วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555

[บทความ] ครั้งหนึ่งนานมา..ปลาหางไหม้

ครั้งหนึ่งนานมา..ปลาหางไหม้

เป็นเรื่องราวกล่าวถึงตำนานปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยที่ในวันนี้ไม่มีได้พานพบเสียแล้ว............
ขอคัดย่อบทความของคุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์ เรื่อง
"ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย ก่อนที่จะไม่เหลือแม้แต่ความทรงจำ (The untold story of the Siamese Bala Shark) " มาดังนี้
ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย

ช่วงเวลาย้อนกลับไปราวๆ 40-50 ปีที่แล้ว ในสมัยที่ปลาหางไหม้ที่มีขาย เป็นปลาขนาด 4 นิ้วขึ้นไป ปลาในตู้มีหลากหลายขนาด เป็นปลาที่ตื่นกลัว ไม่คุ้นกับที่เลี้ยงแคบๆ ปลาหางไหม้ในยุคนั้นไม่ได้มีโคนครีบใส ๆ เหมือนปลาในยุคนี้ แต่มีโคนครีบสีเหลือง และมีขอบสีดำที่แคบกว่า เป็นปลามีเกล็ดบนลำตัวสีเหลืองอ่อนๆ ปากมนทู่กว่าปลาในยุคปัจจุบัน ในยุคนั้นปลาหางไหม้ไม่ได้มีมาขายตลอดทั้งปี แต่จะมีขายเฉพาะช่วงกลางและปลายฤดูฝนเท่านั้น ปลาพวกนี้เลี้ยงยาก และมีราคาแพงทีเดียว เมื่อเทียบกับค่าของเงินในสมัยนั้น


ภาพจากอินเทอร์เนท

ปลาหางไหม้ในยุค พ.ศ. 2510 นั้นเป็นปลาหางไหม้ที่จับจากธรรมชาติในประเทศไทย ปลาในยุคนั้นคนที่เคยสัมผัสและพอจะจำได้ ก็คงเป็นคนรุ่นอายุ 60 บวกลบ 5-10ปี ซึ่งอยู่ในแวดวงปลาสวยงาม หรือเป็นชาวบ้านที่จับปลาจากลุ่มน้ำธรรมชาติ เป็นปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยในอดีต มีรายงานว่าพบชุกชุมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปากน้ำโพ บึงบอระเพ็ด จ.ชัยนาท นครศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ รวมไปถึงแม่น้ำปิงและน่าน นอกจากนั้นยังมีรายงานพบในลุ่มแม่น้ำป่าสัก เป็นจำนวนมาก และมีบ้างไม่มากนักในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง

พ.ศ. 2510 นั้น เป็นยุคที่ประเทศไทยเริ่มส่งออกปลาสวยงามไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก ปลาหลัก ๆ ที่ได้รับความนิยมมีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิดคือ ปลาทรงเครื่อง ปลากาแดง และ ปลาหางไหม้ ซึ่งจัดเป็นปลาราคาสูงของไทย จากคำบอกเล่าของผู้ส่งออกปลาสวยงามในยุคนั้น ปลาทรงเครื่องและปลากาแดงนั้น จับกันมากในเขตลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ไล่ตั้งแต่ตัวจังหวัดกาญจนบุรีลงมาทางอำเภอท่าม่วง และมาสิ้นสุดเอาแถว ๆ อำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธารามจังหวัดราชบุรี ส่วนปลาหางไหม้นั้นจับกันมากในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและป่าสัก



ภาพจากอินเทอร์เนท


ในสมัยที่ลุ่มแม่น้ำในประเทศไทยยังไม่มีการสร้างเขื่อน เมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำจะไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ พืชบกทั้งหลาย เช่นหญ้า กก หรือแม้แต่ตอซังข้าวจะเริ่มเน่าเปื่อยกลายเป็นอาหารของสัตว์เล็ก ๆ ซึ่งจะกลายมาเป็นอาหารของพวกลูกปลาอีกต่อหนึ่ง พ่อแม่ปลาจะตามกลิ่นน้ำใหม่เข้ามาวางไข่และผสมพันธุ์กันในพื้นที่น้ำท่วมเหล่านี้

น้ำหลากในยุคที่ประเทศไทยยังไม่มีสิ่งก่อสร้างถนน หรือการถมที่เพื่อการก่อสร้างอื่น ๆ ขวางการไหลของน้ำ น้ำหลากในยุคนั้นคือธรรมชาติของที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำขนาดใหญ่ น้ำที่ไหลบ่ามาจะหนุนเนื่องทำให้น้ำไหลหลากไม่นิ่งขัง น้ำจะไม่เสีย พืชยืนต้นจะไม่ตาย โรคจะไม่ระบาด และคนก็อยู่ร่วมกับน้ำได้ น้ำจะนำพาเอาตะกอนดิน เอาแร่ธาตุและความอุดมสมบูรณ์มาสู่ไร่นา เอาปลามาให้กินถึงใต้ถุนบ้าน ก่อนที่น้ำจะค่อย ๆ แห้งลง ช่วงนั้น ลูกปลาต่าง ๆ จะตามน้ำกลับลงไปสู่แม่น้ำสายหลัก

ช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะในการรวบรวมพันธุ์ปลา สำหรับพวกกลุ่มปลากาแดงและปลาทรงเครื่องนั้น คุณวิฑูรย์ เทียนรุ่งศรี ซึ่งทางบ้านทำกิจการค้าส่งปลาสวยงามในนามของบริษัท ไวท์เครน อควาเรียม มายาวนานและในปัจจุบันก็ยังเป็นที่รู้จักกันดีในวงการปลาสวยงาม เล่าย้อนความหลังในยุคนั้นให้ฟังว่า

ในช่วงต้นฤดูฝน หรือประมาณกลางเดือน พฤษภาคม เป็นช่วงที่โรงเรียนเพิ่งเปิด พอกลับมาจากโรงเรียน คุณวิฑูรย์ก็จะไปหาซื้อปลาพวกนี้กับคุณแม่ วิธีการจับในสมัยนั้น ใช้ฟางข้าวมัดเป็นกำใหญ่ๆ แล้วลอยไว้ตามทุ่งน้ำท่วม โดยโยงเชือกผูกหลักไว้ไม่ให้ไหลหนี ทิ้งไว้ไม่นานลูกปลาจะเข้าไปหลบอาศัยอยู่ ก็ใช้สวิงขนาดใหญ่ช้อนรวบขึ้นมาทั้งกอ ปลาที่ได้จะเป็นลูกปลาขนาดเล็กมาก คือตัวประมาณเมล็ดข้าวสาร ปะปนกันมาหลายชนิด แต่ปลาที่รับซื้อเป็นหลักจริง ๆ จะมีแค่ 3 ชนิดคือ ปลากาแดง ปลาทรงเครื่อง และปลาลูกผึ้ง

