วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

[บทความ] ไหม...สายใยแห่งวัฒนธรรม

ไหม...สายใยแห่งวัฒนธรรม


ผ้าไหมไทย

ต้นกำเนิดเส้นไหม
สันนิษฐานว่า จีน เป็นชาติแรกที่ค้นพบการสาวไหมออกจากรัง เมื่อประมาณ 4,700 ปีมาแล้ว โดยมีเรื่องเล่าขานกันต่างๆ นานา เรื่องที่แพร่หลาย ซึ่งมีหลายตำนานแพร่หลายกันออกไป เช่น

มีตำนานกล่าวว่า “เทพเจ้าแห่งไหม” (Godness of Sikworm) ได้ส่งเส้นใยไหมสีขาวเงินลงมาถวายจักรพรรดิฮวงตี่ (Huang Di) หรือจักรพรรดิเหลือง (Yellow Emperor) เพื่อร่วมฉลองในวโรกาสที่พระองค์มีชัยชนะเหนือข้าศึก ต่อมาเส้นใยไหมนั้นก็ถูกนำมาทอเป็นอาภรณ์อันงดงาม

จักรพรรดิฮวงตี่หรือจักรพรรดิเหลือง



บางตำนานกล่าวว่า ในยุคของจักรพรรดิเหลืองได้สอนให้พสกนิกรปลูกธัญพืช และ เลี้ยงสัตว์ โดยพระนางไล้ซู พระมเหสีของจักรพรรดิ ให้ความสนพระทัยเกี่ยวกับการทอผ้า วันหนึ่งพระนางเกิดประชวร นางสนมจึงไปหาผลไม้ แล้วกลับมาพร้อมกับผลไม้สีขาวเล็กๆ (คือรังไหม) จากสวนหม่อน แต่ผลนั้นเหนียวสุดที่พระนางไล้ซูจะเคี้ยวให้ขาดได้ ดังนั้นนางสนมจึงนำไปต้ม นางประหลาดใจมากเมื่อผลสีขาวนั้นสามารถดึงออกเป็นเส้นใยสีขาวละเอียดและเป็นเงางาม จากการค้นพบครั้งนั้นพระนางจึงได้สั่งสอนให้พสกนิกรได้รู้จักการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าในที่สุด เป็นผลทำให้พระนางได้รับการสดุดีเป็น “เจ้าหญิงแห่งไหม”

มีรูปปั้นพระนางไล้ซู พระมเหสีของจักรพรรดิฮ้วงตี่ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซินเจียง



ในขณะที่เอกสารบางฉบับ กล่าวว่า

เมื่อประมาณ 4,500 ปีมาแล้ว ตามหนังสือจีนโบราณฉบับหนึ่งชื่อไคเภ็ก ความว่า พระเจ้าอึ้งตี่ หรืออิ้งตี่ หรือฮ่วงตี่ หรือชวนหยวน ได้ปรึกษาราชการกับพระนางง่วนฮุย (ธิดาของไซ เล่ง สี) พระมเหสีของพระองค์ พระนางทูลว่า วันหนึ่งพระนางได้เสด็จไปที่สวนหลวง ทอดพระเนตรเห็นตัวหนอนหลายตัวเกาะอยู่ที่ต้นหม่อน ต่อมาได้ทรงเห็นตัวหนอนนั้นชักใยพันรอบตัว จึงหยิบมาพิจารณา เมื่อดึงออกมาจะเป็นเส้นๆ มีความเหนียวดี พระนางทรงพระดำริว่า ถ้านำมาทำเป็นผืนแพร เนื้อผ้าคงจะดีกว่าปอและป่านที่ใช้ทำผ้านุ่งห่มมาแต่ก่อน และพระนางทรงสามารถเลี้ยงไหม สาวไหม และทอเป็นผืนผ้าสำเร็จได้ตั้งแต่กาลครั้งนั้นและได้รับการถวายพระฉายาว่า “นางพญาแห่งการหัตถกรรมทำไหม” ตั้งแต่นั้นมา การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าไหม ก็แพร่กระจายไปตามตำบลต่างๆ ของจีนซึ่งหลักฐานทางโบราณคดีของจีนระบุว่า การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าไหมเริ่มขึ้นครั้งแรกบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำชางเจียง และนี่คือจุดเริ่มของต้นกำเนิดแห่งอารยธรรมไหมโลกหรือที่เรียกกันว่า เส้นทางสายไหม (Silk Road) เส้นทางการค้าทีสำคัญของโลก และเป็นเส้นทางของการเผยแพร่อิทธิพลผ่านทางการค้าและวัฒนธรรมของจีนไปสู่ นานาอารยประเทศ



