วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

[บทความ] จะชนขาติไหน..ไหน. ก็ไทยด้วยกัน...

คนไทยเดียวกัน




นอกจากกลุ่มชาวจีนแล้ว เมืองฉะเชิงเทรา ยังมีกลุ่มชาวลาว ชาวมอญ ชาวเขมร ชาวมุสลิมหรือกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลาม ที่โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ซึ่งมีความแตกต่างจากกลุ่มชาวจีน ชาวจีนนั้นกล่าวได้ว่าโยกย้ายเข้ามาอยู่โดยสมัครใจคือยินยอมพร้อมใจ แล้วจึงได้พาตนเองญาติสนิทมิตรสหาย คนรู้จัก พามาอยู่ แต่ชนขาติอื่น โยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน มีทั้งยินยอมสมัครใจ และถูกใช้อำนาจขืนใจให้จำต้องมาอยู่ แยกตามเรื่องราวแต่ละชนชาติดังนี้


จำปาลาวหรือลั่นทมไทย

กลุ่มชาวลาว
ชาวลาวในเมืองฉะเชิงเทราส่วนใหญ่เป็นชาวพุงขาว ชาวลาวพวกนี้ไม่นิยมสักเลขยันต์บนร่างกายมีชื่อเรียกอีกอย่างว่าลาวพวนหรือลาวเวียงจันทน์ ส่วนลาวพุงดำนิยมสักเลขยันต์ตามร่างกาย
ชาวลาวเข้ามาอยู่ มีทั้งเข้ามาสวามิภักดิ์ขอเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลยศึก
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เคยโปรดเกล้าให้ยกทัพไปตีอาณาจักรล้านช้าง ได้เมืองจำปาศักดิ์และเมืองเวียงจันทน์เป็นของไทย เมื่อยกทัพกลับได้กวาดต้อนครอบครัวลาวเวียงจันทน์และลาวหัวเมืองฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง ในครั้งนั้นให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองฉะเชิงเทรา บริเวณเมืองพนมสารคามและสนามชัยเขต


ดอกจำปาลาวกับมวลดอกไม้ไทย
ลั่นทม นมแมว จำปี ประยงค์

ต่อมาในรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี
เมืองพวนและเมืองแถงเป็นขบถ เจ้านันทเสนเจ้าเมืองเวียงจันทน์ปปราบได้สำเร็จ ได้กวาดต้อนครอบครัวลาวเมืองพวน ส่งมาเป็นบรรณาการเมืองไทย ทรงโปรดให้ตั้งบ้านเรือนที่เมืองพนมสารคารคาม สนามชัยเขต และเพิ่มพื้นที่ เมืองราชสาส์น (ลาวเมืองพวนในยุคนั้นยังไม่รู้จัก ดาวใจ ไพรจิต ไม่อย่างนั้น คงร้องเพลง ทำไมถึงทำกับฉันได้..... กันทั้งเมืองพวน)


ข้าวหลาม

ในรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี
เกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์ เมื่อปราบเจ้าอนุวงศ์สำเร็จ ให้กวาดต้อนกำลังไพร่พลฝ่ายลาว ทั้งลาวเวียงจันทน์และลาวพวนมามากมายเพื่อมิให้ชาวลาวไปเป็นกำลังของฝ่ายญวน ให้ชาวลาวเหล่านี้ ตั้งบ้านเรือนที่บ้านท่าขวาน พนมสารคาม
และมีชาวลาวเข้ามาสวามิภักดิ์ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เช่นท้าวทุมหรือพระอินทรอาษา ได้คุมเลกสักมาในในช่วงกบฎเจ้าอนุวงศ์
(ชายที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี นับว่าเป็นชายฉกรรจ์ควรจะสักข้อมือประจําการรับราชการแผ่นดิน เรียกชายนี้ว่า เลกสมสัก)
เมื่อไทยปราบเจ้าอนุวงศ์เรียบร้อยแล้ว ท้าวทุมได้กวาดต้อนชาวลาวมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ทรงรับไว้และให้ไปตั้งบ้านเรือนที่อำเภอบ้านโพธิ์ มีเอกสารว่าส่วนใหญ่อยู่ที่บริเวณคลองลาว หรือชาวบ้านเรียกว่าตำบลวังตะเคียน คลองท่าไข่


