วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

[บทความ] เจ้างามพริ้ง...ยิ่งปลานวลจันทร์

เจ้างามพริ้ง...ยิ่งปลานวลจันทร์


หยุดก่อน.... อย่าเพิ่งจรจากไป


เหตุโฉน.....ไยไม่เหลี่ยวแลมา


ฉันเห็นเธอเดินผ่านหลายรอบแล้ว โดยไม่มาแวะทักทายเยี่ยมกรายเข้ามาหา ฉันฉงนสนเท่ห์เหลือประมาณว่า ฉันไม่น่าสนใจถึงเพียงนี้เชียวหรือ เธอไม่รู้จักฉันหรือรู้จักแต่ไม่สนใจกันแน่ มาช่วยแก้ปมสงสัยให้ฉันหน่อยเถิด

พลอยโพยมกำลังจะตรงไปหาปลาตะเพียนทองของต้องใจในวัยเด็ก ก็เลยชะงักและแวะพักที่บ้านของผู้ที่ส่งเสียงทักทายเจื้อยแจ้วอยู่และตอบปลาน้อยว่า

ฉันรู้จักเธอดีจากกาพย์เห่เรือบทชมปลา ซึ่งเป็นบทพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือที่ใคร ๆ เรียกพระองค์ว่าเจ้าฟ้ากุุ้ง



เธอชื่อปลานวลจันทร์ (ฉันอ่านจากป้ายที่ติดอยู่หน้าบ้านของเธอนั่นเอง อ่านมาหลายครั้งแล้วด้วย)
ปลาน้อยงดงามอย่างเธอเป็นปลาอันดับแรกที่ทรงนิพนธ์ถึงมีความว่า

พิศพรรณปลาว่ายเคล้า
คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์
มัศยายังรู้ชม
สาสมใจไม่พามา

นวลจันทร์เป็นนวลจริง
เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา
คางเบือนเบือนหน้ามา
ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชาย
ฯลฯ
บทร้อยกรองแบบนี้เรียกว่ากาพย์ยานี ๑๑ เธอรู้จักหรือเปล่าล่ะ คุณปลานวลจันทร์



นวลจันทร์เป็นนวลจริง
เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา

ฉันเห็นด้วยกับบทพระนิพนธ์นี้นะ เพียงแต่ที่ฉันเลยผ่านไปเพราะฉันไม่เคยคุ้นกับเธอมาก่อน ฉันมาย้อนความทรงจำในวัยเด็กเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว ตอนเด็ก ๆ ฉันรู้สึกว่าไม่เคยพบเธอ คงเป็นเพราะว่าเธอเป็นปลาน้ำจืดแบบจืดสนิทจริง ๆ บ้านของฉันอยู่ลุ่มน้ำบางปะกง ตรงบริเวณที่เป็นระบบนิเวศสองน้ำคือน้ำจืดและน้ำกร่อย จึงไม่เคยพบพานกับเธอน่ะคุณปลานวลจันทร์ บรรพบุรุษของเธออาจจะเคยท่องเที่ยวว่ายล่องลงมาตามลำน้ำนี้ในอดีตหรือเปล่าฉันก็ไม่รู้เหมือนกันไม่เคยเห็นใคร ๆ พูดถึงตระกูลของเธอ




ฉันก็เลยคิดว่าจะไม่บอกกล่าวเล่าเรื่องราวของเธอจึงไม่เข้ามาถ่ายรูป แต่ตอนนี้ฉันเปลี่ยนใจแล้วจะกลับไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับต้นตระกูลของเธอ



ปลานวลจันทร์

เมื่อได้ข้อมูลของสายตระกูลเธอแล้ว ฉันจะเผยแพร่เรื่องราวของเธอนะจ๊ะ ไม่ต้องน้อยใจฉันล่ะนะ แต่ว่าคงลงบทความเรื่องของเธอช้าไปหน่อย เพราะว่าระยะนี้เป็นหน้าแล้งฝนฟ้าไม่ตกลงมา ชาวประชาอย่างฉันแม้จะไม่ได้ทำไร่ทำนา ปลูกผักหรือพืชผลการเกษตรอะไรเลยแต่ว่าฉันมีต้นไม้มากมายที่ต้องดูแลรดน้ำ แต่ละครั้งก็ครึ่งวัน คือรดน้ำต้นไม้ตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าถึงเที่ยงวันกันเลย กว่าจะได้กินข้าวเช้าก็เที่ยงครึ่งบ่ายโมง แล้วฉันก็หมดแรงที่จะทำอะไร ๆ ได้อีกในวันนั้น บางทีก็มีภาระกิจนอกบ้านบ่อย ๆ ไปทั้งวัน

