วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555

[บทความ] สายนที..มีปลาตะเพียนทอง

ตะเพียนทอง...ล่องลม..ชมสวน..หวน.นที

สายนที..มีปลาตะเพียนทอง


ปลาตะเพียนทอง

ภาพนี้ต้องใช้คำว่า ศิลปินว่ายเดี่ยว
ฉันมาตัวเดียวจัะ



ปกติปลาตะเพียนทองจะแหวกว่ายไปเป็นฝูง ๆ แม้จะอยู่ในตู้เลี้ยงปลา ซึ่งกรมประมงก็เข้าใจธรรมชาติของปลาที่ชอบอยู่เป็นฝูง ๆ คือจัดปลาเป็นฝูงให้ปลาที่ชอบอยู่เป็นฝูงจะได้ไม่รู้สึกว้าเหว่เอกา เปลี่ยวอุราเหลือทน



ชื่อไทย : ปลาตะเพียนทอง
ชื่อสามัญ : Red – tailed, Tinfoil Barb
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barbonymus altus (Gunther,1868)
อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน(Cyprinidae)
วงศ์ย่อยCyprininae



ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดขนาดกลางมีสีสันสวยงาม ลำตัวป้อมแบนข้าง พื้นลำตัวมีสีเงินบริเวณท้องสีทอง หัวและปากค่อนข้างเล็ก มีหนวด 2 คู่อยู่ที่ขากรรไกรบนและล่าง
ครีบหลังสูงมีสีเทาและส่วนยอดปลายครีบเป็นสีดำมีขอบสีขาว ครีบท้องและครีบก้นเป็นสีเหลืองส้มสลับแดง ครีบหางเป็นเป็นสีเหลือง ขอบหางเป็นสีแดงส้ม



มีรูปร่างคล้ายปลากระแห (B. schwanenfeldi) ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกัน แต่ปลาตะเพียนทองมีเกล็ดขนาดใหญ่กว่า และครีบหลัง ครีบหางไม่มีแถบสีดำ




มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 20 เซนติเมตร

ถิ่นอาศัย
ในประเทศไทยมีอยู่ทั่วไปในน่านน้ำจืด และบางทีก็เข้าไปอาศัยอยู่ในลำคลอง หนองและบึงต่างๆ และมีชุกชุมมากในภาคกลาง



การเรียกหาชื่อปลาตะเพียนทอง เรียกต่าง ๆ กันตามภาษาท้องถิ่น

ภาคเหนือเรียกว่า ปลาโมงคำ
ภาคอีสานเรียกว่า ปลาปาก
ภาคกลางและภาคใต้เรียกว่าปลาตะเพียนทอง




อาหาร
เป็นปลาที่กินทั้งพืชและสัตว์ ได้แก่พืชใต้น้ำ สาหร่ายขนาดเล็ก แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ อินทรีสาร สัตว์หน้าดินและตัวอ่อนของแมลง และสัตว์น้ำประเภทกุ้ง



นิสัย
มีความว่องไวและปราดเปรียว เหมือนปลาตะเพียนขาว อยู่รวมกันเป็นฝูงหากินและวนเวียนอยู่ตามผิวน้ำ

พบอยู่ทั่วไปตามห้วยหนอง คลองบึง และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ของภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสานของไทย มักจะอยู่ปะปนกับปลากระแห ปลาตะเพียนขาว ด้วยกันเสมอ ๆ



ปลาตะเพียนทอง เป็นปลาที่คนไทยรู้จักกันดี โดยบริโภคเป็นอาหารมายาวนาน

สมัยโบราณถือเป็นปลานำโชค จึงนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาแห่งโชคลาภ มีการนำใบลานมาสานเป็นรูปปลาตะเพียนทอง เพื่อนำไปแขวนเพื่อเป็นสิริมงคลให้ทำมาค้าขายดีและมีความเจริญรุ่งเรือง เนื่องจากปลาตะเพียนทองเป็นปลาที่มีสีสันสวยงามสะดุดตา ปัจจุบันจึงนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม



ขอนำพาปลาตะเพียนทอง กลับลงสู่สายน้ำ ทั้งสายน้ำธรรมชาติ และตู้เลี้ยงปลาซึ่งมีชื่อของปลาชนิดนี้ขึ้นมามีกิจกรรมโลดแล่นอยู่บนบกมาเนิ่นนาน

การเรียกชื่อสรรพสิ่งต่าง ๆ บนโลกนี้ เรียกชื่อกันตามความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ของมวลมนุษย์ชาติ
โดยเฉพาะคนไทย มีการเรียกชื่อสิ่งต่าง ๆ ยกตัวอย่างชื่อของปลาชื่อที่ใช้เรียกหาปลาของคนไทยเรียกหากันหลากหลายด้วยกัน