ทำบุญข้าวหลาม


ชาวลาวเหล่านี้ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะปลูก ทำนา ทำไร่ หาของป่า เลี้ยงสัตว์เช่่น หมู โค และเป็นแรงงานรับจ้างทั่วไป รับจ้างขุดคลองบางขนากเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง
ชาวลาวมีความชำนาญในการดูแร่ หาแร่้ทองคำ ถลุงแร่เหล้ก
โบราณสถานของชาวลาว มีที่วัดเมืองกายที่ พนมสารคาม เป็นโบสถ์เก่าศิลปล้านช้าง ภายในโบสถ์เป็นจิตรกรรมฝาผนังฝีมือวาดแบบช่างลาว ชาวลาวมีประเพณีบุญข้าวหลาม สืบทอดมาจนทุกวันนี้
( หลวงพ่อพุทธโสธร ที่มีการพอกปูนหุ้มปิดบังองค์พระพุทธรูปองค์จริงเพื่อป้องกันการโจรกรรม กล่าวกันว่า องค์พระมีลักษณะแบบพระลาว คงเป็นช่างลาวเป็นผู้ปั้นนั่นเอง)


แห่ธงตะขาบวัดพิมพาวาส

กลุ่มชาวมอญ
ชาวมอญอพยพเข้ามาเมืองไทยเนื่องจากหนีการถูกพม่าเกณฑ์แรงงาน ซึ่งมีอยู่ตลอดเวลา บางครั้งพม่าก็ทำการปราบปรามชาวมอญ ชาวมอญส่วนใหญ่เป็นมอญอพยพมากกว่าถูกต้อนมาเป็นเชลย
ในรัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงโปรดให้มอญไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองนครเขื่อนขัณฑ์ เมืองปทุมธานี นนทบุรี บริเวณอื่น ๆ เช่นที่เมืองฉะเชิงเทราให้อยู่ที่บริเวณปากน้ำบางปะกง เป็นหลักแหล่งชุมชนรอบ ๆ วัดพิมพาวาส อำเภอบางปะกง โดยอยู่รวมเป็นหมู่เป็นพวกของตน มีประเพณีที่สืบทอดคือ ประเพณีแห่ธงตะขาบ ประเพณีตักบาตรน้ำผื้ง ที่วัดพิมพาวาส อำเภอบางปะกง

ส่วนที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว มีประเพณีทำบุญสงกรานต์ที่ชาวมอญเรียกว่า กะต๊ะห์ ก่อนหน้าวันสงกรานต์ชาวมอญจะกวนขนม กวาญจ์ทะกอ หรือ ที่เราเรียกว่า กะละแม ทำขนมจีน ทำข้าวสงกรานต์ ที่บางคนเรียกว่า ข้าวแช่มอญ ชาวไทยเชื้อสายมอญมีพิธีสรงน้ำพระที่วัดรามัญ สาดน้ำเล่นกัน ขอพรผู้ใหญ่ ขนทรายเข้าวัดของผู้ใหญ่ ส่วนหนุ่มสาวและเด็กเอาดินมาถมตามที่ลุ่มต่าง ๆ

อาชีพของชาวมอญ คือทำเกษตรกรรม ตัดไม้ หาของป่า ทำอิฐ รับราชการ ชาวมอญมีความถนัดในการทำอิฐ เมื่อคราวสร้างกำแพงเมืองฉะเชิงเทรา ในรัชกาลที่ 3 อิฐที่ใช้ก่อกำแพงล้วนเป็นฝีมือชาวมอญเหล่านี้


