วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

[บทความ] เส้นทางสายไหม..สายใยอารยธรรม

เส้นทางสายไหม สายใยอารยธรรม

จักรพรรดิฮั่นเกาจู

ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช –ค.ศ 23 ฮั่นตะวันออก ถึง ค.ศ. 220)
ราชวงศ์ฮั่นสถาปนาโดยหลิวปังหรือจักรพรรดิฮั่นเกาจู่ ซึ่งถือเป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่องค์ที่ 2 ของชนชาติจีนที่สามารถรวมประเทศจีนเป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่ง ราชวงศ์ฮั่นแบ่งเป็น 2 ช่วง ราชวงศ์ฮั่นตอนต้นมีเมืองหลวงตั้งอยู่ที่นครฉางอันจึงได้รับการขนานนามว่าฮั่นตะวันตก เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นตอนปลายได้ย้ายเมืองหลวงมายังนครลั่วหยังเรียกว่าฮั่นตะวันออก

หลิวปังผู้ก่อตั้งราชวงศ์ฮั่นนั้น เดิมเป็นเพียงชนชั้นขุนนางผู้น้อย เมื่อฉินสื่อหวงตี้หรือจิ๋นซีฮ่องเต้ในราชวงศ์ฉินสิ้นพระชนม์ลง อำนาจของราชวงศ์ฉินเริ่มคลอนแคลน มีการลุกฮือขึ้นก่อการจากกบฏชาวนาและบรรดาเชื้อสายเจ้าผู้ครองแคว้นเดิม มีการตั้งตัวเป็นใหญ่ในทุกหัวระแหง หลิวปังก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังทหารได้เข้าตีนครเสียนหยางซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองซีอานในปัจจุบัน ยุคสมัยของราชวงศ์ฉินล่มสลาย หลิวปังมอบนครเสียนหยางให้กับ เซี่ยงอี่ว์หรือฌ้อปาอ๋องแห่งแคว้นฉู่และมีขุมกำลังเข้มแข็งที่สุดในขณะนั้น หลิวปังจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นฮั่นจงอ๋อง ต่อมาภายหลังได้ชิงบัลลังก์กับเซี่ยงอี่ว์ เกิดเป็นสงครามฉู่ฮั่น กินเวลานาน 4 ปี
ในปี 202 ก่อนคริสต์ศักราช หลิวปังได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์จักรพรรดิ์ สถาปนาเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิฮั่นเกาจู ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่น



จนมาถึงรัชสมัยอู่ตี้ ซึ่งมีระยะเวลาครองราชย์ 54 ปี ถือเป็นกษัตริย์ชาวฮั่นที่ครองบัลลังก์ยาวนานที่สุดของจีน เป็นยุคทองของฮั่นตะวันตก เศรษฐกิจรุ่งเรือง ทรัพย์สินในท้องพระคลังมากมาย ในรัชสมัยอู่ตี้ มีการกำหนดเหรียญกษาปณ์ขึ้นใช้ภายในประเทศ มีข้อห้ามในการหลอมสร้างเหรียญกษาปณ์เป็นส่วนตัว ธุรกิจหลอมเหล็กกลายเป็นกิจการของรัฐ มีการตรากฎหมายการขนส่งลำเลียง วางข้อกฎหมายระเบียบใบอนุญาตต่าง ๆ ทำให้รายได้ท้องพระคลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ ฮั่นอู่ตี้จึงหันไปสนใจนโยบายต่อต่างแดน เช่น ชนเผ่าซงหนูที่คอยรบกวนอยู่ทางชายแดนภาคเหนือมาเป็นเวลานาน ฮั่นอู่ตี้ ได้ยกทัพออกปราบถึง 3 ครั้ง ขับไล่ชนเผ่าซงหนูให้ถอยร่นกลับเข้าไปยังดินแดนทะเลทรายทางตอนเหนือ นำสันติสุขมายังดินแดนชายขอบตะวันตกของจีน