บ้างกล่าวว่า

ผ้าไหมเป็นผ้าที่ค้นพบในสมัยพระเจ้าฮวงตี่ของ จีนประมาณ 2700 ปีก่อนศริสตศักราช พระองค์ทรงมอบงานให้แก่พระมเหสี ชีลิงจือ ศึกษาโรคเชื้อราที่ทำลายป่าหม่อนและหนอนตัวสีขาวที่ชอบกัดกินใบหม่อน แล้วจึงพบการสร้างรังดักแด้ของตัวไหมโดยบังเอิญแล้วเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ หลังจากนั้นประมาณ คศ. 300 ประเทศญี่ปุ่นได้ไปนำสาวจีนที่รู้เรื่องไหมกลับมายังญี่ปุ่นแล้วสอนให้กับคน ญี่ปุ่นจึงรู้เรื่องการเลี้ยงไหม ต่อมา การผลิตไหมจึงแพร่เข้าสู่ทางตะวันตกผ่านเอเชียไปสู่อินเดียแล้วก็แพร่เรื่อยๆไป



บางตำนานเล่าว่าพระนางซีหลิงสี (Xi Ling Shi) พระมเหสีของจักรพรรดิชวนหยวน (Xaun Yaun) ได้พบรังไหมโดยบังเอิญ ขณะประทับในพระราชอุทยานพระนางทรงเห็นรังไหมอยู่บนต้นหม่อน ลักษณะเป็นรังสีขาวนวลจึงให้นางกำนัลเก็บมาถวาย แต่นางกำนัลทำรังไหมตกลงในถ้วยน้ำร้อน โดยอุบัติเหตุ เมื่อดึงรังไหมขึ้นมาก็ได้ เส้นใยที่เลื่อมมันและอ่อนนุ่มจึงลองนำเส้นใยที่ได้ไปทอเป็นผ้า เพื่อถวายพระจักรพรรดิ ซึ่งพระองค์ทรงโปรดปรานมาก จึงโปรดให้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพระราชวัง ต่อมาจึงนำออกเผยแพร่ให้ราษฎรทั่วไป ราษฎรจึงขนานนามพระนางซีหลิงซีว่า “พระนางแห่งไหม” และจัดให้มีการเซ่นไหว้เป็นประจำทุกปี

ตำนานเหล่านี้ ล้วนอยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกันคือประมาณสี่พันกว่าปีมาแล้วและเกี่ยวข้องกับ พระเจ้าอึ้งตี่ หรืออิ้งตี่ หรือฮ่วงตี่ หรือชวนหยวน หรือจักรพรรดิเหลืองนั่นเอง กับ พระมเหสีของพระองค์ แตกต่างเพียงรายละเอียดของจุดเริ่มต้นของเรื่อง
และเป็นที่กล่าวว่า ประเทศจีนเป็นต้นกำเนิดการทอเส้นไหมเป็นผืนผ้า " พัสตราภรณ์ " ( เครื่องนุ่งห่มที่สวยงาม)



ทั้งนี้ยังมีตำนานเป็นนิทานของมณฑลหังโจว อีกเรื่อง เป็นเรื่องของเด็กหญิงชาวบ้านธรรมดา ชื่ออาเจียว
เด็กญิงอาเจียว กำพร้าแม่ และมีแม่เลี้ยง

วันที่หนาวจัดวันหนึ่ง แม่เลี้ยงก็ใช้อาเจียวให้ออกไปหาหญ้าแห้งใส่ตะกร้ามาให้เต็ม สั่งว่าถ้าไม่ได้หญ้าเต็มตะกร้า ก็อย่าได้กลับบ้านเป็นอันขาด ถึงกลับมาก็จะไม่มีอะไรให้กิน อาเจียวก็ออกจากบ้านไปพร้อมกับตะกร้า

อาเจียวเดินหาหญ้าไปเรื่อย ๆ ในท้องทุ่ง ตั้งแต่เช้าจนเย็นก็หาหญ้าแห้งไม่ได้ เพราะว่าเป็นหน้าหนาวซึ่งหิมะจับจนแม้แต่ต้นไม้ก็แข็งทิ้งใบหมด อาเจียวนั่งพักเพราะเหนื่อยอ่อน อาเจียวนึกถึงแม่ แล้วก็ได้ยินเสียงว่า " มีหญ้ามากมายอยู่ในถ้ำ " มีนกสร้อยคอสีขาวบินวนอยู่เหนืออาเจียว อาเจียวคิดว่าเสียงที่ได้ยินเป็นเสียงนก และเดินไปตามทางที่นกบินในที่สุดนกก็บินลับไป

