วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

[บทความ] ปลาตะพาก...ยากเยือนให้ยล

ปลาตะพาก...ยากเยือนให้ยล


สวัสดี..ฉันชื่อปลาตะพาก เคยได้ยินชื่อและรู้จักฉันมาก่อนไหม


ฉันเป็นปลาวงศ์ปลาตะเพียน ที่เธอเขียนถึงวงศ์วานหว่านเครือ เนื้อหน่อปลาตะเพียนมาหลายหน่อแล้ว และฉันเป็นปลาน้ำจืด

ใคร ๆ เรียกฉันสั้น ๆ ว่า ปลาตะพาก ซึ่งที่จริงฉันเป็นปลาตะพากเหลือง หรือพูดให้ดูดีมีสกุล ก็เรียกว่าปลาตะพากทองก็ได้
ส่วนชื่อที่ท้องถิ่นอื่นเรียกฉันว่า ปลาปากหนวด, ปลาปีก , ปากคำ หรือปลาสะป๊าก ฉันไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เพราะไม่มีคำว่าทอง
เวลานี้ทองคำเป็นของมีค่า มูลค่าเพิ่มขึ้นมาตลอด แม้บางครั้งจะเกิดจากความผันผวนของราคาทองคำในตลาดค้าทอง ก็เพราะคนที่ตุนทองคำไว้ ปั่นตลาด ก็ตามที แต่ฉันก็ยังอยากอยุู่ในวงศ์ทองคำ โดยเรียกฉันว่าปลาตะพากทอง ฉันชอบชื่อนี้ที่สุดเพราะทำให้ฉันภาคภูมิใจในเผ่าพันธุ์ของฉัน แต่คำเรียกสั้น ๆ ว่า ตะพาก ฉันก็ชอบและเคยคุ้นกับคำนี้มากกว่าชื่ออื่น ๆ และรู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ไม่ต้องเก๊กท่าทำเป็นพวกผู้ดีมีสกุล ได้เป็นแบบชาวบ้านปลาธรรมดา ๆ



เอ ทำไปทำมา ฉันก็เป็นพวก ลุ่มหลง เหลิงลม กับคำชมสรรญเสริญเยินยอ เสียแล้วละซี



แต่ว่าฉันก็มีความสำคัญในตัวเองนะ ชาวมีนกรจังหวัดกำแพงเพชร ยกให้ฉันเป็นปลาประจำจังหวัดเชียวนะ นี่ไม่ใช่การคุยโวโอ้อวดตน ยกตัวตนปลาข่มปลาอื่น ๆ นะ แต่เป็นเรื่องจริง



ฉันจัดเป็นปลาที่เพาะพันธุ์ยาก กรมประมงพยายามมาตั้งนาน แต่สุภาษิตของมนุษย์ที่ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น...นั้น
ฉันมีเรื่อง ขำ ๆ นะ เคยได้ยินคำถามของพวกมนุษย์นี้แหละว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน คำตอบที่เฉลยว่าถูกต้องที่สุด คือ
ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามอยู่ที่นั้น
ความสำเร็จอยู่ที่ไหน ความสำเร็จก็อยู่ที่นั่นต่างหาก เธอลองไตร่ตรองสิว่าสมเหตุสมผลไหม แต่ฉันคล้อยตามนะว่า เออ ใช่เลย ถูกต้องแล้วครับ ดู เป็นเหตุและปัจจัยมากกว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น

สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดกำแพงเพชร สามารถเพาะพันธุ์ปลาตะพากคือพวกฉันได้สำเร็จในเดือนเมษายน 2552 นี้เองแหละเธอ



เดี๋ยวนี้มีการตั้งปลามาเป็นปลาประจำจังหวัดหลายจังหวัด ฉันละสงสาร เด็ก ๆ ต้องท่องคำขวัญประจำจังหวัด ประจำอำเภอ ประจำอบต ประจำหมู่บ้าน บางแห่งตั้งคำขวัญยาวเฟื้อย ราวกับระยะทางแม่น้ำโขงจากเมืองจีนมาถึงเมืองไทยเลย



ฉันก็ขอเชิญชวน เธอมารู้จักพงศ์เผ่าเหล่าก่อ เนื้อหน่อปลาตะเพียนที่ชื่อว่า ปลาตะพาก กันสักเล็กน้อย



