วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
[บทความ ] พระเจ้าสายน้ำผึ้ง แห่งเมืองอโยธยา
เรื่องราวประวัติศาสตร์ หรือประวัติความเป็นมาของเรื่องราวต่าง ๆ มีข้อมูลมาจากหลายแหล่งด้วยกัน นอกจากบันทึกในพระราชพงศาวดารแล้ว ยังมีตำนานพงศาวดารเหนือ คำให้การชาวกรุงเก่า จากคำนำต่าง ๆ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา บางครั้งเรื่องเดียวกันก็มีเนื้อหาแตกต่างกันบ้าง ต่อมาพระยาปริยัติธรรมธาดา ( แพ ตาละลักษณ์) ครั้งยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรกิจ ได้ต้นฉบับพระราชพงศาวดาร มามอบให้หอพระสมุด กรรมการจึงเรียกว่า "พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ"
มีข้อความว่า ความขึ้นต้นแต่สร้างพระพุทธรูป พระเจ้าพะแนงเชิง เมื่อปีชวด จุลศักราช 686 หรือ พ.ศ. 1867 และสร้างกรุงศรีอยุธยาเมื่อปีขาลจุลศักราช 712 หรือ พ.ศ. 1893 แต่เดิมใครเป็นผู้สร้างไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่จากประวัติย่อของวัดพนัญเชิงปิดไว้ว่า วัดนี้สร้างสมัยเมืองอโยธยา ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยพระเจ้าดวงเกรียงกฤษณะราช ( พระเจ้าสายน้ำผึ้ง) ผู้ครองเมืองเสนาราชนคร เป็นผู้สร้างวัดนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางสร้อยดอกหมาก ส่วนองค์พระพุทธรูปนั้น พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ทรงเป็นผู้สร้างก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา 26 ปี เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระอัยกา คือพระเจ้าสายน้ำผึ้ง
จากพงศาวดารเหนือ กล่าวไว้ว่า พระเจ้า จันทรโชติ ได้เป็นกษัตริย์ปกครองอาณาจักรละโว้ (ลพบุรี) หรือกำโพชนคร ต่อมาพระเจ้าอโนรธามังฉ้อ แห่งเมืองพุกาม ยกทัพมาตีเมืองละโว้ ประมาณ พ.ศ. 1589-1620 เมืองละโว้ต้องยอมเป็นไมตรีกัน หลังจากพระเจ้าจันทรโชติสวรรคต พระโอรสคือพระนารายณ์ ขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 1623 โปรดให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงละโว้ มาสร้างพระราชวังอยู่ที่บริเวณวัดอโยธยา หรือวัดเดิม (ซึ่งประกอบด้วย วัดรอ วัดโคก วัดขอม วัดมณฑป) เรียกว่ากรุงอโยธยา เมื่อ พ.ศ.1630 แล้วเสด็จไปเมืองละโว้ โปรดให้สร้างพระปรางค์ และลดฐานะลงเป็นเมืองลูกหลวง เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า ลพบุรี เมื่อเสด็จกลับกรุงอโยธยาไม่นานก็สวรรคต หลังสิ้นพระชนม์ เกิดสู่รบกันกลางเมือง เพื่อแย่งชิงราชสมบัติกันอยู่ 2 ปี จึงสงบ พระเจ้าหลวงกษัตริย์พระองค์ใหม่ โปรดให้ยกเอาพระราชวัง เป็นวัดศรีอโยธยา แล้วทรงย้ายพระราชฐานไปประทับที่พระราชวังใหม่ใกล้ปากแม่น้ำเบี้ย ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของวัดพนัญเชิง (ปัจจุบันคือปากคลองสวนพลู) จนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ขึ้นครองราชย์กรุงอโยธยา ทรงพระนามว่า พระเจ้าดวงเกรียงกฤษณราช เมื่อ พ.ศ. 1654- 1708
