วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

[บทความ] ฉะเชิงเทรา” อัญมณีศรีลุ่มน้ำบางปะกง

" ฉะเชิงเทรา” อัญมณีศรีลุ่มน้ำบางปะกง


หลวงพ่อพุทธโสธรองค์ก่อนที่จะมีการซ่อมแซมใหม่ในปัจจุบัน (องค์จริงข้างในองค์เดียวกัน)


วัดโสธรวรารามวรวิหารและลำน้ำบางปะกง


ฟ้าไร้ดาว แต่พร่างพราวด้วยแสงไฟในวันลอยกระทง
คืนวันพระจันทร์เพ็ญ ย่่อมไม่เห็นดารา


งานฉลองคริสต์มาส ที่ลานเขื่อนริมน้ำของเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา


สีสันแซมแสงสีที่สว่างไสววิไลตา


วัดเมืองยามราตรี


ศาลหลักเมืองเรืองอร่าม


ขบวนแห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำ


การแข่งเรือยาวในเทศกาลงานแห่หลวงพ่อโสธร


นกน้อยงามตาเริงร่า ในป่าเขาอ่างฤาไนย




“ ...อัญมณีศรีรัฐจรัสโรจน์
รุ่งเรืองโชติพิพัฒน์ธรรมนำไพศาล
ด้วยองค์พระศักดิ์สิทธิ์ตามตำนาน
ชนเรียกขานว่า “พระพุทธโสธร”

สุรีย์ฉายพรายแสงแข่งสายน้ำ
งามเลิศล้ำเลื่อมลายประภัสสร
“บางปะกง” ดุจดั่งมุขยาภรณ์
เป็นต้นตอนรอยลิขิตชีวิตไทย

นาม “พระยาศรีสุนทรโวหาร” ปราชญ์
กวีชาติชื่อเลื่องเฟื่องสมัย
งามทิวป่าแล “เขาอ่างฤาไน”
แหล่งน้ำใสสายธารประสานชล

ดุจดั่งอัญมณีศรีลุ่มน้ำ
เลอค่าล้ำเหนือใครในพหล
“ฉะเชิงเทรา” เนาเฟื่องเรื่องสกล
เปรียบเมืองมนตร์แดนสวรรค์นิรันดร์กาล...




ศรี หมายความถึง มิ่ง สิริมงคล ความรุ่งเรือง ความสว่างสุกใส ความงาม ความเจริญ

นี่คือเมืองฉะเชิงเทรา...จังหวัดเล็ก ๆ ที่ผู้คนเคยผ่านมาแล้วก็ผ่านเลยไป ไม่มีใครตระหนัก รู้จักเมืองนี้เป็นเช่นไร ขอแนะนำให้รู้จักเมืองฉะเชิงเทรา..อัญมณีศรีลุ่มน้ำบางปะกง

มีคำเตือน :
การลงทุนอ่านย่อมมีความเสี่ยง
เพราะบทความนี้ยาวมาก อาจเกิดความเบื่อหน่าย และสายตาทำงานหนักสำหรับผู้คิดจะอ่าน


โครงกระดูกขุดพบที่โคกพนมดี

ฉะเชิงเทราในอดีต
เป็นดินแดนเก่าแก่ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ไม่มีผู้ยืนยันได้แน่ชัด แต่จากที่ตั้งของเมืองนั้นนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงแห่งนี้ ..... เมื่อหลายพันปีก่อนน่าจะเป็นแหล่งอารยะธรรมสำคัญแห่งหนึ่งเช่นเดียวกับที่ราบลุ่มแม่น้ำอื่น ๆ ซึ่งเป็นแหล่งพักพิงอาศัยของผู้คนมาแต่ครั้งโบราณ และเมื่อมีการขุดค้นพบโครงกระดูกและเครื่องประดับมีค่าอายุกว่าห้าพันปี ณ แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ซึ่งเชื่อกันว่าเคยอยู่ในเขตการปกครองของเมืองฉะเชิงเทรามาก่อนจึงกลายเป็นหลักฐานว่า

“ผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ในครั้งนั้น น่าจะเป็นมนุษย์โบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ทั้งหลายก็น่าจะตั้งรกรากอยู่ใกล้เคียงกันตามชายฝั่งทะเลแถบนี้ และมีความเป็นไปได้ว่า เจ้าของอารยะธรรมที่โคกพนมดี อาจจะเป็นบรรพชนของผู้สร้างอารยะธรรมยุคสำริด อันเลื่องชื่อที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานีก็ได้”


แผนที่อำเภอพนัสนิคม

(โคกพนมดีเป็นเนินดินขนาดใหญ่ อยู่ในตำบลท่าข้าม อำเภอพนัสนิคม ผลการศึกษาพบว่า โคกพนมดีเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณที่สามารถสร้างเครื่องมือหิน (ขวานหินขัด หินลับ หินบด ค้อนหิน หินกรวดสำหรับขัดผิว ภาชนะและกำไลหิน) เครื่องมือที่ทำจากกระดูกสัตว์เช่น ฉมวก เครื่องมือที่ทำจากหอยเช่น มีด สิ่ว เครื่องประดับที่ทำจากเปลือกหอย และภาชนะดินเผาแบบเชือกทาบ เป็นชุมชนที่อพยพและเปลี่ยนแปลงมาจากสังคมแบบดั้งเดิม ซึ่งมักอาศัยอยู่ในที่สูงดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และแสวงหาอาหารจากธรรมชาติ ต่อมาอพยพลงมาอยู่ที่โคกพนมดี ซึ่งในครั้งนั้นเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งจากป่าและทะเล มีผู้เสนอข้อคิดเห็นว่าเนินดินแห่งนี้เป็น shell Mound สมัยก่อนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเซียอาคเนย์ ต่อมาผู้คนเหล่านั้นก็เริ่มพัฒนาการดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูกแบบเริ่มแรก ควบคู่กันไปกับการแสวงหาอาหารจากทะเล และล่าสัตว์)

สภาพทั่วไป
แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี ลักษณะเป็นเนินดินใหญ่ทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 230 เมตร จุดสูงสุดของเนินอยู่ทางด้านทิศเหนือ สูงประมาณ 12 เมตรจากพื้นนาโดยรอบ ตั้งห่างจากแม่น้ำบางปะกง 8 กิโลเมตรและห่างจากแนวชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยประมาณ 22 กิโลเมตร บนเนินดินปกคลุมด้วยไม้ยืนต้นและไม้พุ่มค่อนข้างหนาแน่น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของราษฎรหมู่ที่ 3 บ้านโคกพนมดี พื้นที่โดยรอบเป็นที่ราบลุ่มใช้ปประโยชน์ในการทำนาข้าว ทางด้านทิศใต้ห่างออกไป 7 กิโลเมตรเป็นเนินเขาฟิลไลด์ ชื่อเขาคีรีรมย์ แหล่งน้ำในบริเวณนี้นอกจากแม่น้ำบางปะกงแล้ว ยังมีลำน้ำเก่าไหลจากเขตอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทราลงสู่แม่น้ำบางปะกงในเขตอำเภอบ้านโพธิ์ (กรมศิลปากร 2531, 296)
( ฐานข้อมูลมานุษยวิทยากายภาพในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

แหล่งโบราณคดีโคกพนมดี ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 3 ตำบลท่าข้าม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี


แผนที่จังหวัดชลบุรี

อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เป็นส่วนหนึ่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก โดยมีแม่น้ำบางปะกง เป็นลำน้ำสำคัญ
เมื่อราว 4,500 ปี ท้องที่พนัสนิคมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบ้านเมืองขึ้นเป็นรัฐชายฝั่งทะเล อ่าวบางปะกงกินเข้ามาลึกกว่าปัจจุบัน อย่างน้อยถึงเขต อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ดังนั้นส่วนที่เป็นพื้นที่ อ.พนัสนิคม จึงเคยเป็นทะเลตมและป่าชายเลน บางแห่งสูงคล้ายเกาะเพราะโอบล้อมด้วยทะเลโคลน
แหล่งชุมชนโบราณที่ โคกพนมดี ต.ท่าข้าม อ.พนัสนิคมผู้คนที่เป็นบรรพบุรุษของชาวโคกพนมดีตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณนี้ เพราะความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารใกล้ทะเล
นอกจากโครงกระดูก ขวานหิน ซากสัตว์ทะเล เศษภาชนะดินเผา เครื่องประดับที่พบในโคกพนมดีแล้ว ที่นี่ก็มี ”ลูกปัด” แต่เป็นลูกปัดที่ทำจากกระดูกสัตว์ ซึ่งมักสวมใส่อยู่บนโครงกระดูก เป็นการแสดงถึงการมีพิธีกรรมการฝังศพของชุมชนโคกพนมดี การเชื่อถึงโลกหน้า ที่มีการฝังสิ่งของเปลือกหอย เครื่องประดับ ร่วมกับผู้ตายให้นำไปใช้หรือเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็น “ชนชั้นนำ” ของกลุ่ม
มาในสมัยทวารวดี (ราว พ.ศ.1100 ลงมา) บริเวณพนัสนิคมนี้ ก็ยังเป็นเมืองท่าติดต่อการค้าทางทะเลกับบ้านเมืองภายนอก ด้วยปัจจัยที่ตั้งเมืองอยู่ชายขอบระหว่างที่ราบลุ่มและที่สูงป่าดง เพาะปลูกและตั้งถิ่นฐานได้ดี โดยเฉพาะการที่บริเวณนี้เคยอยู่ใกล้ชิดทะเลมาก่อน มีลำน้ำพานทองไปออกทะเลได้ ทำให้เหมาะกับการเป็นเมืองท่าขนถ่ายสินค้า
http://www.komchadluek.net


แผนที่อำเภอบ้านโพธิ์

เมืองพนัสนิคม เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งเคยรุ่งเรืองเมื่อสมัย 1,000 ปี มาแล้ว หรือสมัยที่ขอมยังเรืองอำนาจอยู่ในอาณาจักรสุวรรณภูมิ จากหลักฐานต่าง ๆ น่าเชื่อถือว่าเมืองที่รุ่งเรืองดังกล่าว คือ เมืองพระรถ
เมืองพนัสนิคม ตั้งขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระบรมราชโองการสถาปนาเมืองพนัสนิคมขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2371 เป็นเมืองชั้นจัตวา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2440 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค จัดระเบียบการปกครองสิ่งใหม่เป็นมณฑลจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จึงโปรดเกล้าให้เมืองพนัสนิคมเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชลบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2447
ที่มาของข้อมูล http://www.panusnikom.com

จากภาพแผนที่ของอำเภอบ้านโพธิ์และแผนที่จังหวัดชลบุรีหากดูประกอบกัน
ทางทิศเหนือของอำเภอพนัสนิคม ติดต่อกับอำเภอแปลงยาวและอำเภอบ้านโพธิ์ (จังหวัดฉะเชิงเทรา)โดยเฉพาะตำบลท่าข้าม (ที่ตั้งของเนินโคกพนมดี) อยู่ชิดติดกับตำบล แหลมประดู่ ตำบลสิบเอ็ดศอก ตำบลหนองตีนนกของอำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ข้อมูลสนับสนุนความเชื่อกันว่าโคกพนมดีเคยอยู่ในเขตการปกครองของเมืองฉะเชิงเทรามาก่อนจึงเป็นความเชื่อที่เกิดจากสภาพภูมิศาสตร์ รวมทั้งลักษณะการตั้งถิ่นฐานของผุู้คนในอำเภอพนัสนิคม จะเป็นชุมชนเก่าที่อยู่ค่อนมาทางจังหวัดฉะเชิงเทรา

ซึ่งที่ตำบลบางกรูด ก็เช่นกัน จากการที่มีการจัดพื้นที่กันใหม่ ทำให้วัดบางกรูดเองซึ่งเคยอยู่ในตำบลบางกรูด ปัจจุบัน วัดบางกรูดอยู่ในตำบลท่าพลับ


ฉะเชิงเทราในยุคประวัติศาสตร์


“ฉะเชิงเทรา” ยุคประวัติศาสตร์
เมื่อล่วงเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ แหล่งอารยะธรรมลุ่มแม่น้ำบางปะกงดูจะมีหลักฐานชัดเจนขึ้น แต่บ้านเมืองในยุคต้นพุทธกาลนี้ก็ยังมิได้รวมเป็นลักษณะ “อาณาจักร” ที่มีราชธานี ณ ที่ใดที่หนึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครอง คงเป็นเพียงการรวมกลุ่มขึ้นเป็น “แคว้น” หรือ “นครรัฐ” เล็ก ๆ กระนั้น บทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว หากพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์ ชุมชนศูนย์กลางของอารยะธรรมลุ่มแม่น้ำบางปะกงนั้น น่าจะเป็นทางออกสู่ทะเลซึ่งสามารถติดต่อซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมกับดินแดนโพ้นทะเลได้เป็นอย่างดี และในขณะเดียวกันก็สามารถนำพาสินค้าและวัฒนธรรมเหล่านั้นไปยังดินแดนภายในแผ่นดินใหญ่ ซึ่งอยู่บริเวณที่ราบสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและที่ราบต่ำในกัมพูชา อันถือได้ว่าเป็นบ่อเกิดแห่งอารยะธรรมสมัยโบราณของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างสะดวก หลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบได้ในบริเวณนั้นไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมหรือประติมากรรม ล้วนแสดงว่าชุมชนแห่งนี้มีอายุต่อเนื่องยืนยาวหลายพันปี และมีมนุษย์อาศัยสืบเนื่องมาไม่ขาดสายตั้งแต่ยุคบรรพกาล


ภาพคนจีนที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย

“ฉะเชิงเทรา” ในช่วงเวลา 417 ปี ของกรุงศรีอยุธยา
1.ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ (พ.ศ. 1991-2031)

ชื่อ “ฉะเชิงเทรา” ปรากฏอย่างเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองฉะเชิงเทรามีฐานะหัวเมืองชั้นในหรือเมืองจัตวาที่อยู่ใกล้ราชธานีของประเทศ เช่นเดียวกับราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม นครไชยศรี นครสวรรค์ ชัยนาท สุพรรณบุรี สมุทรสาคร ชลบุรี ปราจีนบุรี และนครนายก
มีผู้ว่าราชการเมืองซึ่งเรียกว่าผู้รั้งเมือง ไม่เป็นเจ้าเมือง ไม่มีอำนาจเด็ดขาดอย่างเจ้าเมือง
ซึ่งมีข้อสังเกตุ คือชื่อเจ้าเมืองฉะเชิงเทรามีราชทินนามเฉพาะคือพระวิเศษฤาไชย และเลื่อนเป็นพระยาวิเศษฤาชัยในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในขณะที่ เจ้าเมืองนครนายก เจ้าเมืองปราจีนบุรี เจ้าเมืองสระบุรี ก็คือ พระยานครนายก พระยาปราจีนบุรี พระยาสระบุรี

2.สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชาฐาธิราช (พ.ศ 2034-2072 )
เป็นช่วงเวลาที่สงบสุชของกรุงศรีอยุธยาไม่มีการสงครามทั้งภายในและนอกราชอาณาจักร บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง ทรงโปรดให้ขุดคลองสำโรง ในตำบลศรีษะจระเข้กับคลองทับนา ออกไปยังปากแม่น้ำบางปะกง ซึ่งขณะนั้นชาวโปรตุเกสเข้ามาค้าขาย คลองที่ขุดเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการปกครองในสมัยนั้น การค้าจะได้ขยายตัวไปตามเมืองต่าง ๆ