อาเจียวพบต้นไม้ใหญ่ พบถ้ำ และหญ้าอ่อน อาเจียวตัดหญ้าโดยเดินลึกเข้าไปเรื่อย ๆ จนได้หญ้าเต็มตระกร้า และทะลุถ้ำออกไปอีกด้าน ก็ได้พบผู้หญิงสาวสวยในชุดขาวคนหนึ่ง เธอชวนให้อาเจียวพักที่นี่สองสามวัน มีบ้านสวยหลังคาสีขาวน่าอยู่หลังหนึ่ง หน้าบ้านมีต้นแคระใบสีเขียวแก่แถวหนึ่ง เด็กหญิงเล็ก ๆ หลายคนในชุดสีขาว กำลังร้องเพลงพลางเก็บใบไม้อยู่ที่นั่น

อาเจียวพักที่บ้านหลังนี้โดยออกไปเก็บใบไม้ในตอนกลางวัน และเอาใบไม้นี้ไปเลี้ยงตัวหนอนสีขาวราวกับหิมะที่เธอเพิ่งรู้จักในตอนกลางคืน อาเจียวได้เรียนรู้ว่าตัวหนอนเหล่านี้คือตัวไหม ใบไม้ที่เก็บมาเลี้ยงมันก็คือใบหม่อน ผู้หญิงคนนั้นบอกเธอว่า เมื่อตัวหนอนชักใยเป็นตัวดักแด้แล้วเราก็สามารถจะสาวใยของมันเป็นเส้นยาว ๆ ออกมาใช้ทอผ้าได้ เรียกว่า ผ้าไหม และยังสามารถจะย้อมผ้าไหมนี้ให้เป็นสีสวยงามอะไรก็ได้ตามที่เธอชอบด้วย อาเจียวอยู่กับคนกลุ่มนี้ถึง 3 เดือน

อาเจียวเกิดคิดถึงบ้านและคิดจะไปนำน้องชายกลับมาที่บ้านสีขาวนี้ใหม่ อาเจียวจึงออกเดินทางกลับบ้าน ก่อนตะวันตกดินโดยไม่บอกใครทั้งสิ้น เธอไม่ได้กลับไปตัวเปล่าแต่ได้นำไข่ตัวไหมกับเมล็ดใบหม่อน โรยเป็นระยะไปตามทางเดินด้วย โดยตั้งใจจะใช้เป็นที่สังเกต เพื่อจะได้พาน้องชายเดินทางกลับมายังสถานที่นี้ได้ถูกต้อง

อาเจียวพบว่าพ่อกลายเป็นคนแก่และน้องชายก็โตเป็นหนุ่มแล้ว ที่จริงแล้วอาเจียวจากบ้านไปนานถึงสิบห้าปี อาเจียวเล่าให้พวกเขาฟังถึงเรื่องที่เธอได้พบเห็น หุบเขาลึกลับ สุภาพสตรีชุดขาว ตัวหนอนสีขาวที่เรียกกันว่า “แมลงสวรรค์” และยังเอาไข่หนอนออกมาอวดพ่ออีกด้วย หลังจากนั้นชาวบ้านต่างเชื่อกันว่า อาเจียวได้พบกับพระเจ้าผู้ต้องการสอนคนหังโจวให้รู้จักการเลี้ยงไหมโดยผ่านตัวอาเจียว

วันรุ่งขึ้น อาเจียวกลับไปยังหุบเขาลึกลับนั้นอีก แต่ปรากฏว่าเมล็ดหม่อนที่เธอเหวี่ยงมาตามทางนั้นได้กลายเป็นต้นหม่อนไปหมดแล้ว อาเจียวเดินตามเส้นทางเดิมไปจนถึงปากถ้ำก็หาได้พบปากถ้ำที่เคยพบไม่ มีแต่เจ้านกสร้อยคอสีขาวตัวเดิมที่ยังคงบินวนอยู่เหนือหัวร้องว่า “อาเจียวขโมยสมบัติ อาเจียวขโมยสมบัติ”
แล้วเจ้านกนั้นก็หายลับไปหลังเขา อาเจียวสำนึกผิดว่าเธอได้ขโมยไข่ตัวไหมกับเมล็ดหม่อนจากหุบเขาเร้นลับ แต่เธอก็ไม่รู้จะทำอย่างไรนอกจากกลับบ้าน อย่างไรก็ตามการสูญเสียสวรรค์บนดินของอาเจียวกลับกลายมาเป็นโชคมหาศาล ของชาวหังโจว