พระองค์ได้รับการถวายพระนามยกย่องสดุดีพระเกียรติให้เป็น "กษัตริย์หวู่ตี้" ซึ่งแปลว่า "กษัตริย์นักรบ" (ฮั่นบู๊เต้ ในภาษาแต้จิ๋ว)
อีกทั้งยังบุกเบิกพื้นที่ทำไร่นาในแถบดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือ ซ่อมแซมกำแพงเมืองจีน จัดตั้งระบบไฟสัญญาณแจ้งเหตุตามชายแดน

ทรงเป็นนักการทูตที่มีสายพระเนตรยาวไกล ทรงแต่งตั้งจางเชียนเป็นทูตสองครั้งให้ออกเดินทางไปทางเขตตะวันตก ซึ่งก็คือพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลทางตะวันตกของมณฑลกานสู และเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูรย์ในปัจจุบัน เป็นการเริ่มต้นเปิด "เส้นทางสายไหม" ที่เชื่อมจีนกับเอเชียกลางและโลกตะวันตก จากนั้น ผ้าไหม วิธีการทำกระดาษ และศิลปะต่าง ๆ ของจีนก็ได้แพร่เข้าสู่ดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลกโดยผ่านเส้นทางสายไหม ส่วนเครื่องหอมและผลิตภัณฑ์ศิลปะหัตถกรรมต่างๆ ของนานาประเทศก็ได้แพร่เข้าสู่จีนโดยผ่านเส้นทางสายไหมเช่นกัน กล่าวได้ว่า พระเจ้าฮั่นหวู่ตี้ ได้ปูพื้นฐานให้แก่การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับโลกตะวันตก

"ฉางอัน" ราชธานีของราชวงศ์ฮั่นเคยเป็นศูนย์กลางการเมืองและเศรษฐกิจของทวีปเอเชียในสมัยนั้น ส่วนเส้นทางสายไหมก็เป็นเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมจีนกับตะวันตกอยู่หลายร้อยปีจนเส้นทางคมนาคมทางทะเลได้เกิดบทบาทขึ้นมาแทนในช่วงศตวรรษที่ 8

ใน ค.ศ.23 ราชวงศ์ฮั่นตะวันตกก็ถึงกาลล่มสลาย ราชวงศ์ฮั่นตะวันตกถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความเจริญรุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ชนชาติจีน และเกิดฮั่นตะวันออกขึ้นและฮั่นตะวันออกก็ล่มสลายลงใน ค.ศ. 220 เกิดการแย่งชิงความเป็นใหญ่ในยุคสามก๊ก


จางเซียน

จางเชียนเกิดในมณฑลส่านซี เป็นคนซื่อสัตย์ ไว้ใจได้ และเป็นคนที่มีจิตใจชอบการผจญภัย ได้รับบพระบัญชาจากพระเจ้าฮั่นหวู่ตี้
นำคณะราชทูตจำนวน 100 คน ไปเยือนประเทศทางทิศตะวันตกของจีน โดยติดต่อกับประเทศต้าเอวี้ยจือ เพื่อโจมตีชนเผ่าซงหนูทั้งข้างซ้ายและข้างขวา แต่เมื่อจางเชียนเดินทางออกจากชายแดนก็ถูกชนเผ่าซงหนูจับกุม หัวหน้าเผ่าซงหนู่พอทราบวัตถุประสงค์ของการเดินทางไปยังเขตตะวันตกในครั้งนี้แล้ว จึงให้กักตัวจางเชียนพร้อมกับคณะไว้และส่งตัวไปใช้แรงงานเป็นกุลี นอกจากนี้ยังจัดการหาภรรยาให้จางเชียนเพื่อที่จะให้จางเชียนเลิกล้มความตั้งใจเสีย แต่ว่าจางเชียนไม่เคยลืมภาระหน้าที่ของตนและไม่เคยละทิ้งความพยายาม ในระหว่างเวลาที่ถูกจับกุม เขาได้เรียนรู้ภาษาซงหนูและรู้จักสภาพทางภูมิศาสตร์ของซงหนู หลังจากที่ถูกเผ่า ซงหนูกักตัวเป็นเวลานานถึง 11 ปี จนฝ่ายซงหนูคลายความระวังเข้มงวด จางเชียนเห็นได้จังหวะ ก็นำสมาชิกในคณะหลบหนี พวกเขาเดินทางผ่านเขตของสาธารณรัฐอุซเบกิสถานในปัจจุบันไปจนถึงเขตของประเทศเผ่าชนต้าเอวี้ยจือในที่สุด ต่อมาเมื่อรู้ว่ากษัตริย์ต้าเอวี้ยจือไม่อยากแก้แค้นชนเผ่าซงหนู จางเชียนจึงตัดสินใจกลับประเทศจีน คณะทูต100 คนที่เดินทางไปพร้อมกับจางเชียนเหลือกลับถึงเมืองฉางอานเพียง 2 คน



