วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

[บทความ] ปลาแก้มช้ำ...ย้ำนวลแก้ม

ปลาแก้มช้ำ...ย้ำนวลแก้ม

กาพย์ยานี ๑๑

แก้มช้ำช้ำใครต้อง
อันแก้มน้องช้ำเพราะชม

ปลาทุกทุกข์อกกรม
เหมือนทุกข์พี่ที่จากนาง ฯ

กาพย์เห่เรือ เห่ชมปลา พระนิพนธ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ไชยเชษฐ์สุริยวงศ์


ปลาแก้มช้ำ

ชื่อสามัญ : Red-cheek Barb
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Puntius orphoides
ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae)



ลักษณะทั่วไป


เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งที่อยู่สกุลเดียวกับปลาตะเพียนขาว ลำตัวค่อนข้างยาว ด้านข้างแบน หัวเล็ก ปากค่อนข้างเล็ก อยู่ปลายสุด มีหนวดสั้น ๆ และเล็กจำนวน 2 คู่ อยู่ที่ขากรรไกรบนและล่าง
ปลายหางคอดลึกเป็นมุมแหลม คอดหางมีจุดสีดำ 1 จุด
กระพุงแก้มบริเวณแผ่นปิดเหงือกมีรอยแต้ม สีส้มคล้ายรอยช้ำ จึงได้ชื่อว่า "ปลาแก้มช้ำ" บริเวณช่องเปิดเหงือกมีสีแถบดำ
มีเกล็ดค่อนข้างใหญ่สี เทาเงินตามบริเวณลำตัว สีน้ำตาลเทา ครีบหลังสีเทา ส่วนครีบอก ครีบท้อง ครีบก้นและครีบหางมีสีส้ม ขอบครีบหางด้านบนและล่างจะมีสีแถบดำชัดเจน



นิสัย
เป็นปลารักสงบ มักตื่นตกใจง่าย ชอบกบดานเงียบ ๆ ไม่ค่อยว่ายน้ำนอกจากเวลาหาอาหาร โดยอาศัยอยู่รวมเป็นฝูงใหญ่ และบางครั้งอาจปะปนกับปลาตะเพียนชนิดอื่น ๆ เช่น ตะเพียนเงิน ตะเพียนทอง หรือ กระแห เป็นต้น

เป็นปลาที่มีไข่กลมติดสีเหลืองสดใส



ถิ่นอาศัย
พบทั่วไปตามแหล่งน้ำไหล น้ำนิ่ง ในแม่น้ำลำคลอง หนอง บึง และอ่างเก็บน้ำทั่วทุกภาคของประเทศ
มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ตามตามแต่ละภูมิภาค

ภาคกลางเรียก " แก้มช้ำ "
ภาคใต้เรียก "ลาบก"
ภาคเหนือเรียก "ปก" "ซ่าปก" หรือ "ปกส้ม"
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียก "สมอสุก" "หางแดง " "ขาวสมอมุก" เป็นต้น



อาหารธรรมชาติ ได้แก่สาหร่าย แพลงก์ตอน ตัวอ่อนแมลงน้ำ แมลง ซากพืชและซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย

ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 25 เซนติเมตร



เป็นปลาที่นิยมใช้บริโภคเหมือนปลาตะเพียนทั่วไป คือบริโภคทั้งปลาสดและแปรรูป และนิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงาม โดยปลาที่ถูกเลี้ยงในตู้กระจกสีสันจะสวยกว่าปลาที่อยู่ในธรรมชาติ

เพิ่มเติม กรมประมงเพาะพันธู์ปลาแก้มช้ำได้ด้วยวิธีฉีดฮอร์โมนได้สำเร็จ ในปี พศ2510

ที่มาของข้อมูล กรมประมง และวิกิพีเดีย


ภาพจากอินเทอร์เนท

กรมประมงได้เพาะพันธุ์ปลาแก้มช้ำด้วยวิธีการฉีดฮอร์โมนผสมเทียมได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2510

มีวิธีการฉีดฮอร์โมนให้ปลาแก้มช้ำ ดังนี้
หลังฉีดปลา 3 ชั่วโมง ปลาตัวผู้จะเริ่มคลอเคลียตัวเมีย จึงจับมาทำการผสมเทียมแบบแห้ง แล้วนำไปฟักโดยให้เกาะติดพันธุ์ไม้น้ำหรือรังเทียม จะใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 20-22 ชั่วโมง หรือเพาะโดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ โดยฉีดฮอร์โมนแล้วปล่อยให้ผสมกันเอง ซึ่งตัวเมียจะเริ่มวางไข่หลังฉีดฮอร์โมน 5-6 ชั่วโมง ไข่มีลักษณะกลม เป็นไข่ติด สีเหลืองใส

