วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

[บทความ] ปลาหางไหม้ ...ในวันนี้

ปลาหางไหม้ ...ในวันนี้


ฉันชื่อ ปลาหางไหม้ หรือที่นิยมเรียกและรู้จักกันดีในชื่อ ปลาฉลามหางไหม้


แม้จะมีคนเรียกฉันว่าปลาฉลามหางไหม้ ราวกับว่าฉันเป็นปลาฉลามซึ่งเป็นปลาทะเล แต่ความจริงฉันเป็นปลาน้ำจืด



และเป็นปลาที่สืบเชื้อสายอยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน ในวงการยกย่องให้ฉันเป็นปลาน้ำจืดที่สวยงามที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง
กรมประมงของประเทศไทย จัดที่อยู่ให้ฉันอยู่ร่วมบ้านกับปลาตะพากและปลาปากเปี่ยน

การบริหารจัดการของหน่วยงานต่าง ๆ ของทุก ๆ หน่วยงาน ต้องมีเหตุและผล มีที่มาและที่ไป ในวงการศึกษาต้องมีหัวข้อวิชา การบริหารจัดการ เล่าเรียนตามคณะต่าง ๆ ในการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
ดังนั้น ต้องมีเหตุผลว่า ทำไม กรมประมงจึงจัดการให้ ปลาตะเพียนเงิน ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห อยู่ร่วมบ้านเดียวกัน
ฉัน คือปลาหางไหม้ ปลาปากเปี่ยน ปลาตะพาก อยู่ร่วมบ้านเดียวกัน

ฉันไม่ใช่ข้าราชการกรมประมง ฉันเป็นเพียงปลาตัวน้อย ๆ ตัวหนึ่ง แต่ฉันก็พอจะมีมันสมองแบบปลา ๆ มีการสนทนาถามไถ่พูดคุยกันตามประสาหมู่ปลา

ฉันไม่ใช่ปลาพื้นเมืองของเมืองไทย ซึ่งปลาปากเปี่ยนเขาก็บอกฉันว่า เขาก็ไม่ใช่ปลาพื้นเมืองของเมืองไทย แต่เขาก็เข้ามาเติบโตในเมืองไทยมาช้านานแล้ว
ส่วนปลาตะพาก ก็บอกว่า เขาเป็นปลาสัญชาติไทย เชื้อชาติไทย เพียงแต่ เขาไม่ได้ อยู่กระจัดกระจายทั่ว ๆ ไปตามลำน้ำมากมายหลายหลากสายในทั่วทุกภูมิภาค เขาอยู่เพียงบางภูมิภาคเท่านั้น



ฉันเป็นปลาที่เชื่อกันว่าได้มาจากประเทศอินโดนีเซีย ในช่วงที่ปลาหางไหม้พันธุ์ไทยแท้ (ที่เล่ากันว่าเคยมีมากที่สุดในลำน้ำป่าสัก ว่ากันว่า การจับปลาในแม่น้ำป่าสัก 100 ตัว จะมีปลาหางไหม้ ไทยแท้ 10 ตัว) ขาดแคลนในการจับมาขายเป็นปลาสวยงาม

ในยุคนั้นประเทศไทยยังเปิดให้มีการนำเข้าและส่งออกปลาน้ำจืดอย่างเสรี การนำเข้าปลาจากต่างประเทศจึงทำได้โดยง่าย ซึ่งข้อดีของปลาหางไหม้จากประเทศอินโดนีเซียก็คือ ปลาจากอินโดฯจะมีเข้ามาในช่วงที่ปลาในประเทศไทยขาดตลาดพอดี ซึ่งคงจะเป็นเพราะ ประเทศไทยนั้นอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียอยู่ใต้เส้นศูนย์สูตร ฤดูกาลจึงตรงกันข้ามกันพอดี ฤดูจับจึงอยู่คนละช่วงเวลาของปี



หลังจากเกิดวิกฤติที่ยิ่งใหญ่ของปลาหางไหม่สายพันธุ์ไทยแท้ จนเชื่อกันว่าปลาหางไหม้พันธู์ไทยสูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติ ทั้งที่ปลาหางไหม้พันธุ์ไทยแท้นั้นมีสีสันสวยงามกว่าเผ่าพันธุ์ของฉันที่มีอยู่ตามท้องตลาดในขณะนี้ ได้มีการนำเข้าพวกฉันเข้ามาประเทศไทยเพื่อขายเป็นปลาสวยงาม
แต่ก็น่าอนาถใจที่

แม้แต่ปลาหางไหม้ในประเทศอินโดนีเซียเอง ทั้งบนเกาะชวาและบอร์เนียวก็มีจำนวนลดลงอย่างมากเช่นกัน โดยในลุ่มน้ำ Batang Hari บนเกาะชวานั้นมีรายงานว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ส่วนในลุ่มน้ำ Danau Sentarum บนเกาะบอร์เนียวก็มีรายงานว่าเป็นปลาหายากและลดจำนวนลงอย่างมากมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจน แต่จากรายงานระบุว่า ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่าปลาลดจำนวนลงเนื่องจากการจับขายเพื่อเป็นปลาสวยงาม และการเกิดไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในปีเดียวกันนั้น ทำให้น้ำในแม่น้ำเน่าเสียด้วย

หากไม่มีวิวัฒนาการที่ก้าวหน้ามีการผสมเทียมพันธุ์ปลา ฉันก็อาจจะต้องสูญพันธุ์ไปอย่างปลาหางไหม้พันธุ์ไทยแท้แล้วก็ได้