คนจีนพายเรือค้าขายทั่วไปตามลำน้ำ

3. สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ. 2091-2111)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงเมืองฉะเชิงเทรา เข้าร่วมมีบทบาทในการสงครามดังนี้
" การที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงจัดการป้องกันพระนครศรีอยุธยาครั้งนั้น นอกจากการก่อสร้างยังให้ตรวจบัญชีสำมะโนครัวราษฏรทั่วไป เพื่อให้รู้จำนวนชายฉกรรจ์อันจะเป็นกำลังต่อสู้ข้าศึก ปรากฎมีชายฉกรรจ์ในมณฑลราชธานีมีแสนเศษ แล้วจัดระเบียบการเรียกระดมพลให้สะดวกขึ้นกว่าแต่ก่อน ในการนี้ทรงให้ตั้งเมืองชั้นในเพิ่มขึ้นหลายเมืองคือตั้ง บ้านตลาดแก้ว เมืองนนทบุรีเมืองหนึ่ง ตั้งบ้านท่าจีนเป็นเมืองสาครบุรี เมืองหนึ่ง ตัดท้องที่เขตต์เมืองสุพรรณบุรีทางด้านใต้ กับท้องที่เขตต์เมืองราชบุรีทางข้างตะวันตกรวมกันตั้งเมืองนครไชยศรี เมืองหนึ่ง สันนิษฐานว่าตัดท้องที่เขตเมืองชลบุรีข้างเหนือกับท้องที่เมืองปราจีนบุรีข้างใต้เมืองฉะเชิงเทรา ขึ้นอีกเมืองหนึ่ง..."

4.สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา (พ.ศ.2112-2133)
เนื่องจากช่วงต้นของแผ่นดินนี้ กรุงศรีอยุธยากำลังอ่อนแอเนื่องจากเพิ่งแพ้สงครามพม่าเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. 2112 พระยาละแวก ถือโอกาสยกกองทัพมาทั้งยกทัพมาเองและแต่งตั้งแม่ทัพยกทัพมาไทย เมื่อถอยทัพกลับจะกวาดต้อนชาวเมืองต่าง ๆ รวมทั้งเมือง ฉะเชิงเทรา ไปด้วยเป็นจำนวนมาก
...ในขณะนั้น พระยาละแวกแต่งพลมาลาดตระเวนทั้งทางบกทางเรือเป็นหลายครั้ง และเสียชาวจันทบูร ชาวระยอง ชาวฉะเชิงเทรา ชาวนาเริงไปแก่่ข้าศึกละแวกเป็นอันมาก..
(พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา.


วัดปากน้ำ ที่ปากน้ำโจโล้

5. ในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133-2148)

เมืองฉะเชิงเทรามีความสำคัญยิ่ง ในฐานะกองเสบียงที่ติดตามกองทัพของพระองค์ในการทำศึกพระยาละแวกของเขมร ดังพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า

" พ.ศ.2136 การที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปตีเมืองเขมรครั้งนี้ดำรัสสั่งให้เกณฑ์พล เมืองนครนายก เมืองปราจีนบุรี เมืองฉะเชิงเทรา และเมืองสระบุรีเข้าเป็นกองทัพ...
พ.ศ. 2136 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกำหนด...ให้พระวิเศษ (เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา)...ตั้งขึ้นเป็นกองเสบียงทางบกยกไปตั้งยุ้งฉางรวบรวมเสบียงอาหารเตรียมไว้ที่ตำบลทำนบ (คงอยู่ใกล้ชายแดนเขมร) เพื่อคอยจ่ายเสบียงให้แก่กองทัพหลวงที่ผ่านไปทางตำบลนั้นเป็นการล่วงหน้า...เมื่อทรงตีเมืองบริบูรณ์ได้แล้วจึงโปรดให้เลื่อนพระวิเศษเจ้าเมืองฉะเชิงเทรา ที่ปฎิบัติราชการเป็นผลดียิ่งตลอดมา ขึ้นเป็น "พระยาวิเศษ" และให้คุมกำลังกองเสบียงส่งไปสนับสนุนกองทัพที่จะเข้าตีเมืองละแวกอันเป็นเป้าหมายสุดท้าย.."

แสดงให้เห็นว่า เมืองฉะเชิงเทราเป็นเมืองสำคัญและอุดมสมบูรณ์สามารถจัดกองเสบียงสนับสนุนกองทัพหลวง พระวิเศษเจ้าเมืองได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาวิเศษ" ในระหว่างราชการทัพ

6. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2231)
มีหลักฐานอ้างถึงเมืองฉะเชิงเทรา ในหนังสือสยามและคณะมิชชั่นนารีชาวฝรั่งเศส หนังสือเล่มนี้มีแผนที่ของมิสซังสยาม ระบุชื่อ "แปดริ้ว" (Petrue) ที่เข้ามาสำรวจพื้นที่เผยแพร่ศาสนาคริสต์ (คาธอลิค) ในเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งมีประชาชนส่วนหนึ่งเข้ารีต (ส่วนใหญ่อยู่บริเวณ ตำบลบางตีนเป็ด อำเภอเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา)
ซึ่่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเอง ทรงถูกทูลเชิญให้ทรงเปลี่ยนศาสนา แต่ด้วยพระปรีชาสามารถ ทำให้ทรงปฏิเสธโดยสามารถดำรงสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสไว้ได้
อนึ่งเมื่อถึงสมัยพระเภทราชา ทรงกวาดล้างจับบาทหลวงต่าง ๆ ทั้งปวง ไปขังไว้เป็นตัวประกันกับกองทหารฝรั่งเศส

7.สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ (พ.ศ. 2301-2310 )
ก่อนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองฉะเชิงเทรามีบทบาทในการสู้รบกับพม่า เมื่อ พ.ศ. 2309 กรมหมื่นเทพพิพิธทรงวิเคราะห์ว่ากรุงศรีอยุธยาคงเสียทีแก่พม่าที่ยกทัพมาล้อมกรุงอยู่ในขณะนั้น จึงชักชวนผู้คนชาวเมือง จันทบุรี ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เข้าไปตั้งมั่นที่ปราจีนบุรี แล้วส่งกองกำลังส่วนหนึ่งไปรักษาด่านที่ปากน้ำโยทะกา แต่ในที่สุด ด่่านนี้ก็ถูกตีแตก ทำให้กรมหมื่นเทพพิพิธ และพรรคพวกหลบหนีต่อไปยังเมืองนครราชสีมา เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียทีแก่พม่า ในปี 2310 พระองค์จึงตั้งขุมนุมกรมหมื่นเทพพิพิธที่เมืองนครราชสีมา นั่นเอง

เมืองฉะเชิงเทรา ได้มีส่วนร่วม ในประวัติศาสตร์ชนชาติไทย ร่วมสมัย 417 ปี แห่งศรีอยุธยา พอเป็นสังเขปดังนี้เอง


พระสถูปเจดีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ในยุคต้นก่อนตั้งกรุงธนบุรี
จากราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ครั้งที่ยังเป็น พระยากำแพงเพชร ) เดินทัพและได้ปะทะกับทหารพม่าที่บริเวณปากน้ำโจ้โล้ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อนเดินทางไปชลบุรี ระยองและจันทบุรี แล้วกลับมากู้ชาติว่า
..ให้ยกพลทหารเข้าไปในป่าหยุดประทับสำนักหนองน้ำ หุงอาหารสำเร็จแล้ว พอเพลาบ่ายประมาณ 2 โมง...
ครั้นเพลาบ่ายประมาณ 4 โมง พม่าไล่แทงฟันคนซึ่งเมื่อยล้าอยู่นั้นวิ่งหนีมาตามทาง เมื่อทอดพระเนตรเห็น จึงให้นายบุญมีขึ้นม้าใช้สวนทางลงไปประมาณ 200 เส้น พบกองทัพพม่ายกขึ้นมาแต่ปากน้ำโจ้โล้ ทั้งทัพบกทัพเรือ มาขึ้นที่ท่าข้าม...กลับมากราบทูล