บางที่ในทำนองอุปมาอุปมัย ความคล้ายคลึงในคุณลักษณะ เช่นปลาหวีเกศ
บางทีชื่อปลาก็กลายไปเป็นชื่อของพืชผักผลไม้ เช่นมะม่วงตะเพียนทอง
บางทีก็ใช้ชื่อของพืชผักผลไม้มาเรียกเป็นชื่อปลา เช่น ปลาใบไม้ (ปลาสลิด) ปลาดอกหมาก ปลาดอกไม้
เรียกตามรูปลักษณ์หรือคุณลักษณะ เช่น ปลาไหล ปลาน้ำเงิน ปลานิล ปลาแก้มช้ำ ปลาหางไหม้ ปลากระจก ปลาลิ้นหมา
บางทีชื่อสัตว์บกก็กลายมาเป็นชื่อปลา (เพราะความคล้ายคลึงในรูปลักษณ์บางอย่าง) เช่น ปลาเสือ ปลาแรด ปลากระทิง ปลาแพะ ปลาหมู ปลาสิงโต
บางทีชื่อของสัตว์ปีกก็มาเป็นชื่อปลา เช่น ปลานกแก้ว ปลานกกระจอก ปลานกขุนทอง ปลากา ปลาหางไก่ ปลาผีเสื้อ

คนโบราณช่างคิดกันเสียจริง ๆ



ตอนพลอยโพยมยังเด็ก ๆ เวลาลงเรือไปจับซั้ง ก็จ้องจะมองหาปลาที่สวยงามมากกว่ามองหาปลาที่กินอร่อย หรือแม้แต่กุ้งก้ามกรามตัวใหญ่ ก้ามใหญ่ ก็ไม่ค่อยสนใจนัก ปลาตัวที่น่าเกลียดเราก็ไม่อยากมองไม่กล้าจับด้วย ปลาที่ชอบมากคือปลาตะเพียนทอง แต่ก็แปลกมาก มักจะได้ปลาตะเพียนทองตัวไม่ใหญ่นัก แม้จะเป็นพันธุ์ปลาที่มีขนาดเล็กกว่าปลาตะเพียนขาว ( ปลาตะเพียนเงิน ) และปลาตะเพียนขาวที่ว่านี้ มีหลายขนาด ทั้งใหญ่ กลางและเล็ก แต่ปลาตะเพียนทองได้แต่ขนาดเล็ก



เมื่อพลอยโพยมทำหนังสือต้องออกไปถ่ายภาพโดยเฉพาะภาพปลาและเรือผีหลอก พลอยโพยมไม่มีโอกาสรู้ว่าวันไหนที่คนพายเรือผีหลอกจะเอาเรือออกแจวในระหว่างหาปลา และติดเครื่องยนต์เมื่อหาปลาเสร็จเพราะอยู่ห่างกันคนละตำบล พลอยโพยมได้รับความอนุเคราะห์จากญาติที่อยู่ตลาดวัดบางกรูดโทรศัพท์มาบอกว่าวันนี้ "เรือสำเป๊ะออกหาปลา" แล้วพลอยโพยมก็จะขับรถไปที่วัดบางกรูดไปคอยตั้งแต่ก่อนย่ำรุ่ง

หากเป็นสมัยที่อยู่ริมฝั่งน้ำหน้าวัดบางกรูดอย่างแต่ก่อน ก็แค่ออกไปที่นอกชานจะได้เห็น ได้ยินเสียงคนพายเรือผีหลอกพายเรือ ซึ่งเขาจะพายผ่านที่หน้าบ้านในช่วงที่น้ำลงแต่ไม่ถึงกับน้ำแห้ง เรือผีหลอกนิยมพายหรือแจวฝั่งแหลมเพราะมีแนวต้นไม่ชายเลน ไม้ชายน้ำที่กุ้งปลาจะมาอยู่ริมฝั่งมากกว่าฝั่งคุ้ง

เวลาจะซื้อปลาก็รอขากลับเพราะเจ้าของเรือมีบ้านอยู่เหนือบ้านพลอยโพยมขึ้นไปทางไปตัวเมือง