จากจดหมายเหตุของจีน กล่าวว่าจีนได้เข้ามาค้าขายแถบทะเลจีนใต้เท่าที่บันทึกว่ามีมาตั้งแต่ สมัยราชวงศ์ฮั่น ราชวงศถัง ราชวงศ์ซ่ง ได้พัฒนาการค้าทางเรือสำเภาที่เมือหางโจว ภายใต้การกำกับของ พระจักรพรรดิ์ (ฮ่องเต้) สินค้านำเข้าประเทศจีนส่วนใหญ่ คือ งาช้าง นอแรด ไช่มุก ของหอม ธูปหอม เป็นต้น ซึ่งทางการจีนจะจ่ายค่าสินค้า เป็น ทองคำ เงิน เครื่องทอ เครื่องเคลือบ และจ่ายเป็นเงินปี เมื่อเรือสินค้าเข้าไปอาณาจักรใด ก็จะมีความสัมพันธ์กับกษัตรย์หรือเจ้านครแห่งนั้น ๆ เท่าที่มีปรากฏ เช่น เสียน สุโขทัย หลอหุ (ละโว้) ผานผาน (เพชรบุรี) เป็นต้น
พระเจ้าสายน้ำผึ้งส่งพระราชสาส์นไปยังจักรพรรดิ ซ่งซุยจง (พ.ศ.1644- 1668) และจักรพรรดิ ซ่งฉินจง ( พ.ศ. 1668-1670 ) แห่งราชวงศ์ ซ่งเหนือและซ่งใต้ จักรพรรดิ ซ่งเกาจง (พ.ศ. 1670-1705) และจักรพรรดิ ซ่งเซียวจง ( พ.ศ. 1705-1732) เป็นไปได้ที่จักรพรรดิ ซ่งเกาจง พระราชทานพระธิดาจากพระสนม ที่รู้จักกันว่า พระนางสร้อยดอกหมาก มาอภิเษก
ขบวนพยุหยาตราอันใหญ่โตของพระนางเสด็จมาทางชลมารค เมื่อมาถึง พระนางน้อยพระทัยว่าได้รับการต้อนรับอย่างไม่สมพระเกียรติ จากพระเจ้าสายน้ำผึ้งในฐานะราชธิดาของจักรพรรดิจีน ทำให้พระนางน้อยพระทัยเลยกลั้นใจจนสิ้นพระชนม์ไป พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงพระราชทานเพลิงศพแล้วตั้งศาลให้ ณ ที่ตรงนั้น และโปรดให้สร้างวัด ( อาจเป็นวัดโคก วัดรอ วัดขอม หรือวัดมณฑป ซึ่งต่อมาร้างทั้ง 4 วัด) ต่อมาพระเจ้าสายน้ำผึ้งสวรรคต พระเจ้าธรรมิกราช โปรดให้สร้างวัด ธรรมิกราชขึ้น วัดได้ขุดพบพระเศียรพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่
จนต่อมาถึงสมัยพระเจ้าบรมราชาขึ้นครองราชย์ โปรดให้สร้างพระพุทธรูป เมื่อ พ.ศ. 1867 พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ กล่าวว่า " จุลศักราช 686 ชวดศก แรกสถาปนาพระพุทธเจ้าพนัญเชิง...." คงใช้รูปแบบพระเศียรที่วัดธรรมมิกราช มาก่ออิฐปูนปั้น เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ แทนหล่อด้วยสำริด
หลังจากพระเจ้าบรมราชาสวรรคต พระราชโอรสขึ้นครองราชย์ ใน พ.ศ. 1887-1912 ต่อมาได้ทรงสถาปนา กรุงศรีอยุธยา เมื่อ จุลศักราช 712 (พ.ศ. 1893 ) เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 1
ข้อมูลจาก www.somboon.info
ภาพจาก อินเทอร์เนท
ป้ายกำกับ:
บทความ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น