สำหรับ ปลากาแดงและปลาทรงเครื่องเป็นปลาราคาแพงในสมัยนั้น เรียกว่าขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารนี้ ราคาทั่ว ๆ ไปจะอยู่ที่ประมาณ 10 สตางค์ ในปีใดที่มีน้อย ๆ หรือในช่วงต้นและปลายฤดูราคาอาจขึ้นไปถึง 25 สตางค์ ส่วนปลาขนาดใหญ่ที่มีขนาด 2 นิ้วขึ้นไปนั้นในยุคหลังที่ปลาเริ่มมีน้อยในธรรมชาติตัวหนึ่ง ๆ อาจมีราคาสูงถึงตัวละ 10 บาท ซึ่งนับว่าเป็นปลาที่แพงมากในสมัยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ส่วนปลาลูกผึ้งนั้นราคาถูก ตวงขายกันเป็นกระป๋องนม แต่ก็ถือเป็นปลาหลักที่มีความต้องการมากเช่นกัน


ในยุคที่ปลากาแดงและปลาทรงเครื่องมีราคาแพงนั้น ปลาอีกชนิดที่หาได้ยากกว่าและมีราคาแพงกว่าก็คือปลาหางไหม้ ปลาชนิดนี้คุณวิฑูรย์เล่าว่ามีราคาเฉลี่ยประมาณ 50 สตางค์ หรือในบางฤดูที่หายากอาจจะถึง 1 บาท ปลาหางไหม้ จะมีฤดูกาลจับในช่วงปลายฤดูฝนในช่วงที่น้ำเริ่มลดลง หลังจากที่น้ำหลากท่วมทุ่ง ชาวประมงจะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่าลี่ เป็นการวางตาข่ายดักขวางทางไหลลงของน้ำ เพื่อดักปลาที่กำลังย้อนกลับลงสู่แม่น้ำสายหลัก นอกจากนั้นก็ยังจับปลาหางไหม้ด้วยอุปกรณ์จับปลาอื่น ๆ เช่น ยอ ล้อมกร่ำ และโพงพาง โดยการประมงนี้เป็นการจับปลาเพื่อนำมากิน และทำการแยกปลาหางไหม้ไว้เพื่อขายเป็นปลาสวยงามเพิ่มมูลค่า ปลาที่จับได้ในช่วงนี้มีขนาดตั้งแต่ 4 นิ้วขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดต้องการ โดยปลาหางไหม้ขนาดประมาณ 4 นิ้วนี่น่าจะเป็นปลาที่เกิดในต้นฤดูฝนของปีนั้น ๆ



ลี่ อุปกรณ์จับปลาล้างผลาญแบบกั้นหมดลำน้ำที่ยังหลงเหลือมาจนถึงยุคปัจจุบัน


อีกท่านที่เคยได้สัมผัสกับปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยคือ คุณพิบูลย์ ประวิชัย ในวัย 76 ปี ท่านเป็นหุ้นส่วนของบริษัท สมพงษ์ อควาเรียม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกปลาสวยงามของไทยในยุคเริ่มต้นเช่นกัน

คุณพิบูลย์ได้กรุณาเล่าให้ผู้เขียน ( คุณนณณ์ ผาณิตวงศ์ ) ฟังทางโทรศัพท์ด้วยน้ำเสียงแจ่มชัด เหมือนเรื่องราวเพิ่งเกิดมาไม่นานนักว่า เริ่มรวบรวมและส่งออกปลาหางไหม้ในช่วงปี พ.ศ. 2498 แต่ในปีแรกยังไม่ทราบแหล่งที่แน่นอนจึงได้ไม่เยอะนัก มาได้เป็นจำนวนมากก็ในปีถัดไป คือในปี พ.ศ. 2499 ที่ตำบลบางลี่ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ชาวประมงในแหล่งนี้ จะทำการกั้นลี่ในแม่น้ำป่าสัก เพื่อดักจับปลาที่จะลงมาหลังจากฤดูน้ำหลาก โดยแต่เดิมปลาหางไหม้จะถูกโยนทิ้งกลับลงแม่น้ำไปเนื่องจากมีรสขมทานไม่อร่อย บริษัทจึงเข้าไปรับซื้อปลาดังกล่าว เริ่มจากตัวละ 1 บาท ในยุคที่ปลาอื่น ๆ กิโลกรัมละ 1 บาท ซึ่งถือว่าให้ราคาดีมาก ในช่วง 2-3 ปีแรกนั้น บริษัทสมพงษ์ อควาเรียม ส่งออกปลาหางไหม้ปีละ 7,000-8,000 ตัว โดยจะส่งเฉพาะปลาขนาดประมาณ 3-5 นิ้ว ใหญ่สุดไม่เกินหนึ่งคืบ ตัวขนาดใหญ่จะไม่รับซื้อเนื่องจากไม่เป็นที่ต้องการของตลาดและอยากให้ชาว บ้านปล่อยปลาเหล่านี้ให้ไปสืบพันธุ์ต่อ โดยตัวใหญ่ที่สุดที่จับได้นั้นมีขนาดประมาณ 13 นิ้ว ซึ่งได้นำมาเลี้ยงไว้ที่บ้านหลายปี

คุณพิบูลย์เล่าว่าเครื่องมือประมงชนิดล้างผลาญ เริ่มมีเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะพวกระเบิด ซึ่งทำให้ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติลดจำนวนลงมากและสำหรับปลาหางไหม้นั้นก็ลดจำนวนลงทุกปี จนกระทั่งปีสุดท้ายที่บริษัทฯ ได้ปลาหางไหม้จากธรรมชาติเพื่อส่งขายคือปี พ.ศ.2515 โดยในปีนั้นได้ปลาไม่ถึงร้อยตัว และในปีต่อ ๆ มา ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยก็กลายเป็นปลาหายากที่จับกันได้ปีหนึ่งไม่กี่ตัว และหายไปในที่สุด


ปลาหางไหม้สายพันธุ์จากประเทศอินโดนีเซีย (B. melanopterus) ที่มีขายในตลาดปลาสวยงามบ้านเราในปัจจุบัน

ปัญหาของปลาหางไหม้เป็นปลาที่เปราะบาง เกล็ดหลุด ครีบแตก และตกใจตื่นกลัวง่าย นอกจากนั้นยังเป็นปลาที่กระโดดได้เก่งมาก (มีรายงานว่าปลาหางไหม้สามารถกระโดดได้สูงถึงสองเมตรจากผิวน้ำ) สรุปคือปลาหางไหม้เป็นปลาที่มีอัตรารอดต่ำกว่าปลาอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ จากปลานับหมื่นตัวที่ผ่านรังปลาไปนั้น คงมีอีกหลายเท่าที่ตายไปก่อนที่จะถึงมือผู้รับซื้อ ปลาหางไหม้จึงเป็นปลาที่มีราคาแพงเมื่อเทียบกับปลาอื่น ๆ