...ทรงต่อสู้กับพม่าที่นี่จนพม่าแตกกระจัดกระจายไป ทรงยกกองทัพไปถึงเมืองระยองโดยสวัสดิภาพ
ต่อมาภายหลังทรงใช้ฉะเชิงเทราเป็นเส้นทางหนึ่งในการเดินทัพเข้าโจมตีพม่าที่เมืองธนบุรี แล้วขึ้นไปตีค่ายโพธิ์สามต้นซึ่งเป็นค่ายใหญ่ของพม่าที่ศรีอยุธยา ทำการกอบกู้เอกราชให้กับชาติไทยได้เป็นผลสำเร็จได้

ปัจจุบันชาวอำเภอบางคล้าได้ก่อสร้างสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นอนุสาวรีย์ให้ประชาชนเคารพและรำลึกถึงพระองค์






สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ทรงโปรดให้หัวเมืองต่าง ๆ ขึ้นกับกรมพระกลาโหม กรมมหาดไทยและกรมท่าดังเดิมเพื่อสะดวกในการปกครอง เมืองฉะเชิงเทรานั้นเดิมขึ้นกับกรมพระกลาโหม ต่อมาให้ขึ้นกับกรมมหาดไทย ในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ทรงให้ เมืองฉะเชิงเทราขึ้นกับกรมมหาดไทยตามเดิม

ในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ทรงมีช้างเผือกมาสู่พระบารมี 6 เชือก เป็นช้างเผือกเอก 3 เชือก พระองค์ทรงได้รับสมญาว่า" พระเจ้าช้างเผือก "
ใด้มีข้อสันนิษฐานว่า เมืองฉะเชิงเทราซึ่งเป็นป่าใหญ่และมีช้างโขลงมาก บริเวณเขตใกล้เมืองมีตำบล"สนามช้าง" "อ่าวช้างไล่่" มีคำบอกกล่าวในประวัติศาสตร์ว่า มีพวกทหารอาสามอญมาตั้งกองจับช้างไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน เพราะเป็นแหล่งที่มีช้างมาก เชื่อกันว่าส่วนหนึ่งเป็นช้างจากเมืองฉะเชิงเทรา
ในรัชกาลนี้ มีการนำช้างเผือกประดับไว้ในธงชาติเป็นครั้งแรกเรียกว่าธงช้าง เป็นช้างสีขาวอยู่ในวงจักรติดในผืนธงแดง

ในรัชกาลนี้ เริ่มมีการส่งออก น้ำตาล ที่ผลิตจากอ้อยซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของลุ่มน้ำบางปะกง เป็นสิ่งที่ชาวจีนนำมาเผยแพร่ในเมืองไทย เป็นผู้นำพันธุ์อ้อยเข้ามาพร้อมทั้งความเชี่ยวชาญการทำน้ำตาลจากพืชชนิดนี้ จนทำให้กิจการดังกล่าวมีคนจีนเป็นเจ้าของกิจการและแรงงานจำนวนมาก


ศาลหลักเมืองสร้างใหม่

ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยูหัว

บริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งรุ่งเรืองด้วยไร่อ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยมีเมืองฉะเชิงเทราเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำตาลของพื้นที่แห่งนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 3 นี้ เมืองฉะเชิงเทรามีความสำคัญทางเศรษฐกิจจากการเป็นแหล่งผลิตน้ำตาล ข้าว ผลเร่ว ใบจาก และพืชผลอื่นๆ


ส่วนการเมืองนั้น

เกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์ ในปี 2369 มีการกวาดต้อนชาวลาว เข้ามาอยู่เมืองฉะเชิงเทรา

เมืองฉะเชิงเทรามีบทบาทในฐานะ “เมืองหน้าด่าน” ที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อญวนเกิดฮึกเหิม หมายจะแย่งชิงอำนาจในการปกครองเขมรและสถาปนากษัตริย์เขมรจากไทย จนเกิดเหตุลุกลามกลายเป็นสงคราม “อานามสยามยุทธ” ระหว่างไทยกับญวนดำเนินไปได้ราว 1 ปี คือในปี พ.ศ. 2377 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ว่าการเมืองฉะเชิงเทราจากเดิมซึ่งตั้งอยู่ที่ปากน้ำโจ้โล้ มาสร้างกำแพงเมืองใหม่ที่บ้านท่าไข่ แขวงเมืองฉะเชิงเทรา ชิดกับลำน้ำบางปะกง ซึ่งเป็นเสมือนกำแพงธรรมชาติที่ป้องกันศัตรูได้อย่างดี หมายให้ช่วยรักษาเมืองหลวงให้พ้นภัยจากข้าศึก

กำแพงนี้นอกจากจะเป็นปราการในการปกป้องเมืองหลวงแล้ว ยังกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจรัฐแห่งใหม่และเป็นเครื่องแสดงอาณาเขตของเมืองด้วย ต่อมาเมื่อเกิดการสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ภายในกำแพง ความเป็น “เมือง” ที่มีอาณาเขตแน่นอนของฉะเชิงเทราจึงได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง การสร้างวัดเมือง (ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามวัดว่าวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฏิ์)



สงครามอานามสยามยุทธ ที่กินเวลาถึง 14 ปี ทำให้มีการสร้างป้อมปราการและขุดคลองจากหัวหมากไปบางขนาก ที่อยู่บริเวณเมืองฉะเชิงเทราเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงกองทัพ เมืองแห่งนี้จึงเป็นค่ายพักระหว่างทางของกองทัพไทย

จอห์น ครอว์เฟิด ซึ่งเดินทางเข้ามาสมัยรัชกาลที่ 2 กล่าวว่า เรือสำเภาที่บรรทุกสินค้าไปขายจะบรรทุกคนจีนกลับเข้ามาถึงลำละประมาณ 1,200 คน หรือในสมัยรัชกาลที่ 4 มีคนจีนอพยพเข้ามายังกรุงเทพฯ ถึงปีละ 15,000 คน จากนั้นจึงกระจายไปยังเมืองต่าง ๆ ของไทย เพราะความต้องการแรงงานชาวจีนจำนวนมากเพื่อใช้ในการก่อสร้าง เช่น การขุดคลองตั้งแต่หัวหมากไปถึงบางขนาก เมื่อปี พ.ศ. 2380 หรือคลองแสนแสบในเวลาต่อมา

รวมไปถึงการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ทั้งปราสาทราชวังและวัดวาอาราม ทั้งนี้เป็นเพราะชาวจีนผู้อพยพส่วนหนึ่งเป็นช่างฝีมือหรือไม่ก็เป็นผู้ชำนาญการในศาสตร์แขนงต่างๆ เช่น กลุ่มช่างฝีมือชาวจีนแคะมาจากตำบลถงอัน มณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งอพยพเข้ามาในรัชกาลที่ 3 บรรดาผู้ชำนาญการหลากหลายประเภทล้วนเป็นที่ต้องการของทางราชการ อาทิ ช่างก่ออิฐ ช่างทำอิฐช่างต่อเรือ ช่างไม้ การเดินเรือ และทำน้ำตาล จึงทำให้ชาวจีนหลั่งไหลกันเข้ามาอยู่ในเมืองไทยกันมากขึ้น