นครวัดในปัจจุบัน

กลุ่มชาวเขมร
ชาวเขมรในเมืองฉะเชิงเทรา มีทั้งมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารและถูกกวาดต้อนมา จะพบชาวเขมรมากที่ตำบลหัวสำโรง ตำบลสระสองตอน อำเภอแปลงยาว ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น กลุ่มชาวเขมรบางส่วนเป็นชาวเขมรดั้งเดิมที่อยู่มานานแล้ว
ส่วนเขมรอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารคราวที่ไทยทำสงครามอานามสยามยุทธกับญวนในเขมร ชาวเขมรเหล่านี้ปะปนกับคนไทย ผสมผสานคนไทยด้วยการแต่งงาน จึงกลายเป็นคนไทยไปเป็นส่วนมาก
เมืองพนมสารคาม มีชาวเขมรอพยพอยู่มากเพราะเป็นชายแดนติดต่อกับเขมร จึงมีเขมรที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่จำนวนหนึ่ง ชาวเขมรถูกควบคุมโดยให้สังกัด กรม กอง ตามระบบไพร่มีมูลนายควบคุม มีหน้าที่ทำงานให้บ้านเมือง เช่นเป็นเลกคงเมือง อยู่เวรประจำ ทำงานโยธา อีกส่วนหนึ่งเป็นเลกส่วย ส่งส่วยให้หลวง เช่นส่วยทองคำ

มีวัฒนธรรมสืบทอดที่ตำบลหัวสำโรงอำเภอแปลงยาว มีการละเล่นพื้นบ้าน เช่นการเล่นช่วงรำในเทศกาลสงกรานต์ พิธีเลีัยงผี โดยเชิญผีปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษที่ล่วงลับ หรือผีอื่น ๆ ที่คุ้นเคย มารับเครื่องเซ่นไหว้พิธีนี้เพื่อรักษาคนป่วย มีพิธีเสี่ยงทายหาคู่ หรือการแต่งงานของหนุ่มสาว


นครธม


โตนเลสาบของเขมร

ขอคัดพระราชนิพนธ์อธิบายในประชุมพระราชนิพนธ์ภาคปกิณกะ ภาค 1 ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า

"แต่เดิมนั้นแผ่นดินเขมรมี 4 ส่วน ส่วนที่อยู่ในเขตประเทศไทยในระยะนั้นเป็นส่วนที่เรียกว่าขอมแปรพักตร์ หรือที่เรียกว่าเขมรไทย คือ เขตตั้งแต่ฝั่งแม่น้ำบางปะกง ด้านตะวันออกไปจดฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ * (ของเขมรปัจจุบัน) จะเห็นได้จากชื่อบ้านเมืองแถบนี่้เป็นชื่อไทยบ้าง เขมรบ้าง เป็น 2 ชื่อทั้งไทยและเขมร อย่างเมืองฉะเชิงเทราเป็นชื่อเขมร ไทยเรียกว่าแปดริ้ว..คนที่อยู่ในเมืองนี้ก็เป็นไทยบ้าง เขมรบ้าง ปะปนกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ โดยที่เดิมได้ตั้งอาณาเขตที่มีเมืองนครหลวง**เป็นเมืองหลวง (ใกล้กับเมืองเสียมราฐ ) และครอบครองดินแดนแถบนี้ เมื่อใดที่ไทยมีกำลังอำนาจก็จะเข้าครอบครองจนถึงเมืองนครนายก เมืองประจิม (ปราจีนบุรี) เมืองฉะเชิงเทรา ด้วยเหตุนี้ทำให้คนไทยและเขมรปะปนกันเรื่อยมา จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คือในปี พ.ศ. 2325 มาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยก็ได้ตั้งบ้านเรือนขึ้นใหม่หลายเมือง เช่น มงคลบุรี ศรีโสภณ ปัตบอง (พระตะบอง) เสียมราฐ....)

(แก้ไขเพิ่มเติม)
* ทะเลสาบ คงหมายถึง โตนเลสาบของเขมร เป็นทะเลสาบน้ำจืด ที่กว้างใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุม 5 จังหวัดของกัมพูชา ได้แก่ กำปงธม กำปงชนัง โพธิสัตว์ พระตะบอง และเสียมราฐ
** เมืองนครหลวง (คือเเสียมเรียบในปัจจุบัน) มีนครธมเป็นราชธานี เป็นเมืองหลวงที่ย้ายมาจากเมืองพระนคร ( ซึ่งมีปราสาทนครวัด ซึ่งอยู่ในเมืองเสียมเรียบเช่นกัน) สถาปนาโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อยู่ทางทิศเหนือของนครวัด
เมืองเสียมราฐ เป็นชื่อไทย ส่วนชื่อเขมรคือ เสียบเรียบ