เดี๋ยวนี้ เมืองหังโจวได้เป็นศูนย์กลางของการผลิตผ้าไหมในจีน อาเจียวได้ชื่อว่าเป็นผู้นำ “แมลงสวรรค์” มาสู่ หังโจว และสตรีชุดขาวในหุบเขาเร้นลับ ซึ่งไม่มีใครรู้จักชื่อได้รับขนานนามว่าเป็น “มารดาแห่งผ้าไหม”

ที่มาของข้อมูล
สำนักพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)
http://www.arda.or.th



อย่างไรก็ตามสรุปว่า... เชื่อกันว่า
ประเทศจีน เป็นชาติแรกที่พบและรู้จักต้นหม่อน และการสาวไหมจากรังของตัวหนอนดักแด้

ช่วงประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแพร่กระจายจากประเทศจีนไปยังประเทศเกาหลี หลังจากนั้น อีกประมาณ 300 ปี ได้แพร่กระจายจากประเทศเกาหลีไปสู่ประเทศญี่ปุ่น

ช่วงประมาณคริสตกาล การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแพร่กระจายไปสู่ประเทศอินเดียและคาบสมุทรอินโดจีน ได้แก่ประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ต่อจากนั้นจึงแพร่กระจายไปสู่ประเทศอินโดนีเซีย

ช่วงประมาณศตวรรษที่ 9 - 11 การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแพร่กระจายไปสู่ประเทศอียิปต์ ประเทศชายฝั่งทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ประเทศสเปนและเกซิลี ต่อจากนั้นจึงแพร่กระจายไปยังแถบทางตอนไต้ ของประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นบริเวณที่เส้นไหมเดินทางผ่าน

ช่วงประมาณศตวรรษที่ 12-13 การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกระจายไปสู่ประเทศอิตาลี่

ช่วงประมาณศตวรรษที่ 14 การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแพร่กระจายไปสู่ประเทศฝรั่งเศส ประมาณปี ค.ศ. 1522 การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแพร่กระจายไปสู่ทวีปอเมริกาโดยสเปน ซึ่งได้เข้าไปปกครองเม็กซิโก ผู้ปกครองชาวเสปน บังคับให้ราษฎรแถบชานเมืองปลูกหม่อนเลี้ยงไหม หลังจากนั้นได้แพร่กระจายไปยังประเทศแถบทวีบอเมริกาไต้ เช่น สหรัฐอเมริกา เปรู และบราซิล

ข้อมูลจาก http://pinkmaya.mysquare.in.th

หลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้า ยังไม่พบข้อมูลใดที่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ของการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าในผืนแผ่นดินไทย แม้ว่าชนชาติจีนมีวัฒนธรรมของการแต่งกายด้วยผ้าไหมมานานนับพันปี รวมทั้งหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ยืนยันว่า ถิ่นกำเนิดของชนชาติไทยอยู่ทางภาคใต้ของจีน ซึ่งปัจจุบันในมณฑลกวงตุ้งยังคงมีชนเผ่าไทยอาศัยอยู่ ดังนั้น จึงเป็นข้อสันนิษฐานว่าการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าของชนชาติไทยน่าจะได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากชาวจีนตอนใต้มาตามลำ น้ำโขง ในขณะที่จีนมีประวัติศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับไหมมากมาย (ที่มา http://www.arda.or.th )


ผงไหม

จากพระประวัติของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ซึ่งทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล "เพ็ญพัฒน์" ทรงเป็นผู้พระนิพนธ์เพลงลาวดวงเดือน ทรงมีความเกี่ยวพันกับเรื่อง ไหม ในเมืองไทย ดังนี้

พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดามรกฎ ธิดาของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ต่อมาได้เสด็จไปศึกษาทางด้านเกษตรกรรมจากประเทศอังกฤษ เมื่อทรงสำเร็จการศึกษา ในปี พ.ศ. 2446 ขณะมีพระชนมายุ ๒๐ พรรษา ทรงกลับมารับราชการเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงศึกษาธิการ

ในปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้อุดหนุนการทำไหมและทอผ้าของประเทศ โดยได้ว่าจ้าง ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ทดลองเลี้ยงไหมตามแบบฉบับของญี่ปุ่น สอนและฝึกอบรมนักเรียนไทยในวิชาการเลี้ยงและการทำไหม พร้อมกับสร้างสวนหม่อนและสถานีเลี้ยงไหมขึ้นที่ตำบลศาลาแดง กรุงเทพ ทรงจัดตั้งกองช่างไหมขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ ต่อมา ในปี 2446 กระทรวงเกษตราธิการได้รวมกองการผลิต, กองการเลี้ยงสัตว์ และกองช่างไหม ตั้งขึ้นเป็น "กรมช่างไหม" โดยมี พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ เป็นอธิบดีกรมช่างไหมพระองค์แรก