มีราษฎร์ที่อาศัยที่เมืองฉะเชิงเทรานับหมื่นคน ซึ่งมีชาวจีนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะเป็นชาวจีนอพยพเข้ามาปลูกอ้อยและทำโรงน้ำตาลที่เมืองฉะเชิงเทรามากขึ้น ขณะเดียวกันทางการได้ให้ความสนใจก่อสร้างโรงงานน้ำตาลของหลวงขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยให้พระยาวิเศษฦาไชย เจ้าเมืองฉะเชิงเทรานำงบประมาณทางการไปจัดซื้อยอดอ้อย เพื่อป้อนไร่อ้อยของรัชกาลที่ 3 ที่เมืองพนัสนิคม พร้อมกับจ้างแรงงานชาวจีน และตระเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ แต่ต้องขาดทุนเนื่องจากการทุจริตของข้าราชการ และการขาดประสบการณ์ทางธุรกิจ แตกต่างจากชาวจีนที่มีความเชี่ยวชาญการผลิตน้ำตาลทุกขั้นตอนเป็นทั้งแรงงานและผู้ประกอบการ สำหรับแรงงานชาวจีนนอกจากดูแลวัตถุดิบที่ใช้ทำน้ำตาลแล้วยังเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตน้ำตาล เช่น เครื่องหีบอ้อย (ลูกหีบ) พลั่ว จอบ เสียม กระทะ ขณะเดียวกันงานด้านอื่น ๆ ในโรงงาน เช่น หัวหน้าคนงาน เสมียน และผู้ดูแล (หลงจู๊) ต่างก็เป็นชาวจีนทั้งสิ้น ความสำคัญของชาวจีนในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่เมืองฉะเชิงเทรา ปรากฏจากบันทึกของสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ซึ่งได้มาเยือนเมืองฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ. 2381 ความว่า


กำแพงเมือง

เมืองแปดริ้ว ที่นี่มีกำแพงเชิงเทิน อันภายในเป็นที่ตั้งจวนของเจ้าเมือง ส่วนราษฎรนั้นอยู่เรียงรายกันไปทั้งสองฝั่งฟากแม่น้ำ มีพลเมืองรวมทั้งสิ้นราว 10,000 คน ทั้งจังหวัดเป็นที่ราบใหญ่อุดมไปด้วยนาข้าว สวนผลไม้และไร่อ้อย มีโรงหีบอ้อยไม่ต่ำกว่า 20 โรง ซึ่งเจ้าของเป็นคนจีน ข้าพเจ้าพักอยู่กับจีนคริสตังคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเถ้าแก่ใหญ่โรงน้ำตาล จึงอยู่ในสถานะที่พอจะพรรณนาความได้ถูกต้อง ที่ริมฝั่งแม่น้ำเราจะเห็นฟืนกองพะเนินเทินทึก 2-3 กอง สูงตั้ง 15-20 เมตร ใกล้ ๆ กองฟืนนั้น มีโรงหลังคากลม มีควายสองตัวดึงกว้านลูกหีบทำด้วยไม้แข็งสองลูกให้หมุนขบกันเพื่อบดลำอ้อย น้ำอ้อยไหลลงในบ่อซีเมนต์ ด้านหลังโรงหีบก่อเป็นเตาอิฐรูปร่างคล้าย ๆ กับหอคอย ชั้นบนของเตานี้มีแท่งเหล็กใหญ่ขวางอยู่ 3 ท่อน เป็นที่ตั้งหม้อขนาดมหึมา 3 หม้อ เชื่อมถึงกันด้วยการโบกปูน เมื่อสุมไฟแรงแล้วเคี่ยวน้ำอ้อยในหม้อเหล่านี้จนงวดแล้วเทลงเก็บไว้ในกรวยดิน

วันรุ่งขึ้น เขารินน้ำตาลแดงออกแล้วฟอกด้วยดินเหนียวแฉะ ๆ ได้น้ำตาลซึ่งค่อนข้างขาวมาก การเคี่ยวน้ำตาลแดงกับฟองของมันอีกครั้งหนึ่ง ก็ยังได้น้ำตาลอีกเป็นจำนวนมาก ในที่สุดกากน้ำตาลแดงนั้นจะถูกส่งไปที่โรงต้มกลั่นสุรา เพื่อผสมเข้ากับปูนขาวใช้ในการโบกตึก บ่อกากน้ำตาลนั้นตั้งอยู่กลางแจ้ง เพราะฉะนั้น จิ้งจก หนูและคางคกมักจะตกลงไปตายกลายเป็นแช่อิ่มอยู่ในนั้นมากมาย โรงใหญ่ ๆ สองโรง กว้างยาวตั้งโรงละ 50 เมตร ยังไม่ค่อยพอที่จะบรรจุเครื่องมือเครื่องใช้ของโรงหีบได้หมดสิ้น ซ้ำยังใช้เป็นที่อยู่อาศัยของพวกคนงานตั้ง 200 คนอีกด้วย ภายในโรงใหญ่โรงหนึ่งนี่เอง ข้าพเจ้าได้ประกอบพิธีกรรมต่อหน้าบุคคล 200 คน ให้สมาทานรับศีลเข้ารีตใหม่



บันทึกดังกล่าวนอกจากให้รายละเอียดถึงจำนวนประชากร จำนวนโรงน้ำตาล ตลอดจนขั้นตอนการผลิตแล้ว ยังกล่าวถึงจำนวนคนงานที่ใช้ผลิตน้ำตาลซึ่งมีความสำคัญมากจนเจ้าของโรงงานซึ่งเป็นจีนคริสตังได้ให้คนงานของตนทั้งหมดรับศีลเข้ารีตจากสังฆราชปาลเลอกัวซ์ นับเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ควบคุมแรงงานให้อยู่กับตนได้นาน ๆ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจึงมีส่วนทำให้เกิดการรวมตัวของคนจีนจำนวนมาก มิหนำซ้ำในกลุ่มชาติพันธุ์ชาวจีนมีธรรมเนียมช่วยเหลือกันภายในกลุ่มของตนจนสามารถสร้างอิทธิพลระหว่างกลุ่มชาวจีนด้วยกัน ซึ่งแม้แต่ทางการก็ไม่สามารถควบคุมได้ในเบื้องต้น จนเกิดกรณีจีนตั้วเหี่ยครั้งใหญ่ขึ้นที่เมืองฉะเชิงเทราช่วงปลายรัชกาลที่ 3


...วัดเเมือง...

ชาวจีนที่อพยพเข้าไปในต่างถิ่นมักมีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันในด้านต่าง ๆ ทั้งการประกอบอาชีพ การปกป้องภัยให้แก่กลุ่ม การช่วยเหลือสงเคราะห์กันในยามที่เกิดภัยพิบัติ ไปจนถึงการต่อต้านขุนนางท้องถิ่นและเจ้าของที่ดินซึ่งกดขี่ข่มเหง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเมื่ออยู่ในประเทศจีนซึ่งมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล อำนาจของทางการส่วนกลางไปไม่ถึงราษฎร ชาวจีนจึงจำเป็นต้องดูแลตนเองและพวกพ้องภายในกลุ่ม และคงลักษณะเช่นนี้ยามเมื่อไปอยู่ต่างแดน

ชาวจีนในไทยก็มีการรวมกลุ่มกันตามชาติพันธุ์และภาษาอันบ่งบอกถึงถิ่นฐานที่จากมาทั้ง จีนกวางตุ้ง แคะ ไหหลำ และแต้จิ๋ว โดยมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือระหว่างกันในหมู่แรงงานเป็นหลัก และมักมีการตั้งหัวหน้าที่ได้รับความนับถือกันในกลุ่มเรียกว่า ตั้วเหี่ย ในภาษาแต้จิ๋ว หรือคำ ตั้วก่อ ในภาษาฮกเกี้ยน แปลว่า พี่ใหญ่ ซึ่งคำนี้ใช้กันในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนจะเปลี่ยนเป็นคำ อั้งยี่ ในสมัยรัชกาลที่ 5


