วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

[บทความ] ฉะเชิงเทรา..เขาสร้างแต่เมื่อใด

ฉะเชิงเทรา..เขาสร้างแต่เมื่อใด



จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกและเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้อยู่ในเขตปริมณฑล (นอกจากชื่อจังหวัดจะแปลกประหลาด แล้วยังแตกต่างจากจังหวัด อื่น ๆ ที่อยู่ติดกรุงเทพมหานคร)

ข้อสันนิษฐานที่มาของชื่อ ก็ไม่แน่ชัด สำหรับข้อสันนิษฐานว่า เป็นชื่อภาษาขอม ก็พอจะมีรายละเอียดข้อมูลสนับสนุน แต่สำหรับข้อสันนิษฐานตามคำว่า ฉะเชิงเทรา อาจเพี้ยนมาจากคำว่า แสงเชรา แสงเซา อันเป็นชื่อเมืองที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช เสด็จไปตีได้ตามที่พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้นั้น




ได้ข้อมูลมาว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ 1 หรือขุนหลวงพะงั่ว กษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงครองราชย์ในปี พ.ศ. 1913-1938 ทรงเป็นกษัตริย์นักรบ ที่เก่งกาจหาญกล้าที่ยกทัพไปตีเมืองต่าง ๆ มากมาย แม้จะเป็นเมืองในราชอาณาจักรไทย กล่าวได้ว่า รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง สำหรับการสงครามกับต่างชนชาติ ก็คือ การสงครามไปตีนครธม เมืองพระนครของขอม

ก่อนที่จะขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ปฐมวงศ์สุพรรณภูมิ และมีกษัตริย์ สืบต่อราชวงศ์ อีก 12 พระองค์ รวมเป็น 13 พระองค์ ขุนหลวงพะงั่ว ขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาพระองค์ที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 1913-1931 นั้น ในปี พ.ศ. 1895 พระองค์ได้ทรงยกทัพไปยังเมืองนครธมแห่งกรุงกัมพูชาธิบดี เพื่อช่วยทัพของสมเด็จพระราเมศวรที่เข้าโจมตีกรุงกัมพูชาธิบดีก่อนหน้านั้น เนื่องจากการที่พระเจ้ากรุงกัมพูชาบดีแปรพักตร์ ดังนั้นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงมีพระราชโองการให้สมเด็จพระราเมศวรยกทัพไปปราบปราม แต่ทัพพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดีสามารถโจมตีทัพหน้าของกรุงศรีอยุธยาจนแตกพ่าย และเข้าปะทะกับทัพหลวง

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 จึงมีพระราชโองการให้เชิญขุนหลวงพะงั่วที่ประทับอยู่ ณ เมืองสุพรรณบุรี ขึ้นไปทำศึกช่วยสมเด็จพระราเมศวร การศึกดำเนินไปเป็นระยะเวลา 1 ปีโดยประมาณ จึงสามารถเอาชนะกรุงกัมพูชาธิบดีได้สำเร็จและได้กวาดต้อนครัวชาวกัมพูชาธิบดีเข้ามายังอยู่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก



เมื่อพระราเมศวร เสด็จขึ้นครองราชย์ ต่อจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ยังไม่ครบปี ขุนหลวงพะงั่วพระมาตุลาในพระองค์ทรงยกกองทัพมาจากเมืองสุพรรณบุรีประชิดกรุงศรีอยุธยา พระราเมศวรจึงถวายราชสมบัติให้พระมาตุลาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ใน ปี พ.ศ. 1913

ในปี พ.ศ. 1914 เนื่องจากทรงดำริจะขยายอาณาเขตของกรุงศรีอยุธยา จึงยกกองทัพไปยังเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งมีกรุงสุโขทัย เป็นเมืองหลวง ทรงตีเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่เมืองพระบาง (เมืองนครสวรรค์ ) เมืองนครพังค่า เมืองแซงเซรา เมืองชากังราว (เมืองกำแพงเพชร) เมืองสองแคว (พิษณุโลก ) อาณาจักรล้านนาไทย (นครเชียงใหม่ ) และเมืองนครลำปาง ทรงตีเมืองต่าง ๆ ได้สำเร็จ
(เมืองพระบาง เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญในการทำศึกสงคราม ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ภายหลังเรียกชื่อว่า เมืองชอนตะวัน และเปลี่ยนเป็น นครสวรรค์ ในที่สุด )



พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ให้ข้อสันนิษฐานว่า ฉะเชิงเทรา อาจจะเพี้ยนมาจาก คำว่า แซงเซา หรือแซงเซรา

หากแต่โดยส่วนตัวขอประเมินว่าฉะเชิงเทรา ไม่น่าจะอยู่ในเส้นทางขึ้นเหนือในปี พ.ศ. 1914 และเป็นเมืองที่อยู่เลยขึ้นไปจาก เมืองนครสวรรค์ก่อนถึงเมืองกำแพงเพชร

จากข้อสันนิษฐานของท่านผู้อื่นอีกว่า ฉะเชิงเทราเคยอยู่ในอำนาจการปกครองของขอมมาก่อนในสมัยอิทธิพลของอาณาจักรลพบุรี (ขอม) ชื่อของเมืองจึงเรียกว่าเมืองฉะเชิงเทรานั้น
เมื่อขุนหลวงพะงั่วยกทัพไปตี นครธม อาจเป็นไปได้ว่าโดยเส้นทางที่ผ่านปราจีนบุรีเพื่อไปสู่ เสียมราฐ และไปสู่นครธม ฉะเชิงเทราก็น่าจะหลุดพ้นการเป็นเมืองขึ้นของขอม อย่างช้าที่สุดในสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ 1 นี่เอง ซึ่งก็ยังไม่พบเอกสารใดที่กล่าวไว้ว่า ฉะเชิงเทราพ้นจากอำนาจของขอมเมื่อไร และเป็นเมืองขึ้นของขอมจริงหรือไม่เป็นเพียงการสันนิษฐานที่อ้างถึงสืบเนื่องกันมา ถึงคำว่า ฉะเชิงเทรา



ส่วนคำว่า "นครพังค่า " นั้น ได้พบข้อมูลที่เกี่ยวข้องว่า

(เมืองศรีสัชนาลัยนั้นเป็นเมืองของพระนางประทุมเทวี พระมเหสีของพระเจ้าพังคราช

เมืองสุโขทัยภายหลังขุนบางกลางหาวกับขุนผาเมือง จากราชวงศ์ชัยบุรีได้ร่วมกันต่อสู้อำนาจขอม ทำการตั้งอาณาจักรสุโขทัยได้ เมืองไตรตรึงษ์ เมืองแพรกศรีราชา (อยู่ใน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท) เมืองเพชรบุรี ครองโดยพระพนมทะเลศรีวรเชษฐา ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้าศิริชัย เมืองนครศรีธรรมราชครองโดยพระพนมวัง โอรสของพระพนมทะเลศรีบวรฯ ซึ่งแต่งงานกับ พระนางสะเดียง ธิดาจากเวียงพังคำ และเมืองสองพันบุรี โดยเฉพาะเมืองสองพันบุรีหรือเมืองสุพรรณภูมินั้น เมื่อกษัตริย์สวรรคตลงก็ขาดรัชทายาทสืบต่อ

พระยาสร้อยหล้าแห่งเวียงชัยนารายณ์ทราบเรื่องจึงจัดขบวนไพร่พลออกจากเมืองศรีสัชนาลัยมาเมืองดังกล่าวบรรดาขุนนางเมืองสองพันบุรีเห็นท่าทีมีบุญจึงเชิญขึ้นเป็นกษัตริย์ครองเมืองสองพันบุรี และเสด็จประทับที่เมืองอู่ทอง จึงเรียกนามว่าพระเจ้าอู่ทอง (สร้อยหล้า) ถือเป็นต้นราชวงศ์ชัยนารายณ์ และสถาปนาราชวงศ์กษัตริย์ขึ้นเป็น ราชวงศ์สุวรรณภูมิ แต่อีกความกล่าวว่าใน พ.ศ.1731 นั้น พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งชื่อพระเจ้าชัยศิริ ผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าพรหมได้ครองเมืองฝาง และแผ่อาณาจักร
ได้ดินแดนพายัพมาจนถึงเชลียง ต่อมารามัญได้ยกทัพมาตีเมืองฝาง พระเจ้าชัยศิริสู้ไม่ได้จึงอพยพหนีข้าศึกลงมาทางใต้ พบเมืองร้างชื่อเมืองแปบต่อมาจนทิวงคต และมีเชื้อสายมาครองเมืองต่อมาอีก 4 องค์ จนล่วงมาได้ประมาณ 160 ปี พระเจ้าอู่ทองจึงได้เกิดขึ้น)

