสมช่วยลดการพังทะลายของดินชายแม่น้ำชายคลองที่มีต้นแสม รากหายใจเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารชองสัตว์น้ำ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นที่กักสารแขวนลอย




แสมที่บางกรูดคือ แสมขาว

ลักษณะต้นแสมที่ คุณพ่อของพลอยโพยมปลูกไว้หน้าบ้านเป็นแถวยาวหน้ากระดาน ปืดทัศนวิสัยนอกชานบ้านและภายในบ้านเพราะตอนกลางวันบ้านจะเปิดโล่ง แต่จำนวนต้นแสม มีจำนวนมากกว่าในภาพและปลูกขิดกันกว่านี้ ปล่อยให้ต้นสูงกว่านี้เล็กน้อย  คอยตัดแต่งกิ่งเมื่อกิ่งก้านยาวเกินไป




นอกชานบ้าน ซึ่งในสมัยเด็กนอกชานบ้านจะกว้างกว่านี้อีกหลายแผ่นกระดาน และยังมีความยาวต่อมาทางด้านคนยืนถ่ายภาพ





ประโยชน์อื่นของแสมขาว
ก้านและใบเผาไฟรมควัน แก้พิษจากสัตว์น้ำทุกชนิดโดยเฉพาะปลาทะเลมีพิษ
เปลือก เป็นยาบำรุงกำหนัด แก้ปวดฟัน ตำพอกฝีแตก
กระพี้ เป็นยาแก้พิษงู
แก่น มีรสเค็มเฝื่อน ต้มน้ำ แก้ลมในกระดูก แก้กระษัยโดยมากจะใช้คู่กับแก่นแสมสาร (ขี้เหล็กป่า) เป็นยาขับโลหิตเสียของสตรี หรือ ใช้ดื่มแก้ท้องร่วง




นอกจากนี้

ลำต้น เป็นเชื้อเพลิง โดยฟันหรือเลื่อยเป็นท่อนฟืน หรือนำไปเผาเป็นถ่าน ทำเป็นแผ่นหนา ปูเป็นไม้พื้น ที่พักชั่วคราว ลำต้นตรงทำสากตำข้าว เสาโป๊ะ ด้ามคิวบิลเลียด เนื้อไม้อ่อนหยาบเลื่อยไสตบแต่งง่าย




พลอยโพยมรู้สึกว่า ไม้ชายเลน ทั้ง แสม ลำพู และต้นคลัก เป็นไม้ที่มีความเปราะหักง่าย การจะปืนป่ายต้นไม้ชายเลน ต้องใช้ความระมัดระวัง ต้องคำนวณ ว่ากิ่งไม้ที่เราจะขึ้นไปห้อยโหนนั้นรับน้ำหนักตัวเราได้หรือไม่ หากคว้ากิ่งที่รับน้ำหนักเราไม่ได้ ก็มีหวังได้หล่นตุ๊บลงมาทั้งคนและกิ่งไม้ถ้า อยู่ด้านชายฝั่งน้ำก็หล่นลงน้ำไม่เจ็บตัว แต่หากเป็นด้านพื้นดิน ก็จะเจ็บตัวถึงสองสาเหตุ คือ หล่นกระแทกพื้นดินและอาจเจ็นตัวจากรากหายใจ รากลำพูที่รากใหญ่ ๆ ขนาดเก็บไปทำจุกไม้ก๊อกปิดปากขวดของคนโบราณ ทั้งแหลมทั้งแข็ง รวมทั้งรากของต้นคลัก ที่แข็งและงอคล้ายเข่า เนื่องจากพันธุ์ไม้เหล่านี้ีวมทั้งต้นตะบูน ต้นจากขึ้นปะปนกันที่ชายฝั่งดังนั้นรากของไม้ที่เรียกว่ารากหายใจ ( pneumatophore) คือรากที่โผล่พ้นดินเลน เพื่อช่วยห่ยใจ นั้นรากแสมจะมีความเป็นมิตรกับเด็ก ๆ ได้มากกว่า รากลำพู และรากคลัก