บรรดากลุ่มตั้วเหี่ยในสมัยรัชกาลที่ 3 มักกระจายอยู่ตามพื้นที่ซึ่งสัมพันธ์กับเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะในเขตลุ่มแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง ไปจนถึงหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญ ดังนั้นจึงพบว่า ปัญหาที่เกิดจากจีนตั้วเหี่ยมักเกิดในบริเวณเหล่านี้

การที่วัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การเน้นการช่วยเหลือกันภายในกลุ่มพวกพ้องอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของทางการ เนื่องจากหลายครั้งที่จีนตั้วเหี่ยดำเนินการไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตนจนกระทบกระทั่งกับกลุ่มอื่นกลายเป็นการวิวาทระหว่างกันทำให้ทางการต้องปราบปราม เช่น กรณีจีนตั้วเหี่ยครั้งแรกในรัชกาลที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2367 ที่เมืองจันทบุรีเกิดจากการวิวาทระหว่างจีนฮกเกี้ยนและจีนแต้จิ๋ว

อีกหลายครั้งที่จีนตั้วเหี่ยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการในสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง ดังเช่นในปี พ.ศ. 2385 เกิดจีนตั้วเหี่ยที่เมืองนครชัยศรีและเมืองสาครบุรี มีสมัครพรรคพวกประมาณ 1,000 คน เที่ยวตีชิงเรือลูกค้า และเมื่อปี พ.ศ. 2388 จีนตั้วเหี่ยบริเวณหัวเมืองตะวันตกรวมตัวกันเป็นโจรสลัดตีชิงเรือลูกค้าสัญจรระหว่างเมืองปราณบุรีถึงเมืองหลังสวนจนไม่มีเรือลำใดกล้าแล่นผ่านบริเวณนี้ ซึ่งต่อมาจีนตั้วเหี่ยทั้ง 2 กลุ่มนี้ ถูกทางการปราบปรามในที่สุด

ขณะเดียวกันปัญหาการค้าฝิ่นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บรรดาจีนตั้วเหี่ยเข้าไปพัวพัน เนื่องจากเป็นที่ต้องการของแรงงานชาวจีน ทางการได้ปราบปรามอย่างหนักดังที่ในปี พ.ศ. 2382 มีการยึดฝิ่นจากหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตกจำนวนกว่า 3,700 หาบ ก่อนส่งมาเผาทำลายที่หน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ อีกทั้งทางการได้ปราบปรามจีนตั้วเหี่ยที่ค้าฝิ่นด้วย เช่น การปราบปรามกลุ่มชาวจีนที่ปากน้ำบางปะกงเมื่อปี พ.ศ. 2387 และในปี พ.ศ. 2390 เกิดจีนตั้วเหี่ยที่เมืองสาครบุรี ในครั้งนั้นพระยามหาเทพ (ปาน) ซึ่งเป็นแม่ทัพถูกปืนถึงแก่อนิจกรรม ส่วนฝ่ายจีนตั้วเหี่ยถูกปราบอย่างราบคาบเสียชีวิตกว่า 300 คน


...วัดเขาดิน...

จลาจลจีนตั้วเหี่ยที่เมืองฉะเชิงเทรา

ความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดขึ้นโดยมีชาวจีนเป็นจักรกลสำคัญ แต่เวลาเดียวกันทางการต้องประสบปัญหาจากบรรดาจีนตั้วเหี่ยเกือบตลอดรัชกาล และหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญคือ การจลาจลของจีนตั้วเหี่ยที่เมืองฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ.2391 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้มากกว่าครั้งใด ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

ข้อมูลของเหตุการณ์นี้พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ระบุว่า อ้ายจีนเสียงทอง และ จีนบู๊ คบคิดกันตั้งตัวเป็นจีนตั้วเหี่ยเข้าปล้นเมืองฉะเชิงเทรา สังหารพระยาวิเศษฦาไชย เจ้าเมืองตายในที่รบ ก่อนที่จีนกลุ่มนี้จะถูกทางการปราบปรามในที่สุด โดยมิได้กล่าวถึงสาเหตุของเหตุการณ์ไว้ แต่จากวิทยานิพนธ์ของ ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล เรื่อง สมาคมลับอั้งยี่ในประเทศไทย พ.ศ. 2367-2453 อาศัยข้อมูลเอกสารจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ 3 ช่วยเติมเต็มลำดับเหตุการณ์จากพระราชพงศาวดารให้สมบูรณ์มากขึ้น

ซึ่ง "พลอยโพยม" ขอย่อความมาดังนี้

ชนวนเริ่มต้นจากความบาดหมางระหว่างจีนเสียงทองและแขวงจัน ในปี 2390
การที่ชาวจีนในเมืองไปดูงิ้วงานศพนายเที่ยงสามีอำแดงส้มจีน ซึ่งจีนเสียงทองเอาคณะงิ้วไปแสดงช่วยงาน ชาวจีนต้องผ่านบ้านแขวงจันเพื่อข้ามสะพานข้ามไปวัด ซึ่งมีไม้กระดานสะพานทอดข้าม ใช้ทอดและชักออกได้ บริวารแขวงจันไม่ให้ผ่านชักไม้กระดานออก พวกคนจีนแย่งเอาไม้มาทอดข้ามใหม่ เลยเกิดวิวาทกัน มีหลวงยกกระบัตรมาร่วมงานศพได้เข้าไกล่เกลี่ยจนเลิกรากันไป

บุตรแขวงจันไปฟ้องพระยาวิเศษฤาไชยเจ้าเมืองฉะเชิงเทรา กล่าวหาว่า จีนเสียงทองและพรรคพวก 60 คน วิวาททุบตีพวกแขวงจัน อีกทั้ง จีนเสียงทองและพวกเป็นพวกตั้วเหี่ย มีสมาชิกประมาณ 190 คน จึงเกิดคำสั่งจับจีนเสียงทองกับพวก 100 คน แต่จีนเสียงทองไม่อยู่มีหลานชายมาแทน การนี้มีคนจีนบางคนไม่ได้รู้เห็นการวิวาทเลย มีการข่มขู่เรียกเงินผู้ถูกจับคนละ 5-10 ตำลึง คนจีนที่เสียเงินให้ถูกปล่อยตัว คนไม่มีเงินถูกจำตรวน จีนเสียงทองต้องจ่ายเงินคดีนี้ 4 ชั่ง จึงยุติคดี

จีนเสียงทองและพวกโกรธแค้นจึงเกลี้ยกล่อมชาวจีนให้ต่อต้านขุนนางของเมือง ซึ่งสามารถชักชวนจีนทุกกลุ่มภาษาในเมืองฉะเชิงเทราทั้งจีนแต้จิ๋ว แคะ ฮกเกี้ยน และไหหลำ ได้ชาวจีนประมาณ 540 คน ต่อมาไปโจมตีโรงงานน้ำตาลของหลงจู๊ ฮี้ สังหารพี่ชายหลงจู็ฮี้ ชื่อจีนฮอ ซึ่งรับราชการตำแหน่ง ขุน ของเมือง เย็นวันเดียวกัน ได้นำกำลังจีน 1,200 คน เข้าตีเมืองฉะเชิงเทรา

พระยาวิเศษฦาไชยกับกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ติดราชการที่เมืองกระบินทร์ เหลือแต่กรมการผู้น้อยรักษาเมืองไว้แต่แพ้พวกจีนตั้วเหี่ยจึงหลบหนีทิ้งเมืองไป