ฉันก็จะ Present ตาม presentation ที่รวบรวมมาจากที่มีคนเขาสนใจเขียนไว้นะจ๊ะ ฉันจะพารูปโฉมตัวเองให้เธอถ่ายภาพ พยามตั้งใจถ่ายให้ดี ๆ นะ แหมฉันละสงสารเธอจริง ๆ ในความพยายามที่ไม่ค่อยสัมฤทธิ์ประสิทธิ์ผลสักเท่าไรเลย เธอช่างน่าสงสารจริง ๆ



ชื่อสามัญ ปลาตะพาก
ชื่อสามัญอื่น ปลาปีก
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษGOLDEN BELLY BARB
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hypsibarbus wetmorei Smith, 1931
อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน Cyprinidae
สกุล Hypsibarbus (/ฮีพ-ซี-บาร์-บัส/)



มีทั้งหมด 9 ชนิด สูญพันธุ์ไปแล้ว 1 ชนิด โดยมีชนิดที่รู้จักกันดีที่สุดคือ ปลาตะพากเหลือง
ปลาตะพากเหลือง (Hypsibarbus wetmorei) โดยปลาในสกุลนี้ถูกแยกออกมาจากสกุล Puntius ในปี ค.ศ. 1996 โดยวอลเตอร์ เรนโบธ โดยมีลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากปลาในสกุลอื่น คือ มีก้านครีบเดี่ยวของครีบหลังมีขอบจักเป็นฟันเลื่อย ครีบท้องมีก้านครีบแขนง 8 ก้าน ใต้คางมีร่องแยกระหว่างขากรรไกรล่างและคาง ฐานครีบก้นยาวคิดเป็นร้อยละ 60 ของความยาวหัว ขอบเกล็ดแต่ละเกล็ดมีลายสีดำติดต่อกันเป็นร่างแห



ปลาตะพากมีชื่อเรียกรวมกันแบบอื่นอีก อาทิ ปากหนวด, ปีก (ภาษาอีสาน), ปากคำ หรือ สะป๊าก (ภาษาเหนือ) เป็นต้น
เป็นปลาในสกุลปลาตะพากที่เป็นที่รู้จักและแพร่หลายที่สุด จึงนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า "ตะพาก" และถือเป็นปลาประจำจังหวัดกำแพงเพชร



ลักษณะทั่วไป

ปลาตะพากเหลือง หรือ ปลาตะพากทองเป็นปลาน้ำจืด จัดเป็นปลาขนาดกลาง มีรูปร่างลักษณะทั่วไปคล้ายปลาตะเพียนขาวในสกุล Barbonymus เดียวกัน ซึ่งอยู่วงศ์และวงศ์ย่อยเดียวกัน แต่ปลาตะพากจะมีลำตัวที่ยาวกว่า และขนาดจะใหญ่ได้มากกว่า



ลักษณะลำตัวยาวรีและแบนข้าง มีเกล็ดขนาดค่อนข้างใหญ่เป็นมันแวววาว ปลาขนาดใหญ่เกล็ดใต้ท้องเป็นสีเหลืองทองอร่าม พื้นลำตัวสีขาวเงิน แผ่นหลังจะมีสีเข้มเป็นเขียวอมน้ำตาลหรือสีน้ำเงินอมเขียว มีครีบทั้งหมด 7 ครีบ ครีบอก ครีบท้องและครีบก้นสีเหลืองสด ปลายขอบครีบและหางสีส้ม หางเป็นเว้าแฉกลึก ครีบหลังและครีบหางสีเทาหม่น มีหนวดขนาดเล็ก 2 คู่ อยู่ที่ขากรรไกรบนล่าง



นิสัย
เป็นปลาตื่นตกใจง่าย อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง เป็นปลาที่ว่ายน้ำได้เร็วและว่ายน้ำเคลื่อนไหวตลอดเวลา



ขยายพันธุ์โดยการวางไข่ระหว่างเดือนมีนาคม-ตุลาคม ไข่มีลักษณะกึ่งลอย กึ่งจม การวางไข่ครั้งหนึ่งจะมีปริมาณไข่นับเป็นแสน ๆ ฟอง และมีพฤติกรรมการผสมพันธุ์หมู่

