วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นครกุสินารา ๓๓ พระมหากัสสปเถระ ๑







พระมหากัสสปเถระ
เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์

พระมหากัสสปะถระ เป็นมหาสาวกองค์ที่ ๓ ของพระสมณโคดมพุทธเจ้า มีอายูยืนมาถึงหลังพุทธปรินิพพานแล้ว ในขณะที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนมายุอยู่ ท่านไม่ค่อยมีบทบาทมากนักเพราะท่านยึดอยุ่ในธุดงควัตร จึงพำนักอยู่แต่ในป่าเป็นประจำ หลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว ท่านเป็นกำลังสำคัญในการทำปฐมสังคายนา สืบทอดพระธรรมวินัยท่านหนึ่งในพระศาสนา


ประวัติของท่านมีดังนี้

 พระมหากัสสปะ เป็นบุตรของกปิลพราหมณ์ ตระกูลกัสสปะในบ้านมหาติฏฐะ แคว้นมคธ ชื่อเดิมของท่านคือ “ปิปผลิ” แต่คนทั่วไปมักเรียกท่านตามวงศ์ตระกูลว่า “กัสสปะ” เมื่อท่านอายุได้ ๒๐ ปี ได้ทำการอาวาหมงคลกับนางภัททกาปิลานี ซึ่งเป็นสาวงามวัย ๑๖ ปี ธิดาของพราหมณ์ตระกูลโกลิยะ ณ เมืองสาคลนคร แคว้นมคธ

ปิปผลิมาณพถูกแปลงสาร

เมื่อปิปผลิมาณพ อายุได้ ๒๐ ปี บิดามารดาได้ปรึกษากันว่าจะหาภรรยาให้แก่บุตรชาย จึงได้มอบเงินและทองให้แก่พราหมณ์ ๘ คน เพื่อสืบแสวงหาสาวงานที่มีฐานะเสมอกัน พราหมณ์เหล่านั้นเที่ยวสืบแสวงหาไปตามเมืองต่าง ๆ มาจนถึงสาคลนคร ได้พบธิดาของโกลิยพราหมณ์นามว่า “ภัททกาปิลานี” วัย ๑๖ ปี เป็นที่ถูกอกถูกใจยิ่ง จึงสู่ขอกับบิดามารดาของนาง ตกลงแล้วได้มอบสิ่งของเงินและทองหมั้น กำหนดวันอาวาหมงคลแล้วกลับไปแจ้งข่าวสารแก่กปิลพราหมณ์




ปิปผลิมาณพ ได้ทราบข่าวสารนั้นแล้วรู้สึกไม่สบายใจ เพราะตนไม่มีความปรารถนาจะแต่งงาน จึงหลบเข้าไปในห้อง เขียนจดหมายบรรยายความประสงค์ของตนให้นางทราบว่า
 “ตนไม่ปรารถนาจะแต่งงาน ขอให้นางจงแต่งงานกับชายที่มีชาติตระกูลเสมอกัน และอยู่ครอง ชีวิตคู่ด้วยความสุขสำราญเถิด ส่วนข้าพเจ้าจะออกบวช”
เมื่อเขียนเสร็จแล้ว ก็มอบให้คนใช้ สนิทนำไปส่งให้แก่นางภัททกาปิลานี

แม้นางภัททกาปิลานีก็มีใจตรงกัน และได้เขียนจดหมายซึ่งมีใจความเหมือนกัน มอบให้คนรับใช้นำไปส่งให้แก่ปิปผลิมาณพ บังเอิญคนถือจดหมายทั้งสองฝ่ายมาพบกันระหว่างทาง ทักทายปราศรัยถามไถ่กิจธุระของกันและกันแล้วนำจดหมายทั้งสองฉบับออกอ่าน ทราบความโดยตลอดแล้วฉีกทำลายทิ้งแล้วเขียนจดหมายขึ้นมาใหม่ บรรยายความรักแก่กันและกันแล้วนำไปส่ง ให้แก่เจ้านายของตน การอาวาหมงคลระหว่างคนทั้งสองจึงเกิดขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูลจากhttp://www.84000.org/one/1/18.html
ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ"พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา" เรียบเรียงโดย คุณสุรีย์ และเรือโท วิเชียร มีผลกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น