ศาสตราจารย์ วิทย์ ธารชลานุกิจ ซึ่งคลุกคลีกับปลาสวยงามของไทยมายาวนาน ได้ให้ข้อมูลว่า ปลาหางไหม้ในตลาดปลาสวยงามของไทยนั้น ราคาขึ้นเร็วมาก เรียกว่าแทบจะขึ้นไปเท่าตัวในทุก ๆ ปี เริ่มจาก 25 สตางค์ เป็น 50 สตางค์ เป็น 1 บาท 5 บาท 10 บาท 100 บาทและในช่วงที่ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยถูกยกสถานะให้เป็นปลาที่ใกล้สูญ พันธุ์จากแหล่งน้ำธรรมชาตินั้น เศรษฐีนักสะสมปลาสมัยนั้น ซื้อ/ขายกันที่ราคากว่า 2,000 บาทเลยทีเดียว อาจารย์เปรียบเทียบว่า หางไหม้ในสมัยนั้นก็เหมือนปลาเสือตอในสมัยนี้ที่ใกล้สูญพันธุ์ และเหลือน้อยมากในธรรมชาติแต่ก็ยังมีผ่านเข้ามาในตลาดปลาสวยงามบ้าง และขายกันในราคาที่สูงมาก



ภาพ ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย (Belantiocheilos ambusticauda) จากหนังสือเก่าของประเทศนอร์เวย์

ความเปราะและขี้ตกใจของปลาหางไหม้นี้ ไม่ได้อยู่แค่เพียงที่ขั้นตอนจับเท่านั้น ข้อมูลนี้ผู้เขียน( คุณนณณ์ ผาณิตวงศ์ ) ได้มาจาก Max Gibbs เจ้าของร้านขายปลาสวยงามขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งบนเกาะอังกฤษ ซึ่งปีนี้มีอายุเกือบ 70 ปีแล้ว ปู่แม๊กเล่าให้ฟังเกี่ยวกับปลาหางไหม้จากประเทศไทยที่เขานำเข้าในยุคเริ่มแรกไว้อย่างน่าสนใจว่า

เรื่องแรก คือเขาจำได้แม่นยำว่าปลาหางไหม้จากประเทศไทยในยุคแรกนั้นเป็นปลาที่มีครีบสี เหลืองขลิบดำ ไม่ใช่ปลาครีบใสเหมือนในปัจจุบัน เขายังจำได้อีกว่าปลาที่ได้รับมักเป็นปลาขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ คละขนาดกัน ไม่ได้ตัวเท่ากันหมดเหมือนในยุคนี้ และที่ปู่จำได้แม่นที่สุดคือปลาชนิดนี้ตายง่ายเหลือเกิน เขาเล่าว่า ในตอนแรก ๆ ปลาที่นำเข้ามามีอัตราตายสูงมาก ในตอนหลังเขาจึงพัฒนาวิธีขึ้นมาซึ่งก็ได้เล่าให้ผม ( คุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์ ) ฟังคร่าว ๆ ว่า เมื่อรับปลามาจากสนามบินแล้ว ต้องรีบนำมาไว้ในห้องมืด ปรับอุณหภูมิ เปิดไฟสลั่ว แล้วจึงค่อย ๆ เปิดถุง ถ่ายปลาลงภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วจึงค่อย ๆ หยดน้ำของที่ร้านลงไปทีละหยด ๆ ในขณะเดียวกันก็ค่อยเปิดไฟให้สว่างขึ้นเรื่อย ๆ เรียกว่าใช่เวลาเป็นวัน กว่าที่จะค่อย ๆ ปรับปลาหางไหม้ในยุคนั้นให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของร้านและนำออกขายได้ ซึ่งปู่แม๊กบอกว่าเมื่อปรับตัวได้แล้ว ปลาหางไหม้ก็เป็นปลาที่เลี้ยงง่ายชนิดหนึ่ง เขายังเล่าอีกว่า ในยุคนั้นปลาหางไหม้จากประเทศไทยไม่ได้มีส่งขายทั้งปีแต่จะมีมาเป็นฤดูกาลเท่านั้น

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ข้อมูลที่ตรงกันอย่างหนึ่งของคนที่เคยเห็นปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยก็คือ ปลาชนิดนี้มีครีบสีเหลืองขลิบดำ (บางท่านบอกว่าเป็นสีแดงหมากสุกด้วยซ้ำ) ต่างจากปลาในยุคปัจจุบันที่เชื่อว่าเป็นปลาที่ได้มาจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีฐานครีบใสหรือขาวขุ่นๆ

คำถามที่น่าสนใจคือ เกิดอะไรขึ้นกับปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย ทำไมปลาหางไหม้ถึงหายไปกันหมด ทั้งจากในธรรมชาติ และในที่เลี้ยง

จากการสอบถามชาวประมงรุ่นเก่าในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และข้อมูลจากรังปลาในยุคนั้น พวกเขาระบุว่าปลาหางไหม้ เริ่มมีน้อยลงหลังจากที่จับกันได้สัก 5-10 ปี คือราว ๆ ปีพ.ศ. 2510 บวก/ลบ ประมาณ 5 ปี จำนวนลดลงนี้ ปลาหางไหม้ไม่ได้ค่อย ๆ ลด ไม่ได้จับได้น้อยลงเรื่อย ๆ แต่ปลาลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบและหายไปจากสารบบอย่างน่าแปลกใจภายในช่วงเวลาไม่ กี่ปี



เขื่อนพระราม 6 เขื่อนทดน้ำแห่งแรกของไทย
ภาพจากอินเทอร์เนท

เกิดอะไรขึ้นกับปลาหางไหม้

ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบนิเวศของปลาน้ำจืดอย่าง อ.ชัยวุฒิ กรุดพันธ์ บอกว่า ถ้าย้อนกลับไปดูยุคนั้นจะเห็นว่าเป็นยุคที่กำลังมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสายหลัก ๆ ในประเทศไทย เกือบทุกสาย ทั้ง ปิง น่าน เจ้าพระยา แควน้อย แควใหญ่ และแม่กลอง การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทยล้วนเกิดขึ้นในช่วง ระหว่างปี 2467 ถึงประมาณ 2528



เขื่อนพระราม 6 เขื่อนทดน้ำแห่งแรกของไทย
ภาพจากอินเทอร์เนท

ชื่อเขือนขวางแม่น้ำปีพ.ศ.ที่แล้วเสร็จ คือเขื่อนพระราม 6 ป่าสัก2467 เขื่อนเจ้าพระยาเจ้าพระยา2499 เขื่อนภูมิพลแม่ปิง2507 เขื่อนแม่กลองแม่กลอง2514 เขื่อนสิริกิติ์แม่น้ำน่าน2515 เขื่อนศรีนครินทร์แควใหญ่2523 เขื่อนวชิราลงกรณแควน้อย2528