วิธีการในการสืบพันธุ์วางไข่ของปลาชนิดนี้เป็นที่ร่ำลือกันมากในจังหวัดตากในเขตอำเภออุ้มผาง คือ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งตกราวเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ปลาตะพากทั้งตัวผู้และตัวเมียจะเวียนว่ายเคล้าเคลียรวมกันเป็นฝูงใหญ่นับเป็นจำนวนพัน จำนวนหมื่น ในขณะผสมพันธุ์ปลาทุกตัวจะรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนและเบียดเสียดยัดเยียดกันจนตัวที่อยู่ด้านบน ตัวจะลอยอยู่พ้นน้ำ อาการเช่นนี้ชาวบ้านเรียกว่า "ปลากอง" คือปลามารวมกองกันอยู่ในบริเวณเดียวกัน




ถิ่นอาศัย

แพร่กระจายพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และทางตอนใต้ของประเทศจีน พบอาศัยในแม่น้ำสายใหญ่รวมถึงลำธารน้ำตกบนภูเขาหรือป่าดิบชื้น ตามแหล่งน้ำไหลที่มีกระแสน้ำเชี่ยว ในบริเวณที่มีระดับน้ำลึกประมาณ 2-3 เมตร มีพื้นที่เป็นกรวดทราย หรือดินปนทรายพบตามลำน้ำปิง ลุ่มน้ำสาละวิน ภาคกลางพบในแม่น้ำสายใหญ่ตั้งแต่แม่น้ำแม่กลอง เจ้าพระยาจังหวัดชัยนาท เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง

เป็นปลาเศรษฐกิจ นิยมบริโภคโดยการปรุงสด รมควัน และต้มเค็ม และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย

อาหาร -อาหารกินได้หลากหลายเช่น พืชน้ำ, แมลงและตัวอ่อนชองแมลงน้ำ รวมถึงสัตว์น้ำขนาดเล็กด้วย



เป็นปลาในสกุลปลาตะพากที่เป็นที่รู้จักและแพร่หลายที่สุด จึงนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า "ตะพาก" และถือเป็นปลาประจำจังหวัดกำแพงเพชร
ปลาตะพาก เป็นปลาพื้นเมืองที่สามารถพบได้ในแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่านตัวเมืองกำแพงเพชร ปลาตะพากเป็นปลาที่ประชาชนนิยมบริโภค

ขนาด- ขนาดปลาทั่วไปมีความยาวโดยประมาณ 20-30 เซนติเมตร ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 60เซนติเมตร พบใหญ่ที่สุดยาว 66 เซนติเมตร หนัก 8 กิโลกรัม



ประโยชน์-เป็นปลาเศรษฐกิจ เนื้อมีรสชาติดี นิยมบริโภคโดยการปรุงสด รมควัน และต้มเค็ม และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย

สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง จึงได้นำเทคโนโลยีในเรื่องการจัดการพ่อแม่พันธุ์ที่เหมาะสมมาใช้ผสมพันธุ์ จนสามารถเพาะพันธุ์ปลาตะพากได้สำเร็จในเดือนเมษายน 2552 ที่ผ่านมาโดยได้ทำการรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาตะพากจากแม่น้ำปิง นำมาเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ระบบน้ำหมุนเวียน และในกระชัง เพื่อให้ปลาปรับตัว โดยให้อาหารที่มีโปรตีนสูงเสริมด้วยวิตามิน



ปลาตะพากเป็นปลาชนิดหนึ่งที่กรมประมงปั้นปูนปั้นแสดงไว้ในจำนวนปลาอีกหลาย ๆ ชนิด ที่บริเวณรอบ ๆ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพ ฯ กรมประมง

ปลาตะพาก
ไม่มีในลำน้ำบางปะกง และพลอยโพยมไม่เคยรู้จักมาก่อน

3 ความคิดเห็น:

  1. ขออนุญาตนำบทความบางส่วนไปเผยแพร่ต่อไปได้นะครับ ขจรพงศ์ พิเดช สำนักงานประมงจังหวัดกำแพงเพชร ครับ

    ตอบลบ
  2. ปลาตะพาก กับ ปลาตะเพียน โตเต็มวัย ปลาอะไรตัวใหญ่กว่ากันครับ

    ตอบลบ