วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

[บทความ] ชื่อมัจฉา....ปลาปากเปี่ยน

ชื่อมัจฉา....ปลาปากเปี่ยน


ฉันมีชื่อเรียกว่า ปลาปากเปี่ยน ปลาเปี่ยน หรือคนบางถิ่นเรียกฉันว่าปลาตาดำ


ฉันเป็นปลาประเภทปลาอพยพ พบเห็นฉันได้แค่บางภูมิภาค บางท้องถิ่นเท่านั้น





ฉันอยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน เช่นเดียวกับพวกพ้องมากมายในสายน้ำเมืองไทย พื้นเพดั้งเดิมของฉันคือลุ่มแม่น้ำโขง


จึงกล่าวได้ว่าฉันเป็นปลาที่ผู้คนเมืองไทย จะได้พบเห็นฉัน คือคนแถบภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งต้นตั้งแต่จังหวัดหนองคายลงมา นะจ๊ะ


ที่มีคนไทยเรียกฉันว่าปลาตาดำ ก็ลองดู ปอ ปลา ตากลม ของพวกฉันดูสิจ๊ะ เขาเรียกชื่อฉันว่าปลาตาดำเพราะเหตุนี้เองแหละ



ฉันคุ้นเคยกับพื้นทรายมากกว่าพื้นดิน เวลาว่าง ๆ เซ็ง ๆ กับการใช้ชีวิตปลาในตู้เลี้ยงแบบนี้ ฉันก็เลยแก้เหงาด้วยการเอาปากคุ้ยพื้นทรายด้วย เผื่อมีอาหารที่คนเลี้ยงเขาเอามาเลี้ยง และมีเหลือตกค้างรอดปากปลา หลบเร้นอยู่บนพื้นทรายด้วย ก็ถือเป็นของแถมให้ฉันด้วย น่ะจ้ะ



ฉันอยู่รวมในตู้เลี้ยงปลาของกรมประมงกับปลาตะพากและปลาหางไหม้ ซึ่งล้วนแต่เป็นปลาหายาก และผู้คนมากมายจัดประเภทให้ ฉัน ปลาตะพาก และปลาหางไหม้ เป็นปลาน้ำจืดประเภทปลาสวยงาม น่ะ


ปลาหางไหม้จะมีปริมาณ มากที่สุดในกลุ่มที่เลี้ยงรวมในตู้เลี้ยงปลานี้


ภาพนี้เป็นความผิดของเธออีกแล้วนะ ที่ถ่ายภาพฉันไม่ชัดเจน เลยมองไม่เห็นความงดงามของเรือนกายระยับเงินของฉันน่ะ


ภาพนี้มองแล้วดูดีขึ้นมาเล็กน้อยจากภาพบน แต่ที่จริงควรจะดีกว่านี้ ฉันอุตส่าห์ลอยตัวช้า ๆ ให้เธอถ่ายภาพฉันแล้วนะ



พอพลอยโพยมโฟกัสภาพปลาปากเปี่ยนตัวหนึ่งได้ชัด ก็มีปลาปากเปี่ยนอีกตัวอยากนำเสนอตัวเองเข้ามา เลยได้ภาพออกมาแบบนี้ จะโทษใครละนี่ เป้นความผิดของคนถ่ายแล้วกัน อย่าไปโทษ คุณปลาปากเปี่ยนเลย



ด้านหลังของพวกฉัน ปลาปากเปี่ยน


ด้านข้างของฉัน ปลาปากเปี่ยน


ถ้าโฟกัสภาพ ดี ๆ เธอจะสื่อความงามของเกล็ดบนพื้นลำตัวของฉันได้สวยงามกว่านี้ นะ


ฉันจะเริ่มเล่าเรื่องราวเผ่าพันธุ์ปลาของฉันให้เธอฟังแล้วนะตั้งใจฟังแล้วเอามาเล่าต่อให้ดี ๆ นะ


ปลาปากเปี่ยนและปลาหางไหม้

มีปลาหางไหม้หลาย ๆ ตัว ว่ายเข้ามาร่วมฟัง เรื่องราวของปลาปากเปี่ยนด้วยอย่างตั้งใจ


มิหนำซ้ำ ปลาตะพากตัวงาม ยังแอบว่ายเข้ามาฟังเรื่องราวของปลาปากเปี่ยน มองเห็นบั้นท้ายปลาไหว ๆ ตามหลังปลาปากเปี่ยนมีปลาหางไหม้อีกตัวหนึ่งด้วย


ฝูงปลาปากเปี่ยน


สกุลปลาปากเปี่ยน
(ชื่อวิทยาศาสตร์: Scaphognathops)

เป็นชื่อสกุลของปลาน้ำจืดในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) 3 ชนิด คือ
Scaphognathops bandanensis Boonyaratpalin & Srirungroj, 1971
Scaphognathops stejnegeri (Smith, 1931)
Scaphognathops theunensis Kottelat, 1998
(จากวิกิพีเดีย)

แต่ตามเอกสารของงานวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดอุบลราชธานี จะกล่าวถึงปลาปากเปี่ยนเพียง 2 ชนิดที่พบในแม่น้ำโขง คือ

Scaphognathops bandanensis(Boonyaratpalin&Srirungroj, 1971) Bandan sharp-mouth Barb และ
Scaphognathops stejnegeri (Smith, 1931) Stejnerger sharp-mouth Barb

ปลาปากเปี่ยนเป็นปลาน้ำจืดอยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน Cyprinidae