ในช่วงนั้นน้ำที่เคยหลากท่วมทุ่งกลับถูกกักไว้ในเขื่อน เมื่อขาดทุ่งน้ำท่วม ปลาก็ขาดแหล่งทำรัง วางไข่ และ ขาดแหล่งอนุบาลของลูกปลาวัยอ่อน ปลาน้ำจืดของประเทศไทยมีจำนวนลดลงอย่างมากในช่วงนั้น ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มปลาที่หายากมากในธรรมชาติของบ้านเราในปัจจุบัน เช่นปลากาแดง ปลาทรงเครื่อง ปลาหมูอารี ปลาซิวสมพงษ์ และ ปลาหางไหม้ เมื่อปลาขนาดเล็กลดลง กลุ่มปลาล่าเหยื่อก็หายไป อย่างเช่นในลุ่มเจ้าพระยานั้น ปลาเทพา และ ปลาฝักพร้า ซึ่งเป็นปลาล่าเหยื่อได้หายไปจากลุ่มน้ำอย่างถาวร





ซึ่งสมมุติฐานนี้ก็ไปตรงกับข้อมูลในหนังสือ “ปลาไทย”ซึ่งเขียนโดย คุณวันเพ็ญ มีนกาญจน์ และตีพิมพ์โดยกรมประมงในปีพ.ศ. 2528 ซึ่งเขียนไว้เกี่ยวกับการสูญพันธุ์ของปลาหางไหม้ว่า “หลังจากการสร้างเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท (ในปีพ.ศ 2499) ปรากฏว่าปริมาณปลาหางไหม้ในแหล่งน้ำธรรมชาติลดน้อยลงมาก จนถึงปัจจุบันไม่เคยปรากฏว่าพบปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติอีกเลย เข้าใจว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว”


ดร. ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญปลาไทยอีกท่านหนึ่ง ให้ความเห็นว่า หากนำจำนวนตัวอย่างของปลาหางไหม้ในพิพิธภัณฑ์ของไทย เปรียบเทียบกับปลาชนิดอื่น ๆ ที่เก็บตัวอย่างในยุคเดียวกัน จะเห็นว่าตัวอย่างปลาหางไหม้มีอยู่น้อยมาก ซึ่งทำให้คาดเดาได้ว่าปลาหางไหม้นั้น แต่เดิมแม้แต่ในธรรมชาติเมื่อเปรียบเทียบกับปลาชนิดอื่น ก็เป็นปลาที่มีจำนวนไม่มากอยู่แล้ว จึงมีความเป็นไปได้สูง ที่ปลาหางไหม้ อาจจะต้องการปัจจัยเฉพาะอะไรสักอย่าง ซึ่งมีอยู่น้อยในธรรมชาติเพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ เมื่อมนุษย์ได้ทำลายตรงนั้นไปแล้ว ปลาหางไหม้ จึงไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไป

ข้อมูลนี้ขัดกับข้อมูลที่ได้จากคุณพิบูลย์ ประวิชัย ซึ่งระบุว่าปลาหางไหม้นับเป็นปลาที่มีมากชนิดหนึ่งในลุ่มแม่น้ำป่าสัก ประมาณว่าในจำนวนปลาที่จับได้จากลี่จำนวน 100 ตัวจะมีปลาหางไหม้ปนอยู่ถึง 10 ตัว




ที่น่าสนใจคือ แม้แต่หางไหม้ในประเทศอินโดนีเซียเอง ทั้งบนเกาะชวาและบอร์เนียวก็มีจำนวนลดลงอย่างมากเช่นกัน โดยในลุ่มน้ำ Batang Hari บนเกาะชวานั้นมีรายงานว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ส่วนในลุ่มน้ำ Danau Sentarum บนเกาะบอร์เนียวก็มีรายงานว่าเป็นปลาหายากและลดจำนวนลงอย่างมากมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจน แต่จากรายงานระบุว่า ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่าปลาลดจำนวนลงเนื่องจากการจับขายเพื่อเป็นปลาสวยงาม และการเกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในปีเดียวกันนั้น ทำให้น้ำในแม่น้ำเน่าเสียด้วย



เพราะเหตุใดการที่น้ำไม่ท่วมทุ่ง หรือน้ำเสีย หรือปัจจัยใดที่มีผลกับปลาหางไหม้มากกว่ากัน
หรือทำไมปัจจัยเหล่านี้จึงมีผลกับปลาหางไหม้มากกว่าปลาชนิดอื่น ๆ เป็นไปได้หรือไม่ที่ปลาหางไหม้มีวัฏจักรชีวิตที่ต้องพึ่งพาทุ่งน้ำท่วมมากกว่า ปลาชนิดอื่น ๆ หรือมีความสามารถในการต้านทานน้ำเสียและสารเคมีน้อยกว่าปลาชนิดอื่น ๆ

หรืออาจจะเป็นเพราะประชากรของปลาหางไหม้ในธรรมชาติแต่เดิมก็ไม่ได้มีมากมายอะไรอยู่แล้ว และเมื่อถูกจับรวบรวมเป็นปลาสวยงามหลาย ๆ ปีติดต่อกัน ปลาจึงหมดไปอย่างรวดเร็ว เพราะถ้าจะลองคิดดูให้ดี ปลาที่หายากหรือสูญพันธุ์ในยุคปัจจุบัน หลายชนิดเป็นปลาที่เคยถูกจับขายเป็นจำนวนมากในยุคก่อน เช่นปลากาแดง ปลาทรงเครื่อง ปลาหมูอารี และปลาหางไหม้

มองในอีกแง่หนึ่งหรือเป็นเพราะการจับปลาหางไหม้ในยุคนั้นเน้นการจับปลาที่ลงจากทุ่งน้ำท่วม เมื่อน้ำไม่ท่วม วิธีการจับที่เคยใช้ได้ผลมาหลายปีจึงไม่สามารถจับปลาหางไหม้ได้อีก

หรือจริง ๆ แล้วปลาหางไหม้ยังมีอยู่ แต่ในปัจจุบันเครื่องมือประมงที่สามารถจับปลาหางไหม้ได้กลายเป็นเครื่องมือผิดกฏหมายไปหมดแล้วจึงไม่สามารถจับปลาหางไหม้ได้อีก