บทความที่ฉันเล่าเรียงร้อยเนื้อความแต่ละบทความใช้เวลามากเลยกับการหาภาพประกอบ เพราะฉันยังไม่ได้จัดระเบียบ file ภาพ ภาพจึงอยู่กระจัดกระจายกัน บางทีก็ต้องใช้ภาพของคนอื่น ๆ จาก internet เจ้าของภาพคงไม่ว่าฉันหรอกนะที่บอกไม่ได้ว่าเป็นภาพของใคร ฉัน Save เก็บไว้ตอนอ่านพบ แต่พอจะนำภาพมาใช้ก็หาไม่เจอว่า save มาจากไหน ฉันยัง low tech อยู่มาก ๆ เลยถือโอกาสขออนุญาตบรรดาท่านเจ้าของภาพและขอบคุณทุก ๆ ท่านผ่านตรงนี้รวม ๆ กัน คุณปลานวลจันทร์ร่วมรับรู้แล้วถ้าเธอเจอบรรดาท่าน ๆ ทั้งหลาย เธอช่วยเรียนข้อความเรื่องนี้ให้ฉันด้วยนะจ๊ะ ขอบคุณจ้ะ

ภาพที่ฉันถ่ายบรรดาปลา ๆ อย่างพวกคุณนวลจันทร์นี้น่ะ พอเอากลับไปบ้านก็จะมีภาพที่คัดว่าพอดูได้ไม่กี่ภาพเอง
หวังว่าเธอคงไม่ต่อว่าฉันนะว่าลงเรื่องราวของเธอชักช้าไม่ทันอกทันใจปลากันเลย แต่ฉันรับปากว่าจะเล่าเรื่องเทือกเถาเหล่ากอของคุณปลานวลจันทร์จ้ะ (น้ำจืด) ส่วนวงศ์วานหว่านเครือของเธอเช่นปลานวลจันทร์เทศ ปลานวลจันทร์ทะเล ไม่กล่าวถึงนะ


ปลานวลจันทร์น้ำจืด
ภาพจากกรมประมง

ชื่อสามัญไทย ปลานวลจันทร์ ปลานวลจันทร์น้ำจืด สำหรับภาคกลาง ปลาพอน สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ชื่อสามัญอังกฤษ : Small Scale Mud Carp
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cirrhina microlepis
อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน Cyprinidae
วงศ์ย่อย Cyprininae



ปลานวลจันทร์ เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง

ลักษณะทั่วไป
อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน เป็นปลามีเกล็ดขนาดเล็ก มีรูปร่างเพรียวบาง ลำตัวค่อนข้างกลม ครีบหลังเป็นกระโดงสูง ปากเล็ก ปลายหางใหญ่เป็นแฉกเว้าครีบก้นเล็ก พื่นสีของลำตัวมีตั้งแต่สีสีเทาเงิน สีส้มปนเทา จนถึงน้ำตาลปนสีขาวเงิน ปลาในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีหัวและลำตัวสีเงินอมเหลืองทอง ส่วนปลาในลุ่มแม่น้ำโขงจะเป็นสีชมพู
บริเวณแก้มและท้องสีเทาเงิน ครีบหลังและครีบหางเป็นสีน้ำตาลอ่อนปนเทา ส่วนปลายครีบท้องสีส้ม




มีขนาดความยาวประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบ 70 เซนติเมตร น้ำหนัก 5 กิโลกรัม

นิสัย
ปราดเปรียวว่องไว ไม่ค่อยอยู่นิ่ง อดทน เลี้ยงง่าย ชอบว่ายอยู่บริเวณพื้นน้ำ มักพบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ และหลบซ่อนตัวอาศัยอยู่ตามรากไม้หรือโขดหิน
วางไข่ในแหล่งน้ำหลากและเลี้ยงตัวอ่อนจนกระทั่งน้ำลดจึงอพยพลงสู่แม่น้ำ


ปลานวลจันทร์

ถิ่นอาศัย
อยู่ตามแม่น้ำใหญ่สายหลัก เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่พระนครศรีอยุธยาขึ้นไปถึงนครสวรรค์ จนถึงบึงบอระเพ็ดปัจจุบันไม่พบแล้วในแม่น้ำเจ้าพระยา ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบมากในลำน้ำโขง ชาวประมงบริเวณริมโขงแถบจังหวัดอุบลราชธานีเรียกปลาตัวนี้ว่า "ปลานกเขา" ส่วนชื่อ"นวลจันทร์"หรือ "นวลจันทร์น้ำจืด"เป็นชื่อเรียกที่ใช้เรียกกันในภาคกลาง ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่าพอนและ "พรวน" ในภาษาเขมร

และจัดเป็นปลาประจำจังหวัดสุรินทร์ เช่นเดียวกับปลาแกง (C. multitorella) ซึ่งเป็นปลาในสกุลเดียวกันที่เป็นปลาประจำจังหวัดเลย

อาหารคือซากพืช และแพลงก์ตอน สัตว์หน้าดิน ตัวอ่อนของแมลง และกุ้ง

ปัจจุบันปลานวลจันทร์ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยามีแปริมาณลดลง และหายากปัจจุบันเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้วจากแม่น้ำเจ้าพระยา และยังพบได้บ้างที่แม่น้ำโขงและแม่น้ำแม่กลอง

ประโยชน์และความสำคัญ
เนื้อมีรสชาติอร่อย นำมาปรุงอาหารได้หลายประเภท

พลอยโพยมยังไม่เคยกินปลานวลจันทร์ ข้อความที่เขียนนี้เล่าตามต้นฉบับที่คัดลอกมา


ที่มาของข้อมูล
กรมประมง
ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทยโดยสมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์
วิกิพีเดีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น