อยู่ในวงศ์ย่อยปลาตะเพียน Cyprininae - Poropunti

ปลาทั้ง 2 ชนิดนี้ชาวบ้านเรียกเหมือนกันว่าปลาปากเปี่ยน, ปลาเปี่ยน หรือ ปลาตาดำ

ลักษณะทั่วไป

มีรูปร่างโดยรวมคล้ายปลาตะเพียนทั่วไป แต่ลำตัวกว้างและแบนข้างมากกว่า ส่วนหัวมีขนาดเล็ก จะงอยปากแหลม ริมฝีปากล่างมนกลมและมีขอบแข็ง ไม่มีหนวด เกล็ดใหญ่ ครีบหลังสีคล้ำ ปลายขอบของก้านครีบอันแรกเป็นหยักแข็ง ถัดจากส่วนนี้ไปจะมีลักษณะเรียวแหลม ครีบหางเว้าลึก ครีบอกและครีบท้องเล็ก เมื่ออยู่ในธรรมชาติตัวปลาจะมีสีออกเทาเงิน มีแต้มประสีคล้ำบนเกล็ดสะท้อนแสงครีบหางออกเป็นสีเหลือง ขอบครีบหางสีแดงเรื่อ ด้านหลังสีจาง (ปลาในช่วงวัยรุ่นจะมีจุดสีดำที่บริเวณโคนครีบหาง ) ครีบหูและครีบท้องออกเหลือง ครีบหลังมีสีคล้ำ

ปลาปากเปี่ยนไม่มีส่วนของกระเพาะอาหาร จะเป็นเพียงลำไส้ที่ยาว ลักษณะปากอยู่ด้านล่าง (inferior mouth) ภายในช่องปากไม่พบฟันที่ตำแหน่งใดในช่องปาก พบมีเพียงฟัน 1 คู่ ที่บริเวณช่องคอ เรียก pharyngeal teeth ผนังช่องท้องมีสีดำส่วนลำไส้ของปลาปากเปี่ยนจัดเป็นปลากลุ่ม cyprinid และเป็นปลาที่ไม่มีกระเพาะอาหาร มีเพียงลำไส้ที่ขดม้วนเป็นรูปวงรี

นิสัย
มีพฤติกรรมชอบไล่กัดกินเกล็ดของปลาตัวอื่น

ถิ่นอาศัย
เป็นปลาที่พบเฉพาะในแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดหนองคายลงมา

มีขนาดประมาณ 15 เซนติเมตร ใหญ่สุดที่พบคือ 25 เซนติเมตร

เป็นปลาเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นิยมบริโภคโดยการปรุงสด ทำปลาร้า และรมควัน เป็นต้น และยังเลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้อีกด้วยที่มีพบขายในตลาดปลาสวยงามเป็นบางครั้ง เพราะเป็นปลาที่พบตามฤดูกาล

ข้อมูลของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดอุบลราชธานีมีดังนี้

ปลาปากเปี่ยน มีการอพยพขึ้นมาจากประเทศลาวโดยเริ่มมีการอพยพขึ้นมาในช่วงเดือนมกราคมซึ่งปลาที่อพยพขึ้นมามักจะมาพร้อมกับกลุ่มปลาสร้อยและปลาหมูในชุดแรกที่อพยพขึ้นมามักจะเป็นปลาปากเปี่ยนชนิดS. bandanensis

ส่วนในช่วงที่ 2 ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์มักจะเป็นปลาปากเปี่ยนชนิด S.bandanensis และจะพบชนิด S. stejnegeri ผสมขึ้นมาบ้าง ซึ่งการอพยพดังกล่าวจะมีต่อเนื่องกันไป จนถึงเดือนเมษายนและจะหมดไปในเดือนพฤษภาคม และในเดือนพฤษภาคม จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในแม่น้ำโขงมักจะเริ่มมีฝนตกลงมาและก็จะเริ่มเข้าสู่ฤดูน้ำแดงซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคมชาวบ้านก็จะเริ่มพบปลาปากเปี่ยนตัวเล็ก

จากการสอบถามชาวประมงปลาทั้ง 2 ชนิดนี้ จะพบการอพยพสลับกันขึ้นมาจากประเทศลาวซึ่งปริมาณมากน้อยในแต่ละปีจะแตกต่างกันออกไป ส่วนการอพยพของปลาปากเปี่ยนนั้นทางศูนย์ฯ จะได้ดำเนินการติดตามข้อมูลต่อไปว่าการอพยพของปลาชนิดนี้ขึ้นมาเพื่อหาอาหารหรือเพื่อการสืบพันธุ์วางไข่

ในปัจจุบันพบว่าการอพยพของปลาทั้ง 2 ชนิดนี้พบมีปริมาณน้อยลง ทั้งนี้จากการสอบถามชาวประมงถึงสาเหตุที่พบปลาทั้ง 2 ชนิดนี้ลดลงเนื่องจากการทำประมงในประเทศลาวมีเพิ่มขึ้นจึงทำให้ปิดกั้นการอพยพขึ้นมาของปลาปากเปี่ยน ในส่วนการอพยพของปลาชนิดนี้พบในแม่น้ำมูลบริเวณหลังเขื่อนปากมูล ในช่วงการในช่วงการเปิดประตูเขื่อนปากมูล

อาหารของปลาปากเปี่ยน ได้แก่ ตะไคร่น้ำ ปลอกหนอนน้ำ และเม็ดทราย

ที่มาของข้อมูล
www.fisheries.go.th/if-ubon/web2/index.php?option.
งานวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดอุบลราชธานี
วิกิพีเดีย ซึ่งใช้ข้อมูลอ้างอิงจาก
จาก ITIS.gov (อังกฤษ) และ สาระน่ารู้ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๑ ของ สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น