ที่มา:http://mblog.manager.co.th/phakri/th-106890

จากคำว่าพระเจ้าพังคราช เวียงพังคำ ทำให้อ่านบทความอื่นๆ อีกหลายบทความและพบคำอื่นเพิ่มขึ้น อ่านไปอ่านมาก็สับสนเสียเองกับคำว่า"นครพางคำ" ที่อยู่ในกลุ่มเมืองชัยบุรี ชัยปราการ ชัยนาราณย์ พบคำว่าเมืองพวงคำ(ปัจจุบันเมืองนี้เป็นที่ตั้งตัวอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย)
คำว่า พังค่า พังคำ พางคำ พวงคำ คือเมืองหรือนครเดียวกันหรือไม่ท่านผู้สนใจต้องหาเอกสารค้นหากันต่อ

ส่วนคำว่าเมืองแปบนั้นมีที่กล่าวว่า
ในบริเวณที่ตั้งจังหวัดกำแพงเพชรปัจจุบันได้ค้นพบหลักฐานเมืองโบราณในลุ่มแม่น้ำปิง คือ เมืองแปบ เมืองเทพนคร เมืองไตรตรึงษ์ เมืองพาน เมืองนครชุม และเมืองชากังราว
บทความทั้งหมดนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งมีตำนานความเป็นมาหลายประเด็นถึงความเป็นมาของพระองค์

ไป ๆ มา ๆ อ่านประวัติศาสตร์ไทยปวดศรีษะกว่าอ่านประวัติศาสตร์จีน และประวัติศาสตร์เกาหลีเสียอีก เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวที่แปลมาจากภาษาอังกฤษบ้างภาษาจีนบ้างจึงมีคนแปลไม่มาก แต่เรื่องราวของเมืองไทยเองมีทั้งประวัติศาสตร์ พงศาวดาร (มีหลายพงศาวดาร) ตำนาน เรื่องเล่า ในเรื่องเดียวกันมากมายหลายเอกสาร

คำว่าเมืองพังค่า ทำให้ใช้เวลาหาข้อมูลไปมากมาย เนื่องจากไม่เคยได้ยินชื่อเมืองนี้มาก่อน ก็อยากรู้ อยากอ่าน พบข้อความที่เกี่ยวข้อง ก็อยากเล่าต่อ ทั้งที่ไม่เกี่ยวกับเมืองฉะเชิงเทรา แต่ก็ทำให้รู้สึกชัดเจนขึ้น กับคำว่า แซงเซา แซงเซรา

และ มีภาพแผนที่ ประกอบ วีดีโอ ของ You tube ประกอบเส้นทางเดินทัพในปี พ.ศ.1914 ดังกล่าว ในแผนที่มีชื่อฉะเชิงเทรา ด้วย แต่ไม่ทราบต้นเค้าที่มาของแผนที่นี้ ว่า เป็นแผนที่ประเทศไทย ในปี พ.ศ.ใด



และได้พบข้อมูลอีกว่า อันที่จริงตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) เมื่อทรงสถาปนากรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา ฯ ขึ้นแล้ว ในด้านการต่างประเทศ ทรงทำสงครามกับขอมโดยโปรดให้ยกทัพไปตี นครธม ราชธานีของขอม ในขณะเดียวกันก็ทรงแต่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีและการค้ากับจีน อินเดีย เปอร์เซีย ลังกา ชวา มลายูและญวน