มัศยิดที่คลอง 18 บางน้ำเปรี้ยว

ชาวมุสลิมหรือกลุ่มผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม
ชนกลุ่มนี้จะตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยวมากที่สุด รองลงมาคือที่อำเภอบ้านโพธิ์ โดยมีเชื้อสายหรือบรรพบุรุษมาจากแหลมมลายู
ในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรกรี ทรงยกทัพไปตีเมืองปัตตานี แล้วกวาดผู้คนที่เป็นชาวมุสลิมขึ้นมาที่เมืองหลวงเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการรบกับพม่าและเอามาทำนาเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศ ชาวมุสลิมดังกล่าวกระจายอยู่รอบ ๆ กรุงเทพฯ เช่นมหานาค พระโขนง คลองตัน มินบุรี หนองจอก พระประแดงและจังหวัดใกล้เคียง คือนครนายก ฉะเชิงเทรา อยุธยา นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี อ่างทอง เพชรบุรี ปทุมธานี ฯลฯ

ในรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้ขุดคลองแสนแสบ เพื่อเป็นเส้นทางเศรษฐกิจ และการทำสงครามกับเขมร ทรงโปรดให้ชาวมุสลิมที่นำมาจากปัตตานีและไทรบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 1 มาขุดคลองแสนแสบ และให้ทำมาหากินตลอดแนวคลองแสนแสบ คลองบางขนาก

ในรัชกาล ที่ 5 ชาวมุสลิมได้อพยพออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ที่คลอง 22 อำเภอองค์รักษ์ จังหวัดนครนายก และคลองต่าง ๆ ในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว บางส่วนที่ตำบลเกาะไร่ อำเภอบ้านโพธิ์ ตำบลเปร็ง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา

นอกจากนี้ยังมีแขกจาม อาศัยในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ตำบลเปร็งอำเภอเมือง ตำบลเกาะไร่อำเภอบ้านโพธิ์ คนกลุ่มนี้ถูกกวาดต้อน มาจากเขมร
คนกลุ่มนี้มีอาชีพทำนาและหาปลา
ชาวมุสลิมเหล่านี้ถือขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมโดยเคร่งครัด ตามหลักปฎิบัติของศาสนาอิสลาม จึงมีมัศยิดหลายแห่งที่ฉะเฃิงเทรา

ข้อมูล จากปริญญานิพนธ์ คุณอังคณา แสงสว่าง


บรรยากาศเผาข้าวหลามในลานสวน

หมายเหตุ จากบทความที่แล้ว มีพาดพิงถึงคลองสำโรง ซึ่งเป็นคลองเชื่อม แม่น้ำเจ้าพระยาในอำเภอเมืองจังหวัดสมุทรปราการ กับ ลำน้ำบางปะกงในเขตอำเภอบางปะกงจังหวัดฉะเชิงเทรา
ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐาธิราช) กษัตริย์ศรีอยุธยาองค์ที่ 10 (ราชวงศ์วงศ์สุพรรณภูมิ) พระองค์ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2034-2072
มีหลักฐานจากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1 ทรงโปรดให้ขุดคลองสำโรง ซึ่งเป็นคลองที่อยู่ในตำบลศรีษะจรเข้ กับคลองทับนา ที่ขุดออกไปยังปากแม่น้ำบางปะกงซึ่งได้ตื้นเขิน จึงทรงให้ขุดลอกคลองดังกล่าว ใน พ.ศ.2041 เพื่อให้เรือใหญ่สัญจรไปมาได้สะดวก

2 บทความ ติดกันนี้ in trend กับสภาวะขณะนี้มากทีเดียว จากเส้นทางสายไหมของจีน กลายมาเป็นเส้นทางน้ำไหลในเมืองไทย พาดพิงถึงคลองที่ทั้ง ก.ท.ม. และกรมชลประทาน ใช้เป็นเส้นทางผันน้ำที่ท่วมอยู่ทางฝั่งตะวันออกลงสู่ทะเล