ญาติคนนี้ก็เหมือนพลอยโพยมที่ชอบปลาตะเพียนทอง ญาติบอกว่าชอบเอาไปให้ลูกของเขาดูเล่น ไม่เคยซื้อมากินสักที (คงเพราะปลาตัวเล็กด้วย ) ซื้อเอาไปปล่อยในกระป๋อง กระแป๋ง กะละมัง ที่มีน้ำพอให้ปลาแหวกว่ายได้ ในสมัยนั้นยังไม่มีตู้เลี้ยงปลาขาย ถ้ามีที่บ้านญาติและบ้านของพลอยโพยมเองคงได้ปลาสวยงามถูกอกถูกใจของแต่ละคน มาเลี้ยงให้ว่ายเวียนวนในตู้ปลาให้ให้เพลิดเพลินใจกันหลากหลายสายพันธุ์

คำว่าหาปลาเสร็จก็คือเวลารุ่งแจ้งแสงไข เรือผีหลอกก็จะหลอกปลาไม่ได้แล้วเพราะกุ้งปลาทั้งหลายก็จะหูตาสว่างขึ้น ไม่หน้ามืดตามัวตระหนกตกใจลนลานพานหาที่ตายเหมือนตอนดึกจนใกล้รุ่ง คนเรือจะเป็นผู้รู้ดีว่าถึงเวลาไหนต้องเลิกหาปลาแจวไปก็เหนื่อยเปล่า กลับไปหาข้าวเช้ากินที่บ้านดีกว่าแวะตลาดวัดบางกรูดที่มีคนมาดักรอซื้อปลาในเรือเสียหน่อยก่อน



ปลาตะเพียนทองเป็นปลาที่ชอบหากินตามผิวน้ำมักพบได้ตามริมฝั่ง จึงมักถูกจับได้จากการล้อมซ้ังและการพายเรือผีหลอก

โดยที่ปลาตะเพียนทองจะมีเพื่อนพ้องญาติสนิทมิตรสหายนิสัยเดียวกัน คอเดียวกันอีกหลายชนิดที่พากันชักชวนกันเข้ามาอยู่ในซั้ง (หรือกร่ำ) และถูกจับมาเมื่อถึงเวลามนุษย์ คือพ่อ และพี่ชาย น้องชาย ของพลอยโพยมเอง ช่วยกันล้อมซั้งจับกุ้งปลาในหน้าหนาวคราวน้ำแห้ง
เพื่อนพ้องของปลาตะเพียนทองเช่น ปลาตะเพียนขาว (ตะเพียนเงิน) ปลากะพง ปลากุเรา ปลาหางกิ่ว ปลาแปบ ปลาสร้อย ปลาสังกะวาด ปลาตะโกก ปลากระสูบ ปลาซิว ปลากรุงเหว หรือแม้แต่ปลาชะโด และกุ้งทั้งกุ้งเล็กกุ้งน้อย กุ้งก้ามกราม ฯลฯ อันที่จริงก็ไม่รู้ว่าใครชวนใครกันแน่ แต่ที่แน่ ๆ หากถูกจับได้ส่วนใหญ่ต้องตายเกือบหมด ยกเว้นปลาที่ไม่เป็นที่พึงประสงค์จำนงหมาย

และมิหนำซ้ำยังถูกเรือผีหลอกหลอกให้สำคัญผิด เมื่อตกใจก็กระโดดตัวลอยจากท้องน้ำขึ้นมาแล้วตกลงมานอนแอ้งแม้งในท้องเรือถ้าท้องเรือผีหลอกน้ำแห้งก็ตายในลำเรือผีหลอกนั่นเอง ถ้าโชคดีลอยไปตกในท้องเรือที่มีน้ำขลุกขลิกก็ยังมีชีวิตยืนยาวได้อีกระยะเวลาหนึ่ง



เมื่อโตขึ้นจึงได้รู้จักปลากระแห หรือกระแหทอง ก็เลยคิดว่า ปลาตะเพียนทองของชอบสมัยเด็ก ๆ ของตัวเรานั้นน่าจะเป็นปลากระแหเสียส่วนใหญ่ ที่เป็นปลาตะเพียนทองคงพบได้น้อยกว่าปลากระแห