รากหายใจ(respiratoryrootoraeratingroot) เป็นรากที่ชูปลายรากขึ้นมาเหนือพื้นดินบางทีก็ลอยตามผิวน้ำเพื่อช่วยในการหายใจได้มากเป็นพิเศษกว่ารากปกติทั่วๆไปทั้งนี้เพราะโครงสร้างของรากประกอบด้วยเซลล์พาเรงคิมาซึ่งเรียงตัวอย่างหลวมๆมีช่องว่างระหว่างเซลล์มากทำให้อากาศผ่านเข้าสู่เซลล์ชั้นในของรากได้ง่ายรากเหล่านี้อาจเรียกว่ารากทุ่นลอย( pneumatophore ) ได้แก่ ลำพู แสม โกงกาง แพงพวยน้ำ และผักกระเฉด เป็นต้น (http://www.thaigoodview.com)



ในสมัยเด็กพลอยโพยมเคยปีนต้นคลักและหล่นแอ้กลงมา สาเหตุเพราะไต่ลงมาผิดจังหวะ ต้นคลักจะมีกิ่งก้านสาขาน้อยกว่าแสมและลำพู และเป็นต้นไม้ที่เรียกว่า ไม้พุ่มเรือนยอดนั่นเอง ต้นคลักไม่มีกิ่งก้านสาขาระหว่าางช่วงลำต้นลงมาโคนต้น จึงไม่มีกิ่งให้เหนี่ยวโหน จำได้ว่าตอนปีนขึ้นก็ทำได้ ค่อย ๆ เขยิบตัวขึ้นที่ละนิด แต่ตอนไต้ลง กลายเป็นลงทีละนิด ๆ ไม่ได้ ตัวเลื่อนปรู๊ดลงมา เสียหลัก ก้นกระแทกรากต้นคลัก ทำให้ต้องใช้คำว่า เจ็บครั้งนั้นไม่มีวันลืมเลยทีเดียว





แต่ต้นแสมเป็นต้นไม้ที่พลอยโพยมปีนขึ้นลงได้อย่างสบายใจ ไม่เคยเกิดปัญหา บางที่ก็ปีนขึ้นไปนั่งเล่นได้นาน ๆ โดยเฉพาะ มีต้นแสมที่อยู่้ใกล้นอกชานบ้าน พลอยโพยมก็ปีนได้โดยทางลัดจากนอกชานบ้านด้านข้าง ไม่ต้องลงไปปีนจากโคนต้น ต้นแสมที่มีอายุหลาย ๆ ปี จะมีแง่ง มีกิ่งให้สามารถขึ้นไปนั่งเล่นได้ และแสมต้นนี้เองที่จะมีดอกร่วงลงนอกชานบ้าน รวมทั้งถ้ามีพายุฝน ใบแสมก็จะร่วงกราวลงมาที่พื้นนอกชานเป็นภาระให้เด็ก ๆ กวาดเอาใบแสมออกไป ส่วนดอกแสม เด็ก ๆ ก็เก็บ มาร้อยมาลัย ทำน้ำอบดอกแสม หรือเอาไปเล่นขายของได้ง่าย ๆ สบาย ไม่ต้องไปเก็บบนพื้นดิน หรือปีนต้นไปหักกิ่งเพื่อเอาดอกแสมมาจากต้น

หากเป็นกลุ่มต้นที่เรียงขิดเป็นแนวนอกชานหน้าบ้านที่ พ่อมังกรของพลอยโพยมคอยตัดแต่งกิ่งไม่ให้ต้นสูง เกะกะ อายุของแสมที่ถูกตัดยอดมานานทำให้ ลำต้นของแสมแข็งแรงอ้วนเตี้ย เอาเสื่อ หรือไม้กระดาน ปูบนยอด ขึ้นไปนั่งเล่นได้ เพราะ พ่อมังกรจะตัดยอดแสมเป็นแนวราบ กิ่งอ่อนที่งอกขึ้นใหม่กลับเป็นที่รองรับการขึ้นไปนั่งเล่นได้