เมื่อจีนตั้วเหี่ยเข้าเมืองได้แล้วก็จุดไฟเผาบ้านหลวงยกกระบัตร กรมการ และเผาบ้านเรือนราษฎรอีกหลายหลัง มีการจัดกองลาดตระเวนทั้งสี่มุมเมือง วันรุ่งขึ้นจีนเสียงทองได้เข้าเยี่ยมบรรดาลูกน้องของตนพร้อมกับให้จัดกองกำลังไปป้องกันเมืองด้านนอกบริเวณบ้านบางคล้าและบ้านสนามจันทน์ มีการนำปืนใหญ่จำนวน 35 กระบอก มาติดตั้งบนกำแพงเมืองอีกด้วย อีกทั้งยังส่งลูกน้องที่เหลือไปประจำการตามโรงหีบอ้อยต่าง ๆ นอกกำแพงเมือง ไม่เพียงเท่านั้น จีนเสียงทองคิดที่จะหาคนมาเพิ่มขึ้นอีก เพื่อไปตีเมืองชลบุรีหวังใช้เป็นทางหลบหนีออกท้องทะเล หากทางกรุงเทพฯ ส่งกองทัพมาปราบปราม

การบุกโจมตีเมืองครั้งนี้ราษฎรชาวไทยหลบหนีลี้ภัยไปอยู่ตามป่าเป็นอันมาก แต่มีราษฎรบางส่วนที่บ้านไทรมูลซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของเมืองฉะเชิงเทรา นำกำลังเข้าโจมตีจีนตั้วเหี่ย สามารถเผาโรงน้ำตาลของหลงจู๊ไตและหลงจู๊ตั้วเถา จนกระทั่งพวกจีนบริเวณนี้หลบหนีไปอยู่ในเมือง บางส่วนหลบหนีไปอยู่ทางตอนเหนือของเมือง

ที่กรุงเทพฯ มีคำสั่งให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ซึ่งขณะนั้นติดราชการที่เมืองสาครบุรีดำเนินการปราบปรามโดยเร็ว เจ้าพระยาพระคลังมีคำสั่งให้พระอินทรอาษา เจ้าเมืองพนัสนิคม นำไพร่พลล่วงหน้าไปก่อนและได้ปะทะกับฝ่ายของจีนเสียงทอง และสามารถขับไล่พวกจีนเหล่านี้ได้พร้อมกับเผาโรงงานน้ำตาลบางส่วนของพวกจีนตั้วเหี่ยไปด้วย แต่ทางทัพของพระอินทรอาษาก็ถูกจีนตั้วเหี่ยนำกำลังเข้าโจมตีจนต้องถอยหนีไปตั้งมั่นที่โคกพนมดีเมืองพนัสนิคม
ส่วนทางฝ่ายจีนเสียงทองได้เตรียมรับมือกองทัพของทางการด้วยการขุดสนามเพลาะในเขตเมืองฉะเชิงเทรามีความยาวประมาณ10 เส้น พร้อมทั้งตระเตรียมอาวุธเป็นอย่างดี

เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ยกทัพออกจากเมืองสาครบุรี มาถึงนอกเมืองฉะเชิงเทรา และเข้าปราบปรามจีนตั้วเหี่ยจนแตกพ่ายกระจัดกระจาย ทำให้จีนเสียงทองให้การซัดทอดความผิดไปที่จีนบู๊ว่าเป็นตัวการแต่ผู้เดียว จีนเสียงทองกับพรรคพวกได้จับกุมจีนบู๊ที่เมืองฉะเชิงเทรา แล้วนำมากักขังที่โรงน้ำตาลที่ตำบลบ้านใหม่

ต่อมา จีนเสียงทองได้ขอให้ท่านหญิงหุ่น ภรรยาพระศรีราชอากร กราบเรียนต่อเจ้าพระยาพระคลังว่า จะนำตัวจีนบู๊ตั้วเหี่ยใหญ่มาให้ลงโทษ ซึ่งจีนเสียงทองได้นำจีนบู๊มาส่งมอบให้ตามที่กล่าวไว้ เจ้าพระยาพระคลังสั่งให้จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) คุมตัวจีนบู๊ พร้อมกับจับกุมจีนตั้วเหี่ยระดับหัวหน้าคือ จีนเสียงทอง และหลงจู๊อีกหลายคนลงเรือเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ส่วนเจ้าพระยาพระคลังคงอยู่ในพื้นที่เพื่อปราบปรามจีนตั้วเหี่ยที่หลบซ่อนอยู่ต่อไป ในเวลาเดียวกันเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กลับจากราชการทางเมืองเขมรได้ผ่านมายังเมืองฉะเชิงเทราจึงช่วยเจ้าพระยาพระคลังปราบพวกจีนตั้วเหี่ย ส่วนพระยาวิเศษฦาไชยซึ่งไปราชการที่เมืองกระบินทร์ รู้เรื่องที่เกิดขึ้นก็รีบเดินทางมาช่วยปราบจลาจล และถูกพวกจีนตั้วเหี่ยสังหารระหว่างการสู้รบกันที่บางคล้า

ฝ่ายจีนตั้วเหี่ยเมื่อสูญเสียแกนนำแล้วก็พากันหลบหนีออกจากเมืองฉะเชิงเทรา กองทัพไทยได้เข้าโจมตีและสามารถจับกุมหัวหน้าระดับรองได้หลายคน ฝ่ายราษฎรชาวไทยที่หลบหนีอยู่ตามป่าได้ออกมาช่วยต่อสู้กับพวกจีนตั้วเหี่ยและสังหารพวกจีนเหล่านี้เป็นอันมาก รวมทั้งเจ้าเมืองที่อยู่ใกล้เคียงคือ เมืองพนัสนิคมและเมืองชลบุรี ได้เข้าช่วยปราบปรามระหว่างที่พวกจีนตั้วเหี่ยหลบหนี ประมาณกันว่ามีชาวจีนเสียชีวิตกว่า 3,000 คน

(ความเห็นส่วนตัว : เรื่องจีนตั้วเหี่ยนี้ มาจาก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=grizzlybear&month=12-09-2011&group=79&gblog=46 ซึ่งให้เครคิตว่ามาจาก http://www.matichon.co.th เป็นต้นแหล่งข้อมูล ซึ่งพลอยโพยมไม่ได้ ตรวจสอบซ้ำจากแหล่งข้อมูลอื่นใดทั้งสิ้น แต่มีข้อคิดจากเรื่องเล่านี้ คือ มูลเหตุจากน้ำผึ้งหยดเดียว ที่แผ่กระจายผลเป็นวงกว้าง เกิดความเสียหายใหญ่หลวง ทั้งชีวิตผู้คนทั้งผ่ายไทย (ฝ่ายบ้านเมืองและราษฎรทั่วไป) ผ่ายจีน (ทั้งเป็นกลุ่มจีนตั้วเหี่ย และชาวจีนธรรมดา) ทรัพย์สิน ความรู้สึก
นับเป็นความด่างพร้อยของเมืองธรรมะ ที่มีเลือดนองพื้นดิน ถิ่นร่มเย็นเป็นสุขมาช้านาน
จากเรื่องเล็กน้อย ที่ผู้เป็นใหญ่ละเลยมองข้าม เชื่อคำให้การฝ่ายเดียว ไม่ตรวจสอบ ไม่ให้ความยุติธรรม ไม่ไกล่เกลี่ยให้เกิดความปรองดอง ไม่สมานฉันท์ความขัดแย้ง ที่ร้ายแรงและสำคัญเข้าขั้นทำเรื่องทุจริต กินสินบน ส่งผลให้เกิดกลียุคในเมืองฉะเชิงเทรา ของเรา หากในวันนั้น ไม่มีขีดคั่น กั้นขวาง คำว่าพรรคพวก พวกจีน พวกไทย คนละพวกกัน แลัวหันหน้าหากัน คงไม่เกิดวันวิปโยค ที่เมืองแปดริ้วของเรา เรื่องเล่าเรื่องนี้ เพื่อให้ชาวแปดริ้ว จดจำไว้ ไม่ทำผิดซ้ำสอง อย่าแบ่งพรรคแบ่งพวก ซึ่งขณะนี้ถือว่าเป็นโรคระบาดร้ายแรงอย่างที่สุด ร้ายแรงกว่าโรคเอดส์ มะเร็ง ไข้หวัดนกหรืออื่น ๆ ยังไม่มีวัคซีนรักษาได้หากผู้คนไม่มีภูมิต้านทาน ภูมิต้านทานโรคระบาดนีั้ แค่เพียง รักกันไว้เถิด เราเกิดร่วมแดนไทยจะชนชาติไหนก็ไทยด้วยกัน )


...วัดเขาดิน...

ในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ถือเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง
เป็นยุคสมัยที่มีความรู้และวิทยาการใหม่ ๆ เกิดขึ้น เริ่มมีการใช้เครื่องจักรไอน้ำเป็นเครื่องเดินกำลังในโรงงาน และกิจการต่าง ๆ ทรงให้ต่อเรือกลไฟต่าง ๆ ใช้ในราชการ และการค้าวาณิชย์ ราชนาวีไทย ทั้งเรือและปืน ทรงเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลในอ่าวไทยด้วยเรือกลไฟพระที่นั่ง พรั่งพร้อมด้วยเรือปืนใหญ่น้อย เป็นขบวนพยุหยาตราหลายครั้ง

ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินลงเรือพระที่นั่งมณีเมขลาใช้จักร ประพาสตลาดที่สำมุข แล้วเสด็จกลับทางปากน้ำบางปะกง ทอดพระเนตรเขาดิน (วัดเขาดิน อำเภอบางปะกง) แล้วเสด็จขึ้นไปตามลำน้ำนี้ ถึงเมืองปราจีนบุรี แล้วเสด็จกลับพระนคร

ทรงทะนุบำรุงศาสนา เกิดธรรมยุกตินิกาย ได้เกิดมีพระสงฒ์มาดำเนินการสร้างวัดธรรมยุกตินิกาย ที่วัดเทพนิมิต ฉะเชิงเทรา

หลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับประเทศอังกฤษ ใน ปี.พ.ศ.2398 แล้ว ระบบเศษฐกิจไทย เริ่มเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจแบบพอเพียง เป็นเศรษฐกิจแบบการค้า

การค้าภายในเมืองฉะเชิงเทรามักจะอยู่ตามริมน้ำบางปะกง ตามจดหมายเหตุในรัชกาลนี้ว่า "เมืองฉะเชิงเทราเขตแดนกว้างขวาง จีนฮกเกี้ยน จีนแต้จิ๋ว จีนไหหลำ ตั้งโรงหีบเคี่ยวน้ำตาล และตั้งบ้านทำไร่อ้อย ทำสวน ทำนา ค้าขายสับสนปนกันอยู่หลายพวกหลายภาษา.."

มีชาวจีนที่เข้ามาอยู่ในฉะเชิงเทรา และได้ขยายตัวไปยังอำเภอต่าง ๆ


ที่ว่าการมณฑลปราจีน สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2446

ในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระราชดำริให้ประเทศไทยได้หันมาใช้นโยบาย “การเมือง” นำหน้า “การทหาร” และในขณะเดียวกันก็เร่งพัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัยทรงนำการปกครองระบบ “เทศาภิบาล” มาใช้โดยรวบรวมเมืองต่างๆ ขึ้นเป็น “มณฑล” โดยยึดเอาลำน้ำเป็นหลัก


ที่ว่าการมณฑลปราจีนปรับปรุงใหม่หลังถูกไฟไหม้

ฉะเชิงเทราก็ได้ร่วมมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าครั้งยิ่งใหญ่นี้ด้วย โดยถูกรวมเข้าเป็นหนึ่งในมณฑลปราจีนในปี พ.ศ. 2435 ร่วมกับเมืองปราจีนบุรี นครนายก พนมสารคาม มีลำน้ำบางปะกงเป็นลำน้ำสายหลักและมีการวางผังเมืองอย่างเป็นระบบระเบียบเป็นครั้งแรก และเมื่อมีการขยายอาณาเขตโดยรวมเอาเมืองพนัสนิคม เมืองชลบุรี และเมืองบางละมุงเพิ่มเข้าไปด้วยอีก ฉะเชิงเทราจึงกลายเป็นที่ว่าการมณฑลแห่งนี้ตั้งแต่นั้นมา “มณฑลปราจีน” ในครั้งนั้นคือสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติในยุคของการล่า อาณานิคมอย่างแท้จริง ฉะเชิงเทราซึ่งเป็นที่ว่าการมณฑล ก็ได้กลายเป็นต้นฉบับของการปกครองที่ก้าวหน้าและมั่นคง ให้มณฑลอื่นๆ ได้ถือเป็นแบบอย่าง


ปัจจุบันเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์



จวบจนย่างเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 เมื่อการปกครองระบบ “เทศาภิบาล” ยุติลงและเริ่มมีการใช้พระราชบัญญัติว่าด้วย “ระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2476” อำนาจปกครองจึงเริ่มกระจายสู่ส่วนภูมิภาค คำว่า “เมือง” ได้เปลี่ยนเป็น “จังหวัด” มี “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็นผู้ดูแลกิจการของเมือง มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศ ในปี พ.ศ. 2495


พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

ความเป็นมาของฉะเชิงเทราในความรู้สึกของพลอยโพยม ภาคภูมิใจความเป็นฉะเชิงเทรา จนอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบเอาเองว่า " ฉะเชิงเทรา” อัญมณีศรีลุ่มน้ำบางปะกง

ฉะเชิงเทรา ในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 3 รัชกาลนี้ เมืองฉะเชิงเทรา ยังมีคนดีศรีรัตนโกสินทร์ ท่านมิเพียงเป็นคนดีศรีแปดริ้ว เพราะนั่นดูจะน้อยด้อยค่าเกินไปสำหรับ ปูขนียอาจารย์อย่างท่าน ท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ปราชญ์สยามสามสมัยของพลอยโพยม นั้น คุณูปการของท่าน ครูแห่งแผ่นดินท่านนี้ ท่านควรค่า แก่การเป็น

" เพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎของพระกษัตราธิราชสยามสามสมัย "

โดยพิจารณามาจากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ ความว่า

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์พยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น


หมายเหตุ
ขออภัยที่ บทความค่อนข้างยาวเพราะยากที่จะเรียบเรียงที่จะให้ได้ใจความสั้นกระทัดรัด( เป็นความไม่สันทัดของผู้เขียนเอง) และคิดว่า การนำข้อความจากพงศาวดารมาอ้างอิง โดยตัดทอนเอาแต่ประโยคที่ต้องการสื่อ น่าจะทำความสับสนกับผู้อ่าน บทความจึงเยิ่นเย้อ แต่การคัดลอกต้นฉบับมาสื่อความ น่าจะให้ประโยชน์ แก่ผู่อ่านได้มากกว่า (โดยเฉพาะนักเรียนเมืองฉะเชิงเทรา) เข่น ได้รับทราบเรื่องราวที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในด้านอื่น ๆ ด้วย

ที่มาของข้อมูล
วิกิพีเดีย
http://www.bloggang.com
http://www.matichon.co.th
ฉะเชิงเทราในประวัติศาสตร์ ของ ผ.ศ.สุนทร คัยนันท์
บทบาททางเศรษฐกิจของชาวจีน ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ของ อังคณา แสงสว่าง
ที่มาของภาพ จากอินเทอร์เนท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น