119 ปี ก่อนคริสต์ศักราช พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ ส่งจางเชียนไปเยือนดินแดนตะวันตกอีกครั้งโดยมีผู้ติดตาม 300 คน พร้อมทั้งวัวกับแพะกว่าหมื่นตัวและสินค้าต่าง ๆ ด้วย จางเชียนกับคณะราชฑูตได้เยือนประเทศต่าง ๆ มากมาย ประเทศเหล่านั้นก็ได้ส่งคณะฑูตนำของขวัญมาเยือนประเทศจีนด้วย ตั้งแต่นั้นมา การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ฮั่นกับประเทศดินแดนตะวันตกมีบ่อยครั้งยิ่งขึ้น ต่อมา ราชวงศ์ฮั่นได้จัดตั้ง ซีหยู้ตูหู้ฝู่ ที่เขตซินเจียงในปัจจุบัน เป็นหน่วยราชการที่ขึ้นต่อรัฐบาลกลาง มีหน้าที่ดูแลกิจการงานเกี่ยวกับประเทศดินแดนตะวันตก

การที่จางเชียนไปเป็นราชทูตที่ดินแดนตะวันตกนั้น ได้บุกเบิกเส้นทางสายไหมที่ส่งเสริมการไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนกันระหว่างจีนและโลกตะวันตก เส้นทางสายไหมเริ่มจากเมืองฉางอานในทิศตะวันออก ไปยังทิศตะวันตกถึงฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนท้ายที่สุดไปถึงจักรวรรดิโรมัน

กองคาราวานของราชวงศ์ฮั่นได้นำสิ่งทอด้วยไหมจีนไปแลกเปลี่ยนกับชาวเปอร์เซีย ชาวอินเดียและชาวโรมัน และได้นำสินค้าต่างประเทศ เช่นวอลนัต องุ่น แครอท ฯลฯ กลับมายังประเทศจีน
หลายศตวรรษต่อจากนั้น การแลกเปลี่ยนระหว่างจีนและโลกตะวันตกโดยการค้าผ้าไหมเป็นหลัก ส่วนมากดำเนินผ่านทางเส้นทางสายไหม นอกจากนี้ยังได้แลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมกับโลกซีกตะวันตกมากยิ่งขึ้น และมีส่วนช่วยให้พุทธศาสนาแพร่เข้าสู่จีนในเวลาต่อมา

จางเชียนเป็นผู้บุกเบิกยุคแห่งการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมระหว่างจีนกับตะวันตก ผู้คนยังคงกล่าวขวัญและนับถือจิตใจอันสูงส่งของจางเชียนที่แม้จะผ่านความยากลำบากสุดประมาณแต่ก็ไม่ย่อท้อ กลับมีแต่ความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ไม่หวั่นไหวกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายมา


แผนที่เส้นทางสายไหม

เส้นทางสายไหม
คำว่า "เส้นทางสายไหม" หรือ "Silk Road" เพิ่งถูกเรียกอย่างเป็นทางการในกลางศตวรรษที่ 19 โดยนักปราชญ์ชาวเยอรมัน ชื่อว่า Baron Ferdinand von Richthofen เขาเป็นผู้บัญญัติชื่อนี้ขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับ ถึงแม้จะมีคนพยายามเรียกเป็นอย่างอื่น อย่างเส้นทางหยก เส้นทางอัญมณี เส้นทางพุทธศาสนา เป็นต้น

เส้นทางนี้ เริ่มจากทางตะวันออกที่เมืองฉางอันหรือซีอันในปัจจุบันของประเทศจีนไปสิ้นสุดที่ยุโรป ณ เมืองคอนสแตนติโนเปิล สินค้าที่มีชื่อเสียง คือ ผ้าไหมจีน, แก้ว, เพชรพลอย, เครื่องเคลือบดินเผา, พรม เป็นต้น แต่เส้นทางนี้ก็ได้ถูกเลิกใช้ไปเพราะเกิดสงคราม

เส้นทางสายไหมเป็นช่องทางสำคัญที่กระจายอารยธรรมโบราณของจีนไปสู่ตะวันตก และเป็นสะพานเชื่อมในการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างจีนกับตะวันตกด้วยเส้นทางสายไหม



เส้นทางที่ผู้คนกล่าวถึงบ่อย ๆ นั้นหมายถึงเส้นทางบกที่ จางเชียนในสมัยซีฮั่นของจีนสร้างขึ้น เริ่มต้นจากเมืองฉางอาน ทางทิศตะวันออกจนถึงกรุงโรม ทางทิศตะวันตก เส้นทางบกสายนี้มีเส้นทางแยกสาขาเป็นสองสายไปทางทิศใต้และทางทิศเหนือ

เส้นทางทิศใต้
จากเมืองตุนหวงไปสู่ทางตะวันตกโดยออกทางด่านหยางกวน ผ่านภูเขาคุนหลุนและเทือกเขาชงหลิ่น ไปถึงต้าเย่ซื่อ(แถวซินเจียงและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟกานิสถานในปัจจุบัน) อันซิ( อิหร่านในปัจจุบัน) เถียวซื่อ(คาบสมุทรอาหรับปัจจุบัน)ซี่งอยู่ทางตะวันตก สุดท้ายไปถึงอาณาจักรโรมัน

ส่วนเส้นทางทิศเหนือ
จากเมืองตุนหวงไปสู่ทางตะวันตกโดยออกด่านอวี้เหมินกวน ผ่านเทือกเขาด้านใต้ของภูเขาเทียนซานและเทือกเขาชงหลิ่น ผ่านต้าหว่าน คางจวี (อยู่ในเขตเอเซียกลางของรัสเซีย) แล้วไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้ สุดท้ายรวมกันกับเส้นทางทิศใต้ เส้นทางสองสายนี้เรียกว่า“เส้นทางสายไหมทางบก”

นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางสายไหมอีกสองสาย
สายหนึ่งคือ“เส้นทางสายไหมทิศตะวันตกเฉียงใต้”
เริ่มจากมณฑลเสฉวนผ่านมณฑลยูนนานและแม่น้ำอิรวดี จนถึงจังหวัดหม่องกงในภาคเหนือของพม่า ผ่านแม่น้ำชินด์วิน ไปถึงมอพาร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ต่อจากนั้น เลียบแม่น้ำคงคาไปถึงภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย และไปถึงที่ราบสูงอิหร่าน
เส้นทางสายไหมสายนี้มีประวัติยาวนานกว่าเส้นทางสายไหมทางบก