ตอนนี้ดูเหมือนว่าจะสายไปแล้วที่จะหาคำตอบ


ปลาหางไหม้อินโดฯเข้ามาในประเทศไทย

คุณวิฑูรย์ เล่าให้ผม ( คุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์ ) ฟังว่า เมื่อปลาจากไทยเริ่มจับได้ลดลง ทางคุณพ่อจึงเริ่มขยับขยายหาปลาจากประเทศอื่นมาเสริม ซึ่งก็หาได้จากประเทศอินโดนีเซีย ในยุคนั้นประเทศไทยยังเปิดให้มีการนำเข้าและส่งออกปลาน้ำจืดอย่างเสรี การนำเข้าปลาจากต่างประเทศจึงทำได้โดยง่าย ซึ่งข้อดีอีกอย่างของปลาหางไหม้จากประเทศอินโดนีเซียก็คือ ปลาจากอินโดฯจะมีเข้ามาในช่วงที่ปลาในประเทศไทยขาดตลาดพอดี ซึ่งคงจะเป็นเพราะ ประเทศไทยนั้นอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตร ฤดูกาลจึงตรงกันข้ามกันพอดี ฤดูจับจึงอยู่คนละช่วงเวลาของปี

การปรับตัวของผู้ส่งออกในยุคนั้นอีกวิธีคือความพยายามที่จะผสมพันธุ์ปลาเหล่านี้ขึ้นเองในที่เลี้ยง ซึ่งในจังหวะที่ปลาในธรรมชาติกำลังลดลงนั้น เทคโนโลยีการผสมเทียมก็เข้ามาในบ้านเราพอดี จากข้อมูลที่มีอยู่ ประเทศไทยประสพความสำเร็จในการผสมเทียมปลาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2510 ซึ่งปลาชนิดแรกนั้นก็คือปลาสวาย



ต่อมาจึงมีการนำเทคนิคดังกล่าวมาประยุกต์ใช้กับปลาสวยงาม ซึ่งคนแรก ๆ ที่ทำสำเร็จก็คือ คุณสำรวย มีนกาญจน์ ซึ่งกรุณาให้ผม ( คุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์ )ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ คุณสำรวยเล่าว่า

เริ่มผสมเทียมพวก ปลากาแดง และปลาทรงเครื่องในปี พ.ศ. 2512 ในยุคนั้น นอกจากจำนวนปลาที่ลดลงแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความพยายามที่จะผสมพันธุ์ปลากาแดงก็คือ การค้นพบปลากาแดงจากแหล่งนครพนม จากเดิมที่ปลากาแดงจะถูกจับจากแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งปลาที่แม่กลองนี้จะมีลำตัวออกสีเทาและมีครีบและหางสีส้ม ในขณะที่ปลาจากนครพนมกลับมีลำตัวสีดำขลับและมีครีบและหางสีแดงเข้ม เป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่า แต่ปลากาแดงที่จับได้จากนครพนม มีขนาดใหญ่เกินกว่าความต้องการของตลาด และจับได้น้อย จึงเกิดความพยายามที่จะผสมเทียมปลากาแดงจากนครพนมขึ้นมา จนสำเร็จในที่สุด

คุณสำรวยเล่าว่า ในยุคที่เราเริ่มผสมเทียมปลาสวยงามได้นั้น ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยก็ลดจำนวนลงจนเกือบจะหมดไปอยู่แล้ว ประมาณว่าในยุคนั้นเหลือปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยแท้ ๆ อยู่ในฟาร์มไม่เกิน ๑๐๐ ตัว และได้มีความพยายามที่จะผสมเทียมปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยเช่นกัน แต่ก็ไม่ประสพความสำเร็จ จนอีกไม่กี่ปีต่อมาก็ประสพความสำเร็จในการผสมเทียมปลาหางไหม้จากประเทศ อินโดนีเซีย ในขณะที่ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำ มารู้ตัวอีกที ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยก็หมดไปเสียแล้ว



น่าเสียดายที่เทคโนโลยีการผสมเทียมพันธุ์ปลานั้นคลาดเวลากับปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยไปเพียงไม่กี่ปีเท่านั้นเอง เพราะในทางวิชาการ ยังมีการพบตัวอย่างปลาหางไหม้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่จนกระทั่งช่วงปี พ.ศ. 2516 จากคณะสำรวจของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งนำคณะโดย อ.ประจิตร วงศ์รัตน และมีตัวอย่างจากแม่น้ำแม่กลองในเขตจังหวัดสมุทรสงคราม โดย ธงชัยและคณะ ในปีพ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ใหม่ที่สุดของปลาหางไหม้ในประเทศไทยเท่าที่ผม ( คุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์ ) ค้นเจอ นอกนั้นตัวอย่างที่พบในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมประมง ส่วนใหญ่จะเป็นตัวอย่างยุคที่เก็บโดย ดร. Huge M. Smithชาวอเมริกัน

ดร. Huge M. Smithชาวอเมริกัน เป็นเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำ (กรมประมงในปัจจุบัน) คนแรกของเมืองไทย
ซึ่งก่อนหน้านั้นได้เป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลไทยและทำการสำรวจปลาไทยในหลาย ลุ่มน้ำ โดยตัวอย่างปลาหางไหม้ของ ดร.สมิท นั้นมีไล่ตั้งแต่แม่น้ำน่านช่วงก่อนถึงปากน้ำโพ ในจังหวัดนครสวรรค์ แม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดชัยนาท และ จังหวัดอยุธยา รวมไปถึงในแม่น้ำป่าสักบริเวณใต้เขื่อนพระราม 6 (บางครั้งก็เรียกว่าเขื่อนท่าหลวง เนื่องจากตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าหลวง จังหวัดลพบุรี) ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2466-2468 และมีอีก 2 ชุดซึ่งเก็บโดยนายโชติ สุวัตถิ เจ้าหน้าที่กรมประมง จากแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดอุทัยธานี และ จังหวัดอยุธยา ในปีพ.ศ. 2477


ภาพปลาหางไหม้ วาดโดยหลวงมัศยจิตรการ ในช่วงปีพ.ศ.2450

แต่ที่น่าสนใจและอยากจะเอ่ยถึงที่สุดคือในวิทยานิพนธ์ของคุณ สมเดช ศรีโกมุท ซึ่งสำรวจปลาจากเครื่องมือประมงโพงพางเสาหลักในเขตจังหวัดอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2507 ในรายงานฉบับนั้นมีปลาน้ำจืดที่หายากมากในปัจจุบันของประเทศไทยอยู่หลายชนิด ด้วยกัน เช่น ปลาเสือตอลายใหญ่ ปลาหวีเกศ ปลายี่สกไทย และ ปลาหางไหม้ ถ้าใครเจอปลาทั้ง 4 ชนิดในยุคนี้พร้อมกันในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนในวิทยานิพนธ์ คงได้ช๊อคสลบกันบ้าง เพราะในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าปลาเสือตอลายใหญ่ จะมีรายงานบ้างปีสองปีได้ตัวหนึ่ง ถึงแม้ว่าปลายี่สกไทยจะยังพบบ้างในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำโขง แต่ในลุ่มเจ้าพระยานั้นหายไปนานมากแล้ว และปลาที่หายไปเลยอย่างไม่หวนกลับไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำไหนในประเทศไทยก็คือ ปลาหวีเกศและปลาหางไหม้