และต่อมายุคสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) ก็ได้ส่งราชทูตไปเจริญพระราชไมตรีกับจักรพรรดิจีนหลายครั้ง มีการแลกเปลี่ยนเครื่องราชบรรณาการซึ่งกันและกัน ทางไทยได้ส่งช้าง เต่าหกขา หมีดำ ลิงเผือกและของพื้นเมืองอื่น ๆ ไปถวาย ทางจีนได้ส่งผ้าแพรดอกขาว ผ้าแพรสี ผ้าไหมสีเงินทอง และปฏิทินหลวงมาถวาย

ศรีอยุธยา และต้าหมิงของจีน จึงมีสัมพันธ์อันดีกันมาโดยตลอด และ สมเด็จพระนครอินทราธิราช เคยเสด็จไปที่ประเทศจีนด้วยพระองค์เอง ในขณะครองเมืองสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. 1920
ทำให้เจิ้งเหอ ได้ท่องทะเล มาแวะที่ ศรีอยุธยา ถึง สี่ครั้ง จากการเดินทางทางทะเล 7 ครั้ง
โดยเข้ามาศรีอยุธยาครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระรามราชาธิราช หรือ สมเด็จพระราม หรือ สมเด็จพระยาราม ซึ่งเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราเมศวร ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 5 ในปี พ.ศ. 1948

ครั้นเมื่อมาถึงรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงทรงตั้งพระทัยจะยกกองทัพไทยไปช่วยจักรพรรดิหว่านลี่ทำสงครามกับ ไทโค โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ แห่งประเทศญี่ปุ่น โดยฮิเดโยชิ ยกกองทัพผ่านเกาหลี ในรัชสมัยของกษัตริย์ซอนโจ แห่งราชวงศ์โซซอน ก่อนเพื่อจะยกทัพต่อไปราชวงศ์หมิงของจักรพรรดิหว่านลี่



เมืองฉะเชิงเทราปรากฏเป็นเรื่องราวครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) คือกฎหมายตราสามดวง ซึ่งทรงจัดเขตการปกครองประเภทหัวเมืองชั้นใน (จัตวา) ดังปรากฎอยู่ในพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมืองว่า"เมืองวิเศษฤาไชย เมืองฉะเชิงเทรา ขึ้นประแดงเสนาขวา ( กฎหมายตราสามดวงเล่ม 1 (2537) หน้า 316-325 และปรากฎชื่อเมืองฉะเชิงเทราในพระธรรมนูญว่า " เมืองฉะเชิงเทราอยู่ในความดูแลของพระยาจักรีสังกัดมหาดไทย" ฉะเชิงเทราอยู่ใกล้เมืองหลวงสามารถเดินทางติดต่อได้ในระยะอันสั้นและส่งข้าราชการไปปกครองโดยตรง
แสดงให้เห็นว่า ฉะเชิงเทรามีฐานะเป็นหัวเมืองชั้นใน (จัตวา) มีผู้รั้งเมือง ไม่มีอำนาจเด็ดขาดอย่างเจ้าเมือง อยู่ภายใต้การดูแลของพระยาจักรี สังกัดมหาดไทย
ข้อมูลจาก ปริญญานิพนธ์ ของ อังคณา แสงสว่าง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาวิชาประวัติศาสตร์

ส่วนเอกสารอ้างอิงตามหนังสือคุณกิจจา วัฒนสินธุ์

ฉะเชิงเทราเป็นเมืองในราชธานี ชั้นจัตวา เมื่อ ปี จอ พุทธศักราฃ 1998 ตรงกับจุลศักราช 816 ผู้รักษาเมืองเป็นออกพระวิเศษฤาชัย เมืองฉะเชิงเทรา นา 800 ขึ้นประแดงเสนาฎขวา
ที่มา ทำเนียบศักดินานายทหารหัวเมือง (ประชุมกฎหมายประจำศกเล่ม 1 หน้า277)

ข้อมูลที่มีอยู่ก็มิอาจบอกได้ว่า ฉะเชิงเทรา เป็นเมืองที่สร้างมาแต่ในสมัยใด แต่จากแผนที่แสดงอาณาจักรสุโขทัยยุคพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ไม่ปรากฎชื่อเมืองฉะเชิงเทรา และกรุงศรีอยุธยา มีแต่ เมืองอโยธยา ละโว้ และอื่น ๆ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น