ฉันและพี่ ๆ น้อง ๆ เลิกเพ้อฝันกับการที่จะได่้แหวกว่าย ในสายธารธารา คงคาวารีที่มีอยู่ในธรรมชาติมาเนิ่นนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ที่บ้านเกิดเมืองนอนที่ประเทศอินโดนิเซีย หรือบ้านที่เข้ามาเติบโตมีสุขมีทุกข์ตามประสาปลาที่เมืองไทย



อย่าคิดว่าการที่มีที่อยู่ให้ได้อาศัยกินอยู่หลับนอนพักผ่อนสบาย ๆ เป็นความสุขของบรรดาปลา ๆ ทั้งหลาย ไม่ต้องแหวกว่ายหาอาหารกินเอง จะอุดมสมบูรณ์หรือแร้นแค้นก็ไม่รู้ ไม่ต้องผจญภัยกับปลาอื่นที่เกเรเกตุง ไม่ต้องหลบหลีกพวกมนุษย์ใจร้ายที่จะจับพวกฉันมากินบ้างเอาไปขายบ้าง ถูกเบ็ดเกี่ยวปากลากขึ้นจากน้ำด้วยฝีมือนักตกปลาบ้าง

แต่นั่นเป็นรสชาติและสีสันที่ปลาทุกตัวปราถนาเพราะนั่นคือธรรมชาติของพวกเราชาวปลา ไม่ใช่มาอยู่บ้านกระจกใสแจ๋ว มีอาหารกินตามเวลา มีผู้คนมากมาย มายืนจด ๆ จ้อง มองพวกฉันที่แหวกว่ายกลับไปกลับมา จากมุมตู้โน้นมามุมตู้นี้ ชนกันเองบ้างเสียดสีกันเองบ้าง ชีวิตแต่และวันซ้ำซากน่าเบื่อหน่าย บางครั้งก็ไม่ทันได้มีโอกาสจะเติบโตเป็นพ่อปลา แม่ปลา พวกฉันหมายถึงปลาตัวอื่น ๆ พันธุ์ อื่น ๆ ด้วย พวกเรานับวันมีแต่ความอับฉา เงื่องหงอย และตายไปก่อนจะได้มีโอกาสแพร่พันธุ์ลูกหลาน ไว้สืบเชื้อสายพันธุ์ปลาของแต่ละสายพันธุ์ของตัวเอง

พวกฉันรู้ดีว่า กรมประมงก็พยายามผสมเทียมพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ อนุบาล เพาะเลี้ยงแล้วนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตามวาระโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ ของชาติ เป็นหนทางที่ดีที่จะสามารถรักษาเผ่าพันธุ์สัตว์น้ำมากมายให้คงอยู่ไว้ได้บนโลกใบนี้
แต่ก็อดน้อยใจในโชคชะตาของการที่ต้องมาเป็นนางงามตู้กระจกแบบนี้ไม่ได้อยู่ดี


ปลาหางไหม้

ปลาหางไหม้
ชื่อสามัญอังกฤษ : Bala shark, Burn tail shark, Silver shark, Black tailed shark
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Balantiocheilos melanopterus
สกุล Balantiocheilos
อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน Cyprinidae


ปลาหางไหม้ หรือที่นิยมเรียกและรู้จักกันดีในชื่อ ปลาฉลามหางไหม้
มีรูปร่างคล้ายปลาตามิน (Amblyrhynchichthys truncatus)

ลักษณะทั่วไป

เป็นปลาน้ำจืดที่สวยงามที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน

มีรูปร่างและทรวดทรงที่เพรียวยาว ตาโต ปากเล็ก ขยับปากอยู่ตลอดเวลา ใต้คางมีแผ่นหนังเป็นถุงเปิดออกด้านท้าย ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย เกล็ดมีขนาดเล็กสัดส่วนของครีบทุกครีบเหมาะสมกับลำตัว โดยเฉพาะครีบหางซึ่งเว้าเป็นแฉกลึก สีของลำตัวเป็นสีเงินแวววาว ด้านหลังสีเขียวปนเทา ครีบหลัง ครีบท้อง ครีบก้นและครีบหาง สีส้มแดง ครีบทุกครีบยกเว้นครีบหูเหลืองมีขอบเป็นแถบขลิบดำทางด้านหลัง และขอบเป็นแถบดำ อันเป็นที่มาของชื่อ

นิสัย
ปลาชนิดนี้ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ๆ ในแม่น้ำและลำธารทั่วไป ตามใต้พื้นน้ำ ตกใจตื่นกลัวง่าย ว่ายน้ำปราดเปรียว ปลาชนิดนี้มีความสามารถในการกระโดดลอยสูงจากผิวน้ำได้สูงถึง 2 เมตร

ถิ่นอาศัย

พบปลาหางไหม้ในประเทศไทย ลาว กัมพูชา มลายู สุมาตราและบอร์เนียว

อาหาร
กุ้งขนาดเล็ก แมลงน้ำและสัตว์เล็กๆ อื่นๆ โดยการใช้ปากดูดจากซากหินและตะกอนก้นน้ำ ซากพืชและซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย

การสืบพันธุ์ มีดูผสมพันธุ์ตกอยู่ในเดือนพฤษภาคม


ในอดีตพบชุกชุมในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในประเทศไทย และในประเทศพบได้ที่เกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย (ปลาที่พบในอินโดนีเซียสีของครีบหางจะออกเหลืองสดกว่า) แต่สถานภาพในปัจจุบัน ในประเทศไทยได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติ ในอินโดนีเซียก็ใกล้จะสูญพันธุ์เช่นกัน โดยในปัจจุบัน ปลาที่พบขายในตลาดปลาสวยงาม เป็นปลาที่เกิดจากการผสมเทียมทั้งสิ้น

มีขนาดโตเต็มราว 20-30 เซนติเมตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น