ตัวอย่างปลาหางไหม้ไทยจากพิพิธภัณฑ์ ม.เกษตรศาสตร์

ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยตัวสุดท้าย

นอกจากรายงานและตัวอย่างทางวิชาการแล้ว รายงานการพบปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยตัวสุดท้ายนั้น เป็นของ
คุณกิตติพงศ์ จารุธานินทร์ แห่งร้านแม่น้ำ ซึ่งค้าขายปลาจากธรรมชาติในประเทศไทยมาหลายสิบปี คุณกิตติพงศ์ เล่าให้ ผม ( คุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์ ) ฟังว่า ในสมัยเด็ก ๆ ปลาหางไหม้ตัวแรกที่เห็นนั้นอยู่ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2512 เป็นปลาที่ขายอยู่ในร้าน ANA Supply ซึ่งเป็นร้านขายปลาใหญ่ อยู่แถว ๆ ด้านตรงข้ามกับห้างมาบุญครองในปัจจุบัน ในตอนนั้นจำได้แม่นยำว่าปลาหางไหม้ราคาตัวละ 100 บาท เป็นเงินที่เยอะมากสำหรับเด็กประถมในสมัยนั้น


แต่ยังมีที่น่าสนใจกว่านั้นคือการพบปลาหางไหม้ตัวสุดท้าย ซึ่งคุณกิตติพงศ์เล่าว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2529 เป็นช่วงที่ตระเวนจับปลาขนาดใหญ่เพื่อนำมาส่งให้กับบ่อตกปลาที่เปิดขึ้นเยอะมากในยุคนั้น วิธีการหนึ่งที่คุณกิตติพงศ์ใช้ในการหาปลา คือการเหมาบ่อหรือร่องสวนเก่า ๆ เพื่อวิดน้ำแล้วนำปลาขนาดใหญ่ที่ค้างตามบ่อเหล่านั้นไปขาย และหนึ่งในจุดที่ได้ปลาเยอะก็คือ ตามร่องสวนส้มเก่าของเขตบางมด ซึ่งร่องสวนเหล่านี้จะมีการผันน้ำเข้ามาจากคลองสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา ในการผันน้ำหรือในกรณีที่เกิดน้ำท่วมนั้น ปลาจากแม่น้ำก็จะหลุดเข้ามาอาศัยและเติบโตอยู่ในร่องสวน โดยร่องสวนเหล่านี้มักจะมีปลาขนาดใหญ่ ๆ โดยเฉพาะปลากระโห้ขนาดหลายสิบกิโล ซึ่งเป็นปลาที่เป็นเป้าหมายหลัก



แต่ในการวิดน้ำครั้งหนึ่งในสวนส้มขนาดใหญ่ริมคลองราชบูรณะ ในปีพ.ศ. 2529 นั้นคุณกิตติพงศ์ จับได้ปลาหางไหม้ขนาดความยาวเกือบฟุต ตัวหนึ่ง ซึ่งจากลักษณะที่บรรยายให้ฟังนั้น ตรงกับลักษณะปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย เป็นที่น่าเสียดายที่ปลาตัวดังกล่าวบอบช้ำมากจากการจับและตายลงในวันรุ่งขึ้น โดยที่คุณกิตติพงศ์ก็ไม่ได้ถ่ายภาพปลาตัวนั้นไว้ ถ้าหากปลาหางไหม้ตัวดังกล่าวเป็นปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยจริง ก็อาจจะเป็นปลาหางไหม้ตัวสุดท้ายที่มีรายงานของประเทศไทย โดยเจ้าของสวนเล่าให้ฟังว่า มีความเป็นไปได้มากที่ปลาตัวดังกล่าวจะหลุดเข้ามาอาศัยอยู่ในร่องสวนตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นปีที่น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาหลากท่วมรุนแรง


ภาพปลาหางไหม้ ตีพิมพ์ในนิตยสารชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ ในปีพ.ศ.2516

หางไหม้ไทย กับ หางไหม้อิเหนา
“แตกต่างกันดังนี้”

ข้อแรก ในปลาขนาดใหญ่ปลาของไทยมีริมฝีปากที่หนา และมีปากบนทู่สั้นกว่าปลาจากประเทศอินโดนีเซีย

ข้อสอง คือปลาของไทยมีขอบครีบสีเหลือง และมีขอบสีดำบางกว่าปลาหางไหม้อิเหนา โดยเฉพาะที่ครีบท้อง ที่ปลาในยุคปัจจุบันบางตัวมีสีดำเกือบทั้งหมด ปลาหางไหม้จากไทยจะมีสีดำแค่ไม่เกินครึ่งของความกว้างครีบเท่านั้น

ตัวอย่างปลาหางไหม้ของไทยที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์นั้นก็เก่าเต็มทน ตัวปลาก็สีซีดไปตามกาลเวลา ภาพสีทีพอมียืนยันว่าเป็นปลาหางไหม้ไทยขณะยังมีชีวิตอยู่มีเพียงภาพเดียว ที่ถูกตีพิมพ์ในนิตยสารชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ ในปีพ.ศ. 2516 นั้นแสดงให้เห็นค่อนข้างชัดเจนพอสมควรว่าปลามีหางและครีบสีเหลือง นอกจากนั้นเกล็ดบริเวณหัวยังมีสีเหลืองอีกด้วย


ภาพ ปลาหางไหม้จากหนังสือ “ปลาไทย” ซึ่งตีพิมพ์โดยกรมประมงในปี พ.ศ. 2528


และอีกภาพคือภาพในหนังสือ ปลาไทย ซึ่งจัดพิมพ์โดย กรมประมง ในปีพ.ศ. 2528 ภาพปลาหางไหม้ภาพนี้เก่าและเหลืองทั้งภาพ เลยไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วปลาหางเหลืองด้วยหรือเปล่า ที่น่าสนใจคือภาพนี้ดูเก่ากว่าภาพอื่น ๆ ในหนังสือเล่มเดียวกัน จึงเป็นไปได้ว่าจะเป็นภาพเก่าของปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยเช่นกัน และอีกจุดที่น่าสนใจคือปลาในภาพนี้ หน้าสั้นมู่ทู่ เหมือนกับในภาพวาดของ หลวงมัศยจิตรการ (ประสพ ตีระนันทน์) ช่างวาดภาพปลาในยุคเริ่มก่อตั้งกรมประมงผู้ช่วยของ ดร. สมิท ซึ่งวาดไว้ในช่วงปีพ.ศ.24xx ซึ่งมีหน้ามู่ทู่ ซึ่งผู้เขียเอง (คุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์ ) เห็นภาพปลาที่หลวงมัศยจิตรการ วาดไว้ในคราวแรก