ดอกแสมนี้มิใช่ว่าจะมีแต่เด็กหญิงเก็บมาร้อยมาลัย แม้แต่เด็กผู้ชาย ก็เอาด้ายและเข็มมาร้อยมาลัยดอกแสม ทำเป็นสายสร้อยห้อยคอกัน เหมือนกับเด็กผู้หญิง เนื่องจากดอกแสมเล็กมาก เมื่อใช้เข็มเย็บผ้าและด้ายมาร้อย จะมีลักษณะเป็นสายสร้อยมากกว่ามาลัย และเด็ก ๆ บางคนก็ใช้คำเรียกว่า ร้อยสายสร้อยมิใช่ร้อยมาลัย ร้อยสร้อยคอ สร้อยช้อมือ ประมาณนั้น





ปกติเราจะไม่ตัดต้นแสมต้นใหญ่ ๆ เพราะต้นแสมส่วนมากก็อยู่่ริมน้ำไม่ได้เกะกะใครในบ้าน ไม่ใช่เหตุที่จะต้องเอาพื้นที่ของต้นแสมมาใช้ประโยขน์อื่น ยกเว้นว่้าต้นแสมถูกพายุที่รุนแรงพัดล้มครืนลงมา พวกเราก็ได้พบความลำบาก ที่จะต้องริดกิ่งออกตั้งแท่นเลื่อยต้นแสมเป็น ท่อน ๆ แล้วผู้ใหญ่ก็จะเอาท่อนแสมมาผ่าตากแดดให้แห้ง ใช้ทำฟืนในการหุงต้มอาหาร



แม้จะคุ้นเคยกับต้นแสมดี พลอยโพยมและชาวบางกรูดอีกมากมายที่ไม่รู้ความลับอย่างหนึ่งของต้นแสม จากการที่มีเรือนลำพูรีสอร์ท เป็นโฮมเสตย์ ของคนบางกรูดในขณะนี้ คุณจ้อ นั่งจ้อ หลานชายเจ้าของโฮมเสตย์นี้ ปลูกบ้านพักของตนเองใต้ต้นแสมใหญ่ต้นหนึ่งว่าเป็นทำเลเหมาะถูกใจ เพื่อให้ได้บรรยากาศก็ใช้หลังคามุงจาก หลังคาบ้านมุุงจากมีคุณสมบัติวิเศษกว่ากระเบื้องหรือสังกะสี ไม่ต้องใช้แผ่นกันความร้อน ไม่ต้องมีลูกกลม ๆ หมุนระบายอากาศบนหลังคา เพราะเป็นหลังคาที่ให้ความเย็นกับตัวบ้าน คุณจ้อ นั่งจ้อ ก็อยูดีมีสุขมาพอสมควร แล้วก็มีข้อสังเกตุว่า บ้านมีน้ำซึมในบ้านเสมอๆ ตับจากที่ใช้มุงหลังคา ก็ยังมีสภาพดีไม่ได้เก่าชำรุด หาสาเหตุอยู่นานจึงได้ถึงบางอ้อ ได้พบความจริงว่า น้ำในบ้่าน หลังคาบ้านนั้น มาจากต้นแสม ต้นแสม อมน้ำไว้ในลำต้นของตนเอง แล้วปล่อยน้ำซึมออกมา พลอยโพยมก็เพิ่งรู้ความลับของต้นแสมเอาตอนนี้เอง



และในปัจจุบันนี้ลมพายุก็รุนแรงมากกว่าในสมัยก่อน คุณอาของคุณจ้อ เล่าให้พลอยโพยมฟังว่า มีวันหนึ่งลมพายุรุนแรงมากพัดมาจากด้านแม่น้ำเข้าหาฝั่ง วันนั้นเป็นเวลากลางวัน คนที่บ้านจึงได้เห็นความรุนแรงของลมพายุที่พัดกระหน่ำแนวต้นไม้ มีต้นแสมต้นหนึ่งอยู่ในรัศมีที่รุนแรงนั้น ต้นแสมถูกลมพายุพพัดบิดให้เป็นเกลียวเหมือนควงสว่าน ต้นแสมถูกบิดลำต้นหมุนไปหมุนมา แล้วในที่สุดก็หักโค่นลงมา พลอยโพยมลองจินตนาการตามคำเล่าก็รู้สึกว่าเป็นภาพน่าหวาดเสียวยิ่งนัก สมัยเด็ก ๆ ไม่เคยพบเหตุการณ์นี้ มีต้นไม้ล้มในสวนเวลามีพายุ เช่นต้นมะม่วง ก็ไม่เคยได้เห็นภาพต้นมะม่วงล้มโครมลงมาต่อหน้าต่อตา