ขอบคุณข้อมูลจาก

http://www.panyathai.or.th

พลอยโพยมอ่านพบนิทานพื้นบ้านของภาคใต้ โดยเป็นเครดิตของลุงชาญจาก http://rakpaktai.wordpress.com/2010/06/12
เลยขอนำมาเผยแพร่ต่อ เพราะเป็นนิทานเรื่องจึงสามารถเล่าให้พิสดารได้เสมอ เรื่องมีดังนี้

นิทานพื้นบ้านภาคใต้ – ปลาแก้มช้ำ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีครอบครัวอยู่ครอบครัวหนึ่ง มีอยู่ด้วยกันสี่ชีวิตคือ ตา ยาย หมา และแมว ยายนั้นมีแหวนอยู่วงหนึ่งงามมาก หมาเมื่อได้เห็นแหวนของยายแล้วก็ให้นึกชอบอยู่ในใจยิ่งนัก
ต่อมาไม่นาน หมาก็ได้ลักแหวนของยายไปเสีย ตายายจึงใช้ให้แมวตามไปเอาแหวนคืนมาจากหมาให้ได้ แมวได้ตามไปทันหมาที่สะพานแห่งหนึ่งซึ่งหมากำลังข้ามอยู่บนสะพานนั้นพอดี แมวจึงได้ร้องถามหมาขึ้นว่า ได้ลักแหวนของยายมาบ้างไหม หมาจึงอ้าปากจะพูดโต้ตอบกับแมว เลยทำให้แหวนที่คาบอยู่นั่นหล่นลงไปในคลองเสีย และก็บังเอิญในคลองนั้นได้มีฝูงปลาฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ แหวนวงนั้นจึงได้ถูกปลาตัวหนึ่งคาบเอาไป

เมื่อแหวนได้ตกลงไปในคลองเสียเช่นนั้นแล้ว หมากับแมวได้หันหน้าเข้าหากันเพื่อปรึกษาหารือที่จะงมแหวนจากคลองนั้นให้ได้ โดยหมาได้รู้สึกนึกผิดที่ได้ลักเอาของมีค่าของผู้มีพระคุณมา หมาจึงได้บอกกับแมวว่าจะต้องเอาแหวนนั้นไปคืนยายให้ได้ มิฉะนั้นแล้วหมาก็จะไม่กลับไปบ้านของตายายอีกเป็นอันขาด หมาจึงได้ลงไปดำว่ายอยู่ในคลองเพื่อหาแหวนแต่ก็ไม่พบแต่อย่างใด หมาจึงคิดที่จะวิดน้ำในคลองนั้นให้แห้งเสียเลย

หมาได้ลงไปในคลองนั้นแล้วก็ขึ้นมาสะบัดน้ำออกจากตัวและได้ทำอยู่เช่นนั้นทั้งวันทั้งคืน ฝ่ายปลาที่อาศัยอยู่ในคลองนั้นต่างก็ตกใจกลัวว่าน้ำจะแห้งแล้วพวกตนก็จะพากันตายหมด หัวหน้าฝูงปลาจึงได้มาพูดขอร้องกับหมาทันทีโดยให้หมายุติการวิดคลองเสีย แล้วตนก็อาสาเอาแหวนมาคืนให้ หัวหน้าฝูงปลาจึงได้พาบริวารออกค้นหาปลาตัวที่คาบแหวนนั้นไปจนพบ แล้วก็ได้ขอแหวนคืนให้หมาแต่โดยดี แต่ปลาตัวนั้นก็ไม่ยอมคืนให้ ปลาทั้งฝูงจึงโกรธปลาตัวนั้นได้พากันเข้าตบตียื้อแย่งเอาแหวนวงนั้นมา และได้นำไปให้หมาได้ในที่สุด

ในการยื้อแย่งเอาแหวนจากปลาด้วยกันในครั้งนั้น ปลาตัวที่มีแหวนอยู่ในครอบครองได้ถูกเพื่อน ๆ ปลาตัวอื่นตบตีเอาจนแก้มทั้งสองช้ำชอกยิ่งนัก ปลาตัวนั้นจึงได้แก้มช้ำมาตั้งแต่บัดนั้นและก็ได้มีเผ่าพันธุ์สืบต่อมา ปลาทุกตัวที่สืบเชื้อสายมาจากปลาตัวนี้ล้วนแต่มีลักษณะคล้ายกับแก้มช้ำเหมือนกันหมด จึงได้เรียกชื่อปลาชนิดนี้ตามลักษณะของปลาว่า “ปลาแก้มช้ำ” มาจนทุกวันนี้..
เครดิต : ลุงชาญ

ขอขอบคุณ คุณลุงชาญ และ rakpaktai.wordpress.com มา ณ ที่นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น