ที่น่าเสียดายคือ ผู้เขียน ( คุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์ ) เข้าใจว่า ภาพต้นฉบับของหลวงมัศยจิตรการที่วาดปลาหางไหม้ไว้นั้น เป็นภาพสี แต่ที่ถูกตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ “ภาพปลา”ของกรมประมงที่จัดพิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2493 และอีก 4 ครั้งต่อมา รวมไปถึงเล่มที่พิมพ์เพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงมัศยจิตร การในปีพ.ศ. 2508 นั้น กลับเป็นภาพขาวดำ จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าภาพที่ลงสีไว้นั้นปลามีหางสีเหลืองหรือไม่ อันนี้ผู้เขียน (คุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์ ) เข้าใจว่าภาพต้นฉบับ อยู่ที่ไหนสักแห่งในกรมประมง ถ้ามีใครอ่านบทความนี่แล้วพอจะทราบว่าภาพต้นฉบับอยู่ที่ไหน จะรบกวนแจ้งมาก็จักเป็นพระคุณยิ่ง


ภาพ ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย (Belantiocheilos ambusticauda)
จากหนังสือเก่าของประเทศนอร์เวย์ ภาพนี้น่าจะเป็นภาพที่ชัดเจนที่สุดของหางไหม้พันธุ์ไทยที่ยังเหลืออยู่ใน ปัจจุบัน


แต่สีของหางปลา ใครที่เลี้ยงปลามานานก็รู้ว่ามันเปลี่ยนกันได้ โดยเฉพาะปลาจากธรรมชาติที่กินอาหารต่างจากปลาในที่เลี้ยง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ต่างจากในที่เลี้ยง โอกาสที่จะมีหางหรือตัวสีเหลือง ไม่ใช่เรื่องแปลก ดูอย่างปลาตะเพียนทองหรือปลาตะพาก ในธรรมชาติมีเกล็ดสีทองอร่าม แต่ในตู้เลี้ยงอย่างไรก็ไม่ได้สีทองแบบนั้น เป็นไปได้หรือไม่ ว่าหางสีเหลืองของปลาหางไหม้ในยุคนั้นเป็นเพราะว่าเป็นปลาจากธรรมชาติ มากกว่า เลี้ยงไปสักพักเดียวก็ใส ๆ ขุ่นๆ เหมือนปลาหางไหม้สมัยนี้ คนที่จะตอบได้ คือคนที่เคยเลี้ยงปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยเป็นเวลานาน ๆ ผู้เขียน ( คุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์ ) อีเมลไปถามปู่แม๊คที่อังกฤษอีกครั้ง ซึ่งปู่ก็ยืนยันว่าปลาหางไหม้จากไทย ไม่ได้หางเหลืองเฉพาะตอนที่เพิ่งส่งมาเท่านั้น แต่ยิ่งเลี้ยง ยิ่งอยู่นานคุ้นตู้สภาพดี หางก็จะยิ่งเหลือง อีกท่านที่ยืนยันคือ คุณสำรวย มีนกาญจน์ ที่ยืนยันว่าหางไหม้สายพันธุ์ไทยนั้นมีหางและครีบเหลืองเหมือนปลาซิวควายหาง ไหม้(Rasbora tornieri)เลยเทียว



ปลาหางไหม้ไทยกับปลาหางไหม้จากประเทศอินโดนีเซีย เป็นผลงานของชาวสิงคโปร์และชาวสวิสนั้นได้บรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธานของปลาหางไหม้ไทย ซึ่งรวมไปถึงปลาที่เคยมีรายงานพบใน เขมร เวียตนาม ไทย และ มาเลเซีย ในส่วนที่เป็นทวีปใหญ่ โดยแยกลักษณะความแตกต่างระหว่างปลาไทยกับปลาอิเหนาจากเกาะบอร์เนียวและ สุมาตรา มีความแตกต่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น และได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ใหม่ให้กับปลาหางไหม้ของไทยด้วย

ปลาหางไหม้ของไทยใช้ชื่อว่า Balantiocheilos ambusticauda
ชื่อวิทยาศาสตร์นี้เป็นภาษาลาติน แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “หางไหม้”เช่นกัน

ปลาหางไหม้จากทางอินโดนีเซียนั้นก็ยังใช้ชื่อเดิมคือ B. melanopterus
ซึ่งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาหางไหม้ที่ใช่กันมาแต่ดั้งเดิม




ปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย(อินโดจีน) สูญพันธุ์ไปแล้วจริงหรือยังคงมีอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ

แหล่งน้ำธํรรมชาติที่ยังอาจจะมีปลาหางไหม้เหลืออยู่ก็คือ

1. ประเทศเขมร ในตงเลสาป หรือทะเลสาปเขมร ทะเลสาปนี้เป็นแหล่งที่มีปลาน้ำจืดชนิดใกล้เคียงกับปลาจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาก และยังเคยมีรายงานพบปลาหางไหม้ด้วยในอดีต ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีรายงานที่ยืนยันของปลาชนิดนี้ แต่เราต้องยอมรับว่า สภาพพื้นที่ลุ่มน้ำในฝั่งประเทศเขมรนั้นยังมีความเป็นธรรมชาติมากกว่าในประเทศไทยมาก จึงยังมีหวัง ว่า ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งใต้ทะเลสาปเขมรยังมีปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทย(อินโดจีน) ซ่อนอยู่

2. ประเทศเวียตนาม มีรายงานที่ไม่ยืนยันจากแม่น้ำไซง่อน และแม่น้ำโขงตอนล่าง เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นการพบปลา หรือเป็นการอ้างอิงต่อมาจากข้อมูลเก่า

3. อีกแห่งที่เคยมีรายงานพบปลาหางไหม้ (มีตัวอย่างขนาดใหญ่อยู่ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และมีชนิดปลาใกล้เคียงกับปลาน้ำจืดในลุ่มแม่น้ำแม่กลองของไทยคือแม่น้ำปาหัง ในประเทศมาเลเซีย แม่น้ำแห่งนี้ถึงแม้จะอยู่ใต้ลงไปในคาบสมุทรมลายูแต่ก็มีพันธุ์ปลาน้ำจืด ใกล้เคียงกับลุ่มน้ำแม่กลองอย่างน่าประหลาดใจ เช่น ปลายี่สกไทย ปลาตะเพียนสมพงษ์ และ ปลาหางไหม้ ผู้เขียน (คุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์ ) เข้าใจว่าสภาพธรรมชาติในแม่น้ำปาหังยังดีอยู่พอสมควร เพราะเพื่อนที่ไปเที่ยวเมื่อ 2 ปีที่แล้วยังเห็นมีการจับปลายี่สกไทยเพื่อเป็นอาหารขายกันในตลาดอยู่ ซึ่งแสดงว่าสภาพแม่น้ำยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก ความหวังว่าจะมีปลาหางไหม้ของอินโดจีนเหลืออยู่จึงเป็นไปได้เช่นกัน