ลักษณะการวางกระบอกข้าวหลามที่เคยเผาในลานสวน

บุญข้าวหลามของชาวลาว
ในสมัยเด็ก ๆ ที่บ้านพลอยโพยม มีการเผาข้ามหลามกันหลายครั้ง นับเป็นความสนุกสนานของเด็ก ๆ ที่น่าจดจำ เราจะเผาข้าวหลามเวลาที่มีญาติผู้ใหญ่ที่แยกย้ายไปอยู่ตำบลอื่น มาร่วมกวนกระยาสารทซึ่งทำเป็นประจำทุกปีในเทศกาลสารท และอยู่ค้างคืนหลายวัน บางปีก็มีการเผาข้าวหลามเป็นรายการพิเศษ (ไม่ได้ทำทุกปี ) เพราะเป็นช่วงที่มีคนมากกว่าปกติ เด็ก ๆ ในบ้าน ทุกคนชอบกินขนมหวานที่มาจากข้าวเหนียว เพราะเป็นของที่มีติดประจำบ้านนึกจะทำขนมอะไรก็ทำได้เลยทันที ของที่ต้องซื้อหามีเพียงน้ำตาลทรายเท่านั้น เคยถามผู้ใหญ่ว่าทำไมบ้านเราทำข้าวหลามเป็น ท่านบอกว่าทำกันมานานแล้วสอนกันต่อ ๆ มาเป็นของทำง่าย ๆ

เมื่อตั้งใจจะทำข้าวหลาม ก็ไปตัดไม้ไผ่เป็นลำ ๆ จากกอไผ่ ต้องเลือกขนาดให้พอเหมาะ (หมายถึงขนาดช่วงแต่ละปล้องของลำไผ่ ) นำมาเลื่อยเป็นท่อนกระบอกข้าวหลาม ปากกระบอกเปิด ก้นกระบอกตันและต้องเหลือพื้นที่ให้วางกระบอกนี้วางพิงท่อนเหล็กในรางเผา(ซึ่งได้จากการขุดดิน) การเลื่อยปล้องไม้ไผ่ เลื่อยให้ได้ขนาดเท่ากันหรือใกล้เคียง แล้วขุดดินในลานสวนเป็นรางที่เผาข้าวหลาม เป็นแถวสี่เหลี่ยมยาว ลึกสักคืบเศษกว้างพอที่จะวางกระบอกไม้ไผ่ในลักษณะเอียง ได้ 2 ด้านชนกัน) ตั้งท่อนเหล็กสำหรับพิงปลายกระบอกข้าวหลาม ตามแนวยาวของรางดินให้อยู่ตรงกลาง เตรียมฟืนสำหรับเผาข้ามหลาม ส่วนใหญ่ใช้เป็นลูกมะพร้าวแห้งที่ร่วงหล่นลงมาจากต้น ซึ่่งปกติชาวสวนจะผ่าตากแดดจนแห้งดี ไว้ใช้แทนท่อนฟืนอยู่แล้ว เมื่อรู้ว่าจะเผาข้าวหลามก็ต้องเตรียมฟืนลูกมะพร้าวผ่าตากแห้งไว้มาก ๆ

ตัดใบตอง ฉีกกาบมะพร้าวออกจากเปลือกมะพร้าวให้แผ่เส้นใยออกแบน ๆ ใช้ใบตองหุ้มกาบมะพร้าว พับปลายใบตองเข้าหากัน ได้เป็นจุกสำหรับปิดปากกระบอกข้าวหลาม เตรียมแช่ข้าวเหนียวไว้ก่อนวันเผาข้าวหลาม 1 คืน เตรียมน้ำกะทิปรุงรสเค็มหวานมันตามใจชอบในวันเผาข้าวหลาม