เมื่อปี 1986 นักโบราณคดีได้พบซากอารยธรรมซานซิงตุยที่เมืองกว่างฮั่น มณฑลเสฉวน ซึ่งห่างจากปัจจุบันประมาณสามพันกว่าปี ได้ขุดพบโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเอเซียตะวันตกและกรีซ ในจำนวนนั้น มีไม้เท้าทองที่ยาว142เซ็นติเมตร “ต้นไม้วิเศษ”ที่สูงประมาณสี่เมตรและรูปปั้นคนทองแดง หัวทองแดงและหน้ากากทองแดงเป็นต้นที่มีทั้งขนาดใหญ่และเล็กต่างๆกัน ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าวัตถุโบราณเหล่านี้อาจะถูกนำเข้ามาในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างตะวันตกและตะวันออก ถ้าความคิดเห็นประการนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง เส้นทางสายไหมสายนี้ก็มีอยู่แล้วตั้งแต่กว่าสามพันปีก่อน




เส้นทางสายไหมอีกสายหนึ่งคือ นั่งเรือจากนครกวางเจาผ่านช่องแคบหม่านล่าเจีย(ช่องแคบมะละกาในปัจจุบัน) ไปถึงลังกา (ศรีลังกาในปัจจุบัน) อินเดียและอัฟริกาตะวันออก
เส้นทางเส้นนี้ได้ชื่อว่า“เส้นทางสายไหมทางทะเล”
วัตถุโบราณจากโซมาลีที่อัฟริกาตะวันออกเป็นต้นยืนยันว่า “เส้นทางสายไหมทางทะเล”สายนี้ปรากฎขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งของจีน“

เส้นทางสายไหมทางทะเล”ได้เชื่อมจีนกับประเทศอารยธรรมที่สำคัญและแหล่งกำเนิดวัฒนธรรมของโลก ได้ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในเขตเหล่านี้ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น“เส้นทางแลกเปลี่ยนระหว่างตะวันออกกับตะวันตก” เอกสารด้านประวัติศาสตร์ระบุว่า สมัยนั้นมาร์โค โปโลก็ได้เดินทางมาถึงจีนโดยผ่าน“เส้นทางสายไหมทางทะเล” ตอนกลับประเทศ เขาได้ลงเรือที่เมืองเฉวียนโจวของมณฑลฮกเกี้ยนของจีนกลับถึงเวนิส ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาโดยผ่านเส้นทางสายนี้



เส้นทางสายไหมเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตของแหล่งอารยธรรมโบราณหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์โบราณ เมโสโปเตเมีย จีน โรมัน เปอร์เซีย และอินเดีย
สำหรับการเดินทางทางทะเล เส้นทางสายไหมยังขยายไปยังญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย อิตาลี โปรตุเกส และสวีเดน เป็นต้น

จึงกล่าวได้ว่า เส้นทางสายไหม (Silk Road) คือเส้นทางของขบวนคาราวานที่ใช้เป็นเส้นทาง ในการเดินทางติดต่อค้าขายระหว่างเมืองๆ หนึ่งไปยังเมืองอีกเมืองหนึ่ง จึงก่อให้เกิดจากขยายตัวทางเศรษฐกิจในยุคโบราณ และทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม (Culture) จนพัฒนากลายเป็นอารยธรรม (Civilization) โบราณอันยิ่งใหญ่สืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น การเลี้ยงไหม การผลิตผ้าไหม การทำเครื่องปั้นดินเผา อาหารเครื่องเทศ เป็นต้น



การขนส่งสินค้าสำคัญได้แก่ เส้นไหม ผ้าไหม และเครื่องเทศ เป็นต้น ต่อมามีการพัฒนาติดต่อค้าขายออกไปหลายทวีปมากขึ้น จนเกิดเป็นเส้นทางสายไหมอันยาวโพ้นตั้งแต่ อียิปต์โบราณ เมโสโปเตเมีย จีน โรมัน เปอร์เซีย และอินเดีย