ผลแสมขาวที่งอกลำต้นใหม่




ใบด้านหน้าและหลังใบของแสมขาว



แสมขาว


แสมขาวขึ้้นปะปนกับต้นจาก


แสมทะเล



แนวแสมทะเลในธรรมชาติ ลำต้นแสมทะเลหากเมื่อเทียบกับแสมขาวและแสมดำแล้ว ลำต้นทั้งเล็กและเตี้ยกว่าแสมขาว แสมดำ มากทีเดียว  ทำให้แสมทะเลไม่ค่อยจะขึ้นปะปนกับแสมขาว แสมดำ หรือลำพู เพราะเติบโตไม่ทันถูกเบียดบัง จนต้นไม่โต แสมทะเลจึงมักรวมกลุ่มกันเป็นป่่าแสมทะเลดังภาพ



แสมทะเล
ชื่อวิทยาศาสตร์   Avicennia marina (Forsk.) Vierh.

วงศ์ :AVICENNIACEAE

แสมทะเลเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ที่พบมากในพื้นดินงอกใหม่และที่ดินเลนปนทราย



แสมทะเลต้นนี้มีรูปทรงโค้งงอเองในธรรมชาติ


แสมทะเล เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 5- 8 เมตร มีลักษณะเป็นพุ่ม ส่วนใหญ่มี สองลำต้นหรือมากกว่า ไม่มีพุพอน เรือนยอดโปร่ง มีรากหายใจคล้ายดินสอ เหนือผิวดิน เปลือกเรียบเป็นมัน สีขาวอมเทา หรือขาวอมชมพู ต้นที่อายุมากเปลือกจะหลุดออก เป็นเกล็ดบาง ๆ คล้ายแผ่นกระดาษ และผิวของเปลือกใหม่จะมีสีเขียว





ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปรี หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ . ปลายใบแหลมถึงมนเล็กน้อย ฐานใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ ม้วนเข้าหากันทางด้านท้องใบ มีลักษณะคล้าย หลอดกลม ใบด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ด้านท้องใบขาวอมเทา หรือขาวมีนวล





เมื่อเป็นต้นอ่อนใบแสมทะเลก็แผ่ กว้างตามลักษณะใบ




เมื่อต้นแก่ขึ้น ใบของแสมทะเล จะม้วนเข้าหากัน





ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง หรือง่ามใบ ใกล้ปลายกิ่ง เป็นช่อเชิงลด แต่ละช่อมี 8-14 ดอก ช่อดอกย่อยเป็นช่อกระจุก ดอกย่อยไม่มีก้าน ดอกมีขนาดเล็กสีส้มอมเหลืองถึงเหลือง

ออกดอกประมาณเดือน กุมภาพันธ์-มิถุนายน

ผลรูปไข่ กว้าง เบี้ยว ถึงเกือบกลม แบนด้านข้าง เปลือกอ่อนนุ่ม สีเขียวออมเหลือง มีขนนุ่ม ปลายผลไม่มีจะงอย ผลแก่เปลือกจะแตก ด้านข้างตามยาวผล และม้วนเป็นหลอดกลม แต่ละผลมี 1 เมล็ด




การเจริญเติบโตเป็นไม้เบิกนำ ที่ขึ้นได้ดีในที่โล่งติดชายฝั่งทะเล หรือพื้นที่ดินเลนงอกใหม่ ที่ดินค่อนข้างเป็นทราย







ผลแสมทะเลจะอ้วนสั้นกว่าแสมขาว

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจากจาก
http:// www.dmcr.go.th
http://www.scitour.most.go.th


แสมดำ




แสมดำ

ชื่อวิทยาศาสตร์: Avicennia officinalis L.