ขูดมะพร้าวเพื่อคั้นเป็นกะทิทำช้าวหลาม

เด็ก ๆ จะแบ่งหน้าที่กันปฏิบัติงานเข่น กรอกข้าวเหนียวใส่กระบอกไม้ไผ่ ไม่กรอกจนเต็มต้องเหลือพื้นที่สำหรับใส่น้ำกะทิและปิดจุกได้ ตักน้ำกะทิเทใส่กระบอกให้ท่วมล้นเกินข้าวเหนียวเผื่อข้าวสุกขยายเมล็ดข้าว ปิดจุก นำไปเรียงในรางดินที่เตรียมไว้ เป็นสองแถวให้ปลายบนกระบอกข้าวหลามชนกัน ที่รางท่อนเหล็กซึ่งอยู่กี่งกลาง ปลายก้นกระบอกอยู่ชิดขอบรางเผาแต่ละด้าน (คือติดดิน) ตรงกลางระหว่างช่องว่างของกระบอกข้าวหลาม คือที่ใส่ฟืนลูกมะพร้าว จุดไฟเผาลูกมะพร้าว คอยพลิกด้านของกระบอกข้าวหลามให้รับความร้อนจากฟืนไม่ให้ร้อนเกินไปจนข้าวหลามไหม้ คอยเติมฟืนให้ไฟลุกสม่ำเสมอและคอยเกลี่ยฟืน ประมาณว่าน่าจะสุกดีแล้วเปิดจุกชิม ถ้าข้าวหลามสุกดีก็ยกกระบอกข้าวหลามออกมา และวางกระบอกใหม่ลงไปแทนที่ ฟืนลูกมะพร้าวมักเกิดควันไฟในช่วงที่ไฟยังลุกติดไม่ดี จนกว่าจะกลายเป็นถ่านลูกมะพร้าวก้อนสีแดงควันไฟจึงจะหมดไป ดังนั้นการเผาข้าวหลามนี้ควันไฟจะโขมงลอยคลุ้งไปทั่วบริเวณ เรียกว่าแสบหูแสบตากันเลยทีเดียว จึงได้นิยมเผาข้าวหลามในลานของสวน เพราะพื้นที่กว้างและเชิ้อเพลิงคือลูกมะพร้าวแห้งผ่าก็ต้องใช้จำนวนมาก กองอยู่บริเวณใกล้ ๆ รางเผาได้

บรรดาเด็ก ๆ ก็จะจับจองงานที่ตนเองถนัดและชอบ แต่พอหายสนุกก็ชักอู้งานต้องให้ผู้ใหญ่สั่งการกระตุ้น ยิ่งเมื่อได้ชิมข้าวหลามกระบอกที่สุกมาแล้ว พออิ่มหมีพีมันก็ชักทำงานอืดอาดไม่แคล่วคล่องว่องไวเหมือนแรก ๆ ข้าวหลามนี้จะว่างานง่ายก็ได้ แต่ต้องคนมาก เพราะปริมาณที่ทำ เมื่อนาน ๆ ทำสักครั้งก็ต้องทำให้มากเป็นเข่งสำหรับแจกเพื่อนบ้านญาติพี่น้อง ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาวบางกรูด มักเผื่อแผ่ของที่ทำยากหรือนาน ๆ ทำครั้ง เช่นบางบ้านมีฝีมือ แช่อิ่มรากสามสิบ เมื่อทำแล้ว ก็จะนำมาแจกกัน ข้าวหมาก ไส้กรอกปลาแนม หมี่กรอบเป็นต้น

ข้าวหลามนี้จะไม่ใส่กะทิที่มันมากและรสจัดอย่างข้าวหลามหนองมน เด็ก ๆ ชอบที่จะกินข้าวหลามจิ้มน้ำตาลทราย บางทีถ้ามีนมข้นหวานกระป๋อง ก็จิ้มนมข้นด้วย เคยเห็นภาพสมัยใหม่ ทำข้าวหลามใส่วัสดุอื่นหลากหลาย แต่โดยส่วนตัวคิดว่า ลำปล้องไม้ไผ่มีคุณลักษณะพิเศษ คือเนิ้อไม้ไผ่จากเปลือกเขียว ๆ ถึงข้างในที่กลวง มีความหนาพอสมควรทำให้ข้าวเหนียวในกระบอกร้อนแบบที่เรียกว่าระอุ มีกลิ่นหอม และเยื่อของไม้ไผ่ที่หุ้มข้าวเหนียว เวลาสุกเป็นข้าวหลามเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง เมื่อปอกเปลือกไม้ไผ่ออกจนเหลือบาง ๆ แล้ว สามารถฉีกออกเป็นริ้ว ๆ เยื่อไผ่จะหุ้มก้อนเนื้อข้าวหลาม เด็ดกินเป็นท่อน ๆ ถ้ากินไม่หมดกระบอก ก็รวบเปลือกที่ฉีกเป็นริ้ว ๆ นั้น เอาหนังยางรัดปากกระบอก เก็บไว้กินทีหลังได้ เราไม่นิยมทุบข้อไม้ไผ่ให้แบะออกอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