สิ่งหนึ่งที่พลอยโพยมรู้สึกสัมผัสได้ก็คือการเรียกชื่อสิ่งต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไป เพราะคนเรียก (เช่น พ่อค้า แม่ค้า ที่ขายของ) ก็ไม่รู้จักชื่อที่ถูกต้องสิ่งที่ตนเองขายก็มีมากมาย บางทีก็ได้ยินคนอื่นเรียกมาผิด ๆ ก็จำมาแบบผิด ๆ มีทั้ง กุ้ง ปลา มะม่วง พลอยโพยมชอบคนขายของที่เวลาเราถามว่า นี่มะม่วงอะไร นี่ปลาอะไร แล้วคนขายไม่อมความอับอาย ตอบว่า เอก็ไม่รู้จักเหมือนกัน และพลอยโพยมก็ไม่เคยนึกตำหนิเขาในใจเลยว่าทำไมไม่รู้จักของที่ตัวเองขาย (ต้องนึกแค่ในใจถ้าขืนพูดออกไปอาจจะได้รู้จักฤทธิ์เดชปากแม่ค้ากันละทีนี้) ดีกว่าซี้ซั้วตอบ พลอยโพยมเคยทดสอบถามหลายครั้ง แต่บางทีพลอยโพยมเองก็ไม่รู้จักชื่อสิ่งนั้นจริง ๆ เหมือนกัน ระยะหลังจะพกกล้องติดตัวตลอดเวลา ถ่ายดะเมื่อปะหน้าประเภทนั้นเลยทีเดียว บางทีก็เพื่อตั้งใจเก็บภาพจริง ๆ บางทีก็ถ่ายภาพมาเพื่อมาหาคำตอบ

ปลากระแหทองนี้ชาวบ้านร้านตลาดเรียกเป็นปลาตะเพียนทองกันไปหมด แต่ส่วนใหญ่ที่พบเห็นจะเป็นปลาจากบ่อเลี้ยงกุ้งบ่อเลี้ยงปลา อาจเป็นไข่หรือลูกปลาที่หลงเข้ามาในระหว่างการเอาน้ำเข้าตอนเตรียมบ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาของเกษตรกรคนเลี้ยง



เมื่อไปถ่ายภาพปลาเพราะความที่ชอบปลาตะเพียนทองจึงเป็นปลาที่มีภาพถ่ายมากที่สุดในไฟล์ภาพ แต่อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ ในตู้ปลาเลี้ยงของกรมประมงตู้นี้ มีปลาตะเพียนทอง มีปลาแขยง มีปลาหางไก่ ซึ่งมีนิสัยเดียวกันคือชอบอยู่เป็นฝูง เมื่อเคลื่อนที่แหวกว่ายก็จะไปเป็นฝูง ๆ และยังมีมีกุ้งก้ามกรามตัวเล็กอยู่ร่วมด้วย การถ่ายภาพก็จะลำบากเพราะจะมีปลาตัวอื่น ๆ เข้ามาปะปน บางทีก็ว่ายมาบดบังปลาตัวที่กำลังจับภาพอยู่ แค่รอจังหวะพอจะกดชัตเตอร์ก็มีปลาตัวอื่นยื่นตัวมาเสนอหน้าที่ไม่ต้องการให้

พลอยโพยมพบว่าส่วนใหญ่ปลาหางไก่จะแหวกว่ายเป็นกลุ่มชั้นเหนือบนสุดของตู้เลี้ยงปลา ถัดมาคือปลาตะเพียนทอง ส่วนปลาแขยงจะว่ายเรี่ยระกับพื้นตู้ปลา ปลาแต่ละชนิดล้วนไปไหนไปกันเป็นฝูงของตนเอง


ปลาในเรือผีหลอก

จะเห็นปลาซิว ปลาหางไก่ ปลากระแหทอง ปลาตะเพียนทอง ปลาสร้อย ที่ตายหมดแล้วมองไม่เห็น ป.ปลา ตากลม กลอกกลิ้งไปมาแวววาว

ลูกตาของปลากลม ๆ บ่องแบ๊วน่ารักดี ถ้าปลายังมีชีวิตอยู่ตาของปลาจะกลมวาว เมื่อใกล้ตายจะค่อย ๆ ขุ่นมัว แล้วก็ตายในที่สุด

สรรพสิ่งที่เรียกหามีคำว่าทองนั้นหมายถึงทองคำ จะใช้ชื่อทองได้ก็ต้องมีสีคล้ายทอง จะเป็นเหลืองคล้ายทอง ส้มคล้ายทอง แดงอมส้มคล้ายทอง ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ เช่นดอกต้นทองกวาว ใบไม้ เช่น ต้นใบทอง ผลไม้ เช่นมะม่วงทองดำ มะม่วงทองปลายแขน ฟักทอง ที่เป็นปลา เช่น ปลาตะเพียนทอง ปลาบู่ทอง ปลาซิวทอง

