วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2555

[บทความ] ปลากระแหทอง..มองละม้ายเหมือน.ปลาโมงคำ

ปลากระแหทอง...มองละม้ายเหมือน..ปลาโมงคำ



ปลากระแห

(เพิ่มเติม)
กาพย์ยานี ๑๑

เพียนทองงามดั่งทอง
ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย

กระแหแหห่างชาย
ดั่งสายสวาทคลาดจากสม


กาพย์เห่เรือ เห่ชมปลา พระนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ไชยเชษฐ์สุริยวงศ์


ปลาโมงคำของชาวภาคเหนือ ก็คือปลาตะเพียนทอง ของภาคกลางและภาคใต้ หรือปลาปากของภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั่นเอง


ปลากระแห

ชื่อสามัญไทย กระแห กระแหทอง ตะเพียนหางแดง เลียนไฟ ลำปำ

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ SCHWANENFELD'S TINFOIL BARB
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barbonymus schwanenfeldi
อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae)
วงศ์ย่อย Cyprininae



ลักษณะทั่วไป

เป็นปลาน้ำจืด รูปร่างคล้ายปลาตะเพียนทอง แต่รูปร่างป้อมสั้นกว่าปลาตะเพียนทอง ( ตามรูปที่ปรากฎ) มีลำตัวกว้างและแบนข้างมาก

ส่วนหัวมีขนาดเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ นัยน์ตาเล็ก ปากเล็กและอยู่ปลายสุดของจะงอยปาก หนวดเล็กและสั้น 2 คู่ อยู่ที่ขากรรไกรบนและล่าง

บริเวณแผ่นปิดเหงือกสีเหลืองจาง ๆ เกล็ดมีขนาดใหญ่ ครีบหางใหญ่ ปลายเป็นแฉกเว้าปลายหางแหลม กระโดงหลังสูงและกว้างมีก้านครีบเดี่ยวที่แข็งและขอบหยักเป็นฟันเลื่อยอยู่อันหนึ่ง สีพื้นของลำตัวเป็นสีเงินเทาหรือสีเหลืองปนส้ม ด้านหลังสีเทาปนเขียว ขอบนัยน์ตาดำเป็นสีเหลือง แก้มเหลืองปนแดง



ครีบหลังสีแดงส้มมีปื้นสีดำขนาดใหญ่ที่ด้านบนสุดปลายครีบ ครีบอกสีเหลืองอมส้ม ส่วนครีบท้องครบก้นและครีบหางสีแดงส้ม ขอบครีบหางด้านบนและล่างมีแถบสีดำเข้มข้างละแถบ



ชนาด -มีขนาดประมาณ 15 เซนติเมตร ถึง 25 เซนติเมตร



ประโยชน์-ใช้เป็นอาหารได้นิยมบริโภคโดยการปรุงสด รมควัน ตากแห้ง ทำปลาร้า ปลาส้ม นอกจากนั้นยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม




ปลากระแห หรือกระแหทอง และปลาตะเพียนทอง คล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะที่พลอยโพยมเคยพบเห็นมานั้น ตัวค่อนข้างเล็ก และในสมัยนั้นก็ไม่เคยมีใครอธิบายถึงความแตกต่างของปลาทั้งสองชนิดนี้ มิหนำซ้ำยังมีชื่อว่าปลาตะเพียนหางแดงอีกด้วย โดยเฉพาะที่เมืองฉะเชิงเทราไม่ค่อยมีคนนิยมเรียกว่าปลากระแหกัน พ่อค้าแม่ขายพากันเรียกว่า ปลาตะเพียนหางแดง และบางคนก็เรียกเป็นปลาตะเพียนทองก็มี



เนื่องจากส่วนใหญ่ ทั้งปลาตะเพียนทองและปลากระแห เป็นปลาที่พลอยติดร่างแหมาปะปนกับปลาอื่น ๆ และมีขนาดเล็ก จึงไม่ได้เป็นเมนูอาหารประจำบ่านของพลอยโพยม ปลาตะเพียนเป็นปลาที่มีก้างมากขนาดปลาตะเพียนขาว ( ตะเพียนเงิน) ที่ตัวค่อนข้างเล็กก็ไม่นำมาทำกับข้าว ดังนั้นปลากระแห ปลาตะเพียนทองจึงเป็นเพียงปลาสวยงามเอามาให้ลูกหลานในบ้านได้ชื่นชมกันเป็นส่วนใหญ่
คิดแล้วเพราะความอุดมสมบูรณ์ของลำน้ำบางปะกง ทำให้ชีวิตในวัยเด็กของพลอยโพยม สามารถเลือกได้อย่างที่กล่าวถึง

ที่มาของข้อมูล กรมประมงและวิกิพีเดีย
ภาพจากอินเทอร์เนท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น