วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ดอกเข้าพรรษา

ดอกเข้าพรรษา

















ดอกเข้าพรรษาหรือหงส์เหิน (Globba winiti)

เป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์ขิง เป็นไม้ดอกเมืองร้อนเกิดในป่าร้อนชื้น พบในประเทศไทย, พม่า และเวียดนาม ภายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่หรือตามชายป่า มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กล้วยจ๊ะก่า (ตาก), กล้วยจ๊ะก่าหลวง (ลำพูน), กล้วยเครือคำ (เชียงใหม่), ก้ามปู (พิษณุโลก), ขมิ้นผีหรือกระทือลิง (ภาคกลาง), ว่านดอกเหลือง (เลย), ดอกเข้าพรรษา (สระบุรี) เป็นต้น

‘ต้นหงส์เหิน’ หรือ ‘ต้นเข้าพรรษา’ เป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นเป็นหัวประเภทเหง้าแบบมีรากสะสมอาหาร คล้ายรากกระชาย ส่วนของลำต้นเหนือดิน คือ กาบใบที่เรียงตัวกันแน่น ทำหน้าที่เป็นต้นเทียมเหนือดิน เกิดเป็นกลุ่มกอ สูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ใบเป็นใบเดี่ยวรูปหอก ออกเรียงสลับซ้ายขวาเป็นสองแถว

ส่วนดอกออกเป็นช่อซึ่งแทงออกมาจากยอดของลำต้นเทียม ช่อดอกมีลักษณะอ่อนช้อยสวยงาม ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีก้านดอกย่อยเรียงอยู่โดยรอบ ประกอบด้วยดอกจริง 1-3 ดอก มีสีเหลืองสดใสคล้ายรูปตัวหงส์กำลังเหินบิน มีกลีบประดับขนาดใหญ่ตามช่อโดยรอบจากโคนถึงปลาย และสีของกลีบประดับมีหลายสี เช่น ขาว ม่วง เขียว และแดง



ภาพจาก http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6369

วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี หรือวันเข้าพรรษา จะเป็น “วันประเพณีตักบาตรดอกไม้” ซึ่งถือเป็นประเพณีสำคัญประจำจังหวัดสระบุรี และชาวอำเภอพระพุทธบาท ซึ่งปฏิบัติสืบต่อ กันมา เป็นประจำทุกปี ในวันนั้น เมื่อพระภิกษะสงฆ์รับบิณฑบาตรดอกไม้จากพุทธศาสนิกชน แล้วนำออกมาสักการะ พระเจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วนำไป สักการะ บูชาพระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ที่บรรจุพระบรมพระสารีริกธาตุและเข้าโบสถ์ประกอบพิธี สวดอธิษฐานเข้าพรรษา

ประเพณีตักบาตรดอกไม้เป็นประเพณีสำคัญที่อยู่คู่กับวัดพระพุทธบาราชวรมหาวิหารมาช้านาน และตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา จังหวัดสระบุรี ได้เพิ่มจำนวนวันตักบาตรดอกไม้ จาก 1 วัน เป็น 3 วัน ภายในงานประกอบด้วยขบวนพยุหยาตราสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ขบวนรถบุปผชาติ การแสดงศิลปพื้นบ้าน วัฒนธรรม และขบวนต่างๆ จะเริ่มเคลื่อนออกจากหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลพระพุทธบาท ไปตามถนน พหลโยธินและเลี้ยวเข้าบริเวณวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร โดยจะมีพิธี เปิดงานพิธีตักบาตรดอกไม้ในภาคค่ำดอกไม้ที่ใช้ตักบาตรแด่พระภิกษุสงฆ์นั้น จะต้องเป็น “ดอกเข้าพรรษา” เท่านั้น



ตามตำนานต้นดอกไม้เข้าพรรษานี้จะ ขึ้นตามไหล่เขาโพธิ์ลังกา หรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุใกล้ ๆ กับรอยพระพุทธบาท และจะผลิดอกเฉพาะช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น จนชาวบ้านเรียกชื่อให้เป็นที่เหมาะสมว่า “ต้นเข้าพรรษา" ดอกไม้เข้า พรรษาที่ชาวพุทธออกไปเก็บนั้น ดอกสีเหลือง ดอกสีขาวนั้นจะหาได้ง่าย ไม่ลำบาก แต่ดอกไม้เข้าพรรษาสีม่วงนั้นจะหาได้ยากมาก ดังนั้นจึงถือกันว่าถ้าใครสามารถหาดอกไม้เข้าพรรษาสีม่วง มาใส่บาตรได้ จะได้รับบุญกุศลมากมายกว่าการนำดอกไม้สีอื่น ๆ มาตักบาตร

หลังจาก ที่พระภิกษุสงฆ์เดินรับบิณฑบาตรจากพุทธศาสนิกชนแล้ว จะนำดอกไม้ไปสักการะ “รอย พระพุทธบาท” พระเจดีย์จุฬามณี อันเป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วจำลองขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้ว นำไปสักการะพระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ ซึ่งชาวพุทธถือว่าเป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระเจดีย์องค์นี้ ทรงเหมือนกับองค์พระธาตุพนม เป็นการคารวะต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และระหว่างที่พระภิกษุเดินลง จากพระมณฑปนั้น พุทธศาสนิกชนก็จะนำเอาน้ำสะอาดมาล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์ ซึ่ง ถือว่าน้ำที่ได้ชำระล้างเท้าให้พระภิกษุสงฆ์นั้นเสมือนหนึ่งได้ชำระล้างบาป ของตนด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

http://www.khaoyaizone.com

http://www.kwangmoo.blogspot.com/2008/08/blog-post.html

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6369

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น