4. ในลุ่มน้ำยมที่จังหวัดสุโขทัย ลุ่มน้ำใหญ่สายเดียวของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่กั้น นั้น ก็ยังเป็นแหล่งที่มีน้ำท่วมทุ่งอยู่มาก และเป็นแหล่งที่ยังมีการทำการประมงปลาน้ำจืดกันอยู่มากเช่นกัน เป็นไปได้ไหมที่ปลาหางไหม้อาจจะยังเหลืออยู่ แต่ด้วยเครื่องมือประมงที่เปลี่ยนไป เช่น โพงพาง ลี่ และ กร่ำในปัจจุบันเป็นเครื่องมือประมงที่ผิดกฏหมายทำให้ไม่สามารถจับปลาหางไหม้ ได้ และหรืออาจจะมีการจับได้บ้างแต่ขาดการสำรวจจากนักวิชาการจึงไม่มีรายงานปลา หางไหม้ในยุคปัจจุบัน

5. แม่น้ำแม่กลอง ชาวประมงท้องถิ่นบางคนยังบอกว่าจับปลาหางไหม้ขนาดใหญ่ได้นาน ๆ ที แต่ไม่ได้สนใจเนื่องจากคิดว่าเป็นปลาหางไหม้เหมือนกับตามฟาร์ม น่าสนใจว่าปลาที่จับได้นั้นเป็นปลาเพาะ(ปลาจากประเทศอินโดนีเซีย)ที่หลุดลงไป หรือเป็นปลาหางไหม้ดั้งเดิมของไทย ผู้เขียน (คุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์ ) ยังไม่เห็นตัวอย่างจึงยังไม่กล้าสรุป




ผม (คุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์ ) คิดว่าพวกเราทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ใช่แค่ตามหาปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยที่อาจจะยังหลงเหลืออยู่ที่ไหนสักแห่งเท่านั้น แต่ต้องช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม บ้านของปลา ให้คงอยู่ต่อไป ที่ผ่านมาเราโชคดีมาก ที่การพัฒนาแหล่งน้ำในประเทศไทยโดยไม่ค่อยคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม นั้น ทำให้ปลาสูญพันธุ์ไปเพียงไม่กี่ชนิด แต่โครงการแล้วโครงการเล่าที่ถาโถมลงสู่แหล่งน้ำ ก็ทำให้ปลาใช้น้ำเป็นบ้านได้ยากขึ้นทุกวัน



เรื่องราวของปลาหางไหม้ที่บันทึกไว้ในคราวนี้ เป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง ที่ผม (คุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์ ) ดีใจที่ได้มีโอกาสจารึกไว้ ก่อนที่จะไม่เหลือแม้แต่ความทรงจำของคนในยุคนั้น ผม (คุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์ ) อยากให้เป็นบทเรียนที่สอนให้เรารู้ว่าธรรมชาติเปราะบางและเข้าใจยากเกินกว่าที่มนุษย์สักคนจะอธิบายได้ ผม(คุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์ ) หวังว่าเราคงได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้างไม่มากก็น้อย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของผู้ คนในยุคปัจจุบันที่การรุกรานธรรมชาติรุนแรงกว่าในอดีตมากมายนัก วันนี้อาจจะสายไปเสียแล้วสำหรับปลาหางไหม้ แต่กับปลาน้ำจืดอื่น ๆ ที่ยังเหลืออยู่ พวกเขาก็กำลังนับถอยหลังอยู่เช่นกัน

ผม (คุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์ ) หวังว่าผมหรือรุ่นลูกรุ่นหลานคงไม่ต้องมีใครมานั่งเขียนเรื่องราวแบบนี้ถึงปลาไทยชนิดอื่น ๆ อีก

ปลาหางไหม้ นอกจาก ปลาฉลามหางไหม้แล้วยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น "ปลาหางเหยี่ยว", "ปลาเล็บเหยี่ยว" และ"ปลาตะโกกหางไหม้"

ขอขอบคุณ
คุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์
คุณพิบูลย์ ประวิชัย
ศ. วิทย์ ธารชลานุกิจ
คุณวิฑูรย์ เทียนรุ่งศรี
คุณสำรวย มีนกาญจน์
ผอ.วันเพ็ญ มีนกาญจน์
ดร.ชวลิต วิทยานนท์
ดร.ปรัชญา มุสิกสินธรณ์
คุณ กิตติพงศ์ จารุธานินทร์
อ. ชัยวุฒิ กรุดพันธ์
Mr. Max Gibbs
Dr. Hoek Hee Ng
http://www.siamensis.org/article/4880
http://www.fisheries.go.th/if-chiangmai/web3/index.php?option=com_content&view=article&id=190:2011-01-09-08-55-17&catid=29:2009-10-27-15-09-10&Itemid=85

ติดตามบทความฉบับเต็มสมบูรณ์และภาพปลาหางไหม้ได้ที่
http://www.siamensis.org/article/4880



ปลากาแดง
ภาพพจากhttp://pet.kapook.com/photo/redfinshark_7280.html


ปลากาแดง
ภาพจาก http://pet.kapook.com/photo/redfinshark_7280.html


ปลากาแดงเผือก
ภาพจาก http://fishmini.blogspot.com/2010/10/blog-post_26.html



ปลากาเผือก


ปลากาดำ


ปลาทรงเครื่อง

พลอยโพยมขอแสดงความชื่นชมคุณ นณณ์ ผาณิตวงศ์ เจ้าของบทความนี้ ข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูลที่ต้องใช้ความพยายามอย่างสูงในการแสวงหามา แสดงออกถึงความรู้สึกลึกล้ำที่อยากบอกเล่าเรื่องราวของปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ พลอยโพยมขออนุญาตนำบทความมาเผยแพร่ต่อ เพื่อเป็นการให้ความรู้กับผู้ที่สนใจ หรือยังไม่สนใจแต่เริ่มสนใจเรื่องราวของปลา สัตว์น้ำที่น่ารักน่าอนุรักษ์ไว้ประดับโลก และสื่อความไปยังผู้ที่อาจได้พบเห็นปลาหางไหม้สายพันธุ์ไทยนี้ว่ายังมีหลงเหลืออยู่ในสายน้ำเมืองไทยแหล่งใดบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น