งานหลักของกรมช่างไหม คือ การดำเนินงานตามโครงการของสถานีทดลองเลี้ยงไหม เริ่มด้วยการก่อตั้งโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นในพระราชวังดุสิต เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2446 และเปิดโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นที่ปทุมวัน เรียกว่า "โรงเรียนกรมช่างไหม" ในปี 2447 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาวิจัย และฝึกพนักงานคนไทยขึ้นแทนคนญี่ปุ่น ในเวลาต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้พัฒนาเป็น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



ขณะนี้มีละครประวัติศาสตร์เกาหลีกำลังแพร่ภาพอยู่ เรื่อง ทงอีจอมนางคู่บัลลังก์ อันเป็นเรื่องราวในยุคของกษัตริย์พระองค์ที่ 19 แห่งราชวงศ์โซซอน คือ พระเจ้าซุกจง (พ.ศ. 2217-2263 ) มีเรื่องราวของพระราชพิธีฉลองไหมที่ลานบวงสรวงเจ้าแห่งไหม ซึ่งเป็นงานพระราชพิธีของฝ่ายใน ผู้ดำรงตำแหน่งพระมเหสีต้องเป็นผู้ประกอบพระราชพิธีนี้ จะเห็นเพียงการจัดเตรียมงาน นางในจัดเตรียมใบหม่อนสีเขียวซึ่งมีตัวหนอนดักแด้อยู่บนใบหม่อนจำนวนมาก มีกรรไกร วางไว้ใกล้ ๆ บนเขียงไม้ อยู่บนโต๊ะพิธี มีต้นหม่อนในกระถางเตรียม ไว้บริเวณใกล้ ๆ บนแท่นพิธี พระมเหสีแต่งพระองค์กึ่งเต็มยศ พระราชดำเนินช้า ๆ ขึ้นสู่แท่นพิธี ด้วยท่าเดินในพิธีแบบเกาหลี ( ท่าเดินเคลื่อนตัวช้า ๆ และสองมือซ้อนทับกันยกขึ้นระดับอก) เมื่อเริ่มพิธีหลังจากผู่้มาร่วมงาน ถวายความเคารพ ถวายพระพร พระมเหสีรับกรรไกรมาตัดใบหม่อนทีละใบที่ต้นหม่อนที่เตรียมไว้ แล้วนางในรับใบหม่อนที่พระมเหสีตัดใส่ในตะกร้านำไปหั่นซอย แล้วหยิบใบหม่อนซอยวางบนฝ่าพระหัตถ์พระมเหสี พระมเหสีหยิบใบหม่อนโรยให้หนอนดักแด้บนโต๊ะพิธี ตลอดพิธี มีดนตรีของสำนักวังหลวงบรรเลง มีโต๊ะกลมใหญ่จัดวางผลไม้และขนมหวานต่าง ๆ หลายชนิด ถ้วยน้ำชา เสร็จจากเลี้ยงตัวหนอนแล้วพระมเหสีร่วมโต๊ะเสวยกับแขกที่โต๊ะกลมนี้ พิธีน่าจะมีรายละเอียดกว่านี้ แต่เนื่องจากละครมิได้เน้นเรื่องเกี่ยวกับรายละเอียดของพิธีเลี้ยงไหม และบวงสรวงเจ้าแห่งไหม เป็นเพียงแทรกพิธีนี้เพื่อแผนการใส่ร้ายอดีตพระมเหสีพระองค์ก่อนที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ของพระมเหสีพระองค์ปัจจุบัน ตามบทละคร



ขอเกริ่นเรื่องราวความเป็นมาของไหม ตามความเชื่อที่กล่าวกันว่าเริ่มที่ประเทศจีน เพราะต่อมาจีนได้ใข้เส้นสายของไหมมาถักทอเป็นฝืนผ้าเพื่อเป็นพัสตราภรณ์ และเริ่มสานสืบสายใยแห่งอารยธรรม เกิดกองคาราวานเพื่อส่งแพรไหมและสินค้าอื่น ๆ ไปค้าขาย จนเกิดมีเส้นทางสายไหมสำหรับเผยแพร่อารยธรรมจากประเทศจีน ไปยังดินแดนต่าง ๆ ทั้งเส้นทางบกและเส้นทางทะเล นับเป็นเวลาที่ยาวนานกว่าจะมีค้นพบเส้นทางสายไหมในอดีตกาลนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น