สาเหตุที่มีการเผาข้าวหลามซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ชาวบางกรูดนิยมกัน และไม่ได้มีงานบุญข้าวหลามในท้องถิ่น อาจจะสืบเนื่องมาจากมีบรรพบุรุษ (ย่าชวด) เป็นผู้หญิงลาวเวียงจันทน์ที่ถูกต้อนมาครั้งกบฎเจ้าอนุวงศ์ แล้วได้แต่งงานกับเชื้อสายคนจีนที่บางกรูด ท่านลำบากมากเพราะมาแบบถูกต้อน จากเวียงจันทน์ดั้นด้นเดินมาเมืองฉะเซิงเทรามาเพราะถูกบังคับ ท่านมีทองติดตัวมาบางชิ้นต้องซ่อนไว้ในมวยผม ท่านคงเคยเก็บต้นไม้ร่วมต้นตักบาตรร่วมขันกันมา อยู่ห่างกันคนละแผ่นดินคนละเชื้อชาติ ก็มาเป็นเนื้อคู่กันได้ ท่านน่าจะลำบากกว่าย่าลอยของเพื่อน ย่าลอยสมัครใจมาไม่ได้ถูกบังคับ
แม้จะมีเชื้อสายลาว แต่ไม่มีคนรุ่นไหน ทำปลาร้า หรือกินปลาร้ากันเลย มีแค่วัฒนธรรมชอบกินข้าวเหนียวโดยเฉพาะที่เป็นขนมหวานกันมาหลายรุ่น และไม่หลงเหลือความเป็นชาวลาวอะไรในคนรุ่นถัดมา คงถูกธรรมเนียมจีนกลืนไปหมดตามแบบสะใภ้คนจีน ปนไทย (ซึ่งท่านอยู่สุขสบายแบบสะใภ้ไทยมีคนให้ใช้สอย เหลือเพียงธรรมเนียมจีนบางอย่าง) แล้วต่อมา เราก็เป็นไทยเต็มตัวทั้งจิตวิญญาณ ในปัจจุบัน


ตักบาตรน้ำผึ้งวัดพิมพาวาส

การตักบาตรน้ำผึ้ง ของชาวมอญเป็นประเพณีการถวายน้ำผึ้งแก่ภิกษุและสามเณรของชาวรามัญที่วัดพิมพาวาส อำเภอบางปะกง สืบเนื่องมาจากความเชื่อว่าในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าเสด็จประทับที่ป่าเลไลย์ มีช้างและลิงคอยอุปัฏฐากโดยการนำเอาอ้อยและน้ำผึ้งคอยถวายต่อมาจึงทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุสามเณรรับน้ำผึ้งและน้ำอ้อยมาบริโภคเป็นยาได้

ในบทความเรื่องวัดโสธร ที่กล่าวว่าเมื่อชาวมอญไปอยู่ที่ใดมักจะสร้างวัดด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาและนิยมสร้างเสาหงส์ นอกจากความเชื่อว่าหงส์เป็นสัตว์มงคลแล้ว ยังเพราะระลึกถึงเมืองหงสาวดีด้วย
ได้อ่านพบมาว่า เมื่อพม่าชนะศึกกรุงศรีอยุธยา พม่าก็สร้างเสาหงส์ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อประกาศชัยชนะของพม่า ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศเป็นอิสระแล้ว ทรงให้รื้อเสาหงส์เหล่านั้นทิ้งหมด ยกเว้น วัดที่ชาวมอญเป็นผู้สร้างที่มีเสาหงส์ก็ทรงให้คงเอาไว้ได้

มาวันนี้ทั้งชาวจีน ชาวลาว ชาวมอญ ชาวเขมร ชาวมุสลิม เมื่อมาอยู่เมืองไทยใหญ่อุดม ดินดีสมเป็นนาสวน เพิ่อนรักเราชักชวน พวกเราล้วนคือคนไทย...ไทยเดียวกัน

ขอขอบคุณที่มาของภาพ จากอินเทอร์เนท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น