ชื่อพื้นเมือง: แสมดำ

วงศ์ AVICENNIACEAE



ในภาพมีกิ่งใบคลักขาวยื่นมาบังลำต้นแสมดำ


แสมดำ เป็นไม้ต้นขนาดกลาง - ขนาดใหญ่ สูง 8 - 25 เมตร มีรากพิเศษออกตามลำต้น เป็นรากหายใจคล้ายดินสอ เหนือผิวดิน

ลำต้น เรือนยอดเป็นพุ่มหนาแตกกิ่งระดับต่ำ ไม่มีพูพอน เปลือกเรียบ หรือ แตกเป็นร่องเล็กน้อย สีเทาถึงเทาอมน้ำตาล หรือ น้ำตาลอมเขียว



ใบ

ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบรูปรี หรือรูปไข่กลับ ฐานใบแหลม ปลายใบกลม ใบอ่อนมีขน ผิวใบด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านท้องใบมีขนยาวนุ่ม สีเทาอมน้ำตาล





ดอก

ออกปลายกิ่ง หรือง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง เป็นช่อเชิงลดแน่น มี 7 - 10 ดอก สีเหลืองส้ม เกสรเพศผู้ 4 อัน อยู่เหนือหลอดกลีบดอก เกสรเพศเมียมี 1 อัน

ดอกบาน มีกลิ่นหอม

ผล

รูปหัวใจเบี้ยว แบน มีขนนุ่มปกคลุมหนาแน่น สีเหลืองอมน้ำตาล ผิวเปลือกอ่อนนุ่ม มีรอยย่น ปลายผลมีจะงอยสั้น ผลแก่เปลือกจะแตกด้านข้างตามยาวผล และม้วนเป็นหลอดกลม ผลสีเหลืองอมเขียว แต่ละผลมี 1 เมล็ด

ลักษณะเด่น ใบกว้างปลายใบกลม ท้องใบสีเทาอมน้ำตาล และผลกลมคล้ายรูปหัวใจ




ท้องใบของแสมดำ

มักขึ้นตามริมชายฝั่งแม่น้ำ ตามริมชายฝั่งทะเล ที่เป็นดินเหนียวค่อนข้างแข็ง ไม่พบว่าขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ พบน้อยกว่าแสมขาว และแสมทะเล ออกดอกประมาณเดือนมกราคม – พฤกษาคม

หมายเหตุ





แสมดำปลายใบกลม ท้องใบสีเทาอมน้ำตาล ผลรูปหัวใจ ซึ่งแตกต่างจากแสมขาวที่มีปลายใบเรียวแหลมยาว ท้องใบสีเงิน มองระยะไกลเห็นเป็นสีขาวบรอนซ์ ผลยาว รูปพริกชี้ฟ้า ปลายผลมีจะงอยยาวค่อนข้างโค้ง ส่วนแสมทะเล ใบเรียบม้วนเข้าหากันคล้ายหลอดกลมผลกลมกว่าแสมดำ




แสมดำ

ขอบคุณข้อมูลจากhttp://tanhakit.blogspot.com

ขอขอบคุณภาพจาก www.geocities.ws/Jukkrit_L/pt13.pdf





ความแตกต่างของใบแสม  (เวียนซ้าย  แสมดำ แสมทะเล และแสมขาว )





ต้นแสมที่มีอายุและต้นใหญ่มักเกิดโพรงที่ลำต้น จะสูงหรือต่ำขึ้นกับธรรมชาติของลำต้นและโพรงเหล่านี้มักกลายเป็นที่อยุู่อาศัยของสัตว์หลายชนิด




โพรงของต้นแสม


โพรงต้นแสม






ต้นไม้อื่น ๆ ก็อาจเกิดโพรงได้เช่นกัน ภาพนี้เป็นโพรงของต้นอินทนิลน้ำที่มีอายุหลายปีเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น