มิใช่ว่าสรรพสิ่งทีมีคำว่าทองแล้วจะเป็นสิริมงคลนำโชคลาภมาให้ทั้งหมด ต้องมีคุณสมบัติหรือคุณลักษณะอื่นประกอบด้วย เช่น ต้นไม้ ที่มีใบ ที่เรียกว่าต้นใบทอง (ยังมี ใบเงิน ใบนาก อีก 2 ชนิด และมักใช้ทั้ง สาม ชนิด) ถือเป็นของสิริมงคลใช้ในงานพิธีมงคล
ผลไม้เห็นใช้ฟักทองในการตั้งเครื่องสักการะ

ปลาที่ถือเป็นสิริมงคลคือปลาตะเพียนทอง ว่ากันว่าเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ เพราะปลาตะเพียนเงินปลาตะเพียนทองจะมีมากในช่วงน้ำหลากจากทุ่ง เป็นช่วงต้นข้าวออกรวงและชาวนาปล่อยน้ำออกจากนาข้าว ชาวบ้านถือเอาปลาตะเพียนทองเป็นตัวแทนของโชคลาภความร่ำรวยด้วย นอกจากนี้ยังมีคำว่าเพียนร่วมกับคำว่าทอง เพียนก็หมายถึงความพากเพียร
และพลอยโพยมรู้สึกว่าปลาตะเพียนเป็นตัวแทนของความสมัครสมานสามัคคีกลมเกลียวอีกด้วย ไปไหนไปกันเลือดสุพรรณของปลาตะเพียนทอง ดังภาพมากมายที่พลอยโพยมนำมาสื่อทั้งที่ภาพก็ไม่ได้ชัดและเกือบไม่มีแสง ภาพมัว ๆ ก็ตามที
แต่ปลาบู่ทองกลับไม่มีความหมายในทางสิริมงคล อาจจะมีสีที่ไม่เป็นทองงดงามคล้ายคลึงทองคำเหมือนปลาตะเพียนทองที่อยู่บนพื้นลำตัวสีขาวออกสีเงิน ปลาบู่ทองมีลายริ้วสีเหลืองแซมบนตัวปลาลายสีน้ำตาลออกดำ มองแล้วพลอยโพยมรู้สึกไปเองคนเดียวว่าเหมือนลายงู
ยังมีปลาซิวทอง แม้จะดูสวยงามดี แต่ส่วนใหญ่ปลาซิวเป็นตัวแทนของปลาใจเสาะ ไม่อดทน ตายง่าย และเป็นปลาตัวเล็กไม่สื่อความอุดมสมบูรณ์เหมือนปลาตะเพียนทอง รูปร่างอวบงาม (สรุปว่า ปลาตะเพียนทองดีพร้อมงามพร้อมไปหมดทุกส่วนองค์ประกอบ)

ตามร้านค้านิยมแขวน ไซ ไว้ที่หน้าร้าน มีความหมายในการเรียกลูกค้าเข้าร้านค้าของตน
จากการที่ปลาตะเพียนทอง หมายถึงสิริมงคล โชคลาภ ความร่ำรวยต่าง ๆ ปลาตะเพียนเงินก็เลยถูกนำมาใช้ร่วมด้วย ให้คู่กันคือเงินและทอง
มิหนำซ้ำในวงการพระเกจิอาจารย์ ยังมีการปลุกเสก ไซ อุปกรณ์ดักกุ้งปลา ห้อย ปลาตะเพียนเงิน ปลาตะเพียนทอง
พลอยโพยมถามน้องชายว่า เอาไซ มาดักปลาตะเพียนเงิน ปลาตะเพียนทอง เมื่อปลาตะเพียนเงิน ปลาตะเพียนทอง เข้าไปในไซ ก็จะถูกขังจะให้โชคลาภได้อย่างไร
คำตอบคือ พระท่านลงคาถากำกับ ไว้ คาถาลงไซ ก็บทหนึ่ง เป็นการเรียกลูกค้า
คาถากำกับลงปลาตะเพียนเงิน ปลาตะเพียนทองก็คนละบทกัน อย่างไรเสียปลาตะเพียนเงิน ปลาตะเพียนทองคู่นั้นก็ไม่เข้าไปอยู่ใน ไซ แน่นอน รับรองมีแต่จะให้มีโชคลาภ ร่ำรวย.. ตามความเชื่อของคนที่หามาแขวน
และปลาก็ห้อยใต้ไซ ไม่ได้อยู่ในไซ สักกะหน่อย ถูกคาถากำกับด้วยไม่ว่ายเข้าไปในไซหรอกน่า

อันที่จริงคาถามากมายสารพัดคาถา ในปัจจุบันก็แต่งเติมเสริมเข้ามาในพิธีการต่าง ๆ กันเอง

ที่มาของข้อมูล กรมประมง และวิกิพีเดีย
ภาพ จากกรมประมง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น