ต่อมาได้เกิดสงครามครูเสดเกิดขึ้นในระหว่างช่วงศตวรรษที่ 11 และประเทศจีน ยุโรปตะวันออกถูกรุกรานโดยชนเผ่ามองโกล ทำให้เส้นทางสายไหมถูกงดใช้ไปชั่วคราว
หลังสงครามในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 หลังการรุ่งเรืองของจักรวรรดิมองโกล เส้นทางสายไหมกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง และมาร์โก โปโลนักเดินทางชาวอิตาลี ได้เป็นชาวยุโรปคนแรกที่เดินทางผ่านเส้นทางสายไหมไปถึงประเทศจีน เมืองตุนหวง เป็นเมืองสำคัญในเส้นทางสายไหม ปัจจุบันอยู่มณฑลกานซู



เมืองตุนหวง (Dunhuang) เป็นเมืองโอเอซิสกลางทะเลทราย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลกานซู่ (Gansu Province) ริมแอ่งที่ราบทาริม (Tarim Basin)
ในระหว่างยุคสมัยราชวงศ์ฮั่น และ ราชวงศ์ถัง เมืองตุนหวง อยู่ในฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางสำคัญบนเส้นทางสายไหม รวมทั้งเป็นเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างอารยธรรมตะวันออก และ ตะวันตก เป็นทางผ่าน และ จุดแวะพักสำคัญของขบวนคาราวานการค้าแต่อดีตกาล และ มีบทบาทสำคัญยิ่งในฐานะเป็นเส้นทางแห่งการเผยแพร่พุทธศาสนาเข้ามายังประเทศจีน

ในเขตชานเมืองตุนหวงมณฑลกานซู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อภูเขาหมิงซา บนผาด้านตะวันออกที่มีระยะทางยาวประมาณ 2 กิโลเมตรของภูเขาลูกนี้ มีถ้ำจำนวนนับไม่ ถ้วนเรียงรายกันอยู่ 5 ชั้น ซึ่งก็คือถ้ำโม่เกาเมืองตุนหวงที่มีชื่อเสียงดังในโลก

ถ้ำโม่เกาในเมืองตุนหวงทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนนับว่า เป็นคลังศิลปะทางพุทธศาสนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและได้รับการอนุรักษ์ดีที่สุดของโลกในปัจจุบัน ถ้ำโม่เกาได้รับคัดเลือกให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1987 คณะกรรมการมรดกโลกประเมินว่า ถ้ำโม่เกามีชื่อดังในโลก ด้วยรูปปั้นและภาพเขียนฝาผนัง แสดงถึงศิลปะทางพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องกันมาเป็น เวลาพันปี

(ลำดับราชวงศ์ของจีนมีดังนี้
ยุคผู้ปกครองทั้งห้า - ราชวงศ์เซี่ย - ราชวงศ์ซาง - ราชวงศ์โจว - ราชวงศ์ฉิน - ราชวงศ์ฮั่น - ราชวงศ์จิ้น - ราชวงศ์เหนือ-ใต้ - ราชวงศ์สุย - ราชวงศ์ถัง
ยุคห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร - ราชวงศ์เหลียว - ราชวงศ์ซ่ง - ราชวงศ์จิน - ราชวงศ์เซี่ยตะวันตก - ราชวงศ์หยวน - ราชวงศ์หมิง - ราชวงศ์ชิง)

ที่มาของข้อมูล และภาพ วิกิพีเดีย
http://www.crackchinese.net
http://marisaof.blogspot.com

3 ความคิดเห็น:

  1. มีเส้นทางสายไหมทางทะเลไหมคราฟผม

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. มีค่ะ แต่พลอยโพยมไม่ได้ลงไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม แต่เด่นชัดที่สุดในสมัยราชวงศ์หมิง มีขบวนเริอของเจิ้งเหอ ขันทีที่ยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น เดินทะเล ด้วยวัตถุประสงค์หลายอย่าง นับว่าการออกทะเลของเจิ้งเหอเป็นเส้นทางสายไหมในรัชสมัยนั้นค่ะ

      ลบ
  2. บทความดีมากครับ น่าสนใจหลายๆ เรื่องเลย ดนตรี ประกอบยังน่าฟังอีกด้